ค่าเดินทาง: สิ่งที่ระบบการศึกษามองข้าม?? – ทางออกในการลดภาระค่าเดินทางของนักเรียน/ผู้ปกครอง

เดชรัต สุขกำเนิด


แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดให้กลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่การเรียนรู้ของนักเรียนก็ยังไม่ปกติ จนเกิดเป็นคำที่เรียกว่า Learning Loss หรือการสูญเสียการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19


หลายคนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการชดเชยหรือเยียวยา Learning Loss แต่ปรากฏว่า การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ก็ยังเป็นแบบเดิมๆ จนแทบไม่สนใจปัญหา Learning Loss ทั้งหลายที่เกิดขึ้น อย่างจริงจัง

Think Forward Center ขอพาผู้อ่านลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพบกับการสูญเสียที่มีการพูดถึงน้อยมาก นั่นคือ “รถรับส่งนักเรียน”


ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่มิอาจมองข้าม

สำหรับชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูง ค่าเดินทางเป็นค่าใช้จ่ายเพียงค่าใช้จ่ายส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 15.3%) ของค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และครัวเรือนต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับเป็นค่าใช้จ่ายหลักด้านการศึกษาของครัวเรือนเหล่านี้

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่จนที่สุด 10% ของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง 2,500 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 37.9 ของค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด ส่วนครัวเรือนในต่างจังหวัดเช่น อำนาจเจริญ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง 3,579 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 40.5 ของค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด

ซึ่งสำหรับครัวเรือนทั้งสองกลุ่ม (จนที่สุด 10% ในกรุงเทพและต่างจังหวัด) ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากค่าเล่าเรียนเท่านั้น


โหมดในการเดินทางมาโรงเรียน

Think Forward Center ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคุณครูและนักเรียนที่โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พบว่า โหมดในการเดินทางมาโรงเรียนมี 3 โหมดใหญ่คือ นักเรียนขับรถมอเตอร์ไซค์มาเอง ผู้ปกครองขับรถ/จักรยานยนต์มาส่ง และนักเรียนเดินทางมากลับรถรับส่งนักเรียน

ในกรณีที่นักเรียนเดินทางมากับรถรับส่งนักเรียน จะเสียอัตราค่าบริการประมาณ 300-500 บาท/เดือน (ขึ้นกับระยะทาง) ซึ่งถ้าเทียบกับระยะเวลาในการเดินทางมาโรงเรียนประมาณ 9 เดือน ตัวเลขที่ออกมาประมาณ 2,700-4,500 บาท/ปี ก็ใกล้เคียงกับตัวเลขของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (จังหวัดอำนาจเจริญ = 3,579 บาท/ปี)


ผู้บริหารและคุณครูโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย อยากเชียร์ให้น้องๆ นักเรียนใช้รถรับส่งนักเรียน เพราะ (ก) ประหยัด (เทียบกับพ่อแม่มาส่งหรือขับรถมาเอง) (ข) ปลอดภัย (เทียบกับนักเรียนขับรถมอเตอร์ไซค์มาเอง) และ (ค) อัตราการมาโรงเรียนสาย/ขาดเรียนของนักเรียนที่มากับรถรับส่งนักเรียน จะต่ำมากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ขับรถมาเอง

โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จึงวางระบบรถรับส่งนักเรียนไว้อย่างดีมาก ตั้งแต่ (ก) จัดฝึกอบรมผู้ขับขี่/ผู้ดูแลรถรับส่งทุกภาคการศึกษา (ข) เชิญสำนักงานขนส่งจังหวัดมาตรวจสภาพรถให้พร้อมกันที่โรงเรียน (แทนที่ผู้ประกอบการจะต้องต่างคนต่างไปตรวจสภาพกันเอาเอง) (ค) จัดประตูและเส้นทางการเข้า/ออกโรงเรียนเป็นเส้นทางเฉพาะ และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับนักเรียน (อนึ่ง โรงเรียนฯ ก็เตรียมที่จอดจักรยาน/มอเตอร์ไซด์อย่างดีด้วยเช่นกัน) (ง) มีการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนที่มากับรถรับส่งนักเรียนทุกวัน (การันตีการมาเรียนทันเวลา 100%) (จ) เตรียมจุดจอดรอระหว่างวันสำหรับรถรับส่งนักเรียนอย่างดี และ (ฉ) มีคุณครูผู้รับผิดชอบภารกิจนี้แบบเต็มตัว ทั้งระดับรองผู้อำนวยการจนถึงคุณครูผู้ปฏิบัติงานประจำแต่ละวัน


รถรับส่งนักเรียนกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ทำให้ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ (ก) ผู้ประกอบการรถขนส่งอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงเช้าและเย็นจะมารับส่งนักเรียน (ข) ผู้ประกอบการที่ต้องมาส่งลูก/หลานอยู่แล้ว เลยรับส่งนักเรียนคนอื่นๆ มาด้วย ซึ่งสองกลุ่มแรกก็ได้รับผลกระทบแต่ไม่มากนัก แต่กลุ่มที่เดือดร้อนหนักมากคือ (ค) ผู้ประกอบการที่ให้บริการรถรับส่งนักเรียนเป็นหลักกลุ่มนี้เดือดร้อนมาก เพราะต้องหยุดให้บริการมากว่า 2 ปี และบางรายต้องยอมปล่อยให้รถรับส่งที่ผ่อนชำระอยู่หลุดมือไปแล้ว

จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 สองปีที่ผ่านมา ทำให้รถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัยลดลงจากประมาณ 80 คัน เหลือประมาณ 60 คัน ส่งผลกระทบให้นักเรียนในพื้นที่ที่ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการไป เดินทางมาโรงเรียนลำบากขึ้น และ/หรือผู้ปกครองก็มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น รวมถึง อาจส่งผลให้นักเรียนประสบอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซด์มากขึ้นด้วย


ผลกระทบซ้ำซ้อนจากราคาน้ำมันแพง


นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นในช่วงนี้ก็เหมือนกับเป็นพายุที่โหมกระหน่ำเข้ามา เพราะราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการกลับมาให้บริการรถรับส่งนักเรียน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนก็บอกว่า แม้ต้นทุนค่าน้ำมันจะแพงขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ผู้ประกอบการก็ไม่กล้าขึ้นอัตราค่าบริการ เพราะทราบดีว่า นักเรียนและผู้ปกครองก็อยู่ในสภาพลำบากเช่นกัน

ที่ผ่านมา สิ่งที่ช่วยให้ผู้ปกครองและผู้ประกอบการอยู่ได้คือ ระบบเครดิตการค้า กล่าวคือ ผู้ปกครองบางส่วนไม่เงินจ่ายค่าเดินทาง ก็ใช้วิธีผ่อนชำระเป็นรายภาคการศึกษา หรือบางคนก็ชำระเป็นข้าวสารเป็นรายปี ส่วนผู้ประกอบการก็ไปขอผ่อนชำระค่าน้ำมันจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันอีกทอดหนึ่ง เพื่อต่อชีวิตกันไปในสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้


เส้นทางที่ต้องฝ่าฝัน

โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย ได้พยายามพูดคุยและช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียน แต่งบประมาณที่ได้รับก็มีจำกัด แม้จะพยายามเจียดงบประมาณจากส่วนอื่นๆ มาช่วยก็ยังช่วยได้เพียงบางส่วน คุณครูจากโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ (บางส่วน) เล่าให้ Think Forward Center ฟังว่า หลายโรงเรียนได้พยายามจัดผ้าป่าการกุศล เพื่อนำเงินบริจาคมาช่วยในการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน

ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมในจังหวัดสุรินทร์ เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ปกครอง/ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนเป็นการเฉพาะหน้า (เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา) เพื่อให้รถรับส่งนักเรียนกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด



Think Forward Center เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบรถรับส่งนักเรียน คือหนึ่งในความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญเร่งด่วนในส่วนนี้เท่าที่ควร ดังจะเห็นว่ารัฐบาลมีการจัดสวัสดิการและงบประมาณเพื่อการบริการรับส่งนักเรียนน้อยมาก

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ Think Forward เสนอให้ดำเนินมาตรการ 3 มาตรการ ทันที

  • (ก) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับการรับรองจากโรงเรียน โดยการอุดหนุนราคาน้ำมันตามระยะทางที่ใช้จริง และมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (asset warehousing) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินทรัพย์ (รถยนต์) มาให้บริการนักเรียน
  • (ข) มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคนในการศึกษาระดับพื้นฐาน 2,000 บาท/คน (งบประมาณโดยรวม 20,000 ล้านบาท) ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองสามารถนำมาใช้จ่ายตามความจำเป็นของตน (ซึ่งอาจจะนอกเหนือจากการรับส่งนักเรียน)
  • (ค) งบประมาณสนับสนุนโรงเรียนในการพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน โดยเฉพาะการอำนวยการด้านความปลอดภัย รวมถึงการให้การรับรองผู้ประกอบการรับส่งนักเรียนที่เข้าร่วมกับโรงเรียนอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม

Think Forward Center เห็นว่า ในระยะยาว การพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียนที่ดี นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย/การเดินทางของผู้ปกครอง โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และครัวเรือนในต่างจังหวัดแล้ว ระบบรถรับส่งนักเรียนยังมีส่วนสำคัญในการช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนกับนักเรียนลงได้ด้วย รวมถึง ยังมีส่วนให้ปัญหาการขาดเรียนลดน้อยลงด้วย

นอกจากนี้ หากรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องยุบ/เลิก/ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อลดงบประมาณในการจัดการศึกษาและเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน การพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน และสวัสดิการรถรับส่งนักเรียนก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับนักเรียนในพื้นที่ที่จะโรงเรียนเหล่านั้นจะต้องถูกยุบ/เลิก/ควบรวมไป เพราะมิฉะนั้น การยุบโรงเรียนขนาดเล็กก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีรายได้น้อย

ขอขอบคุณโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย และโรงเรียนอื่นๆ ในอำเภอศรีขรภูมิ รวมถึงภาคประชาสังคมในจังหวัดสุรินทร์ที่กรุณาให้ข้อมูล/คำแนะนำแก่ Think Forward Center ในครั้งนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า