เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center
แม้ว่า ช้างจะเป็นสัตว์ประจำชาติไทย แต่ปัจจุบัน ช้างบ้านในประเทศไทยกลับมีจำนวนลดลงมาก จนเป็นที่น่ากังวล และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเกี่ยวกับช้างพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนลูกช้างในประเทศไทยเกิดน้อยลงอย่างมาก และยังเกิดปัญหาเลือดชิดในหมู่ประชากรช้าง ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนประชากรช้างในระยะยาว
ขณะเดียวกัน หากมองในแง่นโยบาย ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องช้างบ้านโดยตรง แต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบเฉพาะในด้านของตนเท่านั้น การแยกส่วนกันรับผิดชอบ ทำให้ประเทศไทยขาดระบบฐานข้อมูลช้างบ้านที่ตรงและทันกับสถานการณ์ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักกว่า 2 ปี จนปางช้างส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งช้างบ้านที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ที่ผ่านมา นโยบายช้างบ้านมักได้รับความสนใจจากรัฐบาลไม่มากนัก ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับช้างบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าประเทศไทยจะมี “สถาบันคชบาลแห่งชาติ” แต่สถาบันคชบาลแห่งชาติก็เป็นเพียงหน่วยงานย่อยขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีภารกิจในด้านการรักษาพยาบาลช้าง แต่การจะดูแลประชากรช้างทั้งประเทศจำเป็นต้องดูแลในทุกๆ ด้าน จำเป็นจะต้องมีการประสานนโยบายในการดูแลช้างบ้านในทุกๆมิติ อย่างรอบด้าน
เนื่องในโอกาสวันช้างไทย วันที่ 13 มีนาคม พรรคก้าวไกลจึงขอเสนอนโยบายคชบาลแห่งชาติ ที่จะเป็นนโยบายดูแลช้างบ้านทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน คือ
- ดูแลประชากรช้างบ้านในประเทศไทย ไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยง
- พัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยการดูแลช้างบ้าน และการดูแลสุขภาพช้าง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านช้างระดับโลก และสามารถเป็นแหล่งวิชาการที่น่าเชื่อถือในระดับโลก
- พัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงช้างในประเทศไทย เพื่อให้เป็นธุรกิจที่มีมาตรฐานในระดับโลก ทั้งตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นโยบายคชบาลแห่งชาติ
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้ง 3 ข้อ นโยบายคชบาลแห่งชาติจึงประกอบด้วยมาตรการ 7 ประการดังนี้
- จัดทำระบบการลงทะเบียน ระบบข้อมูล และระบบการกำกับดูแลช้างบ้าน ที่หน่วยงานคชบาลแห่งชาติเพียงหน่วยงานเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ความลักลั่น และสามารถติดตามข้อมูลทุกช้างโดยระบบแบบเรียลไทม์
- พัฒนาระบบประกันสุขภาพช้างบ้านทุกตัว (หรือ universal coverage) ให้ช้างบ้านทุกตัวในประเทศไทย ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย และมีระบบทะเบียนประวัติการรักษาสำหรับช้างบ้านแต่ละเชือก
- พัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยการเลี้ยงช้างบ้าน และการดูแลสุขภาพช้างบ้านและช้างป่า และองค์ความรู้ว่าด้วยช้างในระบบนิเวศวัฒนธรรมต่างๆ เชื่อมโยงกับหน่วยงาน
- การกำหนดมาตรฐานสำหรับธุรกิจการเลี้ยงช้าง/การท่องเที่ยวกับช้างในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
- การส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจการเลี้ยงช้างที่ได้รับมาตรฐาน ตามข้อ 4 ให้สามารถขยายตลาดการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับช้าง ให้สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกระจายรายได้ให้กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่
- การดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการสำหรับควาญช้าง เพราะควาญช้างเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง และต้องใช้ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้เป็นอย่างมาก ดังนั้น จะมีพัฒนาระบบการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง เพื่อให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และความมั่นคง
- การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับช้างบ้านและผู้เลี้ยงช้าง โดยจะมีระบบสวัสดิการที่ช่วยเหลือช้างบ้าน และผู้เลี้ยงช้างในหลายลักษณะ เช่น
- การช่วยเหลือช้างบ้านทุกตัวในระบบลงทะเบียน (ตามข้อ 1) ในภาวะวิกฤต เช่น โควิด-19 เพื่อให้ภาวะวิกฤตดังกล่าว ไม่กระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างบ้าน
- การสนับสนุนอาหารช้างบ้าน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะผลผลิตที่สามารถเป็นอาหารของช้างบ้านได้
- การสนับสนุนการปลูกพืชอาหารช้าง ในอัตรา 5 ไร่: 1 เชือก จะช่วยกระจายรายได้จากการเลี้ยงช้างและจากการท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง
- การสนับสนุนบทบาทช้างบ้านในการดูแลรักษาป่า และป้องกันไฟป่า ร่วมกับชุมชนในพื้นที่