กะลาไม่ใช่แค่ไม่รู้: สังคมศึกษาทะลุกะลา ขอบฟ้าที่ทับซ้อนสู่การท้าทายขอบฟ้าเดิม

วริษา สุขกำเนิด


“วิชาสังคมศึกษาให้อะไรกับคุณ” คำถามสั้นๆ หลายบริบท ที่คำตอบของแต่ละคนอาจต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของผู้ตอบ และสถานะของผู้ถาม

แม้จะไม่ใช่วิชาโปรดของใครบางคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่เราต่างร่ำเรียนมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ต่างมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของเราในฐานะนักเรียน หลักสูตร หนังสือเรียน ไปจนถึงคำสอนของคุณครู ต่างประกอบกันเป็นความรู้ และความจริงบางอย่างที่พวกเราเชื่อกันมาจนโตเป็นผู้ใหญ่ … จนกระทั่งมันพังทลาย

สังคมศึกษาทะลุกะลา คือหนังสือรวบรวม 10 บทความเชิงวิพากษ์จากทั้งผู้ที่มีชีวิตคลุกคลีกับวิชาสังคมฯ ที่จะชวนผู้อ่านย้อนวัยกลับไปยังห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา เพื่อเสาะหากะลาใบต่างๆ ที่สอดแทรก และประกอบสร้างกะลาของเรา รวมถึงเปิดออกไปยังโลกภายนอก และพังกะลาจากภายใน 


นักเรียนนั่งทำข้อสอบ


กะลา ความปกติที่ไม่ปกติ

เช่นเดียวกับสำนวน “กบในกะลา” หลายครั้ง “กะลา” อาจเป็นเส้นขอบฟ้าที่มีอยู่ แต่สัมผัสไม่ได้ด้วยตาเปล่า ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือสังคมศึกษาทะลุกะลา ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล บรรณาธิการร่วมของหนังสือเล่มนี้ ได้นิยาม “กะลา” ในฐานะ ความคุ้นชิน ไว้ว่า

“เวลาเราเรียนวิชาสังคมศึกษา มันมักมีสิ่งหนึ่งที่พยายามทำให้เราคุ้นชินกับความคิดบางอย่าง รู้สึกบางอย่าง รวมถึงบอกให้เราทำบางอย่าง หรือไม่ทำบางอย่าง เห็นใคร หรือไม่เห็นใครในสังคม” ครูพล กล่าว

ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นเรียน สอดคล้องกับการถูกทำให้ ‘เชื่อง’ ต่อสิ่งที่สอนในห้องเรียน และความจริงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก ประโยคที่นักเรียนและครูท่องจำกันมาอย่าง “สังคมศึกษาสอนให้คนเป็นพลเมืองดี และอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข” กลับไม่ถูกถามต่อว่า พลเมือง และสังคมแบบไหนกันแน่ ที่วิชาสังคมศึกษาต้องการสร้าง

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูพล และผู้เขียนคนอื่นๆ ร่วมกันเสนอวิธี กระเทาะความคุ้นชินและความเชื่องเชื่อในวิชาสังคมศึกษา พร้อมทั้งเสาะทางเลือกอื่นๆ ในการเรียนรู้สังคมแบบใหม่ “มันคล้ายกับการเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง มันทำให้เราตั้งคำถามกับสำนึกความคุ้นชินของเราในทุกๆ วัน และจริงๆ แล้วในสังคมนี้เรากำลังถูกครอบ หรือเรากำลังถูกสอนด้วยวิธีคิดแบบไหน” ครูพลขยาย


นักเรียนยกมือขึ้นเรียกครู


ชำแหละกะลา

หนังสือเริ่มต้นจากภาคแรก ชำแหละกะลา บทที่จะพาคุณสำรวจ ‘กะลา’ หรือการครอบงำทางความคิด ที่ปรากฏอยู่ในการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา ภาคแรกของหนังสือเปิดเผยว่า สังคมศึกษาไม่ใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นกลาง และปราศจากอคติ หากแต่เต็มไปด้วยการปะติดปะต่อของการจัดวางความรู้และความจริง เพื่อผลิตประชากรที่ประพฤติตนสอดคล้องกับความต้องการผู้มีอำนาจ 

เนื้อหาในภาคแรกประกอบด้วย 3 บทความ บทที่หนึ่ง สังคมศึกษาในยุคเปลี่ยนไม่ผ่าน: การสอนเพื่อช่วงชิงความหมายจากเส้นเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่เส้นทางประชาธิปไตย โดย อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล นำเสนอวิชาสังคมศึกษาในฐานะเครื่องมือสร้าง ‘พลเมือง’ ใต้ระบอบการปกครอง เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจในไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย และเผด็จการทหาร ถ้อยคำ เนื้อหา และหลักคิดจึงผันเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์หลักของอำนาจแต่ละขั้ว

บทที่สอง กษัตริย์นิยมในสังคมศึกษา พระราชอำนาจนำในหลักสูตรและข้อสอบโอเน็ต โดย ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิชาสังคมศึกษาและสถาบันกษัตริย์ที่แยกไม่ขาด โดยในบทนี้ได้มีการกล่าวถึงตัวอย่างของเรื่องราวของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆ ที่บรรจุทั่วทุกสาขาวิชาในหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของรัชกาลที่ 9

และ บทที่สาม ทบทวนการสอนกฎหมายในวิชาสังคมศึกษาผ่านม่านนิติอธรรม โดย รพีพรรณ จักร์สาน กล่าวถึงความย้อนแย้งภายในของวิชากฎหมาย ที่หลักสูตรมองกฎหมายในฐานะความยุติธรรม และกฎระเบียบที่รัฐบังคับใช้เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย ขัดกับรัฐที่ปรับเปลี่ยนละเมิดกฎหมาย ปราศจากความยุติธรรมตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจ และใช้อำนาจ 


ส่องนอกกะลา

ในการทำลายกะลาครั้งนี้ การพินิจพิเคราะห์กับกะลาที่ครอบเราอยู่อาจยังไม่พอ บทที่สอง ส่องนอกกะลา จะพาผู้อ่านทำความรู้จักกับโลก แนวคิด อื่นๆ ที่อยู่นอกกะลาใบนี้ ส่องนอกกะลาจึงเป็นความพยายามที่เราจะเปิดกะลาออกมาหาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเรียนการสอนสังคมศึกษา

บทที่สี่ แนวคิดหลังอาณานิคมกับการสอนสังคมศึกษา: กรอบความคิด และแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก โดย ออมสิน จตุพร วิพากษ์แนวคิดจักรวรรดินิยมตะวันตก และจักรวรรดินิยมภายในที่จำกัดการศึกษาสังคมด้วยมุมมองแบ่งขั้ว ‘เรา/เขา’ วิชาสังคมศึกษาจึงควรเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนและผู้สอนตั้งคำถามกับความรู้และข่าวสาร ด้วยการมองจากมุมของทั้งสองฝั่ง

บทที่ห้า การสืบสอบเชิงปรัชญา ในฐานะ “ทางเลือก” และ “ทางออก” โดย ภี อาภรณ์เอี่ยม เสนอรูปแบบห้องเรียนที่ตั้งต้นจาก ‘การตั้งคำถาม’ และสร้างบทสนทนาในห้องเรียนบนคำตอบที่หลากหลาย ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้จบอยู่ที่ ‘ความรู้’ ที่ถูกป้อน แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงต่อคุณค่า และตัวตนของผู้เรียนท่ามกลางโลกใบใหญ่

และ บทที่หก ที่ใดมีเรื่องเล่า ที่นั่นมีสังคมศึกษา โดย อรรถพล ประภาสโนบล มองการศึกษาในฐานะการผลิตเรื่องเล่าที่มีอำนาจกำหนดตัวตนของผู้เรียน ผู้เขียนจึงใช้ห้องเรียนสังคมศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ทำความรู้จักตัวเองและเพื่อนร่วมห้อง รวมถึงสร้างเรื่องเล่าใหม่ที่แตกหักจากเรื่องเล่าเดิม


ทะลุกะลา

เมื่อเยี่ยมชมทั้งในและนอกกะลาแล้ว ทะลุกะลา ภาคสุดท้ายของหนังสือจึงปิดท้ายด้วยประสบการณ์การทลายเพดานสังคมศึกษาจากภายใน ด้วยปฏิบัติการ วิธีการสอน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน บทส่งท้ายอย่าง ทะลุกะลา จึงไม่เพียงแต่จะเสนอเครื่องมือมากมาย แต่ยังเสนอความเป็นไปได้ในการกะเทาะกะลาเดิมและสร้างโลกใบใหม่ 

บทที่เจ็ด สังคมศึกษาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม โดย ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลับด้านวิชาสังคมศึกษาที่สร้างความชินชาต่อความรุนแรง สู่การเรียนรู้ที่เผชิญหน้ากับประเด็นที่ ‘ละเอียดอ่อน’ เพื่อแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมที่ซ่อนอยู่ใต้พรม

บทที่แปด เปลี่ยนยาขมให้อมหวาน: สอนวิชาศาสนาด้วยการถกเถียงเรื่องความเป็นธรรมและพลเมืองโลก ธนัญญา ต่อชีพ แปลงโฉมวิชาพระพุทธศาสนา จากการท่องจำหลักธรรมหรือบทสวด สู่บทสนทนาว่าด้วยศาสนาที่หลากหลาย อิทธิของศาสนาต่อสังคม และเชื่อมโยงกับจริยศาสตร์อื่นๆ

บทที่เก้า สังคมศึกษาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่ โดย ปาริชาติ ชัยวงษ์ ต่อชีวิตวิชาสังคมศึกษาท่ามกลางสถานการณ์ที่สิ้นหวัง เมื่อบทสนทนาส่วนใหญ่มักจบที่การวิพากษ์ ผู้เขียนได้พาสำรวจประสบการณ์ในชีวิต รวมถึงการสร้าง ‘จินตนาการใหม่’ ของสังคมที่อยากเห็นตั้งต้นจากบทสนทนาเดิม

และ บทที่สิบ สู่ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต โดย ภาคิน นิมมานนรวงษ์ ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดจาก/สู่ความทรงจำ มันจึงมีพลังให้คนจดจำและเรียกขานตัวตนของตนเอง ห้องเรียนประวัติศาสตร์จึงไม่ควรแต่บรรจุอดีตที่ตัดขาดจากปัจจุบัน แต่บอกเล่าพลวัตของผู้คนและเรื่องเล่าที่กระตุ้นให้เราคิดถึงอนาคต


Teacher and students viewing globe in geography classroom


หลายสาระมาบรรจบ

สังคมศึกษาเป็นหนึ่งวิชาที่ประกอบด้วยหลายสาระความรู้ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา การแบ่งแย่งเนื้อหาสาระของเป็นกลุ่มๆ ไม่เพียงแต่ถูกขับเคลื่อนในฐานะเครื่องมือทางการเมือง ที่รัฐแยกแขนงวิชาเพื่อ ‘เน้นย้ำความสำคัญ’ ของวิชานั้นๆ แต่ยังเป็นเครื่องมือในการแบ่งย่อยความรู้ที่คาบเกี่ยวเชื่อมโยง ให้เหลือเพียงรายละเอียดที่ไม่ปะติดปะต่อ การแยกส่วนความรู้คือการจัดวางความรู้ส่วนที่สอดประสานไว้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อซ้อนเร้นความขัดแย้งและข้อสงสัยเมื่อปะทะกับกลุ่มความรู้อื่น

ทว่า ความรู้สังคมศาสตร์ด้านหนึ่งนั้นมีหลากมิติ และเชื่อมโยงกับองค์ความรู้อื่นๆ การมองวิชาสังคมศึกษาอย่างเป็นสหวิทยาการ คือข้อเสนอที่ผู้เขียนหลายคนมีร่วมกัน เพราะ ‘กะลา’ หรือกรอบความคิดแต่ละใบ เช่นชาตินิยม หรือจักวรรดินิยม ไม่ได้ครอบเพียงแค่ความรู้สาขาใดสาขาหนึ่ง อย่างประวัติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ การกระเทาะกะลาจึงต้องกระเทาะในทุกสาขาร่วมกัน

นักเขียนหลายท่านเสนอกระบวนเรียนรู้เชิงวิพากษ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น การสืบเสาะทางปรัชญาที่สร้างคำถามและบทสนทนาได้แม้ในวิชาท่องจำอย่างประวัติศาสตร์ อีกด้านหนึ่ง นักเขียนหลายท่านก็เสนอว่าการเรียนรู้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งนั้นขาดไม่ด้านหากปราศจากการเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น รพีพรรณ ได้ยกข้อเสนอหนึ่งจากบทความมากล่าวในวันเปิดตัวหนังสือว่า 

“เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายในเฉพาะวิชากฎหมาย ผู้สอนสามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านประเด็นหลักอื่นๆ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ ที่กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน การกระจายทรัพยากร การสร้างระบบปกครอง การรุ่งเรืองและร่วงโรยของอาณาจักร หรือวิชาศาสนา ที่อิทธิพลของศาสนาส่งผลกระทบกับกฎหมาย หรืออีกด้านหนึ่งกฎหมายก็ส่งอิทธิพลต่อศาสนาเช่นเดียวกัน” รพีพรรณ กล่าว


เด็กนักเรียนกราบแท่นบูชา


เผชิญหน้ากับโลกความจริง

หนึ่งในการทำงานของวิชาสังคมศึกษา คือการทำให้ผู้เรียนรู้สึกชินชากับระบบการเมือง และสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่ การเรียนการสอนในวิชาสังศึกษาจึงมากับ ‘ภาพจำ’ หรือคำอธิบายปรากฎการณ์อย่างตัดทอน เป็นเสมือนแว่นตาที่ใช้มองปัญหาสังคมราวกับว่าทุกอย่างปกติดี ภาพจำดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนอกห้องเรียน ทว่าความรับรู้เหล่านั้นกลับถูกปฏิเสธ หรือด้อยค่าลดรูปเหลือเพียงความรู้รอบตัวที่ใช้ในการตอบข้อสอบเท่านั้น

การก้าวออกมาจากภาพจำ เพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงอันน่ากระอักกระอ่วน จึงเป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่ผู้เขียนบทความจำนวนหนึ่งเสนอ เพราะหลายครั้ง การชินชาไม่เพียงแต่เป็นการยอมให้อำนาจจากเบื้องบนกดขี่เรา แต่ยังเป็นการละเลยความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น แทนที่จะต่อต้านหรือหยุดยั้งไว้ 

ธนวรรธน์ ผู้เขียนบทความ สังคมศึกษาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม จึงได้กลับด้านสังคมศึกษาที่ชินชาสู่วิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาหลักคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม จากการนำประเด็นทางสังคมที่ไม่อยากพูดถึงมาพูดคุยอย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับวิชากฎหมายที่สร้างภาพจำในฐานะกติกาอันดีงาม การเผชิญหน้ากับความจริงอันหน้ากระอักกระอ่วน เพื่อให้เห็นตัวแสดงอื่นๆ ที่มีอำนาจในระบบกฎหมาย


ชีวิต ตัวตน พลเมือง

วิชาสังคมศึกษาไม่ได้เพียงแต่บอกเล่าความเป็นไปเกี่ยวกับสังคมที่เราอยู่ แต่ยังมีส่วนประกอบสร้างการรับรู้ตัวตนในฐานะผู้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นย้ำบุณคุณของบรรพบุรุษไทย วิชาศาสนาที่สอนว่าชีวิตชาตินี้มาจากการทำบุญทำกรรมของชาติปางก่อน วิชาภูมิศาสตร์ที่บอกว่าเราเป็นคนกรุงเทพหรือต่างจังหวัด แต่สิ่งหนึ่งที่แขนงวิชาสังคมศึกษามีร่วมกันคือ การหล่อหลอมให้ผู้เรียนเป็น ‘พลเมือง’ ที่ภักดีต่อประเทศชาติ

ทว่า ผู้เขียนท่านต่างๆ กลับต้องการแตกหักจากเส้นเรื่องดังกล่าว พวกเขามองว่าผู้เรียนแต่ละคนมีเรื่องราวชีวิตเป็นของตนเอง การเรียกคืนการเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้มาอยู่ในอำนาจของตนเอง จะทำให้เขาสร้างมุมมองที่มีต่อตนเอง และประสานเรื่องราวที่มีร่วมกับผู้อื่นได้

‘คุณเป็นใคร’ คำถามเปิดของบทความ สู่ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต ตัวตนของเราในปัจจุบันความทรงจำที่แกะสลักถักทอ มันคือเรื่องเล่าที่มีต่อตัวเราในวันนี้ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าของความทรงจำที่เรามีร่วมกับผู้อื่นนั้นมีอำนาจในการกำหนดตัวตน รวมถึงทำให้เราสามารถกำหนดอนาคต

หรือในบทความ ที่ใดมีเรื่องเล่า ที่นั่นมีสังคมศึกษา ที่ยกเอา ‘เรื่องเล่า’ เป็นเครื่องมือหลักของการเรียนการสอน เริ่มต้นจากคำคำหนึ่ง สู่การเล่าประสบการณ์ชีวิตของตนและเพื่อน นักเรียนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคนชายขอบสามารถสร้างเล่าของตัวเองและสังคมรอบตัว 


นักเรียนต่างชาติกำลังให้ความสนใจซากดึกดำบรรพ์ในพิพิธภัณฑ์


กะลาไม่ใช่แค่แบบเรียน

คำว่า ‘กะลา’ ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงความไม่รู้ แต่หมายถึงกรอบของความรู้ หรือทุกบทเรียน คำสอน และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนสังคมศึกษา รวมถึงการศึกษาโดยภาพรวม การตีความความหมายของกะลาใหม่ทำให้วาทกรรมปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญแต่ ‘เรื่องที่เด็กต้องรู้’ พวกเขากังวลราวกับว่าเด็กมีความรู้น้อยเกินไป จนนำไปสู่สิ่งต่างๆ ที่รัฐกลัว เช่น ทอดทิ้งวัฒนธรรมไทย ไม่สนใจศาสนา หลงลืมประวัติศาสตร์ ทำให้เป้านิ่งอยู่ที่แบบเรียนหรือหลักสูตร โดยคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็วนอยู่กับความถูกต้องของข้อมูล หรือการเพิ่มเติมเนื้อหาขึ้นเรื่อยๆ

แต่แบบเรียนสังคมศึกษาที่เป็นกะลาชั้นแรกก็ยังมีกะลาชั้นอื่นๆ ซ้อนทับ กะลาที่ว่าไม่ใช่ความไม่รู้ แต่คือ “ความคุ้นชิน” ต่อความรู้ต่างๆ ที่เราได้มาจากวิชาสังคมศึกษา เราเรียนกันมาว่ากฎหมายเท่ากับความถูกต้อง แต่ทำไมกฎหมายยังเอื้อให้คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ เราเชื่อว่าถ้าขยันแล้วจะรวย แต่ทำไมพ่อแม่เพื่อนบางคนทำงาวันหยุดแล้วไม่เห็นรวยสักที นี่คือ ‘ความย้อนแย้ง’ ที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องเผชิญเพื่อสู้กับกะลาที่ใหญ่กว่า อย่างวัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ รัฐ

มันทำให้เรากลับมาคิดว่า กะลาที่เล็กที่สุด กับกะลาที่ใหญ่ที่สุดมันมักเชื่อมโยงกันเสมอ เราไม่สามารถตีกะลาเล็กจนแตก แล้วมองข้ามหรือทำให้กะลาใหญ่แข็งได้ มันทำให้เรานึกถึงเรื่องความรุนแรงของชิเช็ค ที่ความรุนแรงทางกายภาพ (กะลาเล็ก) มันถูกให้ความสำคัญ และจัดการด้วยความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ หรือระบบ (กะลาใหญ่) กะลาจึงไม่ใช่แค่ความถูกผิดของแบบเรียน แต่คือการรับรู้ที่ตั้งคำถามไม่ได้ของอำนาจทั้งระบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า