Always Beside You (3): วัยรุ่นไทย เครียดอะไรกันบ้าง

เดชรัต สุขกำเนิด

ในภาวการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ความเครียดกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย Think Forward Center จึงทำการวิเคราะห์ปัจจัยความเครียดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ (อายุ 15-24 ปี)  จากแบบสำรวจเยาวชน ค.ศ. 2022 จำนวน 19,034 ตัวอย่าง ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว เพื่อเข้าใจถึงปัจจัยและการรับมือกับความเครียดของเยาวชนไทยในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้


ประเด็นที่ทำให้เครียด

เมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ทำให้เยาวชนเครียดมากที่สุด โดยแบ่งระดับความเครียดจาก 0-5 คะแนน (0=น้อยที่สุด และ 5 = มากที่สุด) พบว่าประเด็นการศึกษาการทำงาน (3.10 คะแนน) และประเด็นการเงิน (2.89 คะแนน) คือประเด็นที่ทำให้เยาวชนในภาพรวมเครียดมากที่สุด 

และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดตลอดเวลา ซึ่งมีประมาณร้อยละ 7.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดตลอดเวลา จะมีความเครียดมากกว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดในทุกๆ ประเด็น แต่ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างที่เครียดตลอดเวลา มีความเครียดแตกต่างจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอย่างชัดเจนคือ ประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่กลุ่มตัวอย่างที่เครียดตลอดเวลามีระดับความเครียดในด้านนี้สูงถึง 3.11 คะแนน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีระดับความเครียดในด้านนี้ 2.15 คะแนน (ต่างกัน 44%)


การเงินมีผลต่อความเครียดมากแค่ไหน

ในประเด็นเรื่อง การเงินส่งผลให้คุณรู้สึกเครียดบ่อยแค่ไหน (โดยมีระดับความเครียด ตั้งแต่ 0=ไม่เครียดเลย 5=เครียดตลอดเวลา) พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจะทำให้มีระดับความเครียดเฉลี่ยมากกว่า 3.01 คะแนนขึ้นไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างสบายจะมีระดับความเครียด 2.51 คะแนน และกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้เพียงพอสำหรับการทำทุกอย่างที่ต้องการจะมีระดับความเครียดเพียงแค่ 2.33 คะแนน นั่นแสดงว่า ระดับรายได้หรือปัจจัยทางการเงินส่งผลชัดเจนต่อความเครียดของเยาวชน


โอกาสในการศึกษาสัมพันธ์กับความเครียด

ในคำถามที่คุณมั่นใจว่าจะได้เรียนถึงระดับที่คุณต้องการหรือไม่? และเปรียบเทียบกับระดับความเครียด (0-5 คะแนน) พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะได้เรียนจนถึงระดับที่ตนเองต้องการจะมีความเครียดมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตนเองมั่นใจอย่างชัดเจน (3.07 ต่อ 2.67 คะแนน)

และเมื่อถามว่า สาเหตุที่ทำให้คุณไม่มั่นใจว่าจะได้เรียนในระดับที่ต้องการ ก็จะพบว่า การมีเงินไม่เพียงพอคือสาเหตุที่สำคัญที่สุด (ร้อยละ 52) และความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถเพียงพอ (ร้อยละ 21) เพราะฉะนั้น การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว จะมีผลต่อความเครียดของเยาวชนอย่างชัดเจน


ครอบครัวคือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลึกลงไปถึงเรื่องครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของคนรุ่นใหม่กับความสนิทสนมกับครอบครัว จากคำถามที่ว่า คุณรู้สึกสนิทกับครอบครัวของคุณมากแค่ไหน? พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความสนิทสนมกับครอบครัวน้อยจะมีระดับความเครียดสูงกว่าอย่างชัดเจน และสูงถึง 4.08 คะแนน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีความสนิทสนมกับความครัวมากที่สุด จะมีระดับความเครียดเพียง 2.34 คะแนน เท่านั้น


เช่นเดียวกับ คำถามที่ว่า ครอบครัวสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือสนับสนุนคุณได้มากแค่ไหน? ก็ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีครอบครัวมีส่วนสนับสนุนในการแก้ปัญหาน้อยที่สุดจะมีระดับความเครียดสูงถึง 3.95 คะแนน ในขณะที่เยาวชนที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากที่สุด จะมีระดับความเครียดเพียง 2.28 คะแนนเท่านั้น นั่นแสดงว่า การสนับสนุนของครอบครัวในการแก้ปัญหามีส่วนสำคัญมากๆ ในการลดความเครียดของเยาวชนไทย


ในทางตรงกันข้าม ระดับความขัดแย้งในครอบครัว ก็จะมีความสัมพันธ์กับความเครียดของเยาวชน โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความขัดแย้งในครอบครัวมากที่สุด จะมีความเครียดในระดับ 3.60 คะแนน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุดจะมีระดับความเครียดเพียง 2.26 คะแนน 


และเมื่อพิจารณาสหสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียดของเยาวชนกับปัจจัยในด้านต่างๆ จะพบว่า ความสนิทสนมและการสนับสนุนของครอบครัวในการแก้ไขปัญหาจะมีส่วนสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียด (เครื่องหมายสหสัมพันธ์เป็นลบ) ประมาณ 30-32% 

ส่วนความขัดแย้งในครอบครัว ในด้านการศึกษาและการทำงาน ในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว และในด้านการใช้ชีวิต จะมีผลในทางตรงกันข้าม คือจะมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับความเครียดของเยาวชนประมาณ 32-34% ส่วนความขัดแย้งในครอบครัวประเด็นความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก และในประเด็นสังคมและการเมือง จะมีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดของเยาวชนน้อยกว่า คือมีความสัมพันธ์กันที่ประมาณ 22% และความขัดแย้งในครอบครัวในประเด็นความเชื่อ/ศาสนาจะมีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดน้อยที่สุด คือสัมพันธ์กัน 18%


การกำหนดเส้นทางเดินของชีวิต 

ความสามารถการกำหนดเส้นทางเดินของชีวิตของเยาวชน ก็มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดของยาวชนเช่นกัน จากคำถามที่ว่า คุณมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตมากแค่ไหน? พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอิสระในการตัดสินใจในชีวิตมากที่สุดจะมีระดับความเครียด 2.47 คะแนน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอิสระในการตัดสินใจน้อยที่สุดจะมีระดับความเครียดสูงถึง 3.50 คะแนน


ความเหงาและความโดดเดี่ยวคือเส้นทางสู่ความเครียด

ตัวแปรที่มีผลต่อระดับความเครียดมากที่สุดอีกหนึ่งตัวแปรคือ ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความเหงาและโดดเดี่ยวน้อยที่สุดจะมีระดับความเครียดเพียง 1.49 คะแนน และกลุ่มตัวอย่างที่มีความเหงาและโดดเดี่ยวมากที่สุดจะมีระดับความเครียดสูงถึง 3.89 คะแนน 


และเมื่อเจาะลงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวกับค่าเฉลี่ยจำนวนเพื่อนสนิทที่มี (นับเป็นจำนวนคน) ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากที่สุดจะมีเพื่อนสนิทเฉลี่ย 4.49 คน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวน้อยที่สุดจะมีเพื่อนสนิทเฉลี่ย 6.32 คน หรือต่างกันประมาณเกือบ 2 คน


มิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับระดับความเครียดของเยาวชน

เมื่อพิจารณามิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับระดับความเครียดของเยาวชน จะพบว่า ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวจะสัมพันธ์กับระดับความเครียดมากที่สุด ถึง 56.6% ในทางตรงกันข้าม การมีความสุขในชีวิต (ระดับ 0-5 คะแนนเช่นกัน) จะมีความสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียดประมาณ 46.3% การมีความเชื่อมั่นในตนเอง และการมีสุขภาพที่ดีจะมีความความสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียดประมาณ 24-26% และการมีอิสระในการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตจะมีความความสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียดประมาณ 19%


การเข้าใช้พื้นที่สาธารณะก็มีความสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียด

การเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะก็มีความสัมพันธ์กับลดระดับความเครียดของเยาวชนเช่นกัน โดยเฉพาะการเข้าใช้ลานกีฬาและสนามกีฬา การศูนย์ฝึกทักษะและอาชีพ ศาสนสถาน และสวนสาธารณะจะมีความสัมพันธ์กับการลดระดับความเครียดประมาณ 9% 6% 4% และ 3% ตามลำดับ


การเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำในอดีต

จากคำถามถึงการเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำในอดีตพบว่า การเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำต่างๆ ในอดีตมีผลต่อระดับความเครียดแตกต่างจากผู้ไม่เคยถูกกระทำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 

  • การถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว (3.50 คะแนนถ้าเคยถูกกระทำเทียบกับ 2.78 คะแนนถ้าไม่เคยถูกกระทำ)
  •  การถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ  (3.46 คะแนนถ้าเคยถูกกระทำเทียบกับ 2.78 คะแนนถ้าไม่เคยถูกกระทำ) 
  • การถูกด่าทอและระราน  (3.29 คะแนนถ้าเคยถูกกระทำเทียบกับ 2.59 คะแนนถ้าไม่เคยถูกกระทำ) และ
  • การถูกบุกรุกพื้นที่ส่วนตัว/ความเป็นส่วนตัว (3.38 คะแนนถ้าเคยถูกกระทำเทียบกับ 2.65 คะแนนถ้าไม่เคยถูกกระทำ)



เช่นเดียวกับการมีอคติทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เพศสภาพ ก็มีผลต่อระดับความเครียดของเยาวชนเช่นกัน โดยพบว่า หากพิจารณาในประเด็นเพศสภาพ กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศสภาพเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (3.23 คะแนน) ก็จะมีความเครียดสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศชาย (2.37 คะแนน) และหญิง (2.90 คะแนน) อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นที่สังคมบางส่วนยังมีอคติทางวัฒนธรรมอยู่ (เช่นเรื่องเพศสภาพ)  ย่อมส่งผลต่อระดับความเครียดของเยาวชนด้วย


เส้นทางรับมือที่แตกต่างกัน

นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความเครียดแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาหลักกับเยาวชน เวลามีความเครียด ก็แตกต่างกันชัดเจนว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดกับกลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดตลอดเวลา (ระดับ 5 คะแนน)

โดยจากคำถามที่ว่า เวลามีความเครียด คุณจะปรึกษาใครเป็นลำดับแรก? จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จะปรึกษาพ่อแม่/ผู้ปกครองเป็นลำดับแรกที่ 44% ตามมาด้วยเพื่อนๆ ที่ 38% และพี่น้องและอินเตอร์เน็ต ที่อย่างละ 6% เท่ากัน

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดตลอดเวลา (ระดับ 5 คะแนน) จะปรึกษาเพื่อนเป็นลำดับแรก สูงถึง 44% (เทียบกับ 38% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และปรึกษาครอบครัวเป็นลำดับแรกเหลือเพียง 28% (เทียบกับ 44% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) และปรึกษาทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 12% 

ดังนั้น จะเห็นว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดตลอดเวลา (ระดับ 5 คะแนน) จะพึ่งพาครอบครัวได้ลดลงอย่างชัดเจน และหันไปพึ่งพาเพื่อนและอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เช่นเดียวกับการไปพึ่งพาจิตแพทย์/นักให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 3% (เทียบกับ 1% ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) แต่ก็ยังถือว่า เยาวชนไทยยังคงพึ่งพาจิตแพทย์และนักให้คำปรึกษาในระดับที่น้อยมาก


สรุปและข้อเสนอแนะ

ผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยความเครียดทั้งหมดของเยาวชนไทยจะพบว่า ความเครียดของเยาวชนไทย ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของปัจเจกแต่ละคน แต่ความเครียดเป็นผลลัพธ์จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก หากจะกล่าวแบบขมวดรวบรัด ปัจจัยความสัมพันธ์ในครอบครัว และความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เยาวชนไทยความเครียด ตามมาด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เช่นรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งอาจส่งผลต่อโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่คาดหวัง ก็จะเสริมเติมความเครียดให้เยาวชน ขณะเดียวกัน เยาวชนที่เคยถูกกระทำในอดีต และ/หรือเผชิญอคติทางวัฒนธรรมก็จะยิ่งเพิ่มเติมความเครียดให้มากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ความสนิทสนมและการสนับสนุนของครอบครัว การไม่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว (เช่น การมีเพื่อนสนิทมาก) การมีความสุขในชีวิต การมีรายได้ที่เพียงพอและโอกาสทางการศึกษาที่ต้องการ การมีอิสระในการตัดสินใจ และการมีกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการลดระดับความเครียดของเยาวชน และเป็นที่พึ่งและแรงสนับสนุนทางสังคมในยามที่เยาวชนเครียดด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การลดความเครียดและการสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับเยาวชนไทย จึงต้องการสังคมและครอบครัวที่เข้าใจ และส่งแรงสนับสนุนทางจิตใจซึ่งกันและกัน การให้โอกาสอย่างเท่าเทียม (ทั้งในระดับสังคมและครอบครัว) และปราศจากการกระทำที่รุนแรงระหว่างกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า