ยกระดับการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพโดยด่วน

เดชรัต สุขกำเนิด
นุชประภา โมกข์ศาสตร์


อุทกภัยปี 2565 ได้ขยายและสร้างผลกระทบในวงกว้างกินพื้นที่มากกว่า 6 ล้านไร่แล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานที่มีผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องอพยพมาอยู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงและ/หรือศูนย์อพยพจำนวนมาก และหลายพื้นที่พี่น้องประชาชนอาจจำเป็นต้องอยู่ในศูนย์อพยพอีกเป็นเวลานาน

แต่ปัจจุบัน การดูแลพี่น้องประชาชนและการให้บริการศูนย์อพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราว ยังมิได้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน หลายพื้นที่ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงไม่มีความพร้อมในแง่วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และพื้นที่ที่ยังไม่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้ประสบภัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหลายพื้นที่ศูนย์อพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราวถูกน้ำท่วมซ้ำซ้อน จนจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายประชาชนอีกครั้ง หลายพื้นที่ศูนย์อพยพฯ ยังตั้งอยู่ริมถนนที่มียานพาหนะสัญจรหนาแน่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนในบางพื้นที่ยังไม่พร้อม/ไม่ยินดีที่จะอพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง ทำให้เกิดความเสี่ยงจากอุทกภัย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะไฟฟ้าดูด ฯลฯ


Think Forward Center เห็นว่า รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรยกระดับการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพให้มีความปลอดภัยและมีความสะดวกตามสมควรโดยด่วนที่สุด โดยรัฐบาลต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ในการจัดทำศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพให้ประชาชนในทุกพื้นที่ และแต่ละจังหวัดควรประกาศเขตประสบภัยพิบัติให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง


นอกจากนี้ Think Forward Center เห็นว่า แต่ละจังหวัดควรจัดตั้งกองอำนวยการกลางศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวในระดับจังหวัด เพื่อ (ก) ประสานงานกับศูนย์พักพิงชั่วคราวทุกแห่งภายในจังหวัด (ข) ระดมและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับทุกศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราว และ (ค) ประสานให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน/ฉุกเฉินแก่ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวเมื่อได้รับการร้องขอ ทั้งนี้ ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวแต่ละแห่งควรมีการประชุมหารือ เพื่อแต่งตั้งผู้จัดการศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ด้วย

การจัดตั้งศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราว ควรใช้อาคารที่มีความมั่นคงถาวร เช่น สถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน(หรือโรงเรียนเก่า) ที่อยู่ใกล้ชุมชน มหาวิทยาลัย สนามกีฬา หรือสถานที่ชั่วคราวที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อการจัดตั้งศูนย์พักพิง เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่ว่างเปล่า ศาสนสถาน ฯลฯ ที่มีความปลอดภัย กล่าวคือ น้ำท่วมไม่ถึง (เพื่อหลีกเลี่ยงการจำเป็นต้องอพยพซ้ำซ้อน) มีไฟฟ้าและสาธารณูปโภค และมีเส้นทางคมนาคมที่เข้าถึงและไม่ถูกตัดขาดหากระดับน้ำสูงขึ้น


ทั้งนี้ การใช้พื้นที่ถนนที่ยังมีการสัญจรควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการจัดตั้งศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ถนนในการเป็นศูนย์พักพิง ก็จำเป็นต้องมีการปิดกั้นการจราจร และ/หรือต้องมีเจ้าหน้าที่/อาสาสมัคร และไฟสัญญาณช่วยอำนวยการจราจรให้มีความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

การจัดตั้งศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวต้องเข้าถึงน้ำและอาหาร รวมทั้งมีไฟฟ้า ไฟแสงสว่าง ยารักษาโรค ของใช้จำเป็นต่างๆ ห้องน้ำ และต้องมีการจัดการด้านสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบัน สิ่งที่ขาดแคลนมากในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงคือ ห้องน้ำ สุขา และน้ำใช้ (น้ำดื่มมีการบริจาคเป็นน้ำขวด) รวมถึงในบางพื้นที่ยังขาดแคลนไฟส่องสว่าง


ภายในสถานที่ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ควรมีสถานที่ที่เพียงพอสำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่ ควรมีการจัดทำรายชื่อของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิง และผู้ที่ยังอยู่ในชุมชน (ในพื้นที่น้ำท่วม) และมีการปรับปรุงรายชื่อให้ตรงตามความเป็นจริงอยู่เสมอ

ภายในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวควรมีการแยกพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่มีความสะอาด โล่งโปร่ง ไม่อับชื้น และไม่ถูกฝนสาด เพื่อสุขอนามัยที่ดี และควรประสานรายชื่อผู้สูงอายุและผู้พิการเหล่านี้กับหน่วยงานสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อเตรียมพร้อมความช่วยเหลือในสถานการณ์เร่งด่วน และควรมีสถานที่เฉพาะสำหรับดูแลเด็กเล็ก/เด็กโต รวมทั้งมีอาสาสมัคร (ที่อาจเป็นผู้ประสบภัย) ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการให้การดูแล

ทั้งนี้ ชุมชน/อาสาสมัคร/ประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือร่วมบริจาคสิ่งของ โดยทำการประสานกับผู้จัดการศูนย์พักพิง หรือฝ่ายประสานงาน เพื่อให้การจัดการวางแผน และกระจายสิ่งของเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในระหว่างผู้ประสบภัยด้วยกัน

ในด้านการดูแลรักษาความสะอาดภายในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ผู้จัดการศูนย์พักพิงควรจัดให้มีจุดทิ้ง/คัดแยกขยะ โดยเฉพาะเศษอาหาร/กล่องโฟม/ขวดน้ำ/หลอดดูด และสิ่งของต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันการนำขยะไปเทกองรวมกันซึ่งอาจเป็นพาหะของโรคต่างๆ และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจส่งผลต่อสุขอนามัยของเด็ก/ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ และผู้ที่อาศัยภายในศูนย์พักพิง และ/หรือประชาชนที่สัญจรไปมา


เมื่อเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราว จากการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย พบว่า ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ยังมีความกังวลใจใน 3 เรื่อง นั่นคือ (ก) ระดับของน้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน สิ่งของและการดำเนินชีวิต (ข) ความเป็นห่วงว่า บ้านเรือนและสิ่งของที่ถูกน้ำท่วมอยู่จะเสียหายจากน้ำท่วม และ/หรือสูญหายจากมิจฉาชีพ และ (ค) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากการมาอยู่ในพื้นที่อพยพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่แพงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อต้องกลับไปซ่อมแซมบ้านเรือน และภาวะหนี้สินที่อาจจะพอกพูนขึ้นจากปัญหาอุทกภัย

ในประเด็นแรก รัฐบาลควรมีการแจ้งเตือนระดับน้ำท่วมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตผ่านแอปพลิเคชัน และประกาศผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ทั้งนี้ การรายงานสถานการณ์รวมทั้งระบุระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ โดยเฉพาะระดับน้ำท่วมที่อาจจะเพิ่มขึ้น และระดับหรืออัตราการระบายน้ำในช่วงน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนกลับสู่ภูมิลำเนาได้อย่างถูกต้อง

ส่วนในประเด็นที่สอง หน่วยราชการ อปท. และทีมงานอาสาสมัคร ควรจัดหน่วยเวรยามของหมู่บ้าน/ชุมชน และใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น กล้องวงจรปิดไร้สาย หรือการบินโดรน ในการเฝ้าระวังและลาดตระเวนสำหรับผู้ประสบภัย เพื่อลดความห่วงกังวล ภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าเรือ และลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยด้วย


ในประเด็นสุดท้าย Think Forward Center เสนอให้ รัฐบาลปรับแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากการเยียวยาหลังน้ำลด มาเป็นการเยียวยาเร่งด่วนทันทีในช่วงที่กำลังประสบภัยอุทกภัย สำหรับผู้ที่มาอยู่ในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน (คำนวณมาจาก 100 บาท/คน/วัน)

ขณะเดียวกัน การจ่ายเงินเยียวยาบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ภายหลังน้ำลด รัฐบาลจะต้องประกาศแนวทางให้ชัดเจนตั้งแต่ขณะนี้ โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การเยียวยาจะต้องเป็นแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่สะดวก เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเสียหายจริง รวดเร็ว และทั่วถึงกว่าปีที่ผ่านมา เช่น การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA หรือการใช้ Big data ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการบ่งชี้พื้นที่น้ำท่วม หรือการเยียวยาพื้นที่นาควรได้รับครอบคลุมต้นทุนที่ชาวนาได้ลงทุนไปในการทำการเกษตร เช่น อย่างน้อย 3,000 บาท/ไร่ เป็นต้น

นอกจากนี้ Think Forward Center เสนอว่า รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในการดูแลพี่น้องประชาชนอ ย่างเต็มที่ เป็นกรณีพิเศษ เช่น กำหนดวงเงินงบประมาณ 5,000 บาท/หัวของผู้ประสบภัย เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประสบอุทัยภัยต้องประสบภัยซ้ำซ้อนจากความไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลและให้บริการของหน่วยราชการ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า