นุชประภา โมกข์ศาสตร์
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP 27 เป็นเวทีการประชุมเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -18 พฤศจิกายน 2565 ที่ เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ การประชุมครั้งนี้มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม world leader summit เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน และการติดตามการดำเนินงานของประเทศต่างๆที่ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในเวที COP26 เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่ามกลางปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วในปัจจุบัน และกระแสรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ COP27 จึงเป็นเวทีที่ให้โอกาสรัฐบาลทั่วโลกในการแถลงจุดยืนต่อการรับมือกับปัญหาดังกล่าว
แต่ล่าสุดเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเลือกจัดงาน COP27 ที่เมือง ชาร์ม เอล ชีค (Sharm El-Sheikh) ของอียิปต์ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่ได้รับความนิยม และเต็มไปด้วยรีสอร์ทที่หรูหรา ทันสมัย เป็นภาพที่ขัดแย้งต่อการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาโลกร้อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ โคคา โคล่า บริษัทผลิตเครื่องดื่มและพลาสติกรายใหญ่ของโลกที่ตกลงเป็นสปอนเซอร์ของงาน COP27
ภาพจาก https://aec.afdb.org/
ล่าสุด เกรตา ธุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ปฏิเสธที่จะเดินทางเข้าร่วมในงาน COP27 เนื่องจากมองว่าเวทีนี้เป็นพื้นที่ของการฟอกเขียว (Green washing) และการฉวยโอกาสของผู้นำโลกเพื่อให้ได้รับความสนใจ แต่ไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่ต้องการให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง
ในบทความนี้ Think Forward Center อยากลองเชิญชวนทุกคนมาทบทวนว่านับตั้งแต่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาเข้าร่วมประชุม COP 26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี รัฐบาลมีแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร รวมทั้งสำรวจด้วยว่ามีความท้าทายหรือปัญหาอุปสรรคอะไรที่อาจทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลประกาศได้
การประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทยในเวที COP 26
สำหรับเป้าหมายของการประชุม COP27 ในครั้งนี้ คือ เพื่อหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมอุณหภูมิโลกตามความตกลงปารีส การให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศ และการสนับสนุนเงินทุนให้ประเทศกำลังพัฒนา
ภาพจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ย้อนกลับไปถึงการประชุมสมัชชาภาคีครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีใจความว่า
“ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ” โดยนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกด้วยว่า “ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030”
ภาพจาก Flickr.com
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development strategy) ที่กำหนดเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 และให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ UNFCCC และความตกลงปารีส แต่ความพยายามในการลดก๊าซเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินมาตรการเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในบริบทของประเทศไทย
ทั้งนี้จากผลสำรวจของ World Resources Institute ประเทศแรกที่สามารถบรรลุตามเป้าหมายในการเป็น Net Zero Emission คือประเทศภูฏาน ในส่วนของประเทศอื่นๆได้กำหนดระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังนี้ ประเทศฟินแลนด์ กำหนดไว้ในกฎหมายและนโยบายว่าจะบรรลุภายในปี ค.ศ 2035 ประเทศออสเตรียและไอซ์แลนด์ ประกาศว่าจะบรรลุภายในปี ค.ศ. 2040 ประเทศเยอรมัน สวีเดน และเนปาลจะบรรลุภายในปี ค.ศ. 2045 ประเทศฝรั่งเศส ฮังการี ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ลาว เกาหลีใต้ และอื่นๆ ประกาศว่าจะบรรลุภายในปีค.ศ 2050 ขณะที่ประเทศจีน รัสเซีย ศรีลังกา จะบรรลุภายในปี ค.ศ. 2060 และประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะเป็น Net Zero Emission ภายในปี 2065
หากลองนำคำมั่นสัญญาของไทยมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบว่า ไทยมีเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ค่อนข้างช้า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ฯลฯ
แต่การดำเนินมาตรการของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงหรือ?
การดำเนินงานของภาครัฐต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดการประชุม TCAC หรือ การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference ) ภายใต้แนวคิด“อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาโลกรวนและกล่าวถึงเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ Think Forward Center มีข้อห่วงกังวลต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นกฎหมายและงบประมาณ ประเด็นยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจก และประเด็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ประเด็นกฎหมายและงบประมาณที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการรับมือกับภาวะโลกรวนหลายฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร่าง พรบ. Climate Change) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างแก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้ที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น
- ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างชัดเจน
- ข้อบัญญัติในร่างกฎหมาย หมวด 4 ว่าด้วยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก มาตรา 24-27 เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการกิจการโรงงาน แต่ยังไม่มีการกำหนดแผนดำเนินงานเพื่อให้โรงงาน/ภาคอุตสาหกรรมจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
- ยังมีข้อยกเว้นในการอนุญาตผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลหากข้อมูลนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายยกเว้นให้เอกชนไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งขัดแย้งต่อนโยบายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของรัฐบาล
- ร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังขาดการกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) จากโรงงาน/ภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจพลังงานตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษ (Polluters Pay Principal) เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมหรือกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรมสรรพสามิตรกำลังจะเตรียมออกกฎเรื่องภาษีคาร์บอน)
- กฎหมายจำกัดการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการอนุญาตให้เอกชนขอทุนหรือเงินอุดหนุนได้แต่ยังไม่มีมาตรการทางการเงินการคลังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เช่น การสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดย่อมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก การให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน หรือธุรกิจที่ลงทุนในพลังงานทดแทน (โซลาร์ฟาร์ม กังหันลม แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ)
- ร่างกฎหมายยังไม่มีการกำหนดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ในตลาดคาร์บอนที่ชัดเจน
- ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างแก้ไขเพิ่มเติม)
- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในหมวดกองทุนสิ่งแวดล้อม ไม่ได้กำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนเพื่อนำไปใช้ดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ในปี พ.ศ. 2564 กองทุนสิ่งแวดล้อมมีงบประมาณเพียง 1,805.26 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา)
- กองทุนสิ่งแวดล้อมไม่มีการจัดสรรงบสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน และเงินอุดหนุนส่วนมากถูกใช้ไปกับโครงการที่ไม่ได้เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการในพระราชดำริ
- ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566
ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 มีการจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจำนวน 1,574.8 ล้านบาท แยกเป็น (ก)งบประมาณซื้อเครื่องมือตรวจอากาศ เครื่องวัดลมเฉือนของกรมอุตุนิยมวิทยาตามสนามบินต่างๆ 1,168 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.1 (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ (ข) ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าดำเนินงานและจัดทำรายงาน 406 ล้านบาท
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อน ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่นแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาโครงการและส่งเสริมตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจก ได้รับงบประมาณเพียง 118.9 ล้านบาท อีกทั้งงบในแผนยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีจำนวน 38.6 ล้านบาท ลงลงจากปี 2564 ที่ได้รับ 66.7 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว กรมป่าไม้ ได้รับงบประมาณสำหรับส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ 69.8 ล้านบาท และงบส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 121 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบ 10.2 ล้านบาท ในการส่งเสริมการปลูกไม้ป่าชายเลนเศรษฐกิจในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของภาคเอกชน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รับงบ 22.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ รวมงบในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปีงบประมาณ 2566 มีประมาณ 270 ล้านบาท
ส่วนอื่นๆ เป็นงบที่นำไปใช้ในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น งบประมาณในแผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 567.6 ล้านบาท งบประมาณในแผนงานยุทธศาสตร์ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 193.3 ล้านบาท ฯลฯ เรียกได้ว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาล
2. ประเด็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการในพันธกิจต่างๆที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก ตัวอย่างเช่น
- การกำหนดเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030
รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Greenhouse Gas Emission Development strategy) และกำหนดเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 แต่จากการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ (Business as usual: BAU) ระบุว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 จะสูงถึง 555 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง และตามค่าเป้าหมาย NDC ที่ร้อยละ 40 รัฐบาลต้องลดลงจากที่คาดการณ์ให้ได้ 222 ล้านตัน กล่าวคือในปี 2030 ประเทศไทยต้องปล่อยก๊าซไม่เกิน 333 ล้านตัน อย่างไรก็ตามเมื่อนำไปเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซในปี 2018 ที่ 373 ล้านตัน จะเท่ากับเป้าหมาย NDC ในปี 2030 ของรัฐลดลงแค่ 10% เทียบกับปริมาณก๊าซในปี 2018 เท่านั้น กล่าวคือปี 2030 รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อยจากตัวเลขในปัจจุบัน เนื่องจากตัวเลขคาดการณ์ BAU ที่ตั้งไว้สูงเกินจริง
- การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.)
คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธาน ดำเนินงานด้านการดูแลรับผิดชอบในด้านเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การดูแลด้านการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดิน การสร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก การจัดทำ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ฯลฯ
แต่ กนภ. ยังไม่ได้กำหนดแนวทาง/มาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น มาตรการด้านการเงินการคลัง การให้อำนาจหน่วยงานเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการ การจัดทำรายงานข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินงาน การให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อดำเนินการ การบังคับใช้กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
การลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส
ประเทศไทยได้จัดทำ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส โดยข้อตกลงดังกล่าวแสดงถึงความร่วมมือสองฝ่ายที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส
แม้ว่าประเทศไทย นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนาม MOU ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกันภาคเอกชนของไทยยังได้ลงนามกับภาคเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์ในโครงการแลกเปลี่ยน สนับสนุนด้านการเงินให้ภาคเอกชนของไทยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางให้เป็นระบบ EV ทั้งหมดและไทยได้ตกลงที่จะขายคาร์บอนเครดิตให้สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนมากขึ้น แต่ปัจจุบันภาครัฐยังขาดแผนการส่งเสริมตลาดคาร์บอนในประเทศไทย อีกทั้งโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ยังเป็นโครงการภาคสมัครใจ ซึ่งไม่สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลดก๊าซเรือนกระจกเท่าที่ควร
- การกำหนดเป้าหมายในการปลดระวางถ่านหิน
ภายใต้การปฏิบัติตามความตกลงปารีสด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายของไทยที่ได้ประกาศไว้ในเวทีการประชุมสมาชิกภาคีหรือ COP 26 รัฐบาลกำหนดนโยบายจะไม่เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2593 (หรืออีก 28 ปีข้างหน้า) ซึ่งในแผนพลังงานแห่งชาติ (PDP) จะทยอยการปลดระวางไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบตั้งแต่ พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามในรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย(Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’ โดยกองทุนแสงอาทิตย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะและกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่ารัฐบาลไทยสามารถเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและเลิกนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 (หรือภายใน 5-15 ปีข้างหน้า) ซึ่งการปลดระวางถ่านหินภายในระยะเวลาข้างต้นจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 129 และ 239 ล้านตันตามลำดับ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงปี พ.ศ.2593
อีกทั้ง Think Forward Center เห็นด้วยว่า ประเทศไทยใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นทำให้สามารถที่จะปลดระวางถ่านหินโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึง พ.ศ. 2593 และหากมีการปลดระวางถ่านหินคาดว่าราคาค่าไฟฟ้าจะไม่ต่างจากเดิม เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของประเทศไทยไม่สูงมาก ข้อดีของการดำเนินการปลดโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ (ก) มีการใช้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น (ข) ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 21.2 – 24.1 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับโดยป่าสมบูรณ์ขนาด 3.95 ล้านไร่ (ประมาณ 4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร) (ค) สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากขึ้น (ง) ช่วยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายใน พ.ศ. 2030
3. ประเด็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่
สำหรับประเด็นที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ของประเทศไทยมากที่สุด คือประเด็นเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนของรัฐบาล ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการผูกขาดพลังงานโดยกลุ่มทุนเอกชนรายใหญ่ การเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ ที่อาจส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย
ที่มา moveforwardparty.org
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับกลุ่มทุนพลังงานของ วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เกินความต้องการไปกว่าร้อยละ 54 (หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนไทย) ทำให้ต้องใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน และรัฐบาลยังมีการอนุมัติเปิดโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย
ภาพจาก tcijthai.com
โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะหน่วยที่ 8-9 ซึ่งมีสัญญามากกว่า 20-25 ปี ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงรัฐบาลไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นต้องทำโครงการโรงไฟฟ้าทดแทน เพราะมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามากถึง 6 แห่งอยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็ยังอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ รวมถึงการสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อรับซื้อไฟฟ้า และการดำเนินโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อนำพลังงานจากฟอสซิลมาใช้
ตัวอย่างกรณีเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี รัฐบาลให้เหตุผลว่าการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตชจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ (ปัจจุบันไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณปีละ 8 แสนตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท) และแม้ว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว แต่โครงการนี้มีแผนการผลิตแร่โปแตช 2 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน อาจทำให้เกิดการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกจากการทำเหมืองและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จะต้องกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงไปอีกอย่างน้อย 20 ปี
ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ
การผูกขาดตลาดคาร์บอนและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ปัจจุบันคาร์บอนฟรุตปริ้น (carbon footprint) เปรียบเสมือนสินทรัพย์ (asset) ชนิดหนึ่งที่สามารถเก็บเป็นระยะเวลานานและสามารถนำมาแลกเป็นตัวเงินได้ ดังนั้นหากมีการพัฒนาตลาดคาร์บอนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย จะทำให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่สีเขียวหรือเกษตรกรจำนวนมากได้ประโยชน์จากนโยบายคาร์บอนเครดิต แต่ที่ผ่านมามีบริษัทไม่กี่แห่งที่ออกมาชี้แจงและได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ส่งผลให้บริษัทขนาดเล็ก/ประชาชนทั่วไป ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดซื้อขายคาร์บอน เพราะมีการเก็บคาร์บอนเครดิตไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่รอขายในตลาด ซึ่งอาจทำให้ตลาดคาร์บอนถูกผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจเอกชนในอนาคต
ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลได้อนุญาตให้ภาคเอกชนรายใหญ่มาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทั้งกังหันลม โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป โรงงานแบตเตอรี่ ฯลฯ แต่ยังไม่มีการออกแผนงานส่งเสริมนโยบายเปิดเสรีพลังงาน หรือส่งเสริมให้ประชาชนสามารถผลิตพลังงานสำหรับใช้ในครัวเรือน การอนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในพลังงานทดแทนอาจส่งผลทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น สวนทางกับหลักการการนำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับคนไทย
ภาพจาก unplash.com
การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนพลังงานเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับนโยบายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการบรรลุตามเป้าหมายกรอบอนุสัญญาของ UNFCCC และความตกลงปารีส ที่นายกรัฐมนตรีไปประกาศบนเวที COP 26
ข้อเสนอเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เพื่อให้ไทยบรรลุข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพ Think Forward Center มีข้อเสนอดังนี้
1. ด้านการแก้ไขและบังคับใช้กฎหมาย
- รัฐควรบังคับใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน เพื่อลดแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น
- กำหนดโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรม/เกษตรแปลงใหญ่/ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
- กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมในกรณีที่ภาคเอกชน/อุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
- กำหนดการปลดระวางถ่านหินภายใน ปี พ.ศ. 2580 (เดิมที่กำหนดในปี 2593)
- การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสาร EV แบตเตอรี่ พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ฯลฯ
- ควรแก้ไขร่าง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในหมวดกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กองทุนมีรายได้ที่ชัดเจน สามารถจัดเก็บรายได้อย่างสม่ำเสมอและเป็นธรรมมากขึ้น ดังนี้
- รายได้ที่มาจากภาษีคาร์บอนสามารถนำเข้าไปในกองทุนสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการกองทุนฯ ควรพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์/เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก และยกเลิกโครงการในพระราชดำริบางโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก
2. การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
- รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการผลิตพลังงานจากฟอสซิลและบรรลุ NDC ร้อยละ 40 ภายในปี 2030
- รัฐควรสนับสนุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับการลดคาร์บอน เช่น การดักจับ การดูดซับ และอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ควรกำหนดแผนดำเนินงานการลงทุนด้านพลังงานทดแทนใน พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
- รัฐควรปลดระวางถ่านหินภายใน พ.ศ. 2580 หรือภายใน 15 ปี (จากเดิมกำหนดไว้ใน พ.ศ. 2593)
- การส่งเสริมมาตรการทางการเงินการคลังให้กับภาคธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน (โซลาร์ฟาร์ม กังหันลมผลิตไฟฟ้า โซลาร์รูฟท็อป ฯลฯ)
- ยกระดับนโยบายเปิดเสรีพลังงานเป็นวาระแห่งชาติภายในปี 2573 โดยสนับสนุนกองทุนพลังงานทดแทนเพื่อลดการผูกขาดการผลิตพลังงานจากภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมกลไกที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่
3. การจัดสรรงบประมาณด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
- ควรเพิ่มงบประมาณในแผนยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เพื่อดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก (จากงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จัดสรร 1,574.8 ล้านบาท)
- การเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อนำเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมและนำไปดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก
4. การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
- ควรสนับสนุนงบประมาณให้กับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) เช่น รถโดยสาร/รถรับส่งนักเรียน จักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะแบบคาร์บอนต่ำ
- ควรสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร จัดทำสถานีชาร์จไฟสำหรับรถประจำทาง EV เทศบาลละ 1-2 จุด โดยใช้โซลาร์รูฟท็อปเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน
- กำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น ตั๋วฟรีสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
- การให้มีวันที่เรียกว่า Day Free สำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละ 1 วัน
5. การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตและพื้นที่สีเขียว
- รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กรมป่าไม้ กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฯลฯ ควรพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวสำหรับดูดซับก๊าซ
- การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต (carbon credit) เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
- ควรเปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเสรีทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐควรตั้งหน่วยงานที่มีอิสระในการเข้ามากำกับดูแลการซื้อขาย และควบคุมการผูกขาด การกำหนดราคาที่เหมาะสมและมีนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในตลาดคาร์บอนเครดิตให้กับชาวบ้าน/เกษตรกรรายย่อย
- ควรมีหน่วยงานกำกับดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต
แม้การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไทยอาจต้องแลกมาด้วยการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อลงทุนในพลังงานทดแทน (renewable energy) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ Think Forward Center เชื่อว่าการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน
รายการอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. 2565. คู่แรกของโลก “วราวุธ” ดีลแลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ไทย-สวิตเซอร์แลนด์. https://www.bangkokbiznews.com/social/1013166
กรุงเทพธุรกิจ. 2565. เหมืองโปแตชสู้วิกฤตสงคราม รัฐดัน 3 เหมือง กำลังผลิต 3.2 ล้านตัน. https://www.bangkokbiznews.com/business/1012570
กองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม. http://envfund.onep.go.th/home
คู่มือกองทุนภูมิอากาศสีเขียว. 2561. http://gcf.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/02/greenclimatefundguidebook-th-1.pdf
จัสติน โรว์ลัตต์. 2564. โลกร้อน: 5 เหตุผลที่ปี 2021 อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. https://www.bbc.com/thai/international-55507110
บีบีซี นิวส์ ไทย. 2564. โลกร้อน: คำสัญญารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของนายกฯ ประยุทธ์ กับผู้นำชาติอื่นที่ COP26. https://www.bbc.com/thai/international-59121888
รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร. https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20220610112538_2_216.pdf
รัฐบาลไทย. 2564. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47700
Thai-German Cooperation. 2563. โครงการสนับสนุนการเตรียมพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน Green Climate Fund ระยะที่ 1. https://www.thai-german-cooperation.info/th/the-green-climate-fund-gcf-readiness-and-preparatory-support-programme/
วรภพ วิริยะโรจน์. 2565. แฉขบวนการเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ทำคนไทยใช้ไฟแพงโดยไม่จำเป็น. https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/nail-on-coffin-censure/13957/
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2565. โครงการสัมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา. https://web.facebook.com/ias.chula/videos/962929981012068/
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). 2565. https://web.facebook.com/tgo.or.th
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). 2565. http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/
Greenpeace Thailand. 2564. ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย. https://www.greenpeace.org/thailand/publication/21396/climate-coal-phase-out-coal-thailand-report/
Green Network Thailand. 2564. COP26 กับบทบาทประเทศไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. https://www.greennetworkthailand.com/cop26
IPF Foundation. 2015. http://ipf.or.th/?p=311
SDThailand. 2565. เกรตา ธันเบิร์ก ประกาศไม่ร่วมเวที COP27 เปรียบเป็นพื้นที่ให้มหาอำนาจใช้ฟอกเขียว ประวิงเวลาเปลี่ยนแปลงโลก. https://www.sdthailand.com/2022/11/greta-thunberg-call-cop27-greenwash-process/