นพณัฐ แก้วเกตุ
“คืนครูสู่ห้องเรียน” คือหนึ่งในโจทย์นโยบาย ที่ถูกพูดถึงมานานในแวดวงการปฏิรูปการศึกษาไทย แต่ดูเหมือนจะยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้
งานสำรวจที่เขียนถึงเรื่องนี้ชัดเจนที่สุดงานหนึ่งคือ “คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิรูปต้องฟัง” ของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้อำนวยการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คนปัจจุบัน ที่ทำการสำรวจนี้ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ใช้วิธีการ สุ่มตัวอย่างครูสอนดีที่ได้รับรางวัลจาก กสศ. จำนวน 427 คน จาก 18,000 คน ทั่วประเทศ ครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัด
“ข้อเสนอของผลการสำรวจนี้บอกว่า ใน 1 ปี มีวันเปิดเรียน 200 วัน ครูใช้เวลา 84 วัน หรือ 42% ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน”
ผลการสำรวจชิ้นนี้ยังอธิบายลงรายละเอียดไปอีกว่างานที่ดึงเวลาครูออกจากห้องเรียนมากที่สุด ได้แก่
อันดับ 1 การประเมินของหน่วยงานภายนอก
ใช้เวลาเฉลี่ย 43 วัน
- การประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดในโครงการต่าง ๆ 18 วัน
- การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน
- การประเมินของ สมศ. 9 วัน
อันดับ 2 การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน
อันดับ 3 การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน
ที่มา https://www.tcijthai.com/news/2014/18/scoop/5206
จากผลสำรวจกิจกรรมนอกเหนือการสอนที่ครูส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลดีต่อการเรียนการสอน ได้แก่
- การแข่งขันทางวิชาการ
- การประเมิน O-NET
- การอบรมการประเมินการอ่าน
กิจกรรมที่ครูส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลเสียต่อการเรียนการสอน ได้แก่ การประเมินโรงเรียนโดย สมศ. การอบรมและการประเมินอื่นๆ หน่วยงานประเมินที่ครูส่วนใหญ่อยากให้มีการปรับปรุงมากที่สุด คือ สมศ. 98% รองลงมาคือเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ. 1.7% ข้อเสนอแนะที่เขียนในงานวิจัยครั้งนี้คือให้เสนอให้ปรับปรุงวิธีการประเมินที่เน้นผลลัพธ์ของเด็กมากกว่าเอกสารและลดภาระการประเมินลง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในงานเสวนาเปิดผลวิจัยครั้งนี้ หนึ่งในวิทยากรคือ คือ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขนะนั้น (ปี 57) กล่าวว่า
“ปัญหาการศึกษาไทยในยุค คสช. จะสำเร็จได้ต้องมุ่งแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ**
1. ปรับกฎหมายคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อไม่ให้ครูยึดติดกับการทำผลงานเพิ่มวิทยฐานะ
2. ปรับการประเมินผลของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยต้องปรับบทบาทและทบทวนตัวเองใน 3 ประเด็นหลัก คือ
2.1 มาตรฐานตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนคุณภาพจริง
2.2 มาตรฐานผู้ประเมินที่ยังลักลั่น
2.3 ภาระงานเอกสาร ก่อนมีการประเมินรอบ 4
3. ปรับวิธีการสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ให้เน้นที่กระตุ้นพัฒนาการของเด็ก มิใช่การสอบระดับชาติที่ใช้ข้อสอบเพียงชุดเดียววัดผลเด็ก”
เราคงไม่ได้ต้องการเถียงกับสิ่งที่ ดร.อมรวิชช์พูด เพราะผู้เขียนก็เชื่อว่าถ้าเราต้องการลดชั่วโมงการทำงานนอกห้องเรียนของครู การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้มีความจำเป็น แต่ความสำคัญอยู่ที่นี่เป็นเรื่องที่ ดร.อมรวิชช์พูดไว้ตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันปี 2566 ปัญหาเหล่านี้ก็ยังวนลูปซ้ำรอยเดิม
ทำไมปัญหานี้ที่เกิดขึ้นผู้มีอำนาจก็รู้ คนที่เป็นถึงผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาก็รู้ สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามคือ เมื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีอำนาจก็รู้ ทำไมปัญหานี้ถึงยังแก้ไม่ได้ ?
ตัวอย่างการไม่นำพานโยบายไปปฏิบัติที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการยังมีการตั้งงบโครงการไม่จำเป็น ที่ในแวดวงนโยบายการศึกษาพูดถึงกันมากว่าเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ สร้างภาระครูและเด็กในการทำเอกสาร รูปธรรมปลอมๆ ที่ไม่มีอยู่จริงให้เกิดขึ้นจริงเพื่อให้โรงเรียนได้รับการประเมินสอดคล้องกับตัวชี้วัด อยู่อย่างน้อย 16 โครงการ รายละเอียดดังรูป
ผู้เขียนใช้วิธีตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณ ดังนั้นอาจไม่ครอบคลุมโครงการย่อยที่อยู่ในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
การที่มีโครงการเหล่านี้ตั้งงบประมาณอยู่ แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจและผู้กำหนดนโยบายการศึกษาที่รู้ปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดีและท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองตามงานเสวนาต่างๆ ว่าจะต้องคืนครูสู่ห้องเรียน คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่ในการปฏิบัติกลับไม่ทำตามที่ตัวเองพูดเลย สนใจเฉพาะการสร้างผลงานที่สามารถตั้งโชว์จัดแสดงได้ให้ตนเองได้หน้า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
เมื่อเราพูดถึงการคืนครูสู่ห้องเรียน เรากำลังพูดถึงชั่วโมงการทำงาน (working hour) ของครู ว่าครูกำลังใช้เวลาและแรงงานไปกับการทำงานอะไร งานอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับการศึกษา นักเรียน และทำให้ครูเกิดสภาพแวดล้อมที่รู้สึกเป็นทุกข์มากที่สุด
เราจึงตั้งโจทย์การทำนโยบายใหม่ โดยเริ่มต้นจากการคุยกับครูระดับล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร (ครูผู้ช่วย บรรจุใหม่ ไม่เกิน 2 ปี; ยังไม่เคยชินกับความไม่มีเหตุผลของระบบราชการ ภายใต้วัฒนธรรมอาวุโสแบบไทยๆ ต้องเป็นกลุ่มที่ทำงานหนักที่สุด แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยที่สุดเพียงหมายถึง 20,000 บาท/เดือน ในขณะที่ครูอาวุโสที่ใกล้เกษียณบางท่านเงินเดือนมากกว่า 70,000 บาท) ด้วยคำถาม 4 ข้อ คือ
- งานอะไรที่ไม่จำเป็นต้องทำ แต่ยังต้องทำต้องทำ
- งานอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ แต่โดนสั่งให้ทำ
- งานอะไรที่หลักการดี แต่พอแปลงมาเป็นการปฏิบัติแล้วเป็นคนละเรื่อง
- งานอะไรที่จำเป็นต้องทำ แต่ทำให้ง่ายขึ้นได้
จากนั้นเราจึงนำปัญหาที่ครูเหล่านั้นต้องเผชิญมาคิดว่าถ้าเราได้เข้าไปบริหารกระทรวงศึกษาฯ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้สภาพการทำงานของครูเหล่านี้ดีขึ้นได้บ้าง
ภาพสรุป ภาระงานที่ครูบอกกับเราว่าทำให้เกิดความทุกข์ยากในการทำงานที่สุด
ข้อเสนอนโยบาย: คืนครูสู่ห้องเรียน อะไรทำได้ทันที?
จากที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับครูที่อยู่ระดับล่างสุดของห่วงโซ่การศึกษา ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ดึงเวลางานของครูให้ออกจากนักเรียนสร้างความยากลำบากของชีวิตครู ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน หรือต้องแก้ระดับโครงสร้างพระราชบัญญัติ รัฐธรรมนูญ หรือแผนอะไรต่างๆ แต่คือเรื่องไม่มีเหตุผลพื้นๆ ที่เจออยู่ทุกวันในระบบราชการไทย
การแก้ไขไม่ต้องเขียนแผนหรือปฏิรูปให้ยุ่งยาก สามารถทำได้ทันที ถ้าพรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่ด้านการบริหารการศึกษา ดังต่อไปนี้คือ
1) ยกเลิกให้ครูเข้าเวร ทันที!
ครูทุกคนที่ผู้เขียนได้คุยด้วย บอกตรงกันว่าการเข้าเวรคืองานที่กินเวลาชีวิตอย่างใหญ่หลวงโดยไม่จำเป็น ทุกโรงเรียนต้องจัดให้มีครูอยู่ประจำเวรโรงเรียนทั้งกลางวัน-กลางคืน ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูจำนวนมากครูอาจกระทบไม่มากนัก เพราะมีครูที่พร้อมหมุนเวียนในการเข้าเวร 1 เทอม ครู 1 คนอาจได้เข้าเวรเพียงแค่หนึ่งครั้ง แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก การที่ต้องมีครูประจำอยู่ 1 คนทั้งกลางวันกลางคืนทำให้เกิดภาระงานกับครูเป็นอย่างมาก เพราะต้องเข้าเวรอยู่คนเดียวในเวลากลางคืนบ่อยกว่า เนื่องจากมีคู่หมุนเวียนเข้าเวร รวมทั้ง ไม่มี รปภ. และอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอย่างเช่นกล้องวงจรปิดที่ครบครันอย่างที่โรงเรียนขนาดใหญ่มี และอย่าลืมว่าการเข้าเวรของครูถือเป็นหน้าที่ หลายโรงเรียนไม่มีเงินค่าทำงานล่วงเวลาให้ นี่จึงเป็นงานที่กินเวลาชีวิตและสร้างความเสี่ยงต่อความปลอดภัยให้กับครูเป็นอย่างมาก
ครูผู้หญิงท่านหนึ่งบอกให้ผู้เขียนฟังว่า ให้ลองนึกถึงความน่ากลัวที่ครูผู้หญิงจบใหม่อายุ 20 กลางๆ ต้อง อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่เปลี่ยวและห่างไกลคนเดียวกลางดึก ถ้ามีโจรเข้ามาจริงผู้หญิงเพียงหนึ่งคนก็คงไม่สามารถป้องกันเหตุอะไรได้
ในโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะโรงเรียนประถม มักมีครูผู้ชายน้อยกว่าครูผู้หญิง การเข้าเวรมักจัดให้ครูผู้หญิงเข้าเวรตอนกลางวันและครูผู้ชายเข้าเวรกลางคืน แต่เนื่องจากผู้ชายมีจำนวนน้อยกว่า จึงทำให้กลุ่มผู้ชายต้องอยู่เวรของโรงเรียนแทบจะทุกวัน จนครูไม่มีเวลาชีวิตไปทำอย่างอื่น ทำให้ครูผู้ชายเลือกที่จะทำงานเป็นครูในโรงเรียนเอกชนที่ไม่ต้องเข้าเวรมากกว่าเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาล
การที่ครู ความจริงไม่ใช่เฉพาะครูแต่รวมถึงข้าราชการทุกหน่วยงาน ต้องเข้าเวร เกิดจากนโยบายของรัฐบาล ตาม “หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว 107 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ” ที่กำหนดให้ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีเวรยามรักษาการณ์ ประจำสถานที่ราชการ นอกเวลาราชการและในวันหยุดราชการ ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่สถานที่ราชการ
กฎแก้ไขเพิ่มเติมนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 และการเข้าเวรอาจเกิดขึ้นนานกว่านั้น แต่ในสภาพสังคมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของปี 2565 เรายังมีความจำเป็นต้องให้ข้าราชการอยู่เวรอีกหรือไม่ ในเมื่อหลายส่วนราชการ มีเงินจ้าง รปภ. ปัจจุบันเรามีกล้องวงจรปิดที่สามารถเชื่อมข้อมูลเข้าไปได้ที่สถานีตำรวจ หรือหามาตรการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนได้
และหากอ่านรายละเอียดตามหนังสือสั่งการของสำนักเลขาเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นในการผ่อนปรนภาระงานส่วนนี้อยู่แล้ว เช่น ถ้ามีการจ้างเอกชนทำหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์ หรือ มีความจำเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจที่จะสั่งการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสม
ภาพเนื้อหาบางข้อจากหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว 107 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2542
เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ
สิ่งที่ทำได้ทันทีถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล คือ การออกคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกการบังคับให้ครูต้องอยู่เวร
อาจให้ใช้วิธีอื่นในการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนตามความเหมาะสม เช่น ร่วมมือกับชุมชนและสถานีตำรวจ หรือสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่แล้วก็ไม่ต้องให้เป็นภาระครูในการอยู่เวรซ้ำซ้อน
ส่วนในระยะยาว สิ่งที่ต้องพิจารณา คือการปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ข้าราชการต้องอยู่เวร เพราะเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี สภาพสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนกฎระเบียบที่ใช้อยู่เดิมล้าสมัย ซึ่งนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ครูเพียงอย่างเดียว แต่จะปลดปล่อยชีวิตข้าราชการอีกจำนวนมากให้มีสภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น
2) ยกเลิกพิธีการ จัดจีบ จัดผ้า จัดโต๊ะ ตั้งบอร์ด ในการประเมินผล ทันที!
ทุกคนพูดตรงกันว่าการประเมินผลโรงเรียนมีปัญหา แต่คำถามคือขั้นตอนใดในการประเมินผลโรงเรียนที่สร้างภาระงานครูมากที่สุด?
สิ่งที่สร้างภาระงานและใช้พลังงานมากที่สุดคือ การจัดอีเวนท์เพื่อต้องรับคณะกรรมการในการประเมินผล กิจกรรมอีเว้นท์ที่ครูต้องจัด มีตั้งแต่การจัดโต๊ะ จับจีบผ้า ตั้งบอร์ดและแผ่นตั้งต่างๆ รวมทั้งหลายโรงเรียนมีการจัดเด็กมาทำการแสดงต้อนรับคณะกรรมการประเมิน
ภาพ: กิจกรรมประเมินข้าราชการผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กแห่งหนึ่ง
(สิ่งที่เห็นในภาพไม่มีการจ้าง Organizer จัดงานใดๆ ทั้งหมดล้วนมาจากแรงงานครูและนักเรียน)
การประเมินโรงเรียนเกิดขึ้นในหลายโอกาส โดยหลายหน่วยงาน ซึ่งการประเมินหลักๆ ได้แก่
- การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกเข้ามาประเมินมาตรฐานโรงเรียน
- การประเมินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ตามโครงการที่เป็นนโยบายของกระทรวงหรือรัฐมนตรี เช่น โรงเรียนคุณธรรม โครงการอารยะเกษตร โคก หนอง นา (ส่วนหนึ่งเป็นไปตาม List โครงการ เอกสารงบประมาณข้างต้น)
- การประเมินข้าราชการของผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งไม่ควรต้องเป็นภาระงานของครูและนักเรียนที่ต้องเข้ามาช่วย ผอ. ประเมินผล แต่ในทางปฏิบัติ ที่ชีวิตครูต้องพึ่งพิง ผอ. โรงเรียนมากในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การประเมินผลส่วนนี้ถ้าเป็นหน้าที่ที่ครูและนักเรียนต้องลงมือทำด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการประเมินของต้นสังกัดใด แต่วัฒนธรรมการประเมินแบบไทยๆ เช่นนี้ก็ถูกผลิตซ้ำในการประเมินของทุกหน่วยงาน
จริงอยู่ว่าในการประเมินโดยเฉพาะโครงการต่างๆ ของ สพฐ. จะมีการเขียนเอาไว้ในเกณฑ์การประเมินว่า “ไม่จำเป็นต้องจัดทำกิจกรรมใหม่ขึ้นมาให้สอดคล้องกับโครงการ” แต่โรงเรียนที่ต้องการได้คะแนนจากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ เหล่านี้ (ซึ่งจะเป็นแต้มต่อสำหรับผู้อำนวยการในการประเมินผลอีกที) ก็ต้องไปทำให้มีกิจกรรมหรือ “ผักชี” ให้สอดคล้องตามที่โครงการต้องการ เช่น เมื่อต้องการประเมินผลโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง การมีแปลงผักสวนครัว หรือเล้าไก่เลี้ยงสัตว์ ทำให้ได้คะแนนเพิ่มในการประเมิน
โรงเรียนขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบจากการประเมินมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ เนื่องจากโรงเรียนขนาดใหญ่มีทรัพยากร งบประมาณ และบุคลากร ในการทำอีเวนท์ต่างๆ เหล่านี้มากกว่า
ครูที่ให้ข้อมูลกับผู้เขียน เล่าให้ฟังว่า โดยปกติเมื่อจะมีการประเมินครูจะได้รับแจ้งล่วงหน้ากระชั้นชิดเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งครูและนักเรียนมีหน้าที่ในการเนรมิตสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น บางครั้งในการเตรียมงานครูครึ่งโรงเรียนและนักเรียนบางส่วนมีหน้าที่ต้องไปช่วยเตรียมงาน ก็ต้องงดการเรียนการสอนของครูและนักเรียนที่เหลือ และต้องไปพูดหน้าเสาธงหรือใต้ตึกเพื่อให้หมดเวลาที่เด็กต้องอยู่ที่โรงเรียน
มองด้วยสติปัญญาของมนุษย์ปกติก็พิจารณาได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียนเลย คำถามคือ ทำไมระบบการศึกษาแบบไทยๆ ยังปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
สิ่งที่ต้องแก้ทันที คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องกล้าใช้อำนาจออกคำสั่ง ให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่ใช้แรงงานครูและเด็กโดยไม่จำเป็นในการประเมินผลทุกประเภท และต้องมีการคาดโทษสำหรับผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังปล่อยปะละเลยให้มีการจัดกิจกรรมที่สิ้นเปลืองแรงงานโดยไม่จำเป็นเหล่านี้
แน่นอนว่าการแก้ปัญหาการประเมินผลที่ไร้ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทย ต้องมีการปฏิรูปใหม่ทั้งระบบตามที่นักปฏิรูปทั้งหลายพูดกัน คำถามคือการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพจะทำได้เมื่อไหร่ คำถามนี้นี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะพูดกันมานับ 10 ปีแล้ว
แต่สิ่งที่ทำได้ทันที และเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวิธีการใหม่ ในการวัดประเมินผล คือตัดตอนกระบวนการและวัฒนธรรมแบบไทยๆ ทั้งหมดที่ไร้ประสิทธิภาพและสร้างภาระงานโดยไม่จำเป็นทิ้ง ทั้งหมด ผู้ประเมินผลก็จะประสบปัญหาไม่รู้จะประเมินจากอะไร และกลับไปทบทวนวิธีการ ประเมินผลที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพแบบที่ควรจะเป็น
3) ห้าม! ใช้แรงงานครูช่วยงานประเมินผล ผอ.
หลักการที่ถูกต้องเมื่อประเมินผลใคร คนที่จัดเตรียมการประเมินควรเป็นบุคคลคนนั้น
แต่ความไม่ถูกต้องที่เราเห็นได้ชัดในทุกโรงเรียนคือมีการใช้แรงงานครูและนักเรียนในการจัดกิจกรรมการประเมินผลของผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นการสร้างภาระงานโดยไม่จำเป็นและส่งเสริมวัฒนธรรมรับใช้ผู้มีอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต้องสั่งการเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามใช้แรงงานครูและนักเรียนในการจัดฉากสร้างกิจกรรมช่วยประเมินผล ผอ.!
4) ลดงานธุรการครู เพิ่มงานบริหารให้ผู้บริหาร
ภาระงานธุรการครูเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในการศึกษา รูปธรรมของการแก้ไขมักเป็นความพยายามปลายเหตุที่การเพิ่มอัตราพนักงานธุรการในโรงเรียน แต่ปัญหาการดึงครูไปทำธุรการก็ไม่เคยหมดไปเพราะเราไม่เคยไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในการกล้าเข้าไปรื้อภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอนให้น้อยลง
ครูทุกคน นอกจากสอนประจำวิชาและเป็นครูประจำชั้นของนักเรียนแล้ว ยังต้องประจำแผนกงานบริหารของโรงเรียน ได้แก่ฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายบริหารงานบุคคล ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และฝ่ายวิชาการ งานธุรการภายในฝ่ายเหล่านี้แตกต่างกันไปตามชื่อ ซึ่งมีภาระงานไม่ว่าจะเป็นการงบประมาณและพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง รับนักเรียน แจกหนังสือ ทำประกันคุณภาพการศึกษารองรับการประเมิน การกรอกข้อมูลสารสนเทศ และการปั้นเอกสาร/กิจกรรมเพื่อรองรับการประเมินโรงเรียน
เป็นภาระงานที่เลี่ยงไม่ได้ของระบบราชการในการต้องมีงานธุรการจำนวนมากเกินความจำเป็น ภาระงานเหล่านี้หลายเรื่องพนักงานธุรการไม่สามารถแบ่งเบาได้ เพราะต้องให้คนที่เป็น “ข้าราชการ” เท่านั้นเป็นผู้เซ็น หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับงานบริหาร เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การพัสดุ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขที่ตรงจุดที่สุด และตรง Job Description ที่ควรจะเป็นที่สุด ผู้ที่รับผิดชอบภาระงานบริหารเหล่านี้ต้องตกอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน ไม่ใช่ครูที่มีหน้าที่สอน และเราควรประเมินผู้บริหารโรงเรียน จากผลการลดภาระงานครูและคืนครูสู่ห้องเรียน ไม่ใช่จากพิธีกรรม เอกสารการ หรือแสดงที่เลิศหรู แต่ดึงครูและเด็กออกจากห้องเรียน
การเพิ่มงานบริหารให้ผู้บริหาร ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้บริหารมานั่งทำงานธุรการเหล่านี้เองทั้งหมด แต่ผู้บริหารต้องมานั่งบริหารจัดการงานเหล่านี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธุรการว่างานใดที่สามารถลดลงได้ งานใดที่ต้องรับไว้ทำเอง และงานใดที่สามารถลดขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนี่จึงจะเป็นการทำหน้าที่ของผู้บริหารอย่างแท้จริง
5) ระบบกรอกต่างๆ ต้องไม่ล่ม จบในระบบเดียว!
ครูที่ทำงานในฝ่ายสารสนเทศ รวมทั้งครูประจำชั้นในโรงเรียนประถมบอกกับเราถึงความทุกข์ยากในชีวิตที่เกิดจากการกรอกข้อมูล ปัญหาที่พบมีตั้งแต่
ความซ้ำซ้อนของการกรอกข้อมูล ที่มีระบบกรอกข้อมูลหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมวัดและประเมินผล SGS (Secondary Grading System) ที่ใช้เก็บคะแนนและเกรดนักเรียนของแต่ละโรงเรียน แต่ยังไม่มีการเชื่อมระบบกับส่วนกลาง, ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล DMC (Data Management Center) ที่ใช้เก็บข้อมูลตัวตนของนักเรียนที่ใช้ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว ระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน CCT (Conditional Cash Transfer) สำหรับนักเรียนที่มีความยากจนพิเศษ ฯลฯ การกรอกข้อมูลผ่านระบบเหล่านี้หลายครั้งกรอกข้อมูลซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลพื้นฐานเช่นชื่อ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ ทำให้เกิดภาระงานการกรอกซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น
ความเสถียรของระบบ ในการกรอกที่ทำให้ครูต้องใช้เวลาหลังเที่ยงคืนหรือเช้ามืดเพื่อไม่ให้ระบบมี Traffic ของเว็บไซต์แน่นเกินไป เพราะระบบมีเวลาจำกัดและมักล่มในตอนกลางวันที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
ภาระงานกระจุกตัว เนื่องด้วยระบบอาวุโสในระบบราชการไทยทำให้งานกรอกข้อมูลนักเรียนทุกคนตกอยู่กับครูที่อยู่ฝ่ายสารสนเทศ (สังกัดฝ่ายวิชาการ) ที่ต้องทำหน้าที่กรอกข้อมูลนักเรียนทั้งโรงเรียน ครูที่คุยกับเราให้ข้อมูลว่าเฉลี่ยแล้วนักเรียน 1 คนใช้เวลากรอกข้อมูล 15 นาที ซึ่งหากภาระงานในการกรอกข้อมูลมีการแบ่งงานกระจายกันในหมู่ครูประจำชั้นโหลดงานอาจไม่หนักมาก แต่เนื่องจากงานการกรอกเอกสารลงในระบบออนไลน์กระจุกตัวอยู่ที่ครูบางคนจึงทำให้เกิดภาระงานที่ล้นเกิน
การเก็บข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้โดยหลักการเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะคือฐานข้อมูลขนาดใหญ่มากผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ในการกำหนดนโยบายการศึกษาและวัดประเมินผลการศึกษาและผู้เรียน รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรเงินรายหัวอย่างตรงเป้า แต่เนื่องจากระบบข้อมูลที่ถูกควบคุมโดยหลายหน่วยงานและไม่มีการเชื่อมโยงกันทำให้ในการปฏิบัติฐานข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดภาระกับครู
การสื่อสารข้อมูลเหล่านี้โรงเรียนขนาดใหญ่มีความพร้อมในการเก็บ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดทรัพยากรซึ่งมักเป็นโรงเรียนประถมและมีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดกว่า เพราะต้องรวมถึงข้อมูลสุขภาพของนักเรียน เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง การแปรงฟัน การดื่มนม การทานอาหารกลางวัน ระบบในการกรอกของหลายโรงเรียนยังเป็นการกรอกมือ และการรายงานผลไม่มีการเชื่อมโยงผ่านระบบสารสนเทศแต่เป็นการจัดทำรายงานเป็นเล่มให้คณะกรรมการสุ่มตรวจ ซึ่งสร้างภาระงาน และข้อมูลไม่สามารถนำไปใช้ประมวลผลได้อย่างเต็มศักยภาพ
นี่คือสิ่งที่ต้องถูกจากความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ในการแก้ปัญหา ถ้าพรรคก้าวไกลได้มีหน้าที่บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คือการให้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมกันมากกว่านี้ เป็นระบบเก็บข้อมูลระบบเดียว ระบบเก็บข้อมูลเสถียรกว่านี้ ไม่ล่มบ่อยเมื่อครูต้องกรอก วางแผนการเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับปฏิทินการศึกษา เช่น เก็บข้อมูลในช่วงของการเยี่ยมบ้าน ไม่ใช่ช่วงเริ่มปีการศึกษา ที่ครูต้องเตรียมแผนการสอน และปลายปีการศึกษาที่ครูต้องมีภาระงานในการตรวจข้อสอบและตัดเกรดของนักเรียน
ระบบฐานข้อมูลที่ดีไม่ใช่แค่การลดภาระงานครูโดยไม่จำเป็นและทำให้ครูเห็นถึงความสำคัญของข้อมูล แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทิศทางการจัดสรรทรัพยากรและการกำหนดนโยบายการศึกษาในอนาคต
6) ยกเลิกการเขียนรายงานเมื่อไปอบรมหรือปฏิบัติราชการ
อีกหนึ่งงานที่โดยหลักการแล้วอาจดี แต่สร้างภาระงานมากโดยไม่จำเป็นคือการเขียนรายงานเมื่อไปอบรมหรือปฏิบัติราชการ ซึ่งเกี่ยวพันถึงระบบการบันทึกผลงานและการวัดประเมินผลครู
ในวัฒนธรรมการประเมินผลครูที่เน้นตรวจเอกสารมากกว่าผลสัมฤทธิ์ถือว่า “ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันไม่ถือว่ากิจกรรมนั้นเกิดขึ้นจริง” ผลในทางปฏิบัติคือทุกกิจกรรมที่ครูเข้าอบรม สิ่งที่ครูต้องการได้จากการอบรมคือเอกสารและรูปถ่าย ไม่ใช่เนื้อหาสาระของการอบรมนั้นจริงๆ และสร้างภาระงานทำเอกสารที่ดึงครูออกจากห้องเรียนและการทำงานเพื่อเด็ก
เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นอื่น เราสามารถลดภาระงานเอกสารของครูส่วนนี้ได้ทันทีด้วยการออกคำสั่งรัฐมนตรีและประกาศเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครูไม่จำเป็นต้องทำรายงานการปฏิบัติราชการเหล่านี้
ถ้าต้องการบันทึกประวัติก็สามารถทำได้ด้วยวิธีอื่น เช่นมีใบรับรองการอบรม (Certificate) แต่สิ่งที่ต้องคิดอย่างจริงจังคือ เราไม่ควรผูกการอบรมเหล่านี้เข้ากับการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู เพราะการอบรมเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กจริงๆ ปัญหาเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินผลและอบรมพัฒนาครูที่เราต้องมีการจัดการใหม่ทั้งระบบด้วยเช่นกัน
7) เลิกการส่งครูไปอบรม! เปลี่ยนเป็นให้เงินครู เพื่อเลือกออกไปเรียนรู้แทน
การถูกส่งไปอบรม คือหนึ่งในเรื่องที่ครูที่เราคุยด้วยเห็นตรงกันว่าไม่มีประโยชน์และเสียเวลาชีวิตโดยไม่จำเป็น สิ่งที่สอดคล้องกับการสำรวจของ ดร.ไกรยศ ที่บอกว่าใน 1 ปีครูต้องเสียเวลาในการถูกส่งไปอบรมภายนอก 10 วัน
โดยหลักการแล้ว การอบรมเพื่อพัฒนาครูเป็นสิ่งที่ดี ที่ครูจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะทุกๆ ปี เพื่อให้มีความทันสมัยและทันสถานการณ์อยู่เสมอ แต่ในทางปฏิบัติ การอบรมโดยหลักสูตรพิเศษที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับโครงการอบรมครูจำนวนมาก กลับจัดขึ้นโดยไม่มีความพร้อมเพียงพอ เช่น การอบรมเรื่อง Active Learning จัดทำโดยการให้ครูเข้าไปนั่งฟังการบรรยายตลอดทั้งวัน โดยไม่มีโอกาสให้ครูได้ทดลอง workshop จัดการเรียนการสอนจริง ครูที่เราคุยด้วยบอกว่าหลายครั้งเป็นการพูด/บรรยายไปเรื่อยๆ ของวิทยากร เพื่อให้ครบเวลาในการอบรม และจะได้ถ่ายรูปให้ครูนำไปเก็บเป็นผลงานและเบิกเงินโครงการอบรมได้
ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องการถูกส่งไปอบรม จึงไม่ใช่การยกเลิกการอบรม แต่เป็นเปลี่ยนวิธีการในการตัดสินใจเข้ารับการรับการอบรม ให้มาอยู่ที่ฝั่งของครูแทนที่จะอยู่ที่ฝั่งของกระทรวงฯ (หรือเขตฯ หรือผู้บริหารฯ) ซึ่งจะทำให้งบประมาณโครงการฝึกอบรมครูเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาครูจริงๆ ยิ่งในปัจจุบัน เรามีหลักสูตรอบรมพัฒนาความรู้นอกห้องเรียนเป็นจำนวนมาก ทั้งในมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัยอย่างเช่นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ครูแต่ละท่านจึงสามารถเลือกประเด็นการอบรมที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้
สิ่งที่รัฐบาลก้าวไกลต้องทำ คือ เปลี่ยนและเพิ่มงบประมาณในการอบรมพัฒนาครู ซึ่ง Think Forward Center เคยคำนวณเอาไว้ว่าอยู่ที่ 3,342 บาท/คน/ปี ให้เป็นเงินอุดหนุนตรงไปที่ครูในการสมัครเรียนสิ่งที่มีประโยชน์กับการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะวิชาชีพ หรือแม้แต่เป็นการอุดหนุนค่าเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของครู
โดยรัฐบาลเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้จัดอบรมเอง หรือร่วมกับเครือข่ายกลุ่มแคบๆ ในการอบรม (หรือ Supply Side Financing) ให้เป็นคนที่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณสำหรับครูแต่ละคน และทำหน้าที่รับรองและหลักสูตรที่มีคุณภาพที่มีมากมายอยู่แล้ว เพื่อให้ครูสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วยตนเอง (หรือ Demand-side Financing) ซึงจะเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณภาพในสังคมไทยอีกด้วย
8) ห้าม! สพฐ. จัดอบรมในวันที่มีการเรียนการสอน
อีกปัญหาที่พบเรื่องการอบรมของครู คือกิจกรรมอบรมพิเศษที่มาจาก สพฐ. แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเอง เนื้อหาการอบรมมีหลากหลาย เช่น อบรมวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ อบรมทำความเข้าใจเกณฑ์การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เป็นการอบรมกิจกรรมย่อยที่อาจไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล ขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา
โดยเมื่อ สพฐ. เขตต่างๆ จัดกิจกรรมอบรม จะมีการแจ้งข่าวแจ้งหมายไปที่โรงเรียนต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนส่งคนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ฝ่ายบุคคลของโรงเรียนจะพิจารณาส่งรายชื่อครูไปร่วมอบรมตามดุลยพินิจของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งอบรมเหล่านี้มักทำในวันเวลาราชการที่ตรงกับการเรียนการสอน และเป็นต้นเหตุของการดึงครูออกจากห้องเรียนในเวลาที่ควรทำการเรียนการสอน
การแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ทันที ด้วยการออกคำสั่งรัฐมนตรีและประกาศเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการห้ามเขตพื้นที่การศึกษาจัดอบรมในวันที่มีการเรียนการสอน การอบรมต่างๆควรจบในช่วงปิดเทอม หรืออบรมในวันเสาร์อาทิตย์ ที่ไม่มีการเรียน หรือใช้การฝึกอบรมหรือการส่งคลิปแบบออนไลน์แทน
9) รับเรื่องร้องเรียนตรงถึงรัฐมนตรี
สุดท้ายสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา จากการพูดคุยกับครูชั้นผู้น้อยจำนวนมาก คือความเหลื่อมล้ำอำนาจในระบบราชการ ที่เปิดให้คนที่มีอำนาจเหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นอาวุโสหรือโดยการบังคับบัญชาใช้อำนาจในการเอาเปรียบคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ไม่ว่าจะที่เราเห็นได้ชัดเป็นปกติอย่างการใช้แรงงานครูในการช่วยงานทำผลงานประเมินผล ผอ. โรงเรียน หรือเรื่องที่เรามองไม่เห็นอย่างเช่นการคุกคามทางเพศ ซึ่งมีอยู่แต่ครูชั้นผู้น้อยต้องปล่อยผ่านเพราะไม่เชื่อในการตั้งกรรมการสอบตามระบบราชการ ครูที่ให้ข้อมูลกับเราบอกว่า ไม่มีความเชื่อมั่นถ้ามีการร้องเรียนเพราะกรรมการที่สอบข้อเท็จจริงล้วนแต่เป็นเพื่อนของ ผอ. ทั้งนั้น
ด้วยระบบการศึกษาระบบการบังคับบัญชาที่เปิดโอกาสให้ ผอ. โรงเรียน สามารถให้คุณให้โทษครูได้ ผ่านการระบบขอวิทยฐานะของครูที่ต้องใช้คำรับรองของ ผอ. โรงเรียน ทำให้ถูกส่วนมากเลือกที่จะโอนอ่อนยอมตามผู้มีอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเองในอนาคต
ไม่ว่าจะออกนโยบายหรือมีข้อสั่งการที่ดีเพียงใด แต่ถ้ายังไม่มีระบบเพิ่มอำนาจของคนที่มีอำนาจน้อย สามารถเชื่อมั่นในกระบวนการที่โปร่งใสได้จริงๆ นโยบายต่างๆ ในการแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ภาพแชทที่ครูท่านหนึ่งส่งข้อความไปยัง FB วันนั้นเมื่อฉันสอน (27 ธ.ค. 65)
สิ่งที่รัฐบาลก้าวไกลต้องทำ คือ การมีกลไกให้บุคลากรทางการศึกษาทุกภาคส่วน เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสามารถแจ้งร้องเรียนและรวบรวมหลักฐาน ตรงถึงสำนักงานรัฐมนตรีได้ทันที โดยรัฐมนตรีต้องมีกระบวนการในการจัดการที่เชื่อถือ ได้โปร่งใส ยุติธรรม รวดเร็ว และให้ความปลอดภัยกับผู้ร้องเรียน
สรุป: ทำไมปฏิวัติการศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่การ “สั่งเลิก” พิธีกรรม
จากจุดเริ่มต้นของบทความ ที่ต้องการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของครู เพื่อคืนครูสู่ห้องเรียนให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งนำมาสู่นโยบาย 9 ข้อ ได้แก่
- ยกเลิกให้ครูเข้าเวร ทันที!
- ยกเลิกพิธีการ จัดจีบ จัดผ้า จัดโต๊ะ ตั้งบอร์ด ในการประเมินผล ทันที!
- ห้าม! ใช้แรงงานครู ช่วยงานประเมินผล ผอ.
- ลดงานธุรการครู เพิ่มงานบริหารให้ผู้บริหาร
- ระบบกรอกต่างๆ ต้องไม่ล่ม จบในระบบเดียว
- ยกเลิกการเขียนรายงานเมื่อไปอบรมหรือปฏิบัติราชการ
- เลิกการส่งครูไปอบรม! เปลี่ยนเป็นให้เงิน เพื่อให้ครูเลือกไปเรียนรู้แทน
- ห้าม! สพฐ. จัดอบรมในวันที่มีการเรียนการสอน
- รับเรื่องร้องเรียนตรงถึงรัฐมนตรี
นโยบายทั้ง 9 ข้อนี้ไม่ใช่แผนการปฏิรูปใหญ่โต แต่เป็นการเปลี่ยนสิ่งที่ทำเป็น “ความปกติ” ในชีวิตประจำวันของระบบการศึกษา
สิ่งเหล่านี้หลายเรื่องนักปฏิรูป หรือผู้บริหารจากส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก อย่างการจัดผ้า จับจีบ สร้างพิธีกรรมต้อนรับผู้บริหารกระทรวง หรือการเข้าเวรอยู่โรงเรียนในยามวิกาล แต่สำหรับครูระดับล่างสุดที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบห้องเรียน สิ่งเหล่านี้กินพลังงานและชั่วโมงการทำงานมหาศาล จนส่งผลกระทบกับการจัดการเรียนการสอน
ถ้ามองในภาพใหญ่ของการเปลี่ยนปฏิวัติการศึกษาไทย ผู้เขียนอยากชวนให้เราพลิกวิธีการปฏิรูปการศึกษาใหม่ จากเดิมที่เน้น การบอกว่าเราอยากทำอะไร ซึ่งนำไปสู่การเขียนแผน เขียนหลักสูตร เขียนกฎหมาย ออก พ.ร.บ. หรือตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการอันฝันฟุ้งไม่รู้จบของบรรดานักปฏิรูป เปลี่ยนเป็นช่วยกันหาปิศาจในระบบการศึกษาที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และจัดการกับปิศาจเหล่านั้นทันที ปีศาจคือปัญหาที่ครูระดับล่างสุดต้องเผชิญ ที่เด็กนักเรียนในห้องเรียนของโรงเรียนที่ขาดแคลนที่สุดต้องเจอทุกวัน
การแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ทำได้ ทันทีโดยไม่ต้องรอเขียนแผนใดๆ ถ้าผู้บริหาร กระทรวง มองเห็นปัญหาและแก้ปัญหาเหล่านี้ไปเรื่อยทุกวัน ผู้เขียนเชื่อว่านี่ต่างหากที่จะเป็นการทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษาอย่างแท้จริง
แต่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักการเมืองที่กล้าหาญในการตัดสินใจ มีความเข้าใจในระบบ วิธีการทางเทคนิค และมีความเจ็บแค้นแทนประชาชนมากพอที่จะเห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลที่เป็นความปกติในระบบการศึกษา และกล้าที่จะใช้อำนาจตัวเองอันมาจากอาณัติของประชาชน เข้าไปรื้อระบบ เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นในสิ่งที่ควรจะเป็น ทำให้ครูมีหน้าที่สอนและอบรมสั่งสอนเด็กอย่างเต็มที่ และสร้างโรงเรียนที่เป็นสถานที่ในการอบอุ่นดูแลอนาคตของชาติอย่างดีที่สุด
พูดคุยทิ้งท้าย ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาบทความหลัก
บทความนี้มุ่งตอบปัญหาทางนโยบายเรื่อง “คืนครูสู่ห้องเรียน” เป็นหลัก หากดำเนินการได้ตามนี้ สภาพแวดล้อมการทำงานของครูจะดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาดีขึ้นตาม
การศึกษาไทย ในระบบโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีเรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร การเรียนการสอน การอบรมพัฒนาและประเมินผลครู การทดสอบ คุณภาพสถานศึกษา โครงสร้างบริหารโรงเรียน และที่สำคัญที่สุดคือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปลี่ยนการศึกษาไทยได้ หัวใจ ความเปลี่ยนแปลงต้องอยู่ที่โรงเรียนประถม
โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลเด็กส่วนใหญ่ของประเทศนี้ กำลังอยู่ในภาวะเดียวกันคือเล็ก และขาดแคลน เพียงแค่ให้คงสภาพความเป็นโรงเรียนแบบปกติตามแบบฉบับให้ได้ก็ยากเกินทน ไม่ต้องไปคิดถึงการพัฒนาหลักสูตรใหญ่โตพิสดาร
โรงเรียนประถมที่ขาดแคลน ไม่ใช่เรื่องยกเว้น ผิดแปลกเฉพาะที่แต่คือสิ่งที่เป็นปกติสำหรับประเทศไทย เด็กที่เรียนในโรงเรียนประถมเหล่านี้แทบจะทั้งหมด เติบโตมาในสังคมที่เปราะบาง ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ทำให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ
ครูที่ผู้เขียนพูดคุยด้วยเล่าให้ฟังว่าในวันที่เกิดโควิดและต้องประกาศใน Online เด็กทุกคนพร้อมใจกันหายไปจากการติดต่อของครู แต่เมื่อมีการประกาศให้เงินค่าอาหารกลางวันที่ไม่สามารถทำอาหารในโรงเรียนได้จึงต้องจ่ายเป็นเงินสดให้กับเด็กเพียงแค่ 20 บาทต่อคนต่อวัน เกิดปรากฏการณ์ที่เด็กทุกคนที่หายไปพร้อมใจกันกลับมาเรียนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การศึกษาไทยในอนาคตถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนโรงเรียนประถมให้ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ต้องเป็นพื้นที่พักพิงอบอุ่น (Shelter) จากครอบครัวและสังคมอันโหดร้ายได้ ประเทศนี้ก็จะไม่สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าที่มีคุณภาพไปสู่การเรียนรู้ในระดับมัธยม อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ในสังคมต่อไป
ถ้ามีโอกาสหวังว่าจะได้ทำการศึกษาและเสนอนโยบายนี้แบบลงลึกเพิ่มเติม
ขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านและสวัสดี