SDGs สู่การสร้างเมืองบนฝันที่ยั่งยืน

พิมพ์สิริ พิรุณจินดา 


ในโลกยุคปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อคุณภาพการดำรงชีพที่ดียิ่งขึ้นของมวลมนุษย์และสามารถดำรงคงอยู่ไปสู่คนรุ่นหลัง นับจากปี 2015 ที่ประชุมหารือขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างไรก็ตาม จนถึงทุกวันนี้เป้าหมายของความยั่งยืนในระดับภาพรวมของโลกยังถือว่าไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ รวมถึงความท้าทายที่จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขมากขึ้น จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ส่งผลให้หลายประเทศมองถึงความจำเป็นของการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลังภายในปี 2030

กระทั่งปี 2023 ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยมีเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ 1.การขจัดความยากจน (SDG 1) และ 2.เป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) 

ที่มา: thaipbsworld.com


สำหรับการขจัดความยากจน จะใช้การประเมินผ่านข้อมูลอัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 74.09 บาท) เป็นเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำตามมาตรฐานของธนาคารโลกในปี 2017 และจากมาตรฐานของธนาคารโลกนี้ ทำให้เราทราบว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนของรายได้ประชากรต่อวันต่ำกว่า 3.65 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 125.79 บาท) อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐานความยากจนของธนาคารโลก ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุผลการเป้าหมายประเมินการยุติความยากจน (SDG 1) ได้ 

เป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) จะใช้การประเมินผ่านข้อมูล 4 เงื่อนไข ได้แก่ 

1. เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเด็กอายุ 4-6 ปี ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ระดับชั้นประถมศึกษา 

2. อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา 

3. อัตราการสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 

4. อัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15-24 ปี 


ที่มา: ombreschinoises.org


เมื่อมองจากเกณฑ์ชี้วัดที่กล่าวมานี้ ประเทศไทยอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาที่เท่าเทียมได้ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ การประเมินสำหรับเป้าหมายนี้สามารถวัดความสำเร็จได้แท้จริงหรือไม่? ซึ่งรายงานฉบับอื่นที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในมุมมองที่ต่างกันจะพบว่า ประเทศไทยอาจยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และเราอาจต้องตั้งคำถามใหม่ถึงการประเมินผลตามเป้าหมายความสำเร็จในการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับประเทศอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน หากเราศึกษาถึงความพยายามในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทยจะเห็นว่า การเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย การสร้างงานวิจัย ไปจนถึงการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการวางแผนพัฒนาชาติและเศรษฐกิจฉบับที่ 13 มีลักษณะของแผนการขับเคลื่อนบนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ใน 6 ด้าน ตามที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีมติเห็นชอบ ได้แก่ 

1.การสร้างการตระหนักรู้ 

2.การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ 

3.กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 

4.การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

5.ภาคีการพัฒนา 

 และ 6.การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

โดยใน 6 ด้านนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลักกับ 169 เป้าหมายย่อย มีความสัมพันธ์สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ไปจนถึงมีความสอดคล้องกับเป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นอีกด้วย 

ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ยังมีผลต่อการร่างแผนพัฒนาชาติและเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2566-2570 (ระยะเวลา 5 ปี) โดยนำหลักการของ SDGs เข้ามาเป็น 1 ใน 4 หลักของการกำหนดทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคความท้าทายต่างๆ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

แต่เมื่อมองถึงหลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่กำหนดทิศทางของเป้าหมายบนแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หมายความว่า จะต้องเป็นแนวทางที่นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนทุกกลุ่มในทุกมิติการดำรงชีพ ได้แก่ การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ การมีสภาพแวดล้อมที่ดี การมีปัจจัยสนับสนุนให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ การมีโอกาสในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากศักยภาพของตน และการมุ่งหมายส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรุ่นหลัง

เป้าหมายความยั่งยืนและความเป็นไปได้

แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญต่อเรื่องของการดำเนินงานของแผน SDGs ในภาคส่วนของราชการ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการไปสู่เป้าหมายตามแผนการยังคงมีอุปสรรคมากมายที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดได้ จากเสวนาและนิทรรศการภาพถ่ายภายใต้ชื่อ “SDGs The Depth of Field” ได้มีการนำเสนอถึงปัญหาที่สำคัญบางประการที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนบางประเด็นไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ของความยั่งยืนได้ ดังนี้

ที่มา: sdgmove.com


เป้าหมายความยั่งยืนที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย สำหรับปัญหาของเป้าหมายในด้านนี้ ทาง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยในขณะนี้ยังคงมีความท้าทายในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุและสุขภาพจิตในระดับสูง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนระบบในการดูแลสุขภาพเชิงรุก สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย และขาดแคลนนักจิตบำบัดและจิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงในทุกโรงพยาบาลจังหวัด 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 4 สร้างหลักประกันว่า ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับปัญหาของเป้าหมายในส่วนนี้ ทาง ดร.เดชรัต ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า การศึกษาของประเทศไทยยังไม่มีความเท่าเทียมมากพอ และยังมีความเฉี่อยชาอย่างมากของเนื้อหาในการเรียนการสอนที่จะสามารถตามให้เท่าทันต่อโลกาภิวัฒน์ รวมถึง ผศ.ดร.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ให้ความเห็นอีกว่า ควรมีการศึกษาที่ยั่งยืนให้แก่เด็กเพื่อสร้างความพร้อมให้กับการเปลี่ยนแปลงประเทศในระยะยาว 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 7 สร้างหลักประกันว่า ทุกคนต้องเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน สำหรับปัญหาของเป้าหมายในส่วนนี้ ทาง ดร.เดชรัต ให้แนวคิดว่าสมควรปฏิรูปพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมพลังงานคาร์บอนต่ำและพลังงานหมุนเวียน 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 8 ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ รวมถึงการสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ในส่วนนี้ทาง ผศ.ดร.ชล ได้ให้แนวคิดว่า ควรมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่มีความยุติธรรมและครอบคลุมมากนัก อีกทั้ง ดร.เดชรัต ได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดการผูกขาด เพื่อส่งเสริมให้ SMEs มีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นและควรมีการกำหนดนโยบายด้าน Carbon credits 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในส่วนนี้ ผศ.ดร.ชล ได้เสนอแนวคิดว่า SDGs เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนและมีการนำไปใช้ จึงต้องมีกลไกช่วยในการจัดการด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยขณะนี้ยังขาดในส่วนของนโยบายที่ชัดเจนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SDGs 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความปลอดภัยที่ครอบคลุม รวมถึงยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน ทางดร. เดชรัต ได้เสนอว่า ควรมีการพัฒนาเมืองที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเด็นอื่นได้ 

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งทั้ง ดร. เดชรัต และ ผศ.ดร.ชล ได้เสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องในแนวความคิดเดียวกัน คือ การปฏิรูปการเกษตร เพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น หากการเกษตรไม่มีความยั่งยืน จะส่งผลให้ไม่มีความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชล ยังกล่าวอีกว่า การใช้วัสดุที่ไม่ยั่งยืนในทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายนี้ วนันท์ เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand ได้เสนอแนวคิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ท้าทาย และส่งผลต่อเป้าหมายด้านอื่นๆ ของ SDGs ได้ ในความท้าทายใหม่ของ SDGs ในข้อนี้คือ การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นใหม่หลังจากนี้ อีกทั้ง ผศ.ดร.ชล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้การบรรเทาและป้องกันภัยพิบัตินับได้ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับสถานการณ์นี้

เป้าหมายความยั่งยืนที่ 17 เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน วนันท์ ได้กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการสนับสนุนและเงินทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนา หลังจากที่ผ่านมามลพิษต่างๆ ได้ถูกปล่อยจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถแยกได้ตามแต่ละเป้าหมายของ SDGs อย่างไรก็ตาม ในบางปัญหามีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่นๆ ซึ่งกันและกันอย่างแยกขาดไม่ได้ เช่น เป้าหมายความยั่งยืนที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 15 ระบบนิเวศบนบก สำหรับแนวทางของเป้าหมายนี้มีความเชื่อมโยงกันและกัน 

การพัฒนาของสังคมมนุษย์ส่งผลต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในทะเลและบนบก โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้าม โดยที่ในความเป็นจริงธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาและเป็นเป้าหมายความยั่งยืนของชีวมณฑล (Biosphere) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นรากฐานหรือเงื่อนไขเบื้องต้นของเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ รวมถึงหาแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองสามารถเห็นถึงข้อเท็จจริงนี้และให้ความสำคัญกับนโยบายที่จัดการกับ SDGs ของชีวมณฑล หรือนโยบายเศษซากที่เป็นผลลบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบาย Fitfor 55 ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตร


หนทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

Think Forward Center เห็นว่า หนทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงอุปสรรคที่จะเชื่อมโยงไปถึงการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในแต่ละด้านเพียงเท่านั้น แต่การออกแบบนโยบายเชิงประยุกต์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่ระดับผู้คน ท้องถิ่น เมือง ไปจนถึงระดับประเทศ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ในส่วนของการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาครั้งนี้จึงมีการเสนอแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายความรู้และการเข้าถึงเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่ระดับผู้คน ท้องถิ่น เมือง ไปจนถึงระดับประเทศ

โดยอาจเริ่มจากการส่งเสริมการให้ความรู้ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ควบคู่ไปกับการเพิ่มการรับรู้และยอมรับของคนในสังคมเพื่อเพิ่มความครอบคลุมของการนำเป้าหมายของ SDGs ไปปรับใช้ตามวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนแต่ละท้องถิ่น เพื่อทำให้เกิดการมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมพูดคุยในวงเสวนาต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ SDGs และสามารถเป็นเวทีสะท้อนปัญหาในระดับท้องถิ่นก่อนนำไปสู่การสร้างนโยบายที่จะบรรลุของเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ในระดับประเทศจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อย และแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถจัดตั้งรับบาลได้สำเร็จในครั้งนี้ แต่จาก 300 นโยบาย เปลี่ยนประเทศ ของพรรคก้าวไกล และเป้าหมาย SDGs ในหลายประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในเสวนา “SDGs The Depth of Field” ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลได้เตรียมนโยบายเพื่อการสร้างความยั่งยืนไว้ ดังนี้

  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 3 รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนทุกคน อาทิ 1) การจัดสรรให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีกับประชาชน (ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง) 2) พัฒนาระบบ อสม. ให้กลายเป็นแนวหน้าสุขภาพที่มีความถนัดเฉพาะทางเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเชิงรุกกับประชาชน 3) ยกระดับ รพ. สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชน ให้เป็นศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ ติดตามโรคเรื้อรัง ลดภาระโรงพยาบาลใหญ่ และติดตั้ง Telemedicine ในกรณีที่แพทย์รองรับไม่เพียงพอ เป็นต้น
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 4 รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม อาทิ 1) เรียนฟรี ต้องฟรีจริง 2) นักเรียนเครียด-ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา 3) ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย 4) กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน 5) ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 7 รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรพลังงานสมัยใหม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในราคาที่ซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน อาทิ 1) เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน 2) เปิดตลาดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อขายให้กับภาคธุรกิจเอกชน/กิจกรรมทางสังคม
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 8 รัฐบาลต้องส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน รวมถึงการสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน อาทิ 1) ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท 2) ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกิน ต้องได้ OT 3) สัญญาจ้างเป็นธรรม แรงงานรัฐได้รับการคุ้มครอง 4) เปลี่ยนปัญหาเป็นอาชีพ สร้างงาน ซ่อมประเทศ
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 9 และ 11 รัฐบาลต้องจัดการให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน อาทิ 1)อาคาร-สิ่งก่อสร้างยึดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน 2) ทุกบริการภาครัฐ ทำได้ผ่านมือถือ 3) การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งการปฏิบัติการ และการวิจัยและพัฒนาให้กับเทคโนโลยีเพื่อการลดโลกร้อนอย่างชัดเจน
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 12 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน อาทิ 1) พัฒนาสินค้าชุมชน – 1 ท้องถิ่น 1 โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร 2) อาหารโรงเรียน-โรงพยาบาลจากชุมชน ตัดวงจรสินค้าเกษตร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง 3) รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ฟรี! ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก 4) ดูแลกลไกการตลาดสินค้าเกษตรให้มีความเป็นธรรม
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ 1) กองทุนปรับตัวรับมือภัยพิบัติ-น้ำท่วม 2) ท้องถิ่นประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติได้ 3) ศูนย์พักพิง-อพยพมีมาตรฐาน ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณ 4) ชดเชย-เยียวยาน้ำท่วม เป็นธรรมและทันควัน 5) ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดรายลุ่มน้ำ
  • นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 17 รัฐบาลต้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ 1) สร้างเศรษฐกิจสีเขียว โดยทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ASEAN ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก

 ซึ่ง Think Forward Center เห็นว่า จากข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ สิ่งที่จะทำให้ทุกนโยบายเกิดขึ้นได้คือ การกระจายอำนาจการปกครองเข้าสู่ระบบท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปัญหาท้องถิ่น และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับท้องถิ่น อีกทั้งหากมองในมุมมองทางสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะพบว่า การมีส่วนร่วมของผู้คนในท้องถิ่นนั้นเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องที่

ฉะนั้นแล้ว การนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังคงมีอุปสรรคอันมากมายที่จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น จะพบได้ว่าในขณะนี้การดำเนินการการพยายามบรรลุไปสู่เป้าหมายยังคงไม่มีความสัมพันธ์มากพอในระดับของการปฏิบัติการในชีวิตทั่วไปของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น นับได้ว่าเป็นคำถามสำคัญที่ทำให้เห็นว่าต่อจากนี้ เราควรทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น



บรรณานุกรม

https://www.sdgmove.com/2023/06/23/sdg-updates-sustainable-development-report-sdg-index-2023/?fbclid=IwAR2WLVtPixz7j0Kn-TXZfxEPMyKNq6SGfz80KYZ-2fk8OFcSpa5C6PFZVFs_aem_Adbti7FOpP1P5_7hT-dFqOSE3ZnEXj8JHshcxFPunHJZ_8Cw04hrEmbuDtAEo9UighE

https://sdgs.nesdc.go.th/ยุทธศาสตร์ชาติกับ-sdgs/

https://www.nesdc.go.th/article_attach/article_file_20230307173518.pdf

https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/03/Y1xtargets_ความเชื่อมโยง-v3.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า