“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

วริษา สุขกำเนิด


“อย่าท้าทายอำนาจลิง” พาดหัวข่าวใต้รูป ‘ลิงถือปืน(ฉีดน้ำ)’ และ ‘เด็กถือปืน(ฉีดน้ำ)ขู่ลิง’

ตั้งแต่มีมตลกร้ายอย่าง ‘การสัมภาษณ์ลิงตีกัน’ ไปจนถึง ‘การเอาชีวิตรอดในจังหวัดลพบุรี’ ลิงแสม สัตว์ที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่าสัตว์ป่า กลับกลายเป็นสัตว์ที่มีชีวิตร่วมกับคนในเมืองลพบุรี ที่บางครั้งคนในพื้นที่ต้อนรับด้วยความเอ็นดู หรือความภาคภูมิใจ แต่บางครั้งมันก่อปัญหากับคนในพื้นที่โดยที่พวกมันไม่รู้ตัว

นอกจากลิงแสมในลพบุรีแล้ว รอบตัวของเรารายล้อมไปด้วยสิ่งมีชีวิตอื่นมากมายที่ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากสัตว์ป่าประจำท้องที่ อย่างตัวเงินตัวทอง หรือช้างป่า เรายังพักพิงร่วมกับสัตว์อื่นๆ ในบ้าน เช่นสัตว์เลี้ยง นก แมลง หรือแม้กระทั่งงู แม้กระทั่งร่างกายของเรายังมีจุลินทรีย์ที่ไม่ใช่ตัวเราอาศัยอยู่ด้วย!

มีสิ่งมีชีวิตมากมายอยู่รอบตัวเรา แต่เรา – มนุษย์ – ผู้ไม่มีทาง ‘อ่านใจ’ สิงสาราสัตว์เหล่านี้ จะอยู่ร่วมกับมันได้อย่างไร รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพูดคุยกับเราเรื่องนี้กัน


ทำไมอาจารย์ถึงมาสนใจศึกษาเรื่องมานุษยวิทยากับสัตว์

ผมสนใจเรื่องสัตว์ตั้งแต่ที่ผมมาอ่านงานเรื่องมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์มากขึ้น เดิมทีผมสนใจเรื่องภาษา แต่ทิศทางการศึกษามานุษยวิทยาเปลี่ยนไปมาก ต่อให้เป็นเรื่องภาษาเองก็มีโจทย์ใหม่ที่เกี่ยวกับความพ้นมนุษย์เข้ามา เช่นวิชามานุษยวิทยาภาษาที่ผมสอนช่วง 4-5 ปีหลัง ผมได้เพิ่มมิติการสื่อสารระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เราอาจรู้สึกว่าคนกับสิ่งมีชีวิตอื่นมีการสื่อสารกันด้วยหรอ จริงๆ มันมี ซึ่งนักมานุษยวิทยาในยุคก่อนอาจไม่ได้สนใจ หรือความสำคัญในเรื่องนี้ 

นักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ความจริง นักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่นมานานแล้ว เพราะ คนใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมา การศึกษาส่วนใหญ่มักมองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง สัตว์จึงถูกศึกษาในฐานะที่มนุษย์จัดการ หรือตีความ หรือเข้าใจมันอย่างไร 

เช่น หากคุณเรียนสายโบราณคดี คุณจะพบกับคำว่า Domestification หรือ กระบวนการที่ทำให้พืชป่าหรือสัตว์ป่ากลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้ เช่นปลูก เลี้ยงเป็นปศุสัตว์ หรือเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงนี่คือตัวอย่างการศึกษามานุษยวิทยาที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ การศึกษาส่วนใหญ่ยังเน้นตีความว่ามนุษย์ในสังคมต่าง ๆ ให้ความหมายกับสัตว์อย่างไร สัตว์ชนิดใดกินได้หรือไม่ได้ ทำไมสัตว์เหล่านี้จึงกลายเป็นคำด่า เป็นต้น


ที่มา: The Cambridge Encyclopedia of Anthropology
https://www.anthroencyclopedia.com/entry/animals 


แนวโน้มการศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ของมานุษยวิทยาในปัจจุบันต่างจากอดีตอย่างไร

แนวโน้มใหม่ของมานุษยวิทยาเปลี่ยนจากมุมมองที่ตั้งมนุษย์เป็นศูนย์กลาง สู่มุมมองที่ความเป็นประธาน หรือความเป็นผู้กระทำการ (agency) ไม่ได้มีอยู่แค่ในมนุษย์ แต่ยังมีอยู่ในสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ 

ดังนั้น แนวโน้มใหม่จึงมองว่า ในการทำความเข้าใจคนที่อยู่ร่วมกับสัตว์ เราต้องเข้าใจคนคนนั้นต่างก็เคารพความเป็นประธานของสัตว์ด้วย คนที่อยู่กับสัตว์ไม่ได้เป็นเพียงคนเลี้ยงหรือควบคุม เพราะเขาไม่มีทางควบคุมเหล่านั้นได้เบ็ดเสร็จ แต่เขาจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับสัตว์เหล่า มุมมองแบบใหม่จึงทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ พร้อมทั้งเข้าใจตัวตนของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย

นอกจากสิ่งมีชีวิตแล้ว วัตถุหรือสิ่งของเองก็มีความเป็นประธานของมันเช่นกัน งานเขียนเกี่ยวกับ object oriented ontology มองว่า สิ่งของแต่ละชิ้นมีความเป็นประธานและมีบทบาทต่อมนุษย์ มนุษย์เองจึงไม่สามารถจัดการสิ่งของต่าง ๆ ตามใจของตัวเอง หรือตาม conceptualization ของตนเองได้


แล้วเราจะเข้าใจสัตว์เหล่านั้นได้อย่างไร

บางคนอาจถามว่า เราจะสามารถ ‘รู้ใจ’ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้อย่างไร คำถามนี้ตั้งต้นจากการมองว่ามนุษย์ต้อง ‘รู้จัก’ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้ว การที่แมงมุมจับแมลง แมงมุมก็ไม่ได้ ‘รู้ใจ’ แมลง มันแค่รู้จัก ‘ธรรมชาติ’ ของแมลง และรู้จัก ‘ศักยภาพ’ ของมันเองว่าต้องทำอย่างไรจึงจะจับแมลงได้ สัตว์สองประเภทนี้ไม่ได้คุยกันรู้เรื่อง แต่มันรู้จุดที่บรรจบกัน และมีการสื่อสารระดับหนึ่งที่ทำให้มันอยู่ร่วมกันได้

หากมองเช่นนี้ มนุษย์ก็อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตลอดเวลาแม้ว่าเราจะไม่รู้จักมัน Donna Haraway เสนอว่า กว่าร้อยละ 80 ของร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยจุลินทรีย์อื่น ๆ มากมายที่ไม่ถูกนับเป็นร่างเดียวกับเป็นมนุษย์ แต่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ Donna Harraway เรียกความสัมพันธ์นี้ว่า companion species เราอาจเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา แต่จริง ๆ แล้ว เราอยู่โดยอิงกับสิ่งมีชีวิตภายในร่างกาย ยังไม่นับสิ่งภายนอกร่างกายที่อยู่รอบตัวเรา


คนทั่วไปที่อยู่กับสัตว์สามารถรับรู้ความเป็นประธานของสัตว์เหล่านั้นได้หรือไม่

ได้ เพราะคนที่อยู่ร่วมกับสัตว์ต่างรู้ว่าสัตว์เหล่านี้มีธรรมชาติของมัน เช่นสารคดีศิลปะเรื่องหนึ่งที่ฉายในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่ถ่ายติดตามช้างป่าโขลงหนึ่งในยูนานจำนวน 10 กว่าตัว ซึ่งเดินทางจากแม่น้ำโขง ไปยังที่ที่คนยูนนานเรียกว่า ‘ล้านช้าง’ ช้างเหล่านี้เดินทางผ่านป่า ไร่สวนของเกษตกร ไปจนถึงหมู่บ้าน และเดินทางกลับเอง 

สารคดีเรื่องนี้เสนอว่า หากคุณต้องการอยู่กับช้างป่า คุณต้องรู้จักมัน คนล้านช้างบอกว่า หากช้างอยู่กับเป็นโขลง เราไม่สามารถยิงยาสลบได้ เพราะพวกมันจะแตกตื่นและวุ่นวายมาก เว้นแต่ว่าช้างตัวหนึ่งหลุดออกไปจากฝูง คุณถึงยิงยาสลบมันได้ พวกเขารู้จักธรรมชาติของมัน 


มองจากมุมของมนุษย์เอง มนุษย์ปรับตัวเข้ากับสิ่งมีชีวิตอื่น หรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ในที่อยู่อาศัยของเรา คนสมัยใหม่มักคิดว่าเราจะวางแผนทุกอย่างให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เราจะจัดฟังชั่นของห้อง กำหนดว่าจะใช้พื้นที่เท่าไหร่ และจัดวางสิ่งต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อให้บ้านตอบโจทย์เรา มันคือมุมมองที่ Rational และเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ 

ทีนี้ สิ่งที่คุณจะทนไม่ได้คือมด ปลวก จิ้งจก ตุ๊กแก ฯลฯ ที่เข้ามาในบ้าน สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ได้มองบ้านแบบเดียวกับเรา มันมองว่า ถ้าสภาพแวดล้อมของบ้านเป็นแบบนี้ มันจะอยู่อาศัยอย่างไร สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จึงปรับตัวเข้ากับ habitat ใหม่ ๆ เรื่อย ๆ

เช่นเดียวกัน บ้านของเราเอง ผ่านไป 5 ปีก็ไม่ได้เป็นเหมือนเดิม หรือจัดการแบบเดิมทุกที มีบางจุดที่เราปล่อยให้รก และบางทีก็อาจมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกอยู่ร่วมกับเรา ถึงที่สุด เราเองก็เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน หรือการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และหนึ่งในนั้นจะมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่อาศัย


การอยู่ร่วมกัน กับการอนุรักษ์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หากเรามองในด้วยแนวคิดเชิงภาววิทยา (ontology) จะพบว่า หากคุณมีชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง สภาพแวดล้อมนั้นจะหล่อหลอมให้คุณมีวิธีการคิดที่ทำให้คุณอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ และเมื่อในสภาพแวดล้อมมีห่วงโซ่ความสัมพันธ์ต่าง ๆ มันจึงมีสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย คนที่มีภาววิทยาคนละแบบ จึงมองสิ่งมีชีวิตที่เขาอยู่ร่วมกันคนละแบบ 

เช่น นักศึกษาปริญญาโทของผมคนหนึ่งศึกษามุมมองการอนุรักษ์ระหว่างนักอนุรักษ์กับชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี นักอนุรักษ์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำแนกแยกแยะ และหารูปแบบพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต ในขณะที่ชาวบ้าน ผู้ที่อยู่กับสภาพแวดล้อมใกล้ชิดกว่านักอนุรักษ์ ใช้การสังเกตการณ์ ซึ่งผสมผสานกันระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากการสังเกต และความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ 


การอนุรักษ์ที่ขาดมุมมองการอยู่ร่วมกันมีปัญหาอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า มุมมองการอนุรักษ์มักแยกสัตว์ออกจากคน พวกเขาคิดว่า สัตว์ก็คือสัตว์ มันก็มีชีวิตอยู่ของมัน คือเขาจะอนุรักษ์สัตว์ แต่ไม่ได้มองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เช่นเดียวกับการอนุรักษ์ป่าที่ไล่คนออกจากป่า 

งานศึกษาการอนุรักษ์ในประเทศจีนเสนอว่า การอนุรักษ์ป่าคือให้คนที่เคยอยู่กับป่าอยู่กับป่า ถ้าเรากันคนออกจากป่า ป่าบางส่วนจะถูกจัดประเภทให้เป็นป่าเสื่อมโทรม และเปลี่ยนเป็นเช่าสัมปทานของบริษัทใหญ่ วิธีการอนุรักษ์เช่นนี้ทำให้ป่าหายไป การอนุรักษ์ที่คนใช้ประโยชน์จากสัตว์-ป่าได้ไม่เหมือนกับการอนุรักษ์ที่ห้ามคนยุ่งกับสัตว์-ป่าเลย หากเราอนุรักษ์โดยแยกคนออกจากสัตว์หรือต้นไม้ ระบบนิเวศพวกนี้ก็จะหายหมด


ที่มา: https://uwaterloo.ca/ 


การอนุรักษ์ที่แยกสัตว์ออกจากคน ส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์กับคนอย่างไร

สาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่า เช่นตัวเงินตัวทอง หรือลิงแสม อยู่ในเมืองเยอะ เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์อนุรักษ์ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้คนจึงไม่สามารถทำร้ายมันได้ เพราะผิดกฎหมาย แต่การคุ้มครองนี้เป็นการคุ้มครองแค่สัตว์ชนิดนั้น โดยไม่ได้อธิบายว่าการคุ้มครองนี้ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด เราจึงไม่มีคำตอบว่าเราจะอยู่กับสัตว์ที่ถูกคุ้มครอง อย่างลิงหรือตัวเงินตัวทอง อย่างไรกันต่อ

หากถามว่า เราต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ผมคงตอบไม่ได้ง่าย ๆ แต่สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนวิธีการมองว่า ทำอย่างไรให้สัตว์อยู่ได้ และคนก็อยู่ได้ การคุ้มครองสัตว์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำร้ายหรือกำจัดมัน เรามีวิธีการใดบ้างที่มองเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่ได้เลือกทางใดทางหนึ่ง 


ที่มา: freepik.com


การอยู่ร่วมกับสัตว์เปรียบได้กับการ “จัดการความขัดแย้ง” หรือเปล่า

ผมคิดว่าใช่ เราไม่จำเป็นต้องศึกษาขนาดที่ว่า ทำอย่างไรคนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ถึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล เช่น เราอยากควบคุมลิงที่ จ.ลพบุรี แต่คุณจัดเทศกาลให้อาหารลิง คุณก็สร้างความเสียหาย คือลิงเหล่านี้มันอยู่กับคน แสดงว่ามันต้องกินแบบคน แล้วคุณจะจัดการมันอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างลิงกับคนแน่นอนว่ามีความขัดแย้ง เพราะถ้าลิงเยอะเกินไป คนก็อยู่ไม่ได้ 

แต่หากพูดถึงเรื่องช้างป่าบุกสวน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง มันพูดยากว่าใครบุกรุกใครก่อน เพราะคุณทำสวนอยู่ใกล้มัน และสวนของคุณก็เป็นอาหารของมัน เมื่อก่อนช้างอยู่ในป่ามันหากินยากกว่าตอนนี้ด้วยซ้ำ ถ้าถามว่า ทำไมคนถึงทำไร่ในที่ใกล้ป่าที่ช้างมีโอกาสบุกเข้ามา ที่ดินตรงนั้นมันถูกมากหรือเปล่า มันถึงจูงใจให้คนไปลงทุน 

ประเด็นอาจอยู่ที่ว่า คุณจัดการกับพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไร ถึงที่สุดแล้ว คุณอาจไม่สามารถจัดการมันได้ และคุณอาจต้องยอมรับการที่ช้างไปๆ มาๆ สวนของคุณ นอกเสียจากคุณจะไม่ทำสวนอยู่ตรงนั้น


เราสามารถทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ในทางมานุษยวิทยาอย่างไรได้บ้าง

ในกรณีลิง จ.ลพบุรี มีนักศึกษาปริญญาโทคณะผม 2 คนทำงานวิจัยเรื่องนี้ เขาศึกษาและพบว่าลิงแต่ละตัวจะอยู่กับฝูง เขาจึงถามต่อว่า ฝูงแต่ละฝูงมีประชากรเท่าไหร่ อยู่ร่วมกันอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร จ่าฝูงเป็นอย่างไร พฤติกรรมกลุ่มเป็นอย่างไร กลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ บางทีพวกมันก็ตีกันเอง หรือตีกันข้ามกลุ่ม เพราะลิงก็มีพฤติกรรมการทำสงครามเหมือนกัน 

ประเด็นเหล่านี้คุณสามารถศึกษาได้ เราอาจตั้งโจทย์ว่า คุณจะจัดการกับลิงอย่างไร หรือจะต่อรองกับมันอย่างไร หากเราปฏิบัติกับลิงโดยมองว่ามี agency และเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ลิงอยู่กับคนได้ลิงก็จะได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้ด้วย ผมไม่รู้ว่าเคยมีการศึกษากันมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมไปนั่งสังเกตลิง 


ที่มา: https://www.thairath.co.th/ 


กรณีของนกกรงหัวจุก ที่การอนุรักษ์ขัดแย้งกับวัฒนธรรม เราควรมีเส้นกั้นหรือไม่ หรือไปด้วยกันได้

การอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องแยกสัตว์จากคน การอนุรักษ์ยิ่งควรทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอยู่ก่อน อย่างกรณีของนกเอง ปัญหาของนกกรงหัวจุกต่างจากลิงกับช้าง ข้อถกเถียงเรื่องนี้วางอยู่บนฐานที่ว่า “สัตว์ป่าไม่ควรเอามาค้าขาย” แต่ถึงที่สุดแล้ว ทำไมเราไม่แยกเป็นสปีชีส์ว่า สัตว์ประเภทนี้อาจมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมมองว่าการเอามาค้าขายผมไม่ได้ทำให้มันลดจำนวนลง แน่นอน เพราะมันมีค่า 

แต่ทีนี้ เราจะขีดเส้นอย่างไรให้ชัดว่า เราควรยอมให้มีการค้าขายนกจำนวนเท่าไหร่ หรือเราควรกำหนดไม่ให้จับเพิ่ม หรือเราควรขีดเส้นว่า นกเหล่านี้เป็นนกที่มาจากการเพาะเลี้ยง และ domesticate แล้ว เราควรขึ้นทะเบียนนกเหล่านี้หรือไม่ เราควรแยกประชากรระหว่างนกกรงหัวจุกที่ถูก domesticate กับนกกรงหัวจุกที่อยู่ในป่าไหม ในการดูพ่อพันธ์แม่พันธุ์ เราควรมีควบคุมจำนวนและจัดการอย่างไร ทุกอย่างที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่าการห้ามอย่างเดียวมันง่ายกว่า แต่การห้ามมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา สู้เราส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการมันได้ไม่ดีกว่าหรอ 


มีสิ่งใดอยากฝากถึงคนทำนโยบายเรื่องสัตว์ป่าไหม

ผมอยากให้ลองทบทวนว่า นโยบายที่ผ่านมาวางอยู่บนระบบคิดแบบไหน ถ้าคุณคิดแบบอนุรักษ์แยกส่วน ผมคิดว่าควรต้องปรับปรุง  หากคุณฟังคำสัมภาษณ์ของนักอนุรักษ์ มันสะท้อนวิธีคิดเรื่องการคุ้มครองสัตว์อย่างเดียว ด้านหนึ่งมันก็ดี แต่คนที่อยู่ร่วมกับสัตว์เหล่านี้ก็ยังเผชิญปัญหาอยู่

หรือถ้าคุณไม่ได้คิดแบบอนุรักษ์แยกส่วนขนาดนั้น คุณก็ควรมีการศึกษาที่เจาะลึกดีพอ ซึ่งในแง่หนึ่ง มันก็ต้องศึกษาแบบเจาะลึกแต่ละระบบนิเวศ แต่ละแหล่งที่อยู่อาศัย คุณอาจทำโครงการนำร่อง คุณก็ต้องศึกษาแบบเจาะลึก และใช้กรอบวิธีคิดที่มองความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ นโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรถูกทบทวนและศึกษาเป็นรายพื้นที่ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า