การฟื้นฟูคลองมะขามเรียง, คลองท่อ, คลองสระบัว

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล

                 ในปัจจุบัน คลองส่วนใหญ่รอบเมืองอยุธยามีสภาพเสื่อมโทรม โดยคลองมะขามเรียงและคลองท่อ ทั้ง 2 แห่ง เปรียบเสมือนท่อระบายน้ำเสียมากกว่า เนื่องจากระบบน้ำเสียของเมืองอยุธยาโดยรอบคลองนั้น น้ำเสียจะไหลเข้ามารวมอยู่ในน้ำคลองของอยุธยาโดยการกรองน้ำที่ไม่เหมาะสม ทำให้น้ำมีกลิ่นเน่าเหม็นและมีสีขุ่น อีกทั้งไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาที่ทันสมัยนัก ทำให้คลองเต็มไปด้วยขยะและใช้งานคลองเพียงการระบายน้ำจากเหนือเกาะ ลงใต้เกาะ เพียงเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขาภิบาลของเมืองอยุธยาที่ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้ตรงกับการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต กล่าวคือ การพัฒนาคลองทั้ง 2 แห่ง ไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังและมีเจตนาเพื่อประชาชนมาเนินนาน 

                คลองประวัติศาสตร์ 2 แห่ง ไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อดึงศักยภาพเต็มที่ออกมาใช้งาน เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของคลองนั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอยุธยาแทบทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับคลองสระบัว เมื่อต้องฟื้นฟู เราจึงเห็นว่า มีความจำเป็นต้องขุดลอกคลองเป็นอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงจะพัฒนาต่อ โดยสอดคล้องกับการพัฒนาผังเมืองใหม่ของเกาะเมืองอยุธยา ควรอย่างยิ่งที่จะออกแบบผังเมืองที่มี ทางเท้า, ทางจักรยาน และทางของขนส่งมวลชน เป็นสิ่งสำคัญและมาก่อนถนนสำหรับรถยนต์เสมอ หากดังที่กล่าวมาเกิดขึ้นได้ จะทำให้คลองทั้ง 2 แห่ง เป็นเส้นทางสัญจรหลักของทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ในการสัญจรจากทางเหนือของเกาะเมืองลงสู่ทางใต้ หรือ นั่งรถรางชมเมืองโบราณ ราชวังโบราณ วัดร้าง และร้านค้าตามริมคลอง เป็นต้น ทั้ง 2 แห่งจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวแก่เมืองอยุธยามากขึ้น เกิดเป็นสวนสาธารณะไว้ให้ผู้คนได้มาพักผ่อน และยังสมารถจัดเทศกาลประจำเมืองได้อีกมากมาย กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของเมืองด้วย

            เช่นเดียวกันกับคลองสระบัว ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนา เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย อีกทั้งเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับ คลองหัวรอ คลองซึ่งไหลผ่านหลายตำบลในเมืองอยุธยา รวมเข้ากับ คลองคูเมือง คลองซึ่งทอดยาวอยู่ทางเหนือของเกาะเมืองและเชื่อมต่อกับทั้งคลองท่อและคลองมะขามเรียง เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางคลอง สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้แก่ผู้คนในชุมชนอีกมากมาย

การท่องเที่ยวทางน้ำ เชื่อมเกาะเมืองอยุธยาร่วมกับประตูกาลเวลา

               หากสามารถปรับปรุงคลองทั่วเกาะเมืองอยุธยาและคลองสระบัวได้ เรามีความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองของตัวเขาเองและสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ ผ่านคลองประวัติศาสตร์ เรียนรู้ร่วมกับเรือไฟฟ้าของชุมชน สร้างแหล่งงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวตำบลคลองสระบัว ลุมพลี และ สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอย่างแน่นอน

                ปัจจุบัน ตำบลคลองสระบัว ตำบลที่อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองอยุธยามากนัก เป็นพื้นที่ที่มีซากโบราณสถานและวัดโบราณ มากมาย ซ่อนตัวอยู่ร่วมกับชุมชนและคลองมาช้านาน บ้างถูกรุกล้ำนำไปใช้เป็นที่อาศัย บ้างถูกละเลยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมศิลปากร อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ส่งผลให้สภาพปัจจุบันของคลอง มีสภาพที่เสื่อมโทรมและตื้นเขิน เนื่องจากไม่ได้รับการขุดลอกและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ไม่สามารถสร้างเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ดีได้ ถึงแม้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ต่างพากันมาเยี่ยมชมวัดในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง แต่การพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาอยู่ตลอดเวลาไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงปัญหาขาดแหล่งงานที่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน และมีปัญหายาเสพติดด้วย

             ขอเสนอให้ใช้ การท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นประเด็นหลักในการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูคลองสระบัวที่ได้ประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนในตำบลคลองสระบัว เส้นทางคลองท่องเที่ยวผ่านโบราณสถานมากมาย เช่น ประตูกาลเวลา, วัดพระงาม เพนียดคล้องช้าง หรือวัดร้างอีกมากมาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น โดยเริ่มจากการปรับปรุงคลอง ขุดลอก และปรับปรุงจุดเชื่อมต่อคลองได้แก่ จุดเชื่อมต่อคลองสระบัวและคลองคูเมือง ณ วัดหน้าพระเมรุ, จุดเชื่อมต่อคลองสระบัวและคลองหัวรอ ณ สะพานตำบลสวนพริก, จุดเชื่อมคลองหัวรอและคลองคูเมือง ณ ชุมชนวัดแม่นางปลื้ม 

            หากนำมาพัฒนาให้แต่ละจุด เชื่อมต่อกันได้โดยไม่มีประตูน้ำกั้น เกิดเป็นเส้นทางรูปสามเหลี่ยม โดยปี 2564 – 2565 ที่ผ่าน พื้นที่สามเหลี่ยมถูกน้ำท่วมทั้ง 2 ปี เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ อีกทั้งยังขาดระบบสุขาภิบาลและระบบการระบายน้ำที่ทันสมัย ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำในพื้นที่ได้ ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชนต้องทนทุกข์ นานกว่า 2 เดือน หากมีความต้องการที่จะใช้ “ประตูน้ำ” เพื่อควบคุมน้ำจากทิศเหนือผ่านเข้าคลองคูเมืองในอนาคต ตำแหน่งที่เหมาะสมควรเป็นที่ จุดเชื่อมต่อคลองสระบัวและคลองหัวรอ ณ สะพานตำบลสวนพริก


              การพัฒนาคลองเพื่อการท่องเที่ยวนี้ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเดิมในพื้นที่เป็นหลัก เพื่ออนุรักษ์พื้นที่มีประวัติศาสาตร์และความเป็นมามากมาย อีกทั้งต้องพัฒนาควบคู่ให้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนในท้องถิ่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น การมีเรือไฟฟ้าโดยสารบริการประชาชน เพื่อสร้างขนส่งมวลชนในท้องถิ่นและลดการใช้รถยนต์มากขึ้น ที่สำคัญคือ โครงการจัดการน้ำของท้องถิ่น ผ่านการปรับปรุงคลองให้มีความจุมากขึ้น และ กว้างขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานและปริมาณน้ำที่มากขึ้นตามฤดู พร้อมกับการพัฒนาระบบสุขาภิบาลในท้องถิ่น ให้สามารถแยกน้ำดีและเสียออกจากกันได้อย่างเป็นระบบกว่านี้ พร้อมผังเมืองใหม่ที่มาพร้อมกับทางเท้าและทางจักรยาน การสัญจรของทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว จะลื่นไหลและสะดวกสบายอย่างมาก   


 การใช้เรือพลังงานแสงอาทิตย์ในคลองของเมืองอยุธยา

            เนื่องด้วยคลองสระบัวในปัจจุบัน เป็นคลองของชุมชน มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมฝั่ง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องใช้ไฟฟ้า นอกจากจะเป็นพลังงานสะอาดแล้ว ยังมีเสียงที่เบากว่าการใช้เครื่องยนต์น้ำมัน ไม่รบกวนความเป็นอยู่ของของชุมชน ฉะนั้น การใช้เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

            การควบคุมความเร็ว เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องควบคุมมากขึ้น เรือไม่สามารถเคลื่อนที่เร็วเกินไป เนื่องจากจะเกิดคลื่นที่แรงตามความเร็วที่วิ่ง คลื่นน้ำที่แรงส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและตลิ่งดิน หรือนำไปสู่การสร้างตลิ่งคอนกรีตในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ โดยในเมือง Amsterdam, Netherlands มีการกำหนดความเร็วของเรือไว้เพียง 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น และขับเร็วได้ไม่เกิน 7.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อมิให้คลื่นน้ำมีขนาดใหญ่และแรง เมื่อต้องชนเข้ากับตลิ่ง (amsterdam.nl)

             ทั้งเรือท่องเที่ยวและเรือเพื่อการสัญจร จะสามารถเป็นพาหนะที่จะสร้างระบบการจัดการน้ำใหม่ในพื้นที่  เป็นส่วนหนึ่งเพื่อมิให้พื้นที่สามเหลี่ยมต้องน้ำท่วมซ้ำซากอีก และจะเป็นพาหนะที่จะนำรายได้เข้ามาสู่ประชาชนชาวคลองสระบัว ผ่านการท่องเที่ยวและขนส่งมวลชน เกิดเป็นแหล่งงานมากมายที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า