6 รูปแบบพิพิธภัณฑ์ชวนฝันสำหรับคนไทย

เดชรัต สุขกำเนิด


วันที่ 19 กันยายน ของทุกปี จะเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อร่วมเฉลิมความคิดและฉลองความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ในฐานะสื่อและพื้นที่การเรียนรู้ของสังคม Think Forward Center ขอร่วมนำเสนอ 6 รูปแบบพิพิธภัณฑ์ชวนฝันสำหรับคนไทย

ที่มา: อินเทอร์เน็ต
พิพิธภัณฑ์ชิมได้ Musuem fur Naturkunde กรุงเบอร์ลิน
และ Southern Food and Beverage Museum ในรัฐนิวออร์ลีน สหรัฐอเมริกา


1. พิพิธภัณฑ์ชิมได้

อาหารเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่มีเสน่ห์และทำให้ทั่วโลกหลงใหล เคล็ดลับที่อยู่ในภูมิปัญญาอาหารไทยมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจมาก ตั้งแต่ความเป็นมาของวัตถุดิบต่างๆ กรรมวิธีการปรุงอาหาร และการผสมผสานทางวัฒนธรรม แต่จะดีแค่ไหน ถ้าพิพิธภัณท์ทางด้านอาหารจะไม่มีเฉพาะเรื่องราว รูปภาพ หรือแบบจำลอง แต่พิพิธภัณฑ์อาหารในฝันจะมีอาหารที่จัดแสดงอยู่ ให้ได้ชิมและทดลองทำกันจริงๆ ด้วย 

แน่นอนว่า ความท้าทายของพิพิธภัณฑ์อาหารแบบนี้จะอยู่การจัดเตรียมอาหารให้สมดุลกับปริมาณและความอยากชิมของคนเข้าชม ที่ต้องนำไปจัดเตรียมวัตถุดิบและอาหารให้สมดุลกัน แต่ถ้าออกแบบด้วยวัตถุประสงค์นี้ตั้งแต่ต้น จนสามารถมีพื้นที่ประกอบและชิมอาหารที่เพียงพอ รวมถึงเปิดให้ผู้สนใจจองคิวเข้าชิมล่วงหน้า และมีค่าบริการที่เหมาะสม ไม่แน่ว่า พิพิธภัณฑ์อาหารแบบนี้จะมีคิวยาวๆ กันแบบข้ามปีเลยทีเดียว รวมถึงจะเป็นพื้นที่สำคัญในการทดลองผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมอาหารใหม่ๆ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาอาหารไทยให้ไพศาลไปอีก

ที่มา: อินเทอร์เน็ต
ภาพพิพิธภัณฑ์ด้านเพศศึกษาในอัมสเตอร์ดัม และในเกาะเจจู เกาหลีใต้


2. พิพิธภัณฑ์ด้านเพศศึกษา

ในอดีต (อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง) เพศกลายเป็นเรื่องหยาบคาย ปกปิด และต้องห้ามในสังคมไทย ในขณะที่เพศ เพศสภาพ และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องข้องกับเพศในโลกปัจจุบันมีพลวัตที่รวดเร็ว การเรียนรู้เรื่องเพศกลับมีพื้นที่ไม่มากนัก และสื่อสารกันแบบไม่ตรงไปตรงมา และมักแฝงไปด้วยไปทัศนคติเชิงลบในการเรียนรู้เรื่องนี้

เพราะฉะนั้น น่าจะถึงเวลาที่สังคมไทยจะมีพิพิธภัณฑ์ที่สื่อสารเรื่องเพศศึกษาอย่างตรงไปตรงมา โดยอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่ปราศจากอคติทางวัฒนธรรม และออกแบบเพื่อคลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยของผู้เข้าชม โดยเฉพาะเยาวชน ในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศในทุกด้าน และเยาวชนสามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยจากอคติทางวัฒนธรรมทั้งปวง

“ตัวอย่างภาพสตรีทอาร์ทบอกเล่าตำนานเมืองสกลนคร และย่านกลางธงชัย เมืองสกลนคร”


3. พิพิธภัณฑ์กราฟิตี้ไดอารี่เมือง

ปัจจุบัน หลายๆ เมืองในประเทศไทย ได้นำศิลปะแบบกราฟิตี้หรือสตรีทอาร์ท เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ของเมือง แต่จะดีแค่ไหนถ้าภาพสตรีทอาร์ทในจุดต่างๆ เหล่านั้น จะได้ถูกจัดวางเรื่องราวให้ร้อยเรียงเชื่อมโยง จนเป็นเสมือนไดอารี่บันทึกวิวัฒนาการ ความประทับใจ หรือแม้กระทั่ง ความขมขื่น/ความขัดแย้งที่เมืองๆ นั้นเคยเผชิญ รวมถึงจินตนาการของชาวเมืองที่อยากจะเห็นในอนาคต โดยให้ภาพเหล่านั้นสัมพันธ์กับพื้นที่แต่ละแห่ง (หรือใกล้เคียง) ในเมืองนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมเมือง ได้เข้าใจความเป็นไปของเมือง และได้กระจายโอกาสการท่องเที่ยวในเมืองให้กระจายไปได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ ผู้เขียนเคยได้ไปเดินชมเมืองสกลนคร ช่วงที่มีเทศกาลสกลจังก์ซั่นแล้ว ประทับใจในภาพกราฟิตี้ที่กระจายกันบอกเล่าเรื่องราวของย่านนั้นอยู่จุดต่างๆ ในตรอก ในซอย และในพื้นที่ว่างของเมือง และแอบฝันว่า ภาพกราฟิตี้และสตรีทอาร์ทเหล่านี้จะทำหน้าที่ได้คล้ายกับนิทรรศการถาวรที่นักท่องเที่ยวจะมาเดินและเรียนรู้อย่างจริงจังในอนาคต

ที่มา: อินเทอร์เน็ต
กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ในต่างประเทศและในประเทศไทย


4. พิพิธภัณฑ์/ห้องสมุดมนุษย์

นอกเหนือจากวัตถุ/หนังสือ/สื่อต่างๆ ที่บรรจุเรื่องราวที่น่าสนใจให้ค้นหาแล้ว ตัวมนุษย์เองนี้แหละที่เป็นอีกแหล่งข้อมูล/สื่ออีกทางหนึ่ง ที่จะสามารถชวนคิด ชวนคุย และชวนค้นกันได้ เพราะในชีวิตจริงของเรา เรามีผู้คนจำนวนมากในสังคม ที่ประกอบอาชีพหรือมีวิถีชีวิต/วัฒนธรรมที่เราไม่รู้จัก และที่น่าเสียดายยิ่งไปกว่านั้น ก็อาจจะไม่รับการบันทึกหรือเผยแพร่ไว้ในสื่อใดๆ เพราะฉะนั้น ห้องสมุดมนุษย์จึงทำหน้าที่เสาะหาและเชิญชวนผู้คนที่น่าสนใจ ในแง่มุมและในซอกมุมต่างๆ มาบอกเล่าประสบการณ์ของตนให้กับผู้เข้าชมโดยตรง 

ห้องสมุดมนุษย์มีหลักการพื้นฐานอยู่ว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากปก” นั่นหมายถึง การลดวางอคติทางความคิดและทางวัฒนธรรมต่างๆ ลง เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจกับผู้คนที่ภูมิหลังและความหวังที่แตกต่างจากเรา ด้วยจิตใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง 

ปัจจุบัน ห้องสมุดมีการดำเนินการในหลายประเทศ ในประเทศไทยเราก็มีการดำเนินการห้องสมุดมนุษย์อยู่แล้วเช่นกัน และคงดีมาก หากแนวคิด/วิธีการดังกล่าวจะแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ

ที่มา: The KOMMON.co
พิพิธภัณฑ์ Conflictorium เมืองอาห์เดมาบัต ประเทศอินเดีย
ที่บอกเล่าเรื่องราวความขัดแย้งและการคลี่คลายความรู้สึกในจิตใจ


5. พิพิธภัณฑ์เรื่องราวที่ไม่อาจลืม

สังคมแต่ละสังคมก็เปรียบเสมือนมนุษย์แต่ละคน ที่มีเรื่องราวบางอย่างที่ไม่อาจลืมได้เช่นกัน แน่นอนว่า เรื่องราวเหล่านั้นมักเป็นเรื่องราวที่เจ็บปวด เป็นบาดแผลทางจิตใจทั้งสำหรับผู้ถูกกระทำและ (บางกรณี) สำหรับผู้กระทำเอง  และหลายครั้งผู้ที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ก็ใช้อำนาจรัฐที่ตนมี ในการพยายามปกปิด ปิดบังเรื่องราวดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้คนได้รับรู้และเล่าขานถึงการกระทำของตนไปอีก แต่สำหรับผู้ถูกกระทำ การถูกบังคับให้ลืม (ทั้งโดยตรงและทางอ้อม) มักไม่ช่วยอะไร และหลายครั้งอาจตอกย้ำความรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก คล้ายกับเพลงที่บอกว่า “การลบไม่ได้ช่วยให้ลืม” นั่นเอง 

ดังนั้น ผู้คนบางกลุ่มจึงเลือกหนทางที่แตกต่าง กล่าวคือ แทนที่จะเลือกการปิดบังซ่อนเร้น แต่เลือกที่จะมีการนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ด้วยหลักฐานจริงที่ได้รับการยอมรับ และการนำเสนอเรื่องราวโดยลดทอนอคติในใจ เพื่อให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการรำลึกในความผิด (หรือความพลาด) ของมนุษย์ด้วยกัน มิใช่ไปเสริมหนุนความเคียดแค้นหรือเกลียดชังกัน 

พิพิธภัณฑ์แบบนี้ดูจะเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ในสังคมไทย เพราะเกรงว่าจะ “ขยายความขัดแย้ง” เราจึงไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวที่ไม่อาจลืมได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ว่าเราจะปิดบังอย่างไร เรื่องราวความไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทรมานอุ้มหาย การบังคับจับกุม หรือการทำให้จบชีวิต/เข่นฆ่ากัน ก็เป็นเรื่องราวที่ผู้คน “ไม่อาจลืม” ได้อยู่ดี มันจะดีกว่าหรือไม่ ที่เราจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายที่การลืม แต่มีเป้าหมายที่จะตอกย้ำความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคน

ที่มา: อินเทอร์เน็ต
นิทรรศการดูดาวสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ที่สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566


6. พิพิธภัณฑ์สัมผัสดาว

ด้วยกิริยา “ดู” ในคำว่า “ดูดาว” อาจฟังดูเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะถ้า “ดู” ดาวที่อยู่ห่างไกลไม่ได้ด้วยสายตา แล้วเราจะสัมผัสความงามและความยิ่งใหญ่ของดาวและจักรวาลได้อย่างไร

สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT จึงได้พยายามทลายอุปสรรคนี้ด้วยการทดลองทำนิทรรศการการสัมผัสดาวและจักรวาลสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา เพื่อให้น้องๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ โดยเฉพาะการสัมผัสในการลูบและไลค์ดาว และจักรวาล ทำให้คำว่า “ท้องฟ้าจำลอง” ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันสำหรับผู้พิการทางสายตาอีกต่อไป

จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์สัมผัสดาว เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการทลายอุปสรรคในการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนยังเคยเห็นไอเดียการทลายอุปสรรคในการเข้าถึงรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เสมือนจริงสำหรับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง การทำพิพิธภัณฑ์ภาษามือ โดยอาจทำงานร่วมกับ AI และห้องสมุดมนุษย์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากเราช่วยกันขบคิดและลงทุนในการค่อยๆ ทลายอุปสรรคทั้งหลายลง พิพิธภัณฑ์ก็จะได้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนทั้งมวล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า