ความแตกต่าง VS ความเหลื่อมล้ำ คือเรื่องเดียวกันหรือเปล่า?

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


ที่ผ่านมา มักมีคนสอบถามและถกเถียงกันเป็นประจำว่า “ความเหลื่อมล้ำมันเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์ใช่หรือไม่?” เหมือนคนแต่ละคนย่อมต้องมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดา (หรือที่บางคนยกอุปมาว่า เหมือนกับนิ้วแต่ละนิ้วที่ไม่เท่ากัน)

คำถามเช่นนี้ มาจากความสับสนปนเป ระหว่าง คำว่า “ความแตกต่าง” กับ “ความเหลื่อมล้ำ” เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าใจความเหลื่อมล้ำดีขึ้น เราอาจจำเป็นต้องจำแนกความแตกต่างกับความเหลื่อมล้ำให้ได้เสียก่อน


กลไกของความเหลื่อมล้ำ

ผู้เขียนเห็นด้วยว่า “ความแตกต่าง” เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และผู้เขียนเองก็ชอบความแตกต่าง/หลากหลายของมนุษย์และวัฒนธรรมด้วย แต่ความแตกต่างทั้งหลายเหล่านั้นจะกลายเป็น “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมมนุษย์ได้ ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยทั้งหมด 3 มิติ ได้แก่


1. คุณค่า/สถานภาพที่แตกต่างกัน

หนึ่ง ความแตกต่างมักจะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ได้มีอะไรสูงกว่า/ต่ำกว่า ดีกว่า/แย่กว่าอะไร ทำได้/ทำไม่ได้ (เช่น ใส่เสื้อผ้าต่างกัน หน้าตาต่างกัน) แต่ความแตกต่างจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำเมื่อสังคมมนุษย์ใส่คุณค่า/สถานภาพทางสังคม เข้าไปในความแตกต่างเหล่านั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สีผิว ถ้าโดยทั่วไป สีผิวมนุษย์ย่อมแตกต่างกันตามลักษณะทางพันธุกรรมและวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มคน/คน ซึ่งหากมนุษย์ไม่รู้สึกว่า ผิวสีใดเหนือกว่าผิวสีใด สีผิวก็จะไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ แต่เมื่อมนุษย์ (บางส่วน) ใส่สถานภาพ/คุณค่าของตนเข้าไปในผิวสีต่างๆ (รวมถึง มีกลไกชักจูง/บังคับให้คนอื่นเชื่อตามหรือยอมตาม) ก็จะกลายเป็น “การเหยียดผิว” และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านอื่นๆ ตามมา

หรือประเด็นเรื่องเพศ มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างระหว่างเพศสภาพกันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เมื่อเพศสภาพที่ต่างกันกลับมี “โอกาส” ในการทำอะไรต่างๆ ในสังคมที่แตกต่างกัน ระหว่าง ชาย VS หญิง (ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน) หรือระหว่างเพศชาย/หญิง กับผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ความแตกต่างระหว่างเพศก็กลายเป็น “ความเหลื่อมล้ำทางเพศ” ตามมาเช่นกัน


2. คำถามในเชิงคุณธรรมในสังคม

สอง ความแตกต่างของมนุษย์จะไม่นำไปสู่ข้อถกเถียงเชิงคุณธรรม แต่ความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่ข้อถกเถียงเชิงคุณธรรมในสังคม ตัวอย่างเช่น นักกีฬาวิ่งเร็ว/เล่นกีฬาเก่ง ศิลปินวาดภาพได้งดงาม ล้วนเป็นความแตกต่าง แต่ความแตกต่างเหล่านี้ ไม่ได้มีผลต่อข้อโต้แย้งในเชิงคุณธรรม (ว่าทำไมคนเหล่านี้จึงวิ่งหรือวาดได้เหลื่อมล้ำกว่าคนอื่นๆ หรือทำไมฉันจึงวิ่งหรือวาดได้แย่กว่าเขา) ความแตกต่างเหล่านี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

ตรงกันข้าม ถ้าความแตกต่างเหล่านี้ เริ่มกระทบกับมิติเชิงคุณธรรม เช่น ทำไมคนบางกลุ่มได้รับ/ไม่ได้รับ “โอกาส” ทำไมคนบางกลุ่มจึงถูกเลือกปฏิบัติ ความแตกต่างเหล่านี้ (ที่เป็นต้นเหตุ) ก็จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทันที

ลองนึกภาพว่า ถ้าเราเจอคนหน้าตาดีคนหนึ่ง เรารู้ว่า หน้าตาเขาแตกต่างจากเรา แต่เรายังไม่รู้สึกว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ ตราบจนกระทั่ง เขาใช้หน้าตาของเขาในการได้รับโอกาสเหนือกว่าคนอื่นๆ (โดยมิได้เกี่ยวข้องกับความสามารด้านอื่นๆ ของเขา) เช่น เขาแซงคิวเราได้ หรือเขาได้คะแนนมากกว่าเรา เราจะรู้สึกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ขึ้นมาทันที เพราะเรารู้สึกว่า คนจัดคิวหรือผู้ให้คะแนน “ไม่ควร” ทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ดี มิติเชิงคุณธรรมในสังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามจากคนบางส่วนในสังคมที่ไม่อยากให้ความแตกต่างบางอย่างถูกตั้งคำถามในเชิงความเหลื่อมล้ำ คนกลุ่มนี้ก็จะต้องพยายามหาคำอธิบายถึงความแตกต่างเหล่านั้น เพื่อมิให้เกิดการตั้งคำถามในเชิงคุณธรรม เช่น พยายามอธิบายว่า ที่คนเราเกิดมาต่างกันและมีโอกาสต่างกัน เป็นเรื่องของวาสนา และ/หรือบุญกรรมแต่ปางก่อน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมิให้ความแตกต่างเหล่านี้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมนั้น นั่นเอง


3. หลีกเลี่ยงได้แต่ไม่ยอมหลีกเลี่ยง

สาม ความแตกต่างจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ เมื่อจริงๆ แล้ว ความแตกต่างเหล่านั้น “สามารถหลีกเลี่ยงได้” หรือ “สามารถลดทอนผลจากความแตกต่างนั้น” ลงมาได้ แต่สังคมนั้น หรือผู้ได้เปรียบในสังคมนั้นกลับไม่ยอมหลีกเลี่ยงหรือลดความได้เปรียบ/เสียเปรียบนั้นลงมา

ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุ (เช่น ผู้เขียน) รู้ว่าตนเองมีกำลังทางกายน้อยลง แตกต่างจากคนหนุ่มสาว แต่ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่า ความแตกต่างของกำลังทางกายคือ ความเหลื่อมล้ำ (เพราะมันหลีกเลี่ยงได้ยาก) แต่ผู้สูงอายุจะรู้สึก “เหลื่อมล้ำ” เมื่อการข้ามถนนในบางประเทศต้องใช้สะพานลอยที่สูงชันเท่านั้นจึงจะปลอดภัย ในขณะที่ผู้สูงอายุมีความยากลำบากในการใช้สะพานลอย

จะเห็นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ถูกโฟกัสที่ “ทำไมฉันจึงมีกำลังน้อย” แต่ทำไมจึงมีแต่สะพานลอยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

เช่นเดียวกับผู้พิการที่เข้าใจสภาพข้อจำกัด ซึ่งเป็นความแตกต่างของตนดี แต่ผู้พิการจะรู้สึกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” เมื่อรัฐหรือสังคมไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการทำให้ผลลัพธ์ของความแตกต่างดังกล่าวลดลง เช่น ไม่ยอมมีลิฟต์ที่เพียงพอสำหรับคนพิการ เส้นทางเดินเท้าที่ปลอดภัยสำหรับคนพิการ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น แม้ว่าความแตกต่างจะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เท่ากัน/เหมือนกันระหว่างมนุษย์อยู่แล้ว แต่ความแตกต่างจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำก็ต่อเมื่อ (ก) มีความพยายามสร้างการกดทับหรือสถานภาพที่เหนือกว่าเข้าไปในความแตกต่างดังกล่าว จน (ข) เกิดเป็นคำถามในเชิงคุณธรรมภายในสังคม (ว่าควรทำ/ควรปล่อยให้เป็นแบบนั้นหรือไม่? หรือทำไมต้องเป็นเช่นนั้น) และ/หรือ (ค) ไม่มีความพยายามมากพอในการลดผลลัพธ์/ผลกระทบของความแตกต่างเหล่านั้นลงมา


ความเหลื่อมล้ำทางรายได้/ทรัพย์สิน

แน่นอนว่า ในสังคมทุนนิยม ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ ความแตกต่างกันของรายได้/ทรัพย์สิน หลายคนก็พยายามจะแย้งว่า “อย่างไรก็ตาม มนุษย์ (หรือสมาชิกในสังคม) แต่ละคนก็คงมีรายได้ไม่เท่ากัน” ซึ่งนั่นก็น่าจะจริงอยู่ แต่ทำไมความแตกต่างกันของรายได้/ทรัพย์สินจึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในสังคมปัจจุบัน เราลองเอามิติ 3 ประการนี้มาวิเคราะห์ดู

หนึ่ง แน่นอนว่า คนที่มีรายได้/ทรัพย์สินมากกว่า (ขอเรียกสั้นๆว่า คนรวย) มีสถานภาพสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า และหลายครั้งในบางประเทศ ก็มีอภิสิทธิ์สูงกว่าในการได้รับโอกาส/บริการในสังคม (เช่น ได้รับยา/วัคซีน/เตียงก่อนในสถานการณ์โควิด-19) หรือแม้กระทั่ง ใช้อภิสิทธิ์จากความรวยของตนในการช่วยให้ตนสามารถพ้นจากการได้รับโทษที่ตนเคยกระทำผิดมา

สอง แน่นอนว่า การได้รับอภิสิทธิ์เหล่านั้นย่อมถูกตั้งคำถามในเชิงคุณธรรม/จริยธรรมในสังคม แต่ยิ่งไปกว่านั้น สังคมยังตั้งคำถามกับ “ความเหลื่อมล้ำ” ในลักษณะที่ทำไมสมาชิกบางส่วนในสังคมที่เป็นคนจน จึงต้องเสียโอกาสของตนไป เพียงเพราะตนมีรายได้น้อยกว่า หรือเกิดมาในครอบครัวที่จนกว่า 

ข้อโต้แย้งในย่อหน้าก็นำมาสู่มิติสุดท้ายก็คือ จริงๆ แล้ว ผลลัพธ์/ผลกระทบของความแตกต่างกันของรายได้สามารถทำให้ลดลงได้ หากเรามีระบบสวัสดิการและระบบกระจายความมั่งคั่งที่ดีพอ เพราะฉะนั้น เราสามารถหลีกเลี่ยงผลร้ายที่ตามมาจากความแตกต่างกันของรายได้/ทรัพย์สินลงได้ แต่ถ้าสังคมเราไม่พยายามทำมาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง ก็ไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เพราะจริงๆ มันหลีกเลี่ยงได้ (หรือทำให้ลดลงได้) เพียงแต่เรายังไม่พยายามมากพอ

เพราะฉะนั้น การพยายามลด “ความเหลื่อมล้ำ” ทางรายได้/ทรัพย์สิน จึงมิใช่การทำให้รายได้ทุกคนเท่ากัน (แบบเป๊ะๆ) แต่เป็นการพยายามลด/หลีกเลี่ยงผลกระทบ (ทางลบ) จากความแตกต่างกันของรายได้ มิให้ส่งผลเสียหายต่อผู้คนในสังคม จนเกิดเป็นการเสียโอกาส เสียศักยภาพ หรือกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ และกลายเป็นปัญหาเชิงจริยธรรม/คุณธรรมของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม


หมายเหตุ: ผมประยุกต์แนวคิดนี้มาจากงานเขียนของคุณ Goeran Therborn แต่ปรับการอธิบายให้เข้ากับบริบท/ข้อถกเถียงในสังคมไทย ครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า