แนวทางสนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย

เดชรัต สุขกำเนิด

แม้ว่าจะไม่มีใครเถียงว่า วิทยาศาสตร์มีความสำคัญสำหรับอารยธรรมและพัฒนาการของสังคมมนุษย์มากเพียงใด แต่เมื่อต้องตัดสินใจในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ วงการวิทยาศาสตร์กลับได้รับคำถามกลับมาว่า “การลงทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์คุ้มค่าเพียงใด?” จนทำให้หลายๆครั้ง ในหลายๆ ประเทศการลงทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์อยู่ในภาวะหยุดชะงัก หรือไม่ต่อเนื่อง จนนำไปสู่ข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถของสังคมและระบบเศรษฐกิจนั้นๆ ในระยะยาว

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นเนื่องจาก (ก) การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ที่สำเร็จมักต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ดี (ซึ่งจะต้องลงทุนก่อน) และการลงทุนที่ต่อเนื่อง (ข) แต่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจลงทุนจะเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะฉะนั้น (ค) การลงทุนทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (ง) นอกจากนั้น การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง และ แม้กระทั่ง การลงทุนนั้นจะประสบความสำเร็จ (จ) แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจมิได้เกิดขึ้นหรือมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับบุคคล/สถาบัน/ประเทศที่ลงทุนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์นั้นตั้งแต่แรก ทำให้เมื่อพิจารณาในมุมมองระยะสั้น การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ดูจะเป็นการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก

แต่ในทางกลับกัน การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ก็มีคุณสมบัติพิเศษสุดหลายประการเช่นกัน เพราะ (ก) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทางวิทยาศาสตร์หลายครั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการผลิตของมนุษย์แบบก้าวกระโดด และ (ข) ความรู้/ความเข้าใจ/ความสามารถของมนุษย์ที่เพิ่มพูนขึ้นนั้นจะเป็นทุนที่เพิ่มพูนขึ้น โดยไม่มีการเสื่อมถอยลง (หรือไม่มีค่าเสื่อมราคานั่นเอง) แถมยัง (ค) ถ่ายทอดและกระจายให้กับผู้คนอื่นๆ ตามกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยที่ผลผลิต/ผลประโยชน์ของผู้ถ่ายทอด/กระจายความรู้ไม่ได้ลดลง และเมื่อถึงจุดนั้น (จ) ความรู้/ความสามารถทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำมาใช้ในการตอบโจทย์เฉพาะหน้าของสังคมนั้น ในรูปแบบที่หลากหลายและอาจจะมากกว่าโจทย์เริ่มต้นที่ตั้งใจไว้แต่แรก เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุดผลสำเร็จของการลงทุนทางวิทยาศาสตร์คือ การยกระดับพลังการผลิตและคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งสังคมในระยะยาว

ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าในช่วงหลังสัดส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาจะมีมากมากขึ้น (จาก 0.44% ของGDP ในปี 2556 มาเป็น 1.14% ของGDP ในปี 2562) และเอกชนเริ่มมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนามากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังห่างจากเป้าหมาย 2% ของ GDP ในปี 2570 และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระดับการลงทุนดังกล่าวก็ลดลง และเริ่มเพิ่มขึ้นช้าๆ เพราะฉะนั้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 การเร่งระดับการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

นอกจากนั้น ตัวเลขการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของไทยดังกล่าว ยังไม่แยกการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานออกจากการวิจัยและพัฒนาทางธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่อาจทราบแน่ชัดว่า การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยที่สุด ในปัจจุบัน การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก็ยังต้องใช้เผชิญคำถาม/ความท้าทายสำคัญ 3 ประการก็คือ (ก) คำถามเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุน (หรือ ที่ได้ยินในรูปของคำปรารภว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง”) (ข) ความสนใจในการศึกษา/ศึกษาต่อในวิทยาศาสตร์บางสาขา/บางสถาบันลดลงมาก และ (ค) เส้นทางอาชีพ/เส้นทางวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละศาสตร์/แต่ละสาขายังไม่ชัดเจนหรือยังไม่ดีนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับงานอาชีพที่ใช้คุณวุฒิใกล้เคียงกัน) และส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วน หยุดชะงัก/ออกจากเส้นทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไป


เพราะฉะนั้น เพื่อให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทยได้รับการสนับสนุนจากผู้คน สังคม และรัฐบาล อย่างจริงจังทั้งในระยะสั้น (หมายถึง การดำเนินการทันทีโดยไม่รอช้า) และในระยะยาว (หมายถึงการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จ) Think Forward Center จึงเสนอแนวทาง 4 ด้านเพื่อการสนับสนุนการลงทุนทางวิทยาศาสตร์ของไทย ดังนี้


  1. Inspiration การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และผู้คนในประเทศ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และพร้อมเผชิญความท้าทายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ใหม่ในอนาคต โดยการลงทุนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจควรมีพื้นที่/ช่องทางสำคัญอย่างน้อย 4 ช่องทาง ได้แก่
    1. พื้นที่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน โดยควรกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ๆ ในเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยในแต่ละอำเภอควรมีพื้นที่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และในรัศมีการเดินทาง 150 กิโลเมตร เดินทางไปกลับได้ใน 1-2 วัน ควรมีพื้นที่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีอย่างน้อย 5 แห่ง
    2. สื่อหรือช่องทางการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบต่างที่หลากหลาย ทั้งหนังสือ นิตยสาร คลิปวิดีโอ พอสคาสต์ แอนนิเมชั่น เกม และอื่นๆ ที่เด็ก เยาวชน และผู้คนในสังคมสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และสามารถเข้าถึงได้ต่อเนื่อง ซึ่งนั่นแปลว่า จำเป็นต้องมี (ก) การพัฒนาวงการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และ (ข) จำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการ/บริการที่สนับสนุนให้เด็ก เยาวชน ทุกคนที่สนใจสามารถเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นได้
    3. กิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายในท้องถิ่นและเมืองต่างๆ โดยมีเนื้อหาและเป้าหมายเฉพาะสำหรับแต่ละกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายกันไป แต่สามารถกระจายและครอบคลุมการเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยอย่างน้อยในแต่ละปี เด็กและเยาวชนไทยควรมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (นอกเหนือจากห้องเรียน) อย่างน้อย 5 ครั้งต่อปี
    4. การปรับรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับความถนัดหรือสไตล์การเรียนรู้ และเส้นทางอนาคตของผู้เรียนที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับความสนใจและเส้นทางชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้น ในวิชาหรือเนื้อหาเดียวกัน (เช่น ฟิสิกส์) อาจมีหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับผู้เรียนที่ความถนัด/สไตล์/เป้าหมายการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน



  1. Integration การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับบริบทต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อให้ผู้คนได้สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ หรือเพิ่มศักยภาพการผลิตหรือคุณภาพชีวิตของตน พร้อมกับการนำปัญหาใหม่ๆ ที่ผู้คนและสังคมประสบ มาเป็นโจทย์สำหรับการต่อยอดและการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยตัวอย่างของความเชื่อมโยงเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ อาทิ
    1. วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น วิทยาศาสตร์การหมักและวิทยาศาสตร์ทางอาหารพื้นฐาน วิทยาศาสตร์การย้อมและสิ่งทอ การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เชื่อมโยงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
    2. ความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น การสร้างความหลากหลายของพืชพันธุ์ การฟื้นฟูระบบนิเวศ การดูแลและอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสัตว์ป่า การลดและการใช้ประโยชน์จากอาหารเหลือและของเสีย การออกแบบแนวทางแก้ปัญหาจากวิถีธรรมชาติ (Nature-based Solutions)
    3. สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การดูแล สร้างเสริม และฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกัน การดูแลรักษา และการฟื้นฟูจากโรค การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง
    4. การสื่อสารและการตัดสินใจของสาธารณะบนฐานข้อมูล เช่น การนำความรู้ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในกระบวนการถกเถียงและแสวงหาคำตอบของสาธารณะ ทั้งคำตอบเฉพาะหน้า เช่น มาตรการในการรับมือกับโรคระบาด หรือภัยพิบัติ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก น้ำท่วม และคำตอบระยะยาว เช่น มาตรการความปลอดภัยทางอาหาร การจัดการน้ำ



  1. Investment in Basic Science  การเพิ่มการลงทุนที่ต่อเนื่องในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่อาจจะยังไม่ได้เชื่อมโยงสู่การผลิต/สังคมในระยะสั้น แต่การเพิ่มการลงทุนในความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเป็นฐานที่สำคัญมากสำหรับการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมในหัวข้อถัดไป ทั้งนี้ การออกแบบการลงทุนในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีความต่อเนื่อง ทั้งในแง่ (ก) กรอบงบประมาณในการพัฒนาในแต่ละศาสตร์ที่ชัดเจน (ข) การต่อยอดองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ตามทิศทางที่ชัดเจน และ (ค) การดำรงอยู่และความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ/การทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในศาสตร์นั้นๆ ขณะเดียวกัน ก็ต้องออกแบบให้สามารถยืดหยุ่นและปรับตัวได้ไวในแง่ของ (ง) การรวมทีม การทำงานร่วมกันของบุคลากรที่อยู่ต่างองค์กร/ต่างภาคส่วน/ต่างประเทศกัน และ (จ) การเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เข้มแข็ง ทั้งในและต่างประเทศ



  1. Innovation Entrepreneurs การเชื่อมโยงและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม ที่พร้อมจะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การเพิ่มศักยภาพ/ขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ จะเป็นผู้เล่นที่สำคัญ ซึ่งเข้ามาแบกรับความเสี่ยง (และผลตอบแทน) ของตนเองในระยะสั้น เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว กล่าวง่ายๆ ก็คือผู้ประกอบการเหล่านี้คือ ผู้ที่เข้าทำให้การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา เริ่มปรากฏผลตอบแทนต่อสังคมส่วนรวม เพราะฉะนั้น การที่สังคมไทยมีผู้ประกอบการด้านวัตกรรมมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ความตระหนักในคุณค่าและผลประโยชน์ของการลงทุนทางวิทยาศาสตร์มีมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ นอกจากโปรแกรมการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการกันอยู่แล้ว การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านวัตกรรมเหล่านี้ควรเพิ่มแนวทางพื้นฐานอย่างน้อย ดังนี้
    1. การสนับสนุนการลงทุนต้นแบบหรือ Prototype ให้มีขนาดการลงทุน/ต้นทุนต่ำลง โดยอาจมีลักษณะของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานและเครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐานในแต่ละด้าน  ที่สามารถเช่า/ใช้/พัฒนาทดลองดำเนินการได้ในระยะต้น เพื่อการทดสอบตลาด ก่อนที่จะลงทุนทางธุรกิจจริงจังต่อไป
    2. รูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย และสามารถแบ่งปันภาระความเสี่ยงและผลประโยชน์กับผู้ลงทุนได้หลายรูปแบบ เพราะการลงทุนในนวัตกรรมแต่ละเรื่องย่อมมีรูปแบบทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีความเสี่ยงมาก/น้อยในรูปแบบที่แตกต่างกัน และมีระยะเวลาการคืนทุน/ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การมีรูปแบบการร่วมลงทุน/สนับสนุนทุนที่หลากหลายจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากมีรูปแบบการสนับสนุนทุน/ร่วมทุนที่จำกัด บางครั้งอาจทำให้เกิดการออกแบบธุรกิจให้ตรงตามเงื่อนไขการสนับสนุนทุน แต่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจจริงได้
    3. การดูแลปกป้องและแบ่งปันผลประโยชน์ของสาธารณะ นอกเหนือจากสนับสนุนทุนแล้ว รัฐบาล/หน่วยงานจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น มิให้นวัตกรรมดังกล่าวนำไปสู่การผูกขาดในทางธุรกิจ รวมถึงดูแลการคุ้มครองแบ่งปันผลประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ ชุมชนที่เป็นเจ้าของ/ดูแลรักษาทรัพยากร ผู้ป่วย/ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการดังกล่าว


ด้วยแนวทางเบื้องต้นที่ได้กล่าวมา Think Forward Center เชื่อว่า หากดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในระยะยาว จะช่วยให้การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ของไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งจากสาธารณะ จากภาคเอกชน และจากรัฐบาล และเมื่อนั้น วิทยาศาสตร์จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทยได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า