ขวัญผวา ปัญหา และทางออกของอุบัติภัยสารเคมี: นโยบายการลดความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมี สำหรับชาวสมุทรปราการ

เดชรัต สุขกำเนิด


สมุทรปราการ นอกจากจะได้ชื่อว่า เป็นเมือง “ปากน้ำ” เจ้าพระยา แม่น้ำที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทยแล้ว สมุทรปราการยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองแรกๆ ของไทยด้วยเช่นกัน แต่ชาวจังหวัดสมุทรปราการอาจไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมมากนัก เพราะมันแลกมาด้วยความเสี่ยงภัยพิบัติจากอุบัติภัยสารเคมีขนาดใหญ่ เช่นที่เกิดเหตุเป็นระยะๆ เสมอมาในช่วงหลังๆ


Think Forward Center ขอชวนทบทวนเหตุการณ์ขวัญผวา สถานการณ์ความเสี่ยง และเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่กระทบถึงชีวิตและทรัพย์สินของชาวสมุทรปราการ เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาสมุทรปราการให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยจากอุบัติภัยสารเคมีต่อไป


เหตุการณ์ขวัญผวาของชาวสมุทรปราการ

ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรปราการ ไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2564 เป็นครั้งแรก บีบีซีไทย ได้รวบรวมเหตุการณ์ขวัญผวาจาอุบัติภัยสารเคมี ผ่านชีวิตของคุณกรกมล ศรีวัฒน์ หรือ นุก หญิงสาวชาวสมุทรปราการ ที่ตลอดอายุ 25 ปีของชีวิตชาวสมุทรปราการ ผ่านประสบการณ์อุบัติภัยสารเคมีครั้งใหญ่ หลายครั้งได้แก่

  • พ.ศ. 2543 : การแพร่กระจายรังสีโคบอลต์-60 อ.พระประแดง
  • พ.ศ. 2557 : ไฟไหม้บ่อขยะ 153 ไร่ ต.แพรกษา เหตุการณ์นี้ต้องอพยพประชาชนในรัศมี 1.5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่
  • พ.ศ. 2563 : ท่อส่งก๊าซระเบิดใน ต.เปร็ง
  • พ.ศ. 2563 : เพลิงไหม้โรงงานทินเนอร์ ซ.เทพารักษ์ ต.เทพารักษ์
  • พ.ศ. 2564: โรงงานสารเคมีใน ซ.กิ่งแก้ว อ.บางพลี เหตุการณ์นี้ต้องอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่

เหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีขนาดใหญ่ที่เกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างและเกิดขึ้นซ้ำซาก ทำให้คุณกรกมล ศรีวัฒน์ (หรือคุณนุก) ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดในบทความดังกล่าวว่า 

 “อยากจะภาคภูมิใจในสมุทรปราการที่มันมีมาตรฐาน (ด้านสิ่งแวดล้อม) ที่ดีกว่านี้”


สถานการณ์ความเสี่ยงภัยล่าสุด

ในรายงานสถานการณ์ฉบับล่าสุด (ประจำปี 2564) ของกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่า จังหวัดสมุทรปราการยังเป็นจังหวัดที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้มากที่สุดจำนวน 4 ครั้ง จากทั้งหมด 23 ครั้งทั่วประเทศ และจังหวัดสมุทรปราการยังเป็นจังหวัดที่มีการร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษสูงที่สุดในประเทศไทยในปี 2562 (จำนวน 5 เรื่อง จาก 58 เรื่อง) 

ขณะเดียวกัน มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ทำการสำรวจโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือโฟมที่ใช้สารเคมีหรือมีการเก็บสารอันตราย คล้ายกับโรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในกรุงเทพและปริมณฑลพบว่า จังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานลักษณะเช่นนี้จำนวน 725 โรงงาน โดยเฉพาะ อ.บางพลี ซึ่งมีมากถึง 237 แห่ง และหากพิจารณาจากโรงงานที่มีกำลังเครื่องจักรสูง กว่า 10,000 แรงม้า (อ้างอิงจากโรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯ ที่มีกำลังเครื่องจักร 11,489 แรงม้า) พบว่า จังหวัดสมุทรปราการยังมีโรงงานที่มีกำลังการผลิตระดับนี้อีก 4 โรงในพื้นที่ อ.บางพลี และอ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

เช่นเดียวกับคุณสมนึก จงมีวศิน ได้ยกเอาแผนภาพใน “ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600” ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ (เมื่อปี 2555) โดยแสดงจุดสีม่วง คือ “โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย” พื้นที่สีแดงคือ เสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีมลพิษเข้มข้น และพื้นที่สีส้ม คือ เสี่ยงจากอุตสาหกรรมบรรจุแก๊สและวัตถุระเบิด อยู่เป็นจำนวนมาก (ในแผนภาพ) และที่สำคัญ ก็เป็นพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่นในปัจจุบัน


ล่าสุดเมื่อเวลา 00.07 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ก็ได้เกิดระเบิดที่โรงงานเก็บและบรรจุก๊าซ LPG ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จนชาวบ้านที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 50 เมตรจากพื้นที่โรงงาน ต้องอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน


มาตรฐานใหม่ใน (และหลังยุค) คสช.??

เมื่อชาวสมุทรปราการเช่นคุณนุก อยากเห็นมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น แต่สถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยในช่วงหลังปี 2557 ที่ คสช. ยึดอำนาจเป็นต้นมา คสช. ได้ใช้ทั้งอำนาจไม่ปกติ และอำนาจปกติ ในการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ในขณะที่ทำให้เกิดคำถามในมาตรการสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชาวสมุทรปราการ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การยกเว้นกฎหมายผังเมือง และกฎหมาย EIA สำหรับโครงการพลังงานและการจัดการขยะ 

เมื่อปี พ.ศ. 2559 หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ เท่ากับเป็นการยกเว้นข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล ตามกฎกระทรวงฯ ผังเมืองรวม หรือ พูดง่ายๆ คือ การเปิดให้โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้าขยะ สามารถตั้งโรงงานในพื้นที่ไหนก็ได้ รวมถึงพื้นที่ใดก็ได้ในจังหวัดสมุทรปราการ

นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น รัฐบาล คสช. ยังออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 ให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากเดิมกรณีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงาน EIA) แปลว่า กลไกการคุ้มครองผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะย่อมลดความเข้มข้นลง

สอง การแก้กฎหมายโรงงานให้ลดกลไกการตรวจสอบการตรวจสอบโรงงานลง

นอกจากการปลดล็อกผังเมืองให้กับโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าขยะแล้ว ในช่วงปลายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ผ่านรางกฎหมายพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการแก้ไขเนื้อหาสาระที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันมลพิษและอุบัติสารเคมี ได้แก่

  1. การแก้ไขนิยามทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้ก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขทำได้จำกัด
  2. การแก้ไขนิยามทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน แม้ว่า โรงงานเหล่านี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนเช่นกัน
  3. การแก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ ทำให้กระบวนการต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพโรงงานถูกยกเลิกไป ทำให้กลไกการตรวจสอบสภาพโรงงานก่อนต่ออายุก็หายไปด้วย
  4. การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนหน่วยงานรัฐ ซึ่งการเช่นนี้ก็อาจจะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจรับรองสภาพโรงงาน

ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ปี 2564 ได้มีการตั้งคำถามถึงช่องโหว่ของการดำเนินการตามกลไกพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2562 เช่น คุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งคำถามถึงการตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามถึงการการเพิ่มกำลังแรงม้าเครื่องจักรของโรงงานหมิงตี้ โดยเพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 36,000 ตันต่อปี (เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึง 15 เท่า) และการเพิ่มวัตถุดิบและขยายพื้นที่สร้างอาคารจัดเก็บสารเคมีอันตรายและติดไฟ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนในชุมชนรอบข้าง แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

สาม การตัดสิทธิของบุคคลที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีออกจากรัฐธรรมนูญ

เดิมที รัฐธรรมนูญฯ 2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไว้ในมาตรา 67 วรรคแรก ไว้ว่า

“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”

แต่ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับคสช. 2560 ได้ตัดวรรคนี้ออกไป และไม่มีเนื้อหาใดที่เทียบเคียงมาทดแทน นั่นแปลว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีของประชาชนจะไม่สามารถนำหลักสิทธิในข้อนี้มาใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 (เช่น กรณีมาบตาพุด)

หลักการสำคัญทางนโยบาย


จากสถานการณ์ความเสี่ยงภัยต่างๆ ที่ชาวสมุทรปราการต้องเผชิญ Think Forward Center เห็นว่า เป็นผลมาจากกลไกและมาตรการในการพัฒนาและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่หละหลวมมาก ไม่ว่าในแง่สถานที่ตั้งที่ทำให้ชาวสมุทรปราการจำนวนมากต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย และความไม่โปร่งใสของข้อมูลข่าวสารที่ทำให้หลายกรณี ซึ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว แต่หน่วยเผชิญเหตุก็ยังไม่ทราบชนิดและปริมาณสารเคมีอันตรายที่แท้จริงได้ จนกระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่งจึงจะทราบชนิดและปริมาณที่แท้จริงได้

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินหลายนโยบาย และแก้ไขและปรับใช้ข้อกฎหมายต่างๆ หลายข้อประกอบกัน โดยยึดหลักการทางนโยบายที่สำคัญ 5 ข้อคือ

  1. รู้ หมายถึง การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และสถานที่ ในการใช้ การเก็บรักษา การปล่อย และการกำจัดสารเคมีอันตรายทั้งหลายในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดเผย จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้หน่วยราชการ ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน สามารถป้องกัน รับมือ และเผชิญกับเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที ไม่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมสารเคมีเช่นในอดีต
  2. เคร่ง หมายถึง การเคร่งครัดในมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงงานและสถานกักเก็บและกำจัดสารเคมี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี โดยในระยะสั้น จะต้องดำเนินการโดยผ่านกลไกใน (ก) พระราชบัญญัติโรงงาน เช่น การเคร่งครัดกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบเอกชน (ข) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข เช่น การขออนุญาตกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การแจ้งเหตุรำคาญของสาธารณะ และ (ค) แผนและมาตรการของเขตควบคุมมลพิษ สมุทรปราการ ส่วนในระยะยาว จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน และการตราพระราชบัญญัติการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เพื่อให้เป็นเป็นไปตามหลักการข้อที่ 1
  3. ลด หมายถึง การมีแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในเขตควบคุมมลพิษสมุทรปราการ เพื่อให้มีแนวทางในการ “ลด” ปริมาณมลพิษและสารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการลงทั้งระบบอย่างจริงจัง ตั้งแต่การลดการนำเข้ามาในพื้นที่ การใช้ การเก็บรักษา และการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของพี่น้องชาวสมุทรปราการลดลงในอนาคต
  4. รับ หมายถึง การยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับอุบัติภัยของสารเคมี ทั้งในส่วนของหน่วยงานที่เผชิญเหตุโดยตรง หน่วยงานอำนวยการและสนับสนุน อาสาสมัครในองค์กรต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานประกอบการ ชุมชน หรือแม้กระทั่ง ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ขั้นตอนของการเตือนภัย การเผชิญเหตุ การอพยพ ไปจนถึง การชดเชย/เยียวยา และการฟื้นฟู ทั้งนี้ การยกระดับขีดความสามารถในการรับมือจะต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาสวัสดิภาพในการทำงาน และระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่อยู่ในหน่วยเผชิญเหตุ
  5. แยก หมายถึง การกำหนดแนวทางการฟื้นฟูความบกพร่องของการจัดทำผังเมืองสมุทรปราการที่ผ่านมา โดยการพัฒนา “ทางเลือก” เชิงนโยบาย และโครงการฟื้นฟูเมือง ในการ “แยก” ระหว่างพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมี และพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นออกจากกัน โดย (ก) การปกป้องพื้นที่ปลอดภัยของจังหวัดสมุทรปราการไว้ อย่าให้มีพื้นที่และมีความเสี่ยงภัยเพิ่ม (ข) การพัฒนาพื้นที่แนวป้องกัน หรือพื้นที่กันชนทางสิ่งแวดล้อม (ค) การให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการย้ายโรงงาน/สถานที่เก็บกักสารเคมีอันตรายเข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ และ (ง) การลงทุนพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ปลอดภัยและในราคาที่เข้าถึงได้แบบ social housing รวมถึงมีระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมด้วย


แนวทางการแก้ไขปัญหา


จากหลักการในการแก้ไขทั้ง 5 ประการ รู้-เคร่ง-ลด-รับ-แยก ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่สถานการณ์ความเสี่ยงภัยของชาวจังหวัดสมุทรปราการเป็นเรื่องเร่งด่วน Think Forward Center จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติภัยสารเคมีสำหรับจังหวัดสมุทรปราการที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนดังนี้

  • ผลักดันให้มี (ก) การยกระดับความพร้อมรับมือกับอุบัติภัยสารเคมี ทั้งในแง่ของเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานของหน่วยเผชิญเหตุ ขีดความสามารถในการรับมือ การดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการของหน่วยเผชิญเหตุ และการปรับปรุงความพร้อมของหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ และหน่วยอำนวยความสะดวก 
  • เร่งรัดให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนโดยละเอียดของเหตุอุบัติภัยสารเคมีที่รุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิด และไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เพื่อนำมาวางแผนในการป้องกัน และปรับปรุงการรับมือต่อไป
  • ตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการทำงานของผู้ตรวจสอบเอกชน ตาม พ.ร.บ.โรงงานที่มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ (ก) ดูแลความปลอดภัยและการปล่อยมลพิษของโรงงานอย่างเคร่งครัด (ข) เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมให้สาธารณชนรับทราบ และ (ค) พัฒนาระบบความพร้อมรับผิดของผู้ตรวจสอบเอกชน ของโรงงาน และของกรมโรงอุตสาหกรรม
  • การพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานบริการสาธารณสุข ในการตรวจสอบ ดูแลผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี รวมถึงการยกระดับศักยภาพของงานอาชีวอนามัยในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย
  • จัดทำ/ทบทวนแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในเขตควบคุมมลพิษสมุทรปราการ เพื่อให้มีแนวทางในการ “ลด” ปริมาณมลพิษและสารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการลงทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (หรือ Strategic Environmental Assessment) ควบคู่ไปด้วย เพื่อการวางแผนการควบคุมและการลดมลพิษที่ชัดเจนในระยะยาว
  • ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เพื่อสร้างความโปร่งใส และการเข้าถึงในข้อมูล เกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และสถานที่ ในการใช้ การเก็บรักษา การปล่อย และการกำจัดสารเคมีอันตรายทั้งหลายในจังหวัดสมุทรปราการ
  • ทบทวนแนวทางการวางผังเมืองในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรักษาพื้นที่ปลอดภัยของจังหวัดสมุทรปราการเอาไว้ เพิ่มแนวกันชันหรือแนวป้องกันระหว่างพื้นที่เสี่ยงภัยกับชุมชน รวมถึงการหาแนวทางที่จะย้ายแหล่งกำเนิดความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมีออกจากพื้นที่ชุมชน




เอกสารอ้างอิงและภาพประกอบ

  • สมิตานัน หยงสตาร์, 11 กรกฎาคม 2021. โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ : 25 ปีที่ผ่านหลายภัยพิบัติของสาวชาวสมุทรปราการ https://www.bbc.com/thai/thailand-57793771 .
  • มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, 2562. รวม 6 ผลงาน ส่งเสริมทุน-ลดทอนสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงา คสช. https://ilaw.or.th/node/5206 
  • ข่าวช่อง 8. 29 กรกฎาคม 2564, เปิดจุดเสี่ยง กทม.-ปริมณฑล 11 โรงงาน ศักยภาพเท่า ‘หมิงตี้ฯ’ ควบคุมไม่ดี หวั่นซ้ำรอย, , https://www.thaich8.com/news_detail/99350 
  • ผู้จัดการออนไลน์ 5 ก.ค. 2564, จี้ทบทวน “โรงงานเก็บสารเคมีอันตราย” ติดชุมชน มาตรฐานเข้มข้น ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ผังเมือง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000065295 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า