มีหลายสิ่งอยู่ในธรรมชาติ: สำรวจสถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำ 3 สมุทรใกล้กรุงเทพมหานคร

วริษา สุขกำเนิด


พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) คือพื้นที่ที่มีน้ำปกคลุม หรือเปียกชุ่มตลอดทั้งปี โดยมีทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่อาจรับน้ำมาจากแม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ หรือแหล่งอื่นๆ พื้นที่ลุ่มน้ำคือระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยชีวิตที่หลากหลาย อุดมไปด้วยสารอาหารและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเติบโต หาอาหาร หรือพักพิงของสัตว์ และยังเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ลดการพังทลายของหน้าดิน และสร้างอากาศบริสุทธิ์แก่มนุษย์  

เนื่องด้วยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) Think Forward Center จึงอยากชวนทุกท่านสำรวจสถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำใกล้กรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ได้แก่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ รวมถึงทบทวนแนวทางการอนุรักษ์หรือพัฒนาที่ปฏิสัมพันธ์กับสรรพชีวิตในพื้นที่


นกอพยพ และ นาเกลือ

รูปภาพของคุณ นิยม ทองเหมือน ผู้จัดการโครงการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
และคุณสุชาติ แดงพยนต์ เลขาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ดูนกบริเวณนาเกลือ


ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ในบริเวณนาเกลือ มีร่มไม้ และป้ายภาพประกอบเกี่ยวกับนกสายพันธุ์ต่างๆ ตำบลโคกขาม เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่าชายเลนและนาเกลือ คือพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งหนึ่งอันเป็นแหล่งอาหารและพักพิงของนกอพยพจากประเทศตอนเหนือเกือบ 30 ชนิด หนึ่งในนั้นคือนกชายเลนปากช้อนที่พบเจอระหว่างการสำรวจ

นาเกลือคือพื้นที่ทำมาหากินของมนุษย์ที่มีความสอดคล้องกับการทำมาหากินของนกอพยพ การผันน้ำทะเลเข้ามาผึ่งในแปลงนาเกลือหลายๆ ทอด ทำให้นอกจากจะได้ผลึกเกลือที่เกาะตัวกันแล้ว สารอาหารและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มากับน้ำทะเลก็สะสมกันอย่างหนาแน่น นกอพยพที่มักหาอาหารในหาดทรายและหาดเลน จึงนิยมเดินกินอาหารในนาเกลือ และพักผ่อนบริเวณคันนา

เนื่องด้วยนกอพยพเสี่ยงต่อการลดจำนวน คนในพื้นที่จึงพยายามอนุรักษ์ผ่านการปกป้องที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร  ปัจจุบัน นาเกลืออันเป็นแหล่งอาหารของนกเริ่มเปลี่ยนสภาพ จากทั้งต้นทุนการดูแลที่สูง ราคาเกลือที่ลดลง ปัญหาการส่งต่ออาชีพให้คนรุ่นลูก น้ำเสีย และการเข้ามาของพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นผลให้ผู้ทำนาเกลือเปลี่ยนไปทำอาชีพการเกษตรกรรมประเภทอื่น 

นอกจากนี้ ‘การอนุรักษ์ทับซ้อน’ ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบกับการหากินของนกอพยพ กิจกรรมการปลูกป่าชายเลนที่หลายภาคส่วนเชื่อว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่หาดเลนอันเป็นแหล่งอาหารของนกลดลง เช่นเดียวกับโซลาร์ฟาร์มที่แม้จะมีคุณประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด แต่แสงที่สะท้อนจากแผงโซลาร์เซลล์ก็อาจส่งผลต่อการรับรู้ของนกที่ผิดพลาด ทำให้นกเลือกไปหาแหล่งอาหารอื่นในที่สุด

เพราะสิ่งที่สำคัญต่อการอนุรักษ์นกคือ การอนุรักษ์นาเกลือ คนในพื้นที่โคกขามจึงหาวิธีการรักษาการทำนาเกลือโดยใช้การบริหารด้วยระบบสหกรณ์ และใช้การประกันราคาเพื่อป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้นาเกลือบริเวณนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตอนุรักษ์ รวมถึงการสื่อสารว่าเกลือที่ขายจากจุดนี้คือเกลือจากพื้นที่อนุรักษ์นกระดับโลก พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เรื่องนาเกลือ นก รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการดูนกและวาฬบรูด้า



บ่อเก็บน้ำที่ไร้น้ำ

รูปภาพขณะคณะทำงานก้าวไกลลงพื้นที่สำรวจโครงการแก้มลิงทุ่งหิน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567


พื้นที่โล่งกว้างขนาดใหญ่ ที่การก่อสร้างยังดำเนินไปเรื่อยๆ คือ พื้นที่โครงการแก้มลิงทุ่งหิน ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการสร้างบ่อกักเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ แม้วัตถุประสงค์แรกของโครงการนี้คือ การกักเก็บน้ำฝน และป้องกันน้ำท่วม แต่โครงการนี้ยังไม่มีสายน้ำจืดไหลเข้ามา และยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จสมบูรณ์

 โครงการแก้มลิงทุ่งหินเดิมทีเป็นพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่เกษตรกร หรือเผาถ่าน ต่อมามีการเวนคืนเพื่อเป็นพื้นที่ราชการ ซึ่งมีราชพัสดุเป็นเจ้าของ จำนวนประมาณ 2000 ไร่ โครงการนี้เป็นโครงการพระราชดำริที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 และเริ่มดำเนินการตามงบประมาณในปี 2560 ซึ่งนอกจากจะมีเป้าประสงค์ในการรองรับน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ไหลมาจากจังหวัดกาญจนบุรีหรือจังหวัดราชบุรี ยังมีความคาดหมายในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของสมุทรสงครามอีกด้วย

แต่แม้จะดำเนินการมา 6 ปี โครงการนี้ก็ไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จ เพราะนอกจากจะไม่มีน้ำจืดจากแม่น้ำแม่กลองที่ไหลเข้ามาในบ่อเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นไปได้ว่าน้ำที่เข้ามาอาจเป็นน้ำเค็มจากทะเลหรือในดิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางการเกษตร และอาจดันให้น้ำเอ่อล้นมากขึ้น รวมทั้งความลึกของสระที่น้อยมากจนเป็นที่น่ากังวลถึงศักยภาพของการเก็บน้ำ อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการขยายตัวของโครงการ ที่ใช้งประมาณกว่า 100-200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยถึงความคุ้มค่าเชิงงบประมาณของรัฐ

การลงพื้นที่และพูดคุยนำไปสู่ข้อเสนอในการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร ถึงความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ และการใช้พื้นที่ป่าชายเลน



เมื่อการอนุรักษ์ข้ามเส้นมนุษย์

คุ้งบางกระเจ้า พื้นที่ชุ่มน้ำสีเขียวที่กินพื้นที่ 6 ตำบลของ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แม้พื้นที่แห่งนี้จะมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา แต่พื้นที่สีเขียวแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และปัญหาอุปสรรคมากมาย

เมื่อบางกระเจ้าถูกมองว่าเป็น ปอดของกรุงเทพ (และปริมนฑล) โครงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวก็เริ่มต้นขึ้น เป้าหมายของการรักษาพื้นที่สีเขียวเดินหน้ารวดเร็ว จนกระทั่งการดำเนินการเวนคืนที่ดิน เพื่อนำที่ดินของชาวบ้านมาเปลี่ยนเป็นป่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความตระหนักถึงเสียงและความต้องการของชาวบ้านผู้อยู่อาศัยเดิม โครงการจึงยกเลิกการเวนคืน และชาวบ้านก็ทยอยซื้อที่คืน หรือขายที่ให้ตามสมัครใจ โครงการเริ่มปรับการดำเนินการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น ร่วมเก็บข้อมูล และตั้งเป้าให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ทั้งการท่องเที่ยว การขายผลิตภัณฑ์ชุมชน และการอนุรักษ์

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ยังเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารจัดการจากการที่แต่ละพื้นที่ หรือองค์กรผู้มีส่วนร่วม มีเป้าหมาย การดำเนินการ และชุดข้อมูลที่ไม่รงกัน ชาวบ้านจึงต้องแบกรับภาระของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายโครงการจนไม่รู้ที่ทางของตน 

ภาษีที่ดินเป็นอีกปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และการอนุรักษ์ เนื่องด้วย ‘พื้นที่รกร้าง’ ซึ่งอาจเป็นป่าธรรมชาติ ถูกเก็บภาษีในราคาที่สูงขึ้น ชาวบ้านจึงถางป่าเพื่อปลูกสวนผลไม้ อย่างกล้วยหรือส้ม แต่เพราะสภาพแวดล้อม เช่นน้ำเค็มจากอ่าวไทย ไม่เอื้ออำนวยต่อพืชผลประเภทนี้ การปลูกจึงไม่ได้ประสิทธิผล รวมทั้งพื้นที่สีเขียวก็ลดงไปตามกัน

การกำกับดูแลประตูน้ำเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คนในพื้นที่บางกระเจ้าต้องเผชิญ แม้พื้นที่บางกระเจ้าพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทางออกทะเลอ่าวไทย จะมีประตูระบายน้ำถึง 30 แห่งเพื่อป้องการน้ำเค็ม และระบายน้ำท่วม แต่ประตูระบายน้ำกว่าครึ่งก็ใช้การไม่ได้ และต้องรอการสั่งการจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางของ 6 พื้นที่อาจขาดการประสานกัน ทำให้การกั้นน้ำเค็ม หรือระบายน้ำออกเป็นไปได้ช้า ส่งผลให้น้ำเค็มเข้ามาในสวนผลไม้ และทำให้พืชผลเสียหาย

คนในพื้นที่จึงแก้ไขปัญหาโดยการสร้างการสั่งการเปิดปิดประตูระบายน้ำ โดยชาวบ้านสามารถสั่งการเปิดและปิดประตูระบายน้ำได้จากทางโทรศัพท์ เพื่อให้เมื่อเวลาที่จำเป็นสำหรับการกั้นหรือระบาย คนในพื้นที่จะได้จัดการได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การติดตั้งการสั่งการประตูระบายน้ำก็ใช้งานได้กับแค่บางแห่งเท่านั้น



การอนุรักษ์ธรรมชาติ กับสิ่ง ‘เหนือ’ ธรรมชาติ

คลองผีหลอก ในคุ้งบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรสงคราม


เมื่อเรากล่าวถึงธรรมชาติ สิ่งแรกที่เรานึกถึงมักเป็น ต้นไม้ ป่า หรือความเขียวขจี แต่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ 3 สมุทรนี้ ธรรมชาติคือ การรวมเอาสรรพสิ่งนานาชนิดไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ น้ำ ดิน เกลือ รวมถึงผู้คนอยู่ในนั้น ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต และสิ่งแวดล้อม หลอมรวมเป็นระบบนิเวศ ที่มีความสัมพันธ์หลายระดับ และเฉพาะตัว

เมื่อเรากล่าวถึงธรรมชาติ เราก็มักจะนึกถึงคำว่า ‘อนุรักษ์’ คำว่าอนุรักษ์ หลายครั้งหมายถึงโครงการที่มนุษยธรรมเพื่อรักษาบางสิ่งบางอย่างให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือบ้างอาจขยายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ โครงการอนุรักษ์บางโครงการ ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากกระแสสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับจากภาครัฐหรือเอกชน จึงมุ่งอนุรักษ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่โครงการเหล่านั้นกลับส่งผลกระทบ หรือทำลายอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศนั้นเช่นกัน

โครงการปลูกป่าชายเลนอาจทำให้แหล่งอาหารของนกลดลง โครงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวก็อาจทำให้ชาวบ้านต้องเสียที่ทำกินเช่นกัน หลายโครงการในพื้นที่ชุ่มน้ำที่กล่าวไปข้างต้นชี้ให้เห็นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบ ‘มุมสูง’ กล่าวคือการมองแบบอุดมคติ ที่ยกความจำเป็นในการอนุรักษ์บางสิ่งขึ้นมาก่อน แล้วนำไปใช้ในพื้นที่ โดยไม่สนใจความสัมพันธ์ที่มีอยู่ดั้งเดิมของพื้นที่นั้น การมองธรรมชาติจากมุมสูงในแง่หนึ่งจึงแฝงด้วยความว่าผู้มองนั้นอยู่ ‘เหนือ’ ธรรมชาติ และสามารถบริหารจัดการธรรมชาติได้ 

แนวคิดที่เป็นอุดมคตินี้อาจนำไปสู่การมองธรรมชาติและมนุษย์แยกออกจากกัน หลายครั้งมนุษย์ถูกมองเป็นตัวร้าย ที่ทำลายและกอบโกยผลประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้หลายโครงการเลือกแยกออกจากธรรมชาติ อย่างการไล่ที่ หรือการกั้นเขต แทนการทำความเข้าใจว่าคนในพื้นที่อาจทั้งเกื้อกูล และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติเช่นกัน

การอนุรักษ์จึงควรมองธรรมชาติแบบแนวราบ คือการทำความเข้าความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในระบบนิเวศนั้นๆ ไม่แยกคนและธรรมชาติออกจากกัน รวมถึงสร้างโครงการที่คนในพื้นที่มีส่วนรวมในบทสนทนา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า