ห้องเรียนอยู่ที่ไหน? หน้าตาที่หลากหลายของการศึกษาเด็กข้ามชาติ

วริษา สุขกำเนิด


ห้องที่เต็มไปด้วยเด็กและวัยรุ่นมากมายนั่งเรียงชิดติดกัน ประดับประดาด้วยโปสเตอร์คำศัพท์ภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ คือบรรยากาศของ New Society ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (Migarnt Learning Center) ณ อ.แม่สอด จ.ตาก ศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วยเด็กจำนวน 181 คน หลากหลายช่วงวัย และสอนถึง 3 ภาษา คืออังกฤษ ไทย พม่า ทว่า กลับมีคุณครูเพียง 8 คน และเนื้อที่ของศูนย์การเรียนแห่งนี้เพียง 4 คูหาอาคารพาณิชย์เท่านั้น

นี่เป็นเพียงศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติหนึ่งในทั้งหมด 64 แห่งของจังหวัดตาก คำถามที่ว่าโรงเรียนเล็กเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อาจเริ่มต้นจากน้องๆ ที่นั่งขีดเขียนในห้องสีฟ้าเหล่านี้

[ภาพ นิวโซไซตี้]

การเมืองของผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ

‘ประชาชน’ คือผู้คนที่อยู่ใต้การดูแลรัฐชาติ รัฐมีหน้าที่จัดการบริหารความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อปกครองให้ผู้พวกเขามีผลิตภาพต่อการสร้างอำนาจของรัฐ Michel Foucault นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเสนอว่า รัฐชาติสมัยใหม่พัฒนาเครื่องมือปกครองประชาชน นั่นคือ ‘ชีวการเมือง (Biopolitics)’ หรือการปกครองประชาชนในระดับชีวิต เช่น การทำงาน การศึกษา การรักษาพยาบาล โดยรัฐได้ลดรูปผู้คนที่แตกต่างหลากหลายให้เหลือเพียงเลขรหัสที่ระบุสิทธิสถานภาพ รวมไปถึงกรอกสู่ระบบได้โดยง่าย หนึ่งในเครื่องมือนั้นคือ ‘สถานะทางบุคคล’

เพราะการจัดสรรการดูแลเป็นหน้าที่หนึ่งของรัฐต่อประชนชน การจะนับว่าผู้ใดเป็นประชาชนของรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ Carl Schmitt นักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมนี ได้เสนอแนวคิด Nomos หรือหลักการ หรือลักษณะบางประการที่ใช้ขีดเส้นแบ่งความเป็นชาติ โดยเส้นแบ่งยังมีหน้าที่สร้างคู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ไม่ใช่ชาติเรายังช่วยขับเน้นความเป็นชาติ ตัวอย่างหลักเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแยก คือเส้นเขตแดน และสัญชาติ

ผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ จึงเป็นผู้คนที่คาบเกี่ยวระหว่างการแบ่งเกณฑ์ของสองประเทศ รวมถึงความเป็นประชาชน และการปกครองของประเทศใดประเทศหนึ่ง เขาอยู่ในสถานะที่ Giogio Agamben นักคิดชาวอิตาลี เรียกว่า Homo Sacer หรือชีวิตที่เปลือยเปล่า พวกเขาไม่ใช่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ถูกปกครองโดยรัฐนั้น สถานะที่พวกเขาได้รับ คือ ‘สภาวะยกเว้น’ หรือสิทธิและสถานะทางกฎหมายที่แตกต่างจากพลเมืองคนอื่น มีการตีกรอบและขอบเขตที่มากกว่า สิ่งเหล่านี้ คือ ชีวการเมืองที่รัฐมีต่อผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ

ทั้งนี้ การนิยามผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติในฐานะชีวิตที่เปลือยเปล่าอาจขับเน้นความเป็นผู้ถูกกระทำ แทนที่จะให้ความสนใจต่อศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของแนวคิดดังกล่าว คือสภาวะยกเว้น หรือสถานะของชีวิตเปลือยเปล่านั้นไหลลื่น เต็มไปด้วยการต่อรอง และยังมีตัวแสดงอื่น เช่น ครู หน่วยงานราชการ หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่เปลี่ยนแปลงสถานะของพวกเขาได้


“นักเรียนข้ามชาติ”

“เมืองหน้าอยู่ ประตูค้าชายแดน” คือคำขวัญของ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เขตแดนติดกับพม่าถึง 540 กิโลเมตร คนข้ามชาติจากประเทศเมียนมาร์ใน อ.แม่สอด มีภูมิหลังที่หลากหลาย บ้างอยู่ในพื้นที่มานาน เช่น แรงงานพม่า หรือผู้ลี้ภัย และในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีคนพม่าจำนวนหนึ่งโยกย้ายเข้ามา รวมถึงผู้ลี้ภัยสงคราม ปี 2023

เพราะคนข้ามชาติหลายคนเดินทางมาพร้อมกับบุตรหลานที่อายุน้อย และสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ โรงเรียนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นอกจากจะให้วุฒิการศึกษาในการประกอบวิชาชีพหรือขอสัญชาติแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการปรับตัวในประเทศไทยและการเติบโตที่ปลอดภัยขณะที่พ่อแม่ทำงาน

แต่เดิม ผู้เรียนสามารถเลือกหลักสูตรได้ทั้งหมด 2 ทาง คือหลักสูตรการศึกษาที่รองรับโดยกระทรวงศึกษาธิการไทย อันประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษานอกระบบ (กศน.) และการศึกษาในหลักสูตรที่รองรับโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศพม่า 

การศึกษาด้วยหลักสูตรพม่า แม้จะไม่ให้เห็นกันบ่อยนักในประเทศไทย แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้เรียนและผู้ปกครองในการพัฒนาภาษาแม่และภาษาอังกฤษ รวมถึงวุฒิการศึกษา ที่เมื่อพกเขากลับไปยังบ้านเกิดแล้ว ก็สามารถส่งลูกเรียนต่อได้เลย โดยพ่อแม่สามารถส่งลูกเรียนในศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ โรงเรียนในหลักสูตร NFPE & NFME และการศึกษาทางไกล (Home-Based Learning By the NUG)

ทว่า ‘รัฐประหารในพม่า’ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการศึกษาของเด็กข้ามชาติ เพราะไม่เพียงแต่ผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่าจากหลั่งไหลมา จนทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากต้องเสาะหาโรงเรียนในไทย การศึกษาหลักสูตรพม่าบางโปรแกรมก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทางเลือกในการศึกษาของบุตรหลานชาวพม่าจึงเหลือเพียงแค่ 2 ทาง คือการศึกษาในหลักสูตรไทย และศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ

[ภาพ หลักสูตรการศึกษาเด็กข้ามชาติในไทย]


การเรียนในโรงเรียนรัฐบาลไทย

โรงเรียนแม่ปะเหนือ คือโรงเรียนรัฐบาลไทยใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีนักเรียนข้ามชาติเป็นจำนวนมาก นักเรียนจำนวนกว่า 200 คน ประกอบไปด้วยเด็กเล็กวัยอนุบาลไปจนถึงประถมปลาย กระจายห้องเรียนตามอายุและชั้นปี ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่รายได้ไม่มากนัก เนื่องด้วยนักเรียนหลายคนอุปสรรคด้านภาษา พวกเขาจึงมีคุณครูผู้ช่วยที่สามารถสื่อสารภาษาพม่ามาเป็นสื่อกลางในห้องเรียน รวมถึงช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ภายใน 2 ปี

ผู้ปกครองของเด็กข้ามชาติกว่าครึ่งหนึ่งเลือกส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลไทย เหตุผลหนึ่งเพราะมองว่าวุฒิการศึกษาไทยจำเป็น ค่าเล่าเรียนที่ถูก และโรงเรียนที่มีคุณภาพ เป้าหมายของนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนไทยคือการจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย และเรียนต่อมหาวิทยาลัย รวมถึงอาชีวะในประเทศไทย

พ่อแม่และเด็กข้ามชาติที่เชื่อมั่นในระบบโรงเรียนไทยที่มากขึ้น ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดการศึกษาให้เด็กไร้สัญชาติ ตั้งแต่การออกประกาศรับนักเรียนที่ไม่มีทะเบียนราษฎรและสัญชาติ ให้รหัส G สำหรับเด็กไม่มีฐานทะเบียน จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว รวมไปถึงจัดทำคู่มือสำหรับโรงเรียนในการรับผู้เรียนไร้สัญชาติ

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแม่ปะเหนือเป็นเพียงไม่กี่โรงเรียนในประเทศไทยเท่านั้นที่รับเด็กนักเรียนข้ามชาติ การเข้าเรียนโรงเรียนอื่นๆ อาจเผชิญปัญหาอคติ บางโรงเรียนไม่รับเด็กข้ามชาติ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเอกสาร และที่นั่งสำหรับนักเรียนไทยเต็มเรียบร้อยแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองชาวพม่า แม้กระทั่งครูในโรงเรียนไทยจึงมองว่าการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้อยากสำหรับเด็กข้ามชาติ นักเรียนบางรายอาจได้สถานะ G ล่าช้าจนเสียสิทธิ์ในการศึกษาต่อ 

“เด็กผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติทุกคนควรได้รับสิทธิและโอกาสเช่นเดียวกับเด็กไทยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” ครูโรงเรียนรัฐบาลไทย ใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก กล่าวไว้


[ภาพโรงเรียนแม่ปะเหนือ]


ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ 

ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ปกครองชาวพม่าที่พบเจออุปสรรคด้านภาษา และการเข้าถึงการศึกษา โรงเรียนเหล่านี้ส่วนมากก่อตั้งและดูแลโดยคนในชุมชนหรือท้องถิ่น มีหลักสูตรการเรียนรู้ และกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนภาษาและวัฒนธรรมของประเทศต้นทางเป็นพื้นฐาน การดูแลไม่เพียงมาจากเงินบริจาคของผู้ปกครองและคนในชุมชน แต่ยังมาจากองค์กรการกุศลทั้งในและนอกประเทศ

พ่อแม่ของเด็กข้ามชาติส่วนเลือกส่งลูกมาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ เพราะศูนย์เหล่านี้ไม่เรียกร้องเอกสารหรือขั้นตอนการสมัครที่ซับซ้อน ผู้ปกครองยังมองว่าศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติใกล้ชุมชนและที่อยู่อาศัย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

และด้วยความที่ศูนย์การเรียนรู้บางแห่งจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาพม่า หลักสูตรพม่า และการที่คุณครูที่ส่วนหนึ่งเป็นคนพม่า ทำให้เด็กและผู้ปกครองสามารถสื่อสารกับคุณครูและโรงเรียน และยังได้รับวุฒิหรือเทียบโอนไปสู่โรงเรียนในประเทศพม่าเมื่อกลับบ้านเกิดได้ ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าศูนย์การเรียนรู้มองว่าศูนย์การเรียนรู้สามารถพัฒนาความสามารถด้านภาษาพม่าและภาษาอังกฤษซึ่งจำเป็นต่อเด็กในอนาคต

ทว่า ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติและนักเรียนยังต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย หนึ่งในปัญหาหลักคือ เงินทุนในบริหารจัดการที่ไม่มั่นคง เนื่องด้วยแหล่งทุนที่สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากองค์กรระหว่างประเทศที่ผันผวนตามการเมืองโลก งบประมาณที่ได้มาจึงไม่พอสำหรับการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ทำให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม สื่อการเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงสภาพห้องเรียนที่อัตคัด สวนทางกับจำนวนของเด็กข้ามชาติที่ย้ายเข้ามามากขึ้น จากรัฐประหารและภาวะสงครามในประเทศเมียนมาร์

การไม่ได้การยอมรับจากทางการไทยยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ศูนย์การเรียนรู้เผชิญกับความไม่มั่นคง เนื่องด้วยศูนย์การเรียนรู้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานศึกษา นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่จึงไม่ได้รับสถานะทางทะเบียนและกฎหมาย พวกเขายังเผชิญกับความยากลำบากในการสอบเทียบ หรือโอนย้ายไปยังโรงเรียนรัฐบาล 

เช่นเดียวกับ คุณครูในศูนย์การเรียนรู้ที่จำนวนหนึ่งเป็นบุคคลข้ามชาติที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ไม่เพียงแต่พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนที่น้อยและไม่สม่ำเสมอ การไม่ขึ้นทะเบียนศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในฐานะสถานศึกษา และการที่คุณครูไม่รับใบอนุญาตทำงานในอาชีพครู ยังทำให้พวกเราไม่ได้รับการยอมรับในฐานะ ‘ครู’ และขาดโอกาสการก้าวหน้าในการงาน 

รายงานการวิจัย Bridges (2019) พบว่าสิ่งที่คุณครูต้องการนั้นคือการยอมรับอย่างเป็นทางการ มากกว่าการขึ้นเงินเดือนเสียอีก คุณครูท่านหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ข้ามชาติ อ.แม่สอด จ.ตาก ระบุว่า “ถ้ารัฐบาลของประเทศไทยให้การยอมรับศูนย์การเรียนผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ ครูจะมีความปลอดภัย ส่งผลให้ครูเองมีกำลังใจและสามารถทุ่มเทกับการเรียนการสอนมากขึ้น”


[ภาพ นิวโซไซตี้]


สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมาร์

“ก่อนหน้านี้ฉันเคยวางแผนให้ลูกของฉันเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ประเทศเมียนมาร์ เพราะฉันต้องการให้พวกเขาเข้ามหาวิทยาลัยที่นั้น แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศเมียนมาร์ ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแผน เพราะเราไม่มีทางกลับไปได้แล้ว ฉันรู้สึกถึงการสูญเสียทางการศึกษาของลูก และแนวทางชีวิตของตัวเอง” ผู้ปกครองนักเรียนข้ามชาติคนหนึ่งกล่าว

แม้จะมีความฝันที่จะส่งลูกและตนเองกลับสู่ประเทศบ้านเกิด แต่สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์กลับฉุดรั้งให้แรงงานข้ามชาติบุตรหลานต้องเปลี่ยนแผน และอยู่ในประเทศไทยในระยะยาว รายงาน Steping Stone (2022) พบว่าผู้ปกครองกว่า 64% ไม่แน่ใจว่าตนจะอยู่ในประเทศไทยอีกนานเท่าไหร่ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นที่เด็กข้ามชาติจำนวนมากจะหนีภัยสงครามมายังประเทศไทย

แม้ว่าพวกเขาจะมีที่อยู่ใหม่ในประเทศไทย แต่พวกเขากลับยังไม่ได้รับสถานะ สิทธิ และการคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับที่คนไทยได้รับ หลายคนไม่มีสถานะบุคคล หลายคนมีเพียงบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และมีจำนวนน้อนมากที่ได้บัตรประชาชนไทยการขอเลขประจำตัวนักเรียน 13 หลักยังเต็มไปด้วยความล่าช้า และความยากลำบากในการทำเอกสาร รวมไปถึงความเข้าใจผิดในเรื่องสิทธิ เพราะบัตรดังกล่าวไม่สามารถประกันสิทธิในบริการสุขภาพได้

‘สมุดปกเขียว’ คือการจัดระบบข้อมูลของนักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้จัดทำเพื่อนักเรียน เป็นสมุดที่บรรจุประวัติส่วนตัว ข้อมูลด้านการศึกษา รวมไปถึงประวัติด้านสุขภาพ ใช้เป็นเครื่องมือในการยืนยันสถานะบุคคลของเด็กข้ามชาติ ที่นักเรียนสามรถพกไปเมื่อย้ายโรงเรียน หรือรับบริการทางการแพทย์ได้ 


[ภาพ สมุดปกเขียว]


ข้อเสนอเชิงนโยบาย

เพราะความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ไม่มีท่าทีคลี่คลาย นักเรียนข้ามชาติจึงมีแนวโน้มลงหลักปักฐานในประเทศไทยในระยะยาว เพื่อหนุนเสริมการตัดสินใจและทางเลือกของเด็กและผู้ปกครองข้ามชาติ ข้อเสนอเชิงนโยบายจึงจำเป็นต้องยืดหยุ่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง 

โดย Think Foward Center ได้ยึดหลักการในการธำรงค์รักษาการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ดังนี้

  • ยึดหลักการศึกษาเพื่อมวลชน Education For All การศึกษาเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยควรได้รับ
  • สนับสนุนให้แม่สอดเป็นโมเดลสำคัญในการให้และจัดการการศึกษาของเด็กข้ามชาติ และเป็นต้นแบบสำหรับจัดหวัดในเขตชายแดนอื่นๆ ในการปฏิบัติ
  • โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่เพียงให้การศึกษา แต่คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง
  • การศึกษาไม่ใช่แค่พื้นฐาน แต่คือโอกาสที่เด็กจะได้พัฒนา การพัฒนาจึงต้องเป็นองค์รวม ที่สนับสนุนการทำงานข้ามพรมแดน เมืองพหุวัฒนธรรม หรือการยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก และประเด็นอื่นๆ ไปพร้อมเพียงกัน


นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลยังมีการลงพื้นที่และพูดคุยกับหน่วยงานด้านการศึกษาเด็กข้ามชาติ โดยได้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการเรียนรู้สำหรับเด็กข้าม ดังนี้

  • เตรียมพร้อมนักเรียนข้ามชาติสำหรับการศึกษาและการใช้ชีวิตในประเทศไทย เช่น การส่งเสริมการเรียนภาษาไทยมากขึ้น
  • ขึ้นทะเบียนศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในสถานศึกษา รวมถึงให้ใบอนุญาตในวิชาชีพครูสำหรับคุณครูข้ามชาติ
  • สร้างศูนย์ประสานงานระหว่างศูนย์การเรียนรู้และโรงเรียนรัฐบาลหรือสพฐ. เพื่อส่งต่อเด็กเข้าเรียนการศึกษาในระบบได้
  • ดำเนินการมอบรหัส G ให้แก่นักเรียนข้ามชาติในโรงเรียนไทยทุกคน


แม้การศึกษาของเด็กข้ามชาติจะได้รับอิทธิพลอย่างยิ่งจากสถานการทางการเมืองจากสองประเทศ ไปจนถึงการเมืองระดับโลก รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจ สิทธิ และอคติทางเชื้อชาติ แต่หากมองในมุมของเด็กแล้ว เรามีชีวิตที่ปลอดภัยในโรงเรียน รวมถึงโอกาสในการเติบโต และเลือกชีวิตตนเองได้ชีวิต โดยมีการศึกษาเป็นบันไดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ

“เด็กไม่สมควรแบกรับภาระทางการเมืองของผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข”




ที่มาข้อมูล:

Hess, B. S. (2017). Refugees as Homo sacer: A Life Without Rights in the State of Exception. Political Communication and Management. Copenhagen Business School. Denmark

Lowe, T., Win, N., Tyrosvoutis, G. (2022). Steppin Stones: The impact of twin crises on the future of migrant education in Thailand The Inclusive EducationFoundation. Maesot. Thailand.

Tyrosvoutis, Greg (2019). Bridges: Participatory action research on the future of migrant education in Thailand. TeacherFOCUS Myanmar

ปิติรักษ์ คืนตัก. (2565). “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” มองผู้ลี้ภัยทางการเมืองผ่านคนรุ่นใหม่ และประสบการณ์จริงของผู้ไร้แผ่นดิน. ค้นหาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2666 จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/361

ศิราพร แก้วสมบัติ. (2023). Tomorrow: การศึกษาเพื่อพรุ่งนี้. นำเสนอในการลงพื้นที่โรงเรียนแม่ปะเหนือ ของพรรคก้าวไกล วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566.

ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2. (2566) สรุปข้อมูลจำนวนนักเรียนและครูผุ้สอนในศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว ประจำเดือน กันยายน 2566.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า