จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

ชลธิชา จันแปงเงิน

วริษา สุขกำเนิด

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


จากบทความที่แล้วอย่าง “ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้” ทำให้เราได้การมองปัญหาผ่านมุมมองมานุษยวิทยา ถึงพลวัตที่เปลี่ยนไปของคนที่ทำให้วิถีชีวิตที่ห่างเหินออกไปจากธรรมชาติและสัตว์ป่า จนกระทั่งในวันที่ทรัพยากรในป่านั้นร่อยหรอลง สัตว์ป่าเหล่านี้ที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่รอด จึงออกมาจากป่า และกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนมากขึ้น ดังเช่น ความสัมพันธ์ในอดีตระหว่าง “คนกับตัวเงินตัวทอง” มาจนถึง “คนกับช้างป่า”

บทความ “จากปัญหา “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์” จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจปัญหาระหว่างคนกับสัตว์มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับผู้คนที่ทำงานในประเด็นสัตว์ป่าทั้ง 3 ชนิด ในหลากหลายพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร


“เป็นเหี้ยอะไรเอ่ย” จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนกับตัวเงินตัวทอง

“เป็นเหี้ยอะไรเอ่ย” ไม่ใช่คำด่า แต่เป็นประโยคคำถามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวนเราคิดว่าเรารู้จักตัวเหี้ยดีพอหรือยัง?

ตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวเหี้ย คือสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่เดินดุ่มอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ว่า ‘น้อน’ จะอยู่ในคลองหรือสวนสาธารณะ แต่มันมีความสัมพันธ์ (และ สำคัญ) กับมนุษย์ไม่น้อย เราจึงคุยกับ ปุ๊กกี้ หรือ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงความสำคัญของตัวเหี้ย และแนวทางการอยู่ร่วมกับมัน

ปุ๊กกี้เริ่มด้วยการแบ่งปันข่าวดีเกี่ยวกับตัวเหี้ยให้ฟังว่า “แม้เราจะไม่มีข้อมูลเชิงจำนวนที่แน่ชัด แต่จากประเมินคร่าวๆ แนวโน้มประชากรของตัวเหี้ยน่าจะเพิ่มขึ้น 


ปุ๊กกี้ หรือ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร


เพราะเราพบเห็นได้บ่อยขึ้นทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล” ซึ่งการที่กรุงเทพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่เดิม บวกสวนสาธารณะกลางเมืองที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นที่อยู่อาศัยที่ดีของตัวเหี้ย

นอกจากปัจจัยเชิงสภาพแวดล้อมแล้ว การที่คนไทยเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเหี้ยในเชิงบวกส่งผลให้ตัวเหี้ยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปุ๊กกี้เล่าว่า “แต่ก่อน คนจะมองว่าเหี้ยเป็นสิ่งอัปมงคลและน่ารังเกียจ บางบ้านถึงขั้นเชื่อว่าต้องทำบุญใหญ่เลยถ้าเหี้ยเข้าบ้าน” แต่ในปัจจุบัน สื่อและโฆษณานำเสนอตัวเหี้ยให้ดูน่ารักและเข้าถึงง่าย “เช่น มีการขอหวยจากเหี้ย (หัวเราะ) จึงเป็นการเปลี่ยนทัศนคติว่า ตัวเหี้ยไม่ได้โชคร้ายขนาดนั้น เผลอๆ นำสิ่งที่ดีมาให้เราด้วย” ปุ๊กกี้บอก

ปุ๊กกี้มองว่า นอกจากการเปลี่ยนทัศคติที่มีต่อตัวเหี้ยให้ดีขึ้นแล้ว เรายังจำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่มีต่อตัวเหี้ย

“อย่างแรก เราควรรู้จักว่าชนิดของตัวเหี้ย ตัวเหี้ยที่พบได้ประเทศไทยมี 4 ชนิด และเราควรรู้ว่าตัวเหี้ยมีความสำคัญอย่างไร”

ปุ๊กกี้ เล่า

ตัวเหี้ยมีความสำคัญต่อความสภาพและอนามัยของมนุษย์ คุณปุ๊กกี้อธิบายให้ฟังว่า “ตัวเหี้ยเป็นสัตว์กินซาก การที่เขาคอยกำจัดซากสัตว์ที่เน่าเปื่ย จะช่วยควบคุมเชื้อโรคที่อยู่ในตัวสัตว์ไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น และตัดวงจรของแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค” ซึ่งตรงตามชื่อ water monitor หรือผู้ควบคุมแหล่งน้ำ



ตัวเหี้ยคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ปุ๊กกี้ เสริมว่า “เพราะเขากินซากได้ และกินปลาได้ และกินสัตว์เล็กๆ อย่างหนูจึงแปลว่าพื้นที่นั้นมีอาหารสมบูรณ์ เราจะพบเหี้ยได้ในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์” นอกจากนี้ เขายังควบคุมประชากรของสัตว์อื่นๆ เช่นหนู ให้อยู่ในจุดสมดุลของระบบนิเวศ

เพราะการรับรู้ถึงคำสำคัญของตัวเหี้ยเป็นสิ่งจำเป็น มูลนิธิสืบจึงจัดแคมเปญ ‘เป็นเหี้ยอะไรเอ่ย’ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเหี้ย และบทบาทของมันต่อสิ่งแวดล้อม

“มูลนิธิจัดกิจกรรม ‘เป็นเหี้ยอะไรเอ่ย’ เพื่อเพิ่มการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจัดกิจกรรมตามสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่พบเหี้ยได้ในระบบนิเวศป่าในเมือง กิจกรรมเราคือการให้ความรู้ความเข้าใจว่าเหี้ยในเมืองไทยมีกี่ชนิด เหี้ยแต่ละชนิดมีลักษณะไหนบ้าง และหน้าที่ในระบบนิเวศของเขาเป็นอย่างไร”

คุณปุ๊กกี้เล่าให้ฟัง

เช่นเดียวกับการที่ตัวเหี้ยมีความสำคัญกับมนุษย์ ปุ๊กกี้มองว่าทัศนคติของมนุษย์ก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของตัวเหี้ยเช่นกัน แนวทางการอนุรักษ์ตัวเหี้ยจึงต้องเสริมทัศนคติที่ดี ไปพร้อมกับความเข้าใจละความรู้เกี่ยวกับมัน

“เพราะอคติที่เรามีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้เราสูญเสียสิ่งนั้นไปตลอดกาล”

ปุ๊กกี้ปิดท้าย


หากการการุณยฆาตไม่ใช่ทางออกของปัญหาการลดประชากรลิง

หากการการุณยฆาตไม่ใช่ทางออกของปัญหาการลดประชากรลิง แล้วเราจะทำอย่างไรปัญหานี้ถึงจะหมดไป” เป็นคำพูดที่หมอต้อมชวนให้คิดหาทางออกของปัญหาเรื่องลิง 


 “หมอต้อม” หรือ ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ลิงแสมหลายร้อยตัวที่อยู่ตามเมือง วิ่งเกาะหน้าต่างตามตึกแถว หรือแม้กระทั่งบุกเข้าไปขโมยของจากมือมนุษย์ โดยธรรมชาติแล้วลิงมักอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนและบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ทว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันลิงป่าเหล่านั้นได้ผันตัวกลายมาเป็นลิงเมือง เราจึงได้พูดคุยกับ “หมอต้อม” หรือ ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องของลิงที่มาอาศัยอยู่ในเมือง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของลิง

หมอต้อมเริ่มด้วยการพูดถึงสถานการณ์ลิงในพื้นที่ลพบุรี โดยหมอต้อมได้แบ่งเป็นสามช่วง “ในช่วงแรกเป็นช่วงอดีตที่ประชากรลิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ช่วงต่อมาจึงเริ่มมีการนำเทคนิคการทำหมันมาควบคุมอัตราการเกิดของประชากรลิง โดยเราไปเรียนรู้จากสัตวแพทย์จากต่างประเทศเพื่อมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และช่วงที่สามเป็นช่วงที่มีวิกฤตการณ์โควิด ซึ่งอาจจะมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป เช่น การที่คนไม่มีรายได้ คนต้องดูแลตัวเองและสนใจลิงรอบตัวน้อยลง อาจจะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเมื่อคนไม่เข้าไปยุ่งกับมันเยอะ มันก็จะเริ่มแบ่งฝูงเริ่มทำร้ายกันเอง ลิงก็ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น”

นอกจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปแล้ว การที่คนไทยมีทัศนคติต่อลิงที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดเสียงที่แตกเป็นสองข้าง หมอต้อมเล่าว่า “เมื่อเราได้ประโยชน์มากกว่าโทษเราก็จะมองลิงในเชิงบวก เมื่อลิงเพิ่มขึ้นหรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น มันก็จะเปลี่ยนคุณค่าเชิงบวกเป็นคุณค่าเชิงลบ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครได้รับผลกระทบ”

หมอต้อมเล่าต่อว่า “คนที่ไม่ได้มีบ้านอยู่แถวเมืองเก่า เค้าจะไม่สามารถรับรู้ถึงปัญหาหรือผลกระทบที่แท้จริง แต่คนที่ได้รับปัญหาหรือผลกระทบที่แท้จริงคือคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเมือง ถ้าลิงอยู่ในป่าเค้าก็ทำตามหน้าที่ของเค้า ในการควบคุมประชากรในเรื่องของพืชเรื่องสัตว์เล็ก และเมื่อเกิดเสียงที่แตกเป็นสองข้างมันก็คือคุณค่าที่ต่างกันที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง”

หมอต้อมมองว่านอกจากการเกิดเสียงที่แตกเป็นสองข้างแล้ว เรายังจำเป็นต้องดูสถานภาพปัจจุบันก่อนที่จะต้องการถอดเค้าออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง “ถ้าสถานภาพของลิงในปัจจุบันมันสร้างปัญหาและกระทบไปที่การแก้ไขทำให้การแก้ไขไม่สามารถทำต่อได้ เราอาจจะต้องปรับสถานภาพเค้า แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าเกิดว่าสถานภาพปัจจุบันทางกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครองไม่ได้เป็นปัญหาต่อการสร้างมาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มันก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปแก้มัน”

“แต่สำหรับประเทศไทยตัวสถานภาพทางกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหาเพียงพอถึงกับต้องไปปลดมันออก จากสถิติประชากรลิงในปี 2561 มีจำนวนลิงถึง 9,324 ตัว มาในปี 66 เหลือจำนวนลิง 5,700 ตัว แสดงผลให้เห็นว่าการควบคุมประชากรลิงมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา”

หมอต้อมพูดเสริม


ที่มา: อีเว้นท์ไทย – Eventthai


นอกจากนี้หมอต้อมได้แบ่งปันมุมมองแนวคิดการแก้ปัญหาเรื่องลิงเอาไว้ว่า “ควรนำหลักการมาคุยกันเป็นวงกว้าง วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสาเหตุของมันคืออะไร และต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าจะเลือกการแก้ไขทางไหน การลดประชากรลิงสามารถแก้ไขปัญหาได้แบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการลดโดยการเอาออกไปขังห้าร้อยตัว และอีกหนึ่งพันห้าร้อยที่เหลืออาจจะเร่งทำหมันมากขึ้น”

หมอต้อมเปรียบเทียบกับต่างประเทศเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางการแก้ปัญหามากขึ้น “ในประเทศญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาเรื่องประชากรลิงที่เพิ่มขึ้นเดียวกับประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นเคยเปิดให้การุณยฆาตปีละหนึ่งพันถึงหนึ่งหมื่นตัว แต่ในประเทศไทยไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะเป็นเรื่องของมุมมอง แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และทัศนคติของมนุษย์มิเช่นนั้นมันจะเกิดความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ไขปัญหาเลยจริง ๆ คือวิธีการทำหมัน หรือการย้ายที่อยู่ให้เขาไปอยู่ในกรงมันลดปัญหาระยะสั้นได้ แล้วมันสร้างปัญหาระยะยาวไหม ขณะเดียวกันวิธีทำหมันเราสามารถไปสู่อัตราเกิดเท่ากับ 0 ได้ไหม พยายามสังเกตและประเมินเพื่อหาทางแก้ไขต่อ”

“เรื่องทัศนคติของคนไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิด คนที่เขารักลิงจะมีคนมาฆ่าลิงเค้าก็ต้องออกมาปกป้องให้ลิง ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่าเท่ากัน ดังนั้นประชาคมต้องตกลงกันว่าจะเลือกวิธีไหน เช่น การทำหมัน การฉีดยาคุม หรือการจับใส่กรง หาจุดที่รับได้และให้ประสิทธิภาพสูงสุดในทุกฝ่าย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นโจทย์สำหรับทุกอย่าง เพราะทางเลือกไม่มีใครอยากฆ่าสัตว์อะไรทั้งนั้น แล้วทางเลือกที่จะหยุดการเติบโตคืออะไร”

หมอต้อมพูดทิ้งท้าย


ความงดงามของนกปรอดหัวโขนที่เลือนหายไปจากธรรมชาติ

“ตั้งแต่รู้จักนกกรงหัวจุกเนี่ย ก็จะรู้จักมันในลักษณะที่อยู่ในกรงไม่ได้อยู่ในธรรมชาติ” เป็นประโยคบอกเล่าที่ชวนให้คิดตามว่าแท้จริงแล้วนกมีอิสระเสรีในการบินที่แท้จริงไหม


ที่มา: https://www.thaipost.net/ 


“นกปรอดหัวโขน” เป็นชื่อที่เรียกกันตามลักษณะทางกายภาพของนกลักษณะเด่นคือมีจุกที่หัว ส่วน “นกกรงหัวจุก” นัยยะของมันก็คือการโดนขังอยู่ในกรงและเป็นนกที่มีหัวจุก เราเห็นนกปรอดหัวโขนครั้งแรก ๆ ตอนมันอยู่ในกรง พอเราถามว่านกอะไร เค้าก็ตอบกลับมาว่านกกรงหัวจุก แต่ที่จริงแล้วควรตัดคำขึ้นต้นว่า “กรง” ออกไปเสียจะดีที่สุด

นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก เป็นนกชนิดเดียวกันแต่ถูกเรียกชื่อต่างกัน ชี้ให้เห็นการสะท้อนวิธีคิดของคนกับสถานะของนกชนิดนี้ได้ดี ซึ่งนกชนิดนี้อาศัยอยู่ตามผืนป่ารอยต่อกับแหล่งชุมชน แต่เมื่อกาลเวลาหมุนวนไปนกชนิดนี้เริ่มเลือนหายไปจากผืนป่าเราจึงได้พูดคุยกับ นิค หรือ นิยม ทองเหมือน หนึ่งในสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยถึงความสำคัญของนกปรอดหัวโขนและแนวทางการอยู่ร่วมกัน


นิค หรือ นิยม ทองเหมือน หนึ่งในสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย


นิค เริ่มด้วยการพูดถึงข่าวร้ายของนกปรอดหัวโขน “ในปัจจุบันนกชนิดนี้เริ่มหายไปจากผืนป่า ถิ่นอาศัย อาจจะพบเห็นได้ในบางส่วนทางภาคเหนือของประเทศไทย และหากนับจากอดีตประชากรของนกที่แพร่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนลดลงและหายไปอย่างเห็นได้ชัด”

“เพราะในอดีตการนำนกปรอดหัวโขนมาแข่งขันเสียงร้องนั้นคล้ายกับว่าเป็นประเพณีค่านิยมเปรียบเสมือนตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ชื่นชอบด้วยกันในการแข่งขันประเภทนี้ นกปรอดหัวโขนจึงถูกจับและเอามาเลี้ยง เอามาแข่งขันกันทั้งพี่น้องไทยพุทธมุสลิมจนแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาค”

นิค กล่าวเสริม

ถึงแม้ว่าการที่คนไทยมีทัศนคติต่อนกปรอดหัวโขนในเชิงบวกจึงจับไปเลี้ยงสวยงาม หรือ จับไปเลี้ยงเพื่อแข่งขัน แต่นิค มองว่า “หากเราชื่นชมเขาเราควรให้เขาอยู่ในธรรมชาติ เพราะเขามีคุณค่าในเชิงระบบนิเวศวิทยาช่วยจับแมลงหรือแม้กระทั้งช่วยกระจายเมล็ดพันธ์ุพืชในผืนป่ารอยต่อได้ดี”

จากสถานการณ์นกปรอดหัวโขน ที่มีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น “หากปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ขั้นตอนกระบวนการขอขึ้นทะเบียน ก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่มุ่งปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็คือไปลดปรับขั้นตอนตรงนั้น กระจายการจัดการให้ขั้นตอนการขออนุญาตมันง่ายขึ้นสะดวกขึ้น สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ การเข้าถึงง่ายขึ้น อย่างเช่น ท้องถิ่นควรมีบทบาทเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่สำหรับการขึ้นทะเบียนนกปรอดหัวโขน ไม่ใช่ว่าขั้นตอนการขึ้นทะเบียนทั้งหมดต้องอยู่กับกรมอุทยานฯ หรืออยู่กับเจ้าหน้าอุทยานฯ เท่านั้น หากยังเป็นเช่นนั้นมันก็ยากลำบากอยู่สำหรับการขึ้นทะเบียน ฉะนั้นควรแก้ไขให้ตรงปัญหาที่แท้จริง”

“หรือถ้ามองว่านกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมันเลยเลี้ยงไม่ได้ แต่เรามองว่าการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความบริสุทธิ์ใจในการดูแล เพราะเรามองไปถึงสวัสดิภาพในถิ่นอาศัยของนก ดังนั้นสถานการณ์นกปรอดหัวโขนที่มีการเรียกร้องให้ปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เราก็เป็นกังวลว่าวันหนึ่งถ้าชนิดพันธ์ุนี้ถูกปลดออกแล้วสัตว์ป่าชนิดอื่นจะถูกละเมิด หรือ ถูกจับออกมาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไหม”

“ธรรมชาติกับสิ่งพวกนี้มันมีความหลากหลายและดำรงอยู่ในความสมดุลของระบบนิเวศนั้น ๆ หากวันหนึ่งนกชนิดนี้เลือนหายไปจริง ๆ มันจะมีผลกระทบไปถึงมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นห่วงโซ่อาหารหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศร่วมกับนกเช่นกัน และถ้านกปรอดหัวโขนหายไปพร้อมกับถิ่นอาศัยที่เปลี่ยนแปลงสัตว์แมลงชนิดพันธุ์อื่น ๆ ก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และจะกระทบเป็นโดมิโน่โดยที่มนุษย์อาจจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อสายไปแล้ว”

นิค กล่าว

หากพูดถึงเรื่องเม็ดเงินที่มองว่านกปรอดหัวโขนสร้างรายได้ แต่ในทางกลับกัน นิคมองว่า “อยากให้มองถึงสภาพแวดล้อมของตัวนกที่มันสร้างรายได้ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองมุมมอง ในมุมแรกหากบริเวณพื้นที่ตรงนี้มีนกธรรมชาติอยู่และผู้คนก็สนใจก็ไปดูนกเราสามารถเก็บเกี่ยวสร้างเศรษฐกิจจากกลุ่มคนที่ไปใช้บริการระบบนิเวศที่นกตรงนั้นอาศัยอยู่ได้ แต่ในมุมที่สองสนามแข่งนก ก็อาจจะมีร้านขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ถ้วยรางวัลและเงินรางวัล ซึ่งเงินรางวัลเหล่านั้นหมุนเวียนอยู่กับคนกลุ่มเดียว จึงเป็นการสร้างเม็ดเงินที่กระจุกเฉพาะกลุ่ม มากกว่าการสร้างเม็ดเงินที่ตระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยรวมและยังขาดการสร้างองค์ความรู้อื่น ๆ ในเชิงกระบวนการกระจายรายได้จึงมีความแตกต่างกันกับพื้นที่ที่มีนกอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

นอกจากนี้ นิค ได้ให้ข้อเสนอแนะ “บางครั้งก็มีการดักจับนกเพื่อนำมาซื้อขายกัน ซึ่งเราไม่ได้โทษนะว่าชาวบ้านทำไมไม่รู้ว่านี่คือสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้รัฐหรือคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย กำกับกฎหมายที่ดี ก็ควรมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่สอดคล้องเหมาะสมเข้าใจง่ายกับพื้นที่ต่าง ๆ และเน้นการทำงานร่วมกันผ่านกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลท้องถิ่น หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสื่อสารข้อมูลไปยังส่วนภูมิภาคท้องถิ่นและจังหวัดช่วยกระจายความรู้ที่ถูกต้องได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

  “เรามองว่าป่าคือบ้าน บ้านที่มีทุกอย่าง หากมันถูกตัดอิสรภาพ ไปทำลายบ้านของมัน แล้วจับมันมาอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นชิน มันทรมานนะ ต่อให้เค้าพูดภาษาคนไม่ได้ ต่อให้เค้าสื่อสารภาษามนุษย์ไม่ได้ แต่เค้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสุขกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้เราจะต่างเผ่าพันธุ์กัน”

นิคพูดทิ้งท้าย 


“ช้างป่า” จากสัตว์ประจำชาติสู่ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์

“ในพื้นที่ไม่มีใครเกลียดช้าง แต่ทุกคนก็มองว่า คนอยู่ร่วมกับช้างไม่ได้ เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ด้วย ช้างจะสร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตร”


แหลม หรือ สุนทร คมคาย อดีตผู้สมัคร สส.ปราจีนบุรี และผู้นำชุมชนด้านเกษตรกร


นี่คือมุมมองของชาวบ้านต่อช้างป่า ซึ่ง แหลม หรือ สุนทร คมคาย อดีตผู้สมัคร สส.ปราจีนบุรี และผู้นำชุมชนด้านเกษตรกร ที่อธิบายถึงสภาพการณ์ปัจจุบันต่อปัญหาช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าอุทยานรวมกันประมาณ 1.3 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว โดยพื้นที่ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ควบรวมภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงานคือ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าปัจจุบัน พื้นที่ชุมชนกับพื้นที่ป่านั้นจะถูกจัดแบ่งอย่างชัดเจนแล้ว แต่ด้วยงบประมาณ การจัดการของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการดูแลไม่ให้ช้างออกมาจากป่านั้นไม่ดีพอ ทำให้ปัญหาในพื้นที่นี้ถูกทิ้งไว้หลายปี และไม่มีรัฐบาลสมัยใดหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง


ที่มา: https://thedailyroar.com/ 


“ช้างไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ช้างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการจัดการ”

แหลม กล่าว

ข้อมูลของกรมป่าไม้ เมื่อปี 2558 เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกนั้น มีช้างอยู่ประมาณ 580 ตัว แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันทำให้หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า จำนวนช้างป่าที่แท้จริงน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมไปมากแล้ว และเป็นที่มาของวาทกรรม “ช้างล้นป่า” จนทำให้ช้างต้องออกมาหาอาหารในพื้นที่อยู่อาศัยของคน

ที่ผ่านมา รัฐบาล มักแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการ “คูกั้นช้าง” และขุดอ่างน้ำเพิ่มภายในป่า ขณะเดียวกันแหล่งอาหารที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอและไม่มีแนวทางในการสร้างขึ้นมาใหม่ รวมถึงความแข็งแรงของคูกั้นช้างเองก็ไม่มากพอจะกั้นไม่ให้ช้างออกมาจากพื้นที่ ทำให้ช้างออกมานอกพื้นที่ 

“และส่วนที่เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ อ่างน้ำที่รัฐนำเครื่องมือเข้าไปขุด ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายป่า ทำให้ช้างออกมาอยู่บริเวณชายป่ามากขึ้น และระหว่างที่มีการขุดอ่างน้ำ ธรรมชาติของช้างคือ กลัวเสียดัง ทำให้ช้างหนีเสียงดังและออกมานอกพื้นที่ป่า”

แหลม กล่าวเสริม

เมื่อออกมาข้างนอก ช้างได้พบเจอกับแหล่งอาหารที่หลากหลาย และด้วยธรรมชาติของช้างที่สามารถกินพืชและผลไม้ได้หลายชนิด รวมถึง ใบไผ่ ใบยูคาลิปตัส ทำให้ช้างเข้ามาทำลายพืชผลทางการเฏษตรในไร่นาของชาวบ้านจนเสียหายหมด

“สำหรับผม การจะแก้ไขปัญหาช้างออกมานอกพื้นที่ป่าคือ การยกระดับป่าให้สามารถรองรับช้างได้มากกว่า 330 ตัว”

แหลม กล่าว

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องพัฒนารูปแบบการจัดการป่าเขาอ่างฤาไนยแบบกึ่งซาฟารี และใช้วิธีการเลือกไปซื้อผลผลิตที่ตกเกรดหรือนอกฤดูกาลตามราคาที่เหมาะสม เพื่อนำมาเป็นอาหารให้ช้างป่าในพื้นที่ 

และส่วนที่สำคัญคือ การผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. … เพื่อแก้ระเบียบและอำนาจในการชดเชยความเสียหายจากช้าง เพื่อให้ระบบประเมินการชดเชยที่มีศักยภาพ  รวมถึงสร้างทีมเผชิญช้างให้มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในพฤติกรรมของช้าง และเคร่งครัดกับพื้นที่ป่าอื่นที่มีช้างป่าและยังไม่เกิดปัญหา เช่น ช้างป่าทับลาน ช้างป่าสุราษฎร์ธานี เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นเดียวกับป่าอ่างเขาฤาไน

นอกจากนี้ รัฐต้องให้ความรู้เรื่องช้าง กับชุมชนและทีมเผชิญช้างในแต่ละพื้นที่เป็นการเฉพาะ และการจัดหางบประมาณที่เพิ่มขึ้นคือ การจ้างทีมเผชิญช้าง และการจัดหาอุปกรณ์ และทุกครั้งที่มีปัญหาคนกับช้าง รัฐและสื่อจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลกับประชาชนที่รอบด้าน เนื่องจากคนภายนอกมักจะเข้าใจว่า “คนไปบุกรุกที่ป่า” แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างพื้นที่ปราจีนบุรี ที่เป็นข่าวนั้น ห่างจากป่าอ่างเขาฤาไนไปประมาณ 50 กิโลเมตรแล้ว


ทั้งหมดนี้ จึงอาจสะท้อนภาพได้ว่า การเดินทางระหว่างความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตใดก็ตาม หากคนเลือกที่จะศึกษาและทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมแต่ละสิ่งมีชีวิต เพื่อนำมาออกแบบวิธีการอยู่ร่วมกันที่ยังคงระบบนิเวศให้เหมือนเดิม พร้อมกับผู้คนในพื้นที่สามารถอยู่อาศัยและทำมาหากินได้อย่างสงบสุข ก็จะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนที่สุดในการสร้างระบบนิเวศสังคมที่หลากหลายได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า