การเพิ่มพื้นที่สีเขียว: ฝันยาวไกล แต่งบไปแค่ปากซอย – การวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และคณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ภายในปี 2580 (หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า) โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทร้อยละ 5 เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ถึง 120 ล้านตัน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ UNFCCC และข้อตกลงปารีส (Paris agreement) ที่พยายามจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม และการมุ่งสู่ Net Zero Carbon ภายในปี 2065 


พื้นที่สีเขียวและเป้าหมายที่ท้าทาย

ทั้งนี้จากสถิติของกรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 102.35 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของพื้นที่ประเทศ แยกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีร้อยละ 22 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 9  หากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 55 (หรือเท่ากับ 177.65 ล้านไร่) เท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นจำนวน 75.3 ล้านไร่ ในช่วงเวลา 15 ปี หรือเราจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านไร่ในแต่ละปี 

จากผลการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2564 กรมป่าไม้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 98,570 ไร่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 36,508 ไร่ รวมแล้วคิดเป็น 135,078 ไร่ หากคำนวณจากตัวเลขผลดำเนินงานดังกล่าว ประเทศไทยต้องใช้เวลา อย่างน้อย 557 ปีในการบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 55 (หรือ พื้นที่ป่า 177.5 ล้านไร่)

และหากลองคำนวณจากต้นทุนในการปลูกป่า 5,000 บาท/ไร่ การจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด (หรือเพิ่มขึ้นอีก 75.3 ล้านไร่) ตามนโยบายรัฐและแผนยุทธศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้น จำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 376,500 ล้านบาท ในช่วงเวลา 15 ปี (ยังไม่รวมงานบำรุงป่าในแต่ละปี) หรือประมาณ 25,100 ล้านบาท/ปี 

เพราะฉะนั้น การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก และการจัดสรรงบประมาณประจำปีก็เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว บทความนี้ Think Forward Center จึงชวนกันมาวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่าจะสะท้อนความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายนี้ ได้มากน้อยเพียงใด


มีอะไรในงบประมาณรายจ่ายปี 2566

ในงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2566 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดังนี้

  • กรมป่าไม้ มีโครงการป้องกันรักษาป่า พัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียว 985.6 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นงบที่เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยตรง มีสองส่วน คือ งบส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 69.8 ล้านบาท และงบส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 121 ล้านบาท โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจขึ้น 20,000 ไร่
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณ 10.2 ล้านบาท ในการส่งเสริมการปลูกไม้ป่าชายเลนเศรษฐกิจในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของภาคเอกชน จำนวน 2,000 ไร่
  • องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับงบ 22.2 ล้านบาทในการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ 18,210 ไร่ พื้นที่สาธิตการปลูกไม้เศรษฐกิจ 5,720 ไร่ พื้นที่สวนป่าปลูกหวายและไผ่ 900 ไร่

รวมงบประมาณที่เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของหน่วยงานต่างๆ เท่ากับ 1,017.8 ล้านบาทเท่านั้น รวมแล้วประเทศไทยจะมีป่าเพิ่มขึ้น 46,830 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าผลการดำเนินการของปีงบประมาณ 2564 (135,078 ไร่ ที่กล่าวถึงข้างต้น) เสียอีก

นอกจากนี้ ในองค์ประกอบของงบประมาณ 985.6 ล้านบาท ก็พบว่า กรมป่าไม้แบ่งเป็นงบดำเนินการ 392.9 ล้านบาท งบลงทุน 595.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างมากถึง 568 ล้านบาท ส่วนมากเป็นค่าก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและอาคารสำนักงาน และเป็นค่าครุภัณฑ์ 27.32 ล้านบาท และเงินอุดหนุน 7.45 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่างบประมาณส่วนใหญ่นี้ จะไม่ใช่เพื่อนำไปใช้ในการปลูกป่าหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยตรง โดยหากตัดงบประมาณที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปลูกป่าออกไป งบประมาณที่น่าจะใช้ในการปลูกป่าจะอยู่ที่ประมาณ 274.02 ล้านบาทเท่านั้น 


ปัญหาการจัดสรรงบประมาณในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ดังนั้นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 35 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 และพื้นที่ป่าในเมืองและชนบทร้อยละ 5 ภายในปี 2580 และหากภาครัฐยังไม่สามารถเพิ่มงบประมาณด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และปลูกป่าได้เพิ่มขึ้นเพียง 46,830 ไร่/ปี (ตามเป้าหมายของปีงบประมาณ 2566) ประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1,608 ปี กว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว 




ข้อเสนอของ Think Forward Center

Think Forward Center เห็นว่า เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น แผนงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Think Forward Center มีข้อเสนอเกี่ยวกับแผนดำเนินงานในช่วง พ.ศ. 2566 – 2570 ดังนี้

  • ควรมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง 200,000 ไร่ (ระยะเวลา 5 ปี) โดยจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านบาท/ไร่ รวมงบประมาณทั้งหมด 200,000 ล้านบาท โดยจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงาน 40,000 ตำแหน่ง และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 242,000 ตัน/ปี
  • เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 1 ล้านไร่ จัดสรรงบประมาณ 4,000 บาท/ไร่ รวมงบประมาณทั้งหมด 4,000 ล้านบาท การจ้างงาน 40,000 ตำแหน่ง ภายใน 5 ปี และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,210,000 ตัน/ปี
  • เพิ่มพื้นที่วนเกษตร 1 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 4,000 บาท/ไร่ รวมงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมด 4,000 ล้านบาท การจ้างงาน 40,000 ตำแหน่ง ภายใน 5 ปี และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,210,000 ตัน/ปี
  • การปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ 1 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 7,000 บาท/ไร่ รวมงบประมาณที่ต้องใช้ 7,000 ล้านบาท การจ้างงาน 130,000 ตำแหน่ง และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,000,000 ตัน/ปี


หากรัฐเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามข้อเสนอจะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านไร่ ภายในเวลา 5 ปี จะเกิดการจ้างงาน 250,000 ตำแหน่ง โดยใช้งบประมาณ 215,000 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 43,000 ล้านบาท) และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4.67 ล้านตัน/ปี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรใช้มาตรการและงบประมาณด้านอื่นๆ เช่น งบประมาณด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า งบประมาณด้านการจัดการปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและเขตอุทยาน การยกเลิกกฎหมาย/นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการพัฒนาแหล่งที่ดินทำกินและเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อการปลดหนี้สินเกษตรกร (หรือการบริหารจัดการหนี้สินที่ด้อยคุณภาพ)



เอกสารอ้างอิง

กรมป่าไม้. 2563. http://forestinfo.forest.go.th/Content.aspx?id=72

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 14 รัฐวิสาหกิจ. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 4 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. งบประมาณรายจ่ายจำแนกตามโครงสร้างแผนงานตามยุทธศาสตร์. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

CCMC. แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564 – 2573 รายสาขา. https://climate.onep.go.th/th/topic/policy-and-strategy/thailand-ndc-roadmap-on-mitigation

2562. มาสนุกกับการคำนวณเนื้อไม้กันเถอะ. https://ngthai.com/news-activity/22980/carbonfootprint/ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า