คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ตามที่ 2 บทความก่อนหน้านี้ ที่ได้บอกเล่าให้ทุกคนได้รับทราบว่า หากศึกษาให้ลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์รากเหง้าของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งพึ่งพากัน อิงอาศัยกัน หรือแม้แต่เบียดเบียนกันจนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในแต่ละช่วงเวลา จะทำให้เราทราบถึงวิธีการที่คนในอดีตจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ต่างสปีชีส์กัน ที่แม้จะสื่อสารไม่รู้เรื่อง แต่ “ใช้ใจ” ซึ่งกันและกันจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งมาได้

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป วิทยาการและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนเอง กลับกลายเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้มนุษย์ห่างเหินกับธรรมชาติและสรรพชีวิตที่อยู่รอบตัวของมนุษย์เอง ทำให้ทุกครั้งที่เกิดปัญหามนุษย์หลงลืมการกลับไปทำความเข้าใจธรรมชาติและสรรพชีวิต เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

Think Forward Center จึงชวน นิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในสัดส่วนสิ่งแวดล้อม มาพูดคุยถึงทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์” ที่รัฐจะต้องเป็นผู้จัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง



ตั้งแต่ปัญหา “ลิง” ถึง “ช้างป่า” ความแตกต่างที่เหมือนกันคืออะไร?

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ การเปิดใจทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน เพราะวันนี้รัฐไทยมีความเทอะทะทางอำนาจมากเกินไป ทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงทั้งแหล่งข้อมูลและแหล่งสนับสนุนเงินทุนในด้านต่างๆ จากภาคเอกชน

นิติพล เริ่มต้นด้วยการเปรยปัญหาที่สามัญที่สุดของระบบราชการไทย โดยปัญหานี้นำมาซึ่งปัญหามากมายในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับสัตว์” แต่ละชนิดและในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์นั้นๆ ก่อนที่จะออกแบบวิธีการจัดการปัญหา

นิติพล อธิบายถึงรูปแบบของปัญหาการอยู่ร่วมกันของ “คนกับลิง” ในแต่ละพื้นที่ว่า มาจากการขยายตัวของเมืองจากแผนการพัฒนาเมือง ที่เป็นผลให้เมืองรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าหรือป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่ของลิงแสมดั้งเดิม ทำให้ลิงแสมต้องจำใจใช้ชีวิตอยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 


ที่มา: https://www.ricemedia.co/ 


แม้ในพื้นที่ลพบุรี ลิงจะกลายเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองลพบุรีที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและรายได้ในทางเศรษฐกิจแล้ว แต่บางครั้งลิงเหล่านี้ก็ทำให้ชาวบ้านต้องได้รับความเดือดร้อนจากการที่ลิงมาลักขโมยอาหารหรือสิ่งของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลพบุรีนี้ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของลิง แต่ปัญหานี้แตกต่างออกไปจากพื้นที่บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าในพื้นที่มีลิงแสมตายอยู่ข้างถนนระหว่างออกมาหาอาหารกินทุกวัน เนื่องจากไม่คุ้นชินกับระบบนิเวศในพื้นที่ที่เปลี่ยนจากป่าชายเลนเป็นชุมชนเมือง

“ที่ผ่านมา ท้องถิ่นร่วมกับรัฐบาล แก้ไขปัญหาลิงด้วยการพาลิงจากทุกพื้นที่ออกมาอยู่ที่ “ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า” ทั้งเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ และทำหมันรวมถึงพักฟื้นหลังทำหมันให้กับลิงแล้ว หลังจากนั้นจึงนำไปปล่อยในพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตของลิงมากขึ้น แต่ด้วยปัจจุบันสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ามีภารกิจงานที่เยอะมาก ทำให้ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการแก้ปัญหาระยะยาว”

นิติพล กล่าว

นิติพล อธิบายถึงปัญหาของช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ว่า ทั้งสองพื้นที่มีปัญหาเหมือนกันคือ ภายในป่าไม่มีอาหารที่เพียงพอสำหรับช้างในพื้นที่ ทำให้ช้างต้องออกมาจากป่ามายังพื้นที่ชุมชน และต้องอาศัยการทำงานของทีมเผชิญช้างในการผลักดันช้างกลับเข้าป่า 


ที่มา: https://www.seub.or.th/


แต่สิ่งที่ต่างกันออกไปเล็กน้อยคือ ในพื้นที่ภาคตะวันออก เมื่อผลักดันช้างป่าออกจากพื้นที่ชุมชน ช้างเหล่านี้กลับเดินออกไปไกลจากป่ามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปโผล่ยังจังหวัดข้างเคียง ซึ่งไกลจากพื้นที่ป่าอ่างเขาฤาไนประมาณ 50 กิโลเมตร

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นปัญหาช้างบ้าน เนื่องจากช้างในพื้นที่แต่เดิมถูกพัฒนาให้เข้ามาช่วยเหลือเป็นแรงงานขนไม้ที่ตัดออกมาจากป่าสัมปะทาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป่าเหล่านี้ถูกโอนย้ายกลับไปอยู่ในความดูแลกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำให้ช้างบ้านไม่มีงานทำและไม่มีที่ไป ทำให้เกิดวิธีการแก้ปัญหาที่อยู่ของช้างด้วยการสร้างปางช้างและโปรโมตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้าง ซึ่งรัฐได้ออกระเบียบการจัดการกับธุรกิจปางช้าง ด้วยการขื้นทะเบียนช้างบ้านผ่านการฝังไมโครชิปและลงทะเบียนตั๋วรูปพรรณช้างบ้าน และให้หน่วยงานรัฐจำนวน 3 หน่วยงานในการดูแลเรื่องนี้คือ 1) กรมปศุสัตว์ ในส่วนของการฝังไมโครชิปในสัตว์ 2) กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีหน้าที่ตรวจจับไมโครชิป ถ้าหากเจอคือ ช้างบ้าน และ 3) กรมการปกครอง มีหน้าที่ออกตั๋วรูปพรรณช้าง

แต่เมื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้างกลายเป็นกระแสมากขึ้น ทำให้ความต้องการช้างเพิ่มมากขึ้น และไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยว เลยมีข้อเสนอเชิงหัวใสของปางช้างบางส่วนว่า ให้เอาช้างบ้านผสมกับช้างป่า และอาศัยช่องโหว่จากการที่ระเบียบของการจดแจ้งตั๋วรูปพรรณช้าง ซึ่งไม่มีการแจ้งตายช้างนั้น เพื่อให้เกิดการสวมรอยลูกช้างป่าแทนที่ช้างเดิมที่มีตั๋วรูปพรรณช้าง และเป็นที่มาที่ทำให้รัฐไม่สามารถทราบจำนวนที่แท้จริงของช้างบ้านได้


งบประมาณ 2567 มีอะไรที่เชื่อมโยงกับการจัดการปัญหาคนกับสัตว์ป่าหรือไม่?

“ที่ผ่านมาจนถึงปี 2567 งบดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวการดูแลสัตว์ป่า รวมถึงค่าอาหารสัตว์นั้นไม่มี”

นิติพล กล่าว


ภาพแสดงรายละเอียดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 33,220 ล้านบาท
โดยจำแนกงบออกเป็นรายหน่วยงานภายใต้สังกัด


ภาพแสดงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายส่วนรถยนต์เคลื่อนย้ายสัตว์ป่า ให้กับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์ป่า
ที่มา: https://wevis.info/thbudget67#/structure 


สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งหมดประมาณ 33,230 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 0.95% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท) จากจำนวนนี้ เป็นงบแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 2,750 ล้านบาท ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้เป็นงบเกี่ยวกับการจัดหารถขนย้ายสัตว์และอุปกรณ์สำหรับการรักษาสัตว์ป่ารวมทั้งสิ้นเพียง 29.3 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่ งบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้นั้น กลับไม่ปรากฏงบประมาณเกี่ยวกับการจัดการสัตว์ป่า

นิติพล อธิบายต่อว่า แม้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า “สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า” และภายในสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่านี้จะมีเชลเตอร์คอยช่วยเหลือสัตว์ที่ต้องการการพักพิงที่เรียกว่า “ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า” โดยที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าได้ทำการช่วยเหลือสัตว์ป่าจากหลายพื้นที่ รวมถึง ลิงแสม จากพื้นที่บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับบาดเจ็บก็ถูกส่งมาที่นี่เช่นกัน 

แต่เมื่อ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ทำการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่บาดเจ็บมาก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณในส่วนของค่าอุปกรณ์เครื่องมือ ค่ายา และค่าอาหารสัตว์ แต่จากงบประมาณที่ผ่านมา  แม้ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าเหล่านี้จะได้งบประมาณในส่วนรถขนย้ายสัตว์ป่า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีงบค่าน้ำมันในการออกไปลาดตระเวน เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้ ก็ต้องเจียดไปเป็นงบประมาณอาหารสัตว์ ทำให้การดูแลสัตว์ป่าที่ต้องการพักพิงหลังผ่านการรักษาแล้วนั้นแย่ลงไปด้วย 

เป็นผลให้ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า พยายามร้องขอไปยังหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ หลายครั้ง  เพื่อดำเนินการของบประมาณส่วนดำเนินงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณมาให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคม เข้ามาอุดหนุนงบประมาณในการช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้

“ถ้าจะตำหนิใคร หนึ่งคือต้องตำหนิรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่ไม่เคยคิดแก้ปัญหาเรื่องสัตว์ป่าอย่างจริงจัง และสองคือ สำนักงบประมาณที่ไม่เห็นความสำคัญของปัญหาหน้างานที่ทีมผู้ดูแล ทีมเผชิญสัตว์ป่า และคนที่อยู่ในพื้นที่ปัญหาเลย”

นิติพล กล่าว 


ควรเป็นหน่วยงานใดบ้างที่ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือสัตว์ป่า?

“หน่วยงานที่ควรเข้ามาร่วมจัดการปัญหานี้มี 4 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ และภาคประชาสังคม”

นิติพล กล่าว

นิติพล กล่าวต่อว่า หากจะต้องพิจารณาจริงๆ แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับหน้างานปัญหามากที่สุด ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ได้ จะสามารถการทำงานพื้นที่นั้นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างการพัฒนาพื้นที่ป่า คุณภาพชีวิตสัตว์ป่า ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ป่า และกลายเป็นแหล่งในการหางบประมาณให้กับคนในพื้นที่ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าต่อไปได้อย่างยั่งยืน


ที่มา: https://tillthemoneyrunsout.com/ 


“หากรัฐนำแนวทางการจัดการพื้นที่ในลักษณะแบบซาฟารี ร่วมกับท้องถิ่นและเอกชนในพื้นที่ จัดทำบริการรถทัวร์เที่ยวชมสัตว์และให้อาหารสัตว์ป่าได้ จัดหาเงินเข้าชุมชนในท้องที่นั้นได้ ก็จะทำให้คนในพื้นที่นั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้”

นิติพล กล่าว

ขณะเดียวกัน การขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาคประชาสังคมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ เนื่องจากภาคประชาสังคมมักจะมีแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณที่ความคล่องตัวกว่ารัฐ ทำให้สามารถขอความร่วมมือในระดับสากลเพื่อนำเงินมาช่วยสัตว์ป่าได้ดีกว่ารัฐ และที่สำคัญคือ การทำงานของภาคประชาสังคมนั้นไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้พวกเขาสามารถเข้ามาร่วมออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา พร้อมทั้งจัดหางบประมาณร่วมได้


ข้อเสนอเพิ่มเติมด้านนโยบายในการจัดการสัตว์ป่า

Think Forward Center เห็นว่า หากงบประมาณของภาครัฐนั้นมีอยู่จำกัด และไม่สามารถจัดสรรมาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่าง “คนกับสัตว์” ได้ แนวทางที่ควรจะเป็นไปได้ ในการแก้ไขควรเป็นดังนี้

  1. กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องมีการจัดเก็บรวบรวมสถิติที่แท้จริงของช้างป่า ลิง นกปรอดหัวโขน ให้ได้ ผ่านการทำ Big Data ทำให้ที่ผ่านมา กรมอุทยานห่งชาติฯ ทำได้แต่เก็บตัวเลขคร่าวๆ เป็นผลทำให้ไม่สามารถวางแผนจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น
  2. บูรณาการการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งชุมชนและสัตว์ป่า โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ให้มีลักษณะการจัดการพื้นที่แบบซาฟารี เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถหารายได้ ไปพร้อมกับการดูแลเรื่องอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าได้
  3. เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม และเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบแผนการจัดการปัญหา โดยอาจเปิดโอกาสให้จัดทำโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น ระบบ ATM ช้าง (ที่มาจากการสนับสนุนจากภาคเอกชน) เพื่อให้ชาวบ้านที่ประสบปํญหาสัตว์บุกรุกไร่นา ให้ส่งเรื่องร้องเรียนมาพร้อมหลักฐานว่า ผลผลิตเสียหาย หรือบ้านเสียหายเท่าไหร่ เพื่อให้ชาวบ้านรับเงินค่าชดเชยเยียวยากลับไปได้
  4. เปิดนโยบาย รับซื้อพืชผลการเกษตรที่ตกเกรด ในราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อนำมาเป็นอาหารให้สัตว์ป่าในพื้นที่ที่กำลังออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า