โดย เดชรัต สุขกำเนิด
เพื่อนๆ สอบถามกันมาว่า “งบประมาณ 65” เตรียมการรับมือปัญหา “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” หรือ PM2.5 ได้ดีเพียงใด?
ถ้าตอบแบบสั้นที่สุด ก็คงตอบว่า “สิ้นหวัง” ครับ ทั้งนี้ ผมมีเหตุผลด้วยกัน 3 ประการคือ
(1) ในภาพรวม งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ในงบปี 2565 ถูกหั่นลดลงจาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาทในปี 2565 หรือลดลงกว่า 47% ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายโดยรวมลดลงในอัตรา 5.7% เท่านั้น
ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ให้งบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับเงิน 100 บาท รัฐบาลก็จัดสรรงบมาเพื่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 27.5 สตางค์ (หรือเกินหนึ่งสลึงมานิดเดียว)
ในขณะที่รัฐบาลในสหภาพยุโรปจะจัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ย 1.6% ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรัฐบาลจีนจะจัดสรรงบประมาณเพื่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 2.5% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนรัฐบาลไทยก็จัดสรรเพียง 0.275% เท่านั้น
นั่นแปลว่า รัฐบาลไทยชุดนี้แทบไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย———————(2) ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2565 รัฐบาลไม่ได้ตั้งแผนงานที่เป็นการเฉพาะเจาะจง หรือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กลงแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งงบประมาณและเป้าหมายที่กระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เกษตรกรได้รับความรู้เรื่องการเกษตรแบบปลอดเผา 17,640 คน และลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้ 55,000 ไร่
กรมควบคุมมลพิษระบุว่า
(ก) การจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่เป้าหมาย 4 แห่ง ได้แก่ มาบตาพุด ระยอง สระบุรี (หน้าพระลาน) และกรุงเทพและปริมณฑล โดยไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดเป้าหมาย
(ข) ตรวจสอบและตรวจจับยานพาหนะ 12,000 คัน
กรมป่าไม้ระบุว่า
(ก) มีจำนวนเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า 1,000 หมู่บ้าน
(ข) จำนวนจุดความร้อนลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มีจำนวนพื้นที่ที่มีการจัดการไฟป่า 56 พื้นที่ (ไม่ทราบว่า พื้นที่หมายถึงระดับใด)
และสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ที่ได้รับสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควัน 15 จังหวัด
แม้ว่า ในเป้าหมายของบางหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ จะมีการระบุเป้าหมายเชิงผลลัพธ์ (outcome) เอาไว้ (เช่น การลดจุดความร้อนหรือการลดพื้นที่การเกษตรที่มีการเผา)แต่เป้าหมายของหน่วยงานอื่นๆ กลับมีลักษณะเป็นผลผลิต (หรือ output) เช่น จำนวนพื้นที่ จำนวนจังหวัด ที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จในเชิงการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กเอาไว้แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เป้าหมายเชิงผลลัพธ์ที่ได้เช่น การลดจุดความร้อนลง 5% หรือการลดพื้นที่การเกษตรที่มีการเผาลง 55,000 ไร่ จากพื้นที่ที่มีความเปราะบางที่จะมีการเผาทั้งสิ้น 926,000 ไร่ (หรือประมาณ 6% ของพื้นที่เปราะบางต่อการเผา) จะมีความเพียงพอต่อการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เผชิญมาหลายปีหรือไม่
ยิ่งมารวมกับความไม่ชัดเจนว่า พื้นที่ดำเนินการของกรมป่าไม้ 1,000 หมู่บ้าน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 65 พื้นที่ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ 15 จังหวัด กรมควบคุมมลพิษ 4 พื้นที่ จะมีความทับซ้อน และ/หรือสอดประสานกันเพียงใด และพื้นที่ใดบ้างที่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น———————(3) งบประมาณที่รัฐบาลมาสำหรับการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นน้อยมากจนไม่น่าเชื่อ
โดยงบประมาณในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กระจายกันอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
งบสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ 15 จังหวัด ได้งบประมาณ 7.4 ล้านบาท
งบจัดการมลพิษทางอากาศ 4 แห่งและงบตรวจสอบ/ตรวจจับยานพาหนะ 7.6 ล้านบาท
งบสำหรับอาสาสมัครและประชาชนในการจัดการไฟป่าและหมอกควันของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 10 ล้านบาท
งบหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 40.8 ล้านบาท
งบในโครงการของหน่วยงานทั้ง 4 รวมกันเท่ากับ 65.8 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังมีงบประมาณประจำของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกได้แก่
งบควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ 307.7 ล้านบาท
งบในการเพิ่มสถานีตรวจวัดและเครื่องมือวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กของกรมควบคุมมลพิษอีก 24.5 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหาหมอกควันในอาเซียน 8.2 ล้านบาท
รวมแล้ว งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันเท่ากับ 406.2 ล้านบาท
หากนำงบประมาณดังกล่าวมาหารด้วยจำนวนประชากร 66.5 ล้านคน ก็จะเท่ากับรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยคนละ 6.1 บาท/ปี
ในขณะที่ ผลการศึกษาของเสาวลักษณ์ นรานุภาพ และวิษณุ อรรถวานิช (2563) พบว่า ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กถึง 6,125 บาท/ครัวเรือน/ปี และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เคยประมาณการไว้ว่า มูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะกรุงเทพมหานครจะมีมูลค่าถึง 446,024 ล้านบาท/ปี
เพราะฉะนั้น ด้วยการตั้งเป้าหมายและแผนงานที่กระจัดกระจาย และการตั้งงบประมาณที่น้อยมาก เทียบกับขนาดปัญหา ผมจึงมั่นใจว่า คนไทยคงจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อไปอีก นอกจากเราจะเชียร์ให้สภาผู้แทนราษฏรคว่ำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ และไปทำงบประมาณมาใหม่ให้ใส่ใจกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่านี้ครับ