เกิดมาจนแล้วจะจนต่อไป?? การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของประเทศไทยในภาพรวมของโลก

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


หลายคนมักพูดว่า ผู้คนเกิดมาก็ไม่เท่ากัน แต่สังคมที่ดีก็จะเอื้อโอกาสอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้มีโอกาสไต่ลำดับชั้นหรือลำดับทางสถานะในสังคมให้สูงขึ้นได้ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่กับชาติกำเนิดหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อแม่

หากมองจากมุมของคนที่อยู่ด้านบนของสังคม (หรือเรียกว่า คนรวย) การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ก็อาจไม่ใช่แนวคิด/ตัวชี้วัดที่สำคัญอะไรนัก แต่หากมองจากผู้ที่อยู่ในครึ่งล่างของสังคม (หรือผู้มีรายได้น้อย) การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ก็คือ การที่เขาจะมีโอกาสที่เขา/ครอบครัวได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (หรือที่ภาษาพูดเรียกว่า ได้ลืมตาอ้าปาก) และไม่อยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าต่อไป (หรือภาษาพูดเรียกว่า ไม่ต่ำต้อย) เพราะฉะนั้น โอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นในสังคมจึงมีความสำคัญมากๆ สำหรับผู้คนจำนวนมากของสังคม โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวร่ำรวยอะไร


ดัชนีวัดการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมโลก 

World Economic Forum ได้จัดทำ The Global Social Mobility Index 2020 (ภาพที่ 1) ขึ้นมาเพื่อประเมิน โอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของประเทศต่างๆ 82 ประเทศ (หรือระบบเศรษฐกิจ) โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 10 องค์ประกอบคือ โอกาสทางสุขภาพ การเข้าถึงระบบการศึกษา คุณภาพของระบบการศึกษา โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเข้าถึงเทคโนโลยี โอกาสในการทำงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม สภาพแวดล้อมการทำงาน การคุ้มครองทางสังคม และมิติเชิงสถาบันที่ครอบคลุม ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของภาครัฐ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1 รายงาน The Global Social Mobility Index 2020 ของ World Economic Forum ดาวน์โหลดอ่านได้ที่ https://www.weforum.org/reports/global-social-mobility-index-2020-why-economies-benefit-from-fixing-inequality/ 

ภาพที่ 2 องค์ประกอบทั้ง 10 องค์ประกอบของ Social Mobility Index
ที่มา: World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020


ก่อนที่จะมาดูผลการจัดอันดับ World Economic Forum เราจะฉายภาพให้ทุกท่านดูว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงกับสังคมที่โอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมจำกัด มักไปควบคู่กัน (ภาพที่ 3) หรือเรียกว่า Great Gatsby Curve (ตามชื่อนิยายชื่อดังในสหรัฐ) แปลว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็มักมีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสควบคู่ไปด้วย หรืออาจกล่าวว่า เกิดมาจน (ส่วนใหญ่) ก็จำต้องจนต่อไป

ภาพที่ 3 ความสัมพันธ์ทางลบระหว่างดัชนีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสกับดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของแต่ละประเทศ
ที่มา: World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020


รายงานฉบับนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า สังคมที่มีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นในสังคมจำกัด มักมีความตึงเครียดในสังคมตามมา เพราะผู้คนจำนวนมาก ไม่อาจเลื่อนสถานะทางสังคมของตนได้ ดังแสดงในภาพที่ 4 ที่เห็นได้ชัดว่า สังคมที่มีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นได้จำกัดจะมีดัชนีความสุขน้อยกว่า ในทางตรงกันข้าม สังคมที่ผู้คนมีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นได้มากกว่า ก็เป็นสังคมที่ผู้คนมีความสุข หรือความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมยังหมายถึง การที่ผู้คนรุ่นใหม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพและถ้วนหน้า โดยไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อแม่ ดังนั้น ในระยะยาว สังคมที่สามารถเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ง่ายจึงกลายเป็นสังคม (หรือระบบเศรษฐกิจ) ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่านั่นเอง

ไม่มีคำอธิบาย

ภาพที่ 4 ความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมกับดัชนีความสุขโลกของแต่ละประเทศ
ที่มา: World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020


อันดับของดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม

คราวนี้มาดูผลการจัดอันดับกันบ้าง ปรากฎว่า จาก 82 ประเทศที่ทำการจัดอันดับ 5 ประเทศแรกที่มีดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้สูงที่สุดล้วนเป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก (หรือที่คนไทยเรียก สแกนดิเนเวีย) ทั้งสิ้น โดยมี เดนมาร์ก เป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และไอซแลนด์

สำหรับประเทศที่คนไทยคุ้นเคยกันมีอันดับใดบ้าง ผมขอยกเป็นบางประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 27) สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 21) เยอรมนี (อันดับที่ 11) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 15) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 25) จีน (อันดับที่ 45)

เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ รายงานดังกล่าวได้ชี้ว่า สำหรับเด็กที่เกิดในเดนมาร์กหรือฟินแลนด์ (อันดับ 1 และ อันดับ 3) ผลของความแตกต่างกันของรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่จะมีผลต่อความแตกต่างกันของรายได้ของคนรุ่นลูกเพียงแค่ 15% เท่านั้น ในขณะที่เด็กที่เกิดในสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 27) จะได้รับอิทธิพลจากรายได้ของพ่อแม่ถึง 50% และเด็กที่เกิดในจีน (อันดับที่ 45) จะได้รับอิทธิพลจากรายได้ของพ่อแม่ถึง 60%

ส่วนประเทศไทยของเราอยู่อันดับที่ 55 จาก 82 ประเทศ ถือเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 20) มาเลเซีย (อันดับที่ 43) และเวียดนาม (อันดับที่ 50) ส่วนที่มีอันดับด้อยกว่าไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 61) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 67) และลาว (อันดับที่ 72)

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีค่าคะแนนการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมเท่ากับ 55.4 คะแนน จาก 100 คะแนน (อันดับ 1 เดนมาร์ก เท่ากับ 85.2 คะแนน และอันดับ 1 ในอาเซียน สิงคโปร์ เท่ากับ 74.6 คะแนน)


ข้อจำกัดของการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของไทย

ถ้าพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบ (ภาพที่ 5) จะพบว่า องค์ประกอบที่ไทยมีค่าคะแนนและอันดับดีที่สุด คือ โอกาสในการทำงาน (80 คะแนน จาก 100 คะแนน เป็นอันดับที่ 14) ซึ่งมาจากอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างต่ำนั่นเอง

ส่วนองค์ประกอบที่ไทยทำได้แย่ที่สุดคือ การคุ้มครองทางสังคม ไทยได้คะแนน 32 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) ถือเป็นอันดับที่ 69 จาก 82 ประเทศ โดยหากเจาะลงไปในตัวชี้วัดบางตัวของการคุ้มครองทางสังคม เราจะพบว่า สัดส่วนงบประมาณในการคุ้มครองทางสังคมของไทยเท่ากับ 3.7% ของ GDP ในขณะที่เวียดนามมีงบประมาณเท่ากับ 6.3% ของ GDP และเดนมาร์กซึ่งเป็นอันดับหนึ่งขององค์ประกอบนี้ มีงบประมาณเท่ากับ 28.8% ของ GDP

อันดับที่ประเทศไทยด้อยรองลงมาคือ (ก) คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งไทยได้คะแนนแค่ 44.4 มาเป็นอันดับที่ 62 จาก 82 ประเทศ โดยเวียดนามอยู่อันดับที่ 28 (ข) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไทยได้ 47.7 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 54 และ (ค) กลไกสถาบันที่ครอบคลุม (ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของภาครัฐ) ไทยได้ 48.1 มาเป็นอันดับที่ 69

ภาพที่ 5 คะแนนดัชนีการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของประเทศไทยในแต่ละองค์ประกอบ
ที่มา: World Economic Forum, The Global Social Mobility Index 2020


จากข้อมูลทั้งหมดในรายงานของ World Economic Forum นี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอื้อโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมไม่มากนัก หากเทียบกับจีน (ซึ่งมีอันดับดีกว่าไทยเล็กน้อย) ก็แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของฐานะทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อแม่ยังมีอิทธิพลต่อรายได้ของลูกมากกว่า 60% เลยทีเดียว ซึ่งนั้นย่อมเป็นแรงกดดันในสังคมไทย และเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย


แนวทางการสนับสนุนการเลื่อนลำดับชั้นในสังคม

World Economic Forum ย้ำว่า ประเทศที่มีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมน้อยถือเป็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยในรายงานดังกล่าวได้ประมาณการณว่า ถ้าประเทศสามารถเพิ่มคะแนนการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ 10 คะแนน (จาก 100 คะแนน) ก็จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นถึง 4.41% ในปี ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงผลประโยชน์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นด้วย

หากเทียบ 10 คะแนนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวกับประเทศไทย ก็คือ ไทยต้องมีคะแนน 65.4 คะแนน ซึ่งเท่ากับอันดับที่ 37 หรือเท่ากับประเทศฮังการีนั่นเอง

หรือถ้าเทียบแบบง่ายๆ ให้ประเทศไทยมีคะแนนเท่ากับประเทศมาเลเซียที่ 62.0 คะแนน (หรือมากกว่าไทย 6.6 คะแนน) ประเทศไทยก็จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2.9% ในปีค.ศ. 2030

World Economic Forum ให้ข้อสังเกตว่า ประเทศที่เป็นทุนนิยมแบบเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน (หรือ stakeholder capitalism) จะมีโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นสูงกว่าประเทศที่เป็นทุนนิยมของผู้ถือหุ้น (หรือ shareholder capitalism) และประเทศที่เป็นทุนนิยมโดยรัฐบาล (หรือ State capitalism)

รายงานฉบับนี้ แนะนำว่า มาตรการทางการคลังสำคัญมากสำหรับการเพิ่มโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม โดยงบประมาณที่ใช้ในการเพิ่มโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมควรมาจากภาษี โดยควรเน้นพัฒนาระบบภาษีรายได้ที่มีอัตราก้าวหน้า และการพัฒนาระบบภาษีทรัพย์สิน/ความมั่งคั่ง

ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบการศึกษาถือเป็นกลไกที่สำคัญมากในการสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับคนรุ่นต่อไป (หรือเรียกว่า equalizer) แต่หากการเข้าถึงระบบการศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำกัน หรือคุณภาพทางการศึกษายังมีความแตกต่างกัน การศึกษาจะยิ่งเป็นกลไกที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ต่อไป และเป็นตัวจำกัดโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมของคนในประเทศนั้นด้วย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความยากลำบากสำหรับครัวเรือนที่เป็นแรงงาน เพราะสัดส่วนของมูลค่าที่แรงงานได้รับต่อมูลค่าเพิ่มทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจกำลังลดลงเรื่อยๆ ตามการทดแทนและการพลิกโฉมของเทคโนโลยี และความต้องแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงมากขึ้น

เพราะฉะนั้น การสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม และระบบการจ้างงานที่เป็นธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างโอกาสสำหรับการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม หรือหากจะกล่าวให้ชัด อาจบอกว่า เป็นกลไกในการป้องกันการลื่นไถลในระหว่างการไต่ระดับชั้นทางสังคมก็ได้

สำหรับประเทศไทย รายงาน Global Social Mobility Index 2020 ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยยังล้าหลังกว่าเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและเวียดนาม ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของภาครัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมสำหรับคนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและเศรษฐกิจไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า