แรกเกิดไม่แรกรับ : สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับแม่และเด็กต้องโอบรับทั้งครอบครัว

นวนันท์ คลานุวัฒน์


ย้อนไปเมื่อปี 2562 การเลือกตั้งครั้งนั้น หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ นโยบายสวัสดิการสำหรับแม่และเด็ก โดยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 8 ปี และอุดหนุนให้คุณแม่และครอบครัวสามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อวางรากฐานและส่งเสริมพัฒนาการของชีวิตมนุษย์ โดยครั้งนั้นพรรคที่มีข้อเสนอนโยบายสวัสดิการแม่และเด็ก มีดังนี้


  • พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวนโยบาย “เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน” และให้ “เบี้ยเด็กเข้มแข็ง” เมื่อแรกเกิดจะได้เงินทันที 5,000 บาท เป็นค่าคลอดบุตร และได้รับต่อไปเดือนละ 1,000 บาท ไปจนถึงอายุ 8 ปี รวมแล้วเด็ก 1 คน จะได้เงิน 1 แสนบาท ส่งเสริมให้มีการเรียนฟรี ตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นม.3 โดยใช้งบประมาณในปีแรกราว 12,000 ล้านบาทในปีแรก ส่งเสริมให้มีอาหารเช้าและกลางวันฟรี โดยใช้เงินในปีแรก 27,000 ล้านบาท/ปี และนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก โดยใช้เงินในปีแรก 15,000 ล้านบาท/ปี รวมเป็นงบประมาณในปีแรกอยู่ที่ 54,000 ล้านบาท/ปี ก่อนจะเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาทในทุก ๆ ปี จนถึงปีที่ 8 แล้วจึงเริ่มลดลง  
  • พรรคพลังประชารัฐ ออกนโยบาย “มารดาประชารัฐ” เน้นไปที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไปจนคลอด นาน 9 เดือน เดือนละ 3,000 บาท และจะให้ค่าคลอด 10,000 บาท มีค่าดูแลเลี้ยงดูลูกน้อยอีกเดือนละ 2,000 บาท ต่อเนื่องจนอายุ 6 ปี รวมแล้วเด็ก 1 คน จะได้รับเงินอุดหนุน 181,000 บาท รวมแล้วต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินอุดหนุนเด็กก้อนเดิมที่มีอยู่ เช่น งบอุดหนุนเด็กของ พม. ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ส่วนที่ยังขาดจะไปเอามาจากงบลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน
  • พรรคอนาคตใหม่ มีนโยบาย “สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร” โดยเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี จะได้รับค่าดูแลเดือนละ 1,200 บาท เท่ากับปีเด็ก 1 คน จะได้รับเงิน 14,400 บาท และรับต่อเนื่องรวมเป็นเงินคนละ 86,400 บาท ทางพรรคระบุว่างบประมาณจะมาจากการลดงบประมาณด้านอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น


เงินอุดหนุนเด็กแบบมีเงื่อนไข?

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังใช้นโยบายสวัสดิการสำหรับเด็ก ภายใต้โครงการ ‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด’ โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเงินเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เป็นจำนวนเงินเดือนละ 600 บาท/คน เฉพาะครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งคิดเป็นเงิน 16,659 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 0.5% ของงบประมาณไทยเท่านั้น

แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีแม่และเด็กอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการนี้ เนื่องจากติดหล่มกระบวนการพิสูจน์ความจน เพราะหลังจากดำเนินโครงการไปได้ระยะหนึ่ง รัฐได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มโดยนำโครงการนี้เข้าร่วมกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน โดยผู้ที่รับสิทธิได้จะต้องมีคุณสมบัติหลัก ๆ ที่เป็นปัญหาคือ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่มีรถยนต์หรือบัตรเครดิต มีทรัพย์สินทางการเงิน (เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ฯลฯ) ไม่เกิน 100,000 บาท 

เมื่อความยากจนถูกใช้เป็นเกณฑ์แล้ว สำหรับคนที่มีรายได้น้อย พวกเขาก็ยังไม่ได้รับสวัสดิการนี้อย่างถ้วนหน้าอยู่ดี เพราะขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งกระบวนการยืนยันพิสูจน์ตัวตนและส่งเอกสารก็ยุ่งยากซับซ้อนชวนให้ตั้งคำถามว่า นี่คือสวัสดิการที่ถ้วนหน้าสำหรับประชาชนจริงหรือไม่?

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ภาวะเด็กเกิดน้อย มีผลให้โครงสร้างสังคมไทยเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว ผลศึกษาพบว่า จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 6 แสนคนเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญไม่ได้เกิดจากค่านิยมอยู่เป็นโสดเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะความกังวลด้านฐานะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

จากการสำรวจแนวโน้มความต้องการมีลูกที่ลดลงของคนไทย เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยคนส่วนใหญ่กังวลในความไม่มั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงชะลอการมีบุตรลง หรือไม่ต้องการมีเลย ขณะที่ผลศึกษาของ TDRI พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ตกอยู่ที่ประมาณ 3,373 บาท/เดือนเลยทีเดียว ทำให้ครอบครัวที่ดูแลเด็กแรกเกิดยังมีปัญหาค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อการดูแลเด็กให้มีคุณภาพได้ ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้เด็กๆ สูญเสียโอกาสเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เพราะค่าเสียโอกาสนั้นราคาแพงเกินไป

แม้รัฐจะมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท/เดือน ที่ให้มาตั้งแต่ปี 2559 ก็ยังไม่เพียงพอกับหลายครอบครัว เพราะเงินจำนวนนี้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่ครอบครัวหนึ่งจะต้องจ่ายในการดูแลเด็กแรกเกิด รัฐจึงควรพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง แต่หากเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 1,200-1,500 บาท/เดือน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก ให้กับครอบครัวที่ยากจนได้ถึง 48-61% 

Think Forward Center ชวนคิดภาพสวัสดิการและนโยบายในอนาคตที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ เติบโต และพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านข้อเสนอทางนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยมีหลักการของระบบสวัสดิการของเด็กและเยาวชน ดังนี้


เงินสนับสนุนการเรียนรู้ตามช่วงวัย

สถิติการเกิดของคนไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดลดลงปีละกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งปี 2562 มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 6 แสนคน ปี 2563 เหลือ 5.8 แสนคน และปี 2564 เหลือเพียง 5.4 แสนคน ส่งผลให้โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจากสังคมเยาว์วัย ไปเป็นสังคมของผู้สูงอายุ และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีประชากรเด็กเพียง 16-17% ของประชากรทั้งหมด 

ตอนนี้เด็ก ๆ หลายคนกำลังพบเจอกับวิกฤตจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันเนื่องมาจากหลายครอบครัว รวมถึงประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบการติดตามข้อมูลพัฒนาการของเยาวชนแต่ละคน เข้ากับการพัฒนาระบบเพื่อดำเนินการตามนโยบายให้ประชาชนได้รับสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไม่ตกหล่น

ข้อเสนอเชิงนโยบายข้างต้นนี้ เน้นการให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ให้เด็กไทยทุกคนได้รับสวัสดิการเหมือนกัน โดยเงินอุดหนุนที่เด็ก ๆ ควรได้รับมีทั้งรูปแบบเงินสด และเงินออมในบัญชีที่พ่อแม่สามารถเก็บออมไว้ในระบบร่วมทุนของภาครัฐ หรือนำไปแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่แต่ละคนต้องการได้ โดยรายละเอียดของเงินอุดหนุนที่แตกต่างกันตามช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 22 ปี รวมเป็นงบประมาณทั้งหมด 240,000 บาท/คน แบ่งช่วงวัยออกเป็น 3 ช่วงดังนี้


  1. ช่วงเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี ได้รับเงินอุดหนุน 1,200/เดือน รวมทั้งหมด 86,400 บาท/คน
  2. ช่วงเด็กโต อายุ 7-14 ปี ได้รับเงินอุดหนุน 800 บาท/เดือน รวมทั้งหมด 76,800 บาท/คน
  3. ช่วงของเยาชน อายุ15-22 ปี ได้รับเงินอุดหนุน 800 บาท/เดือน รวมทั้งหมด 76,800 บาท/คน

** การนำเสนอครั้งนี้จะยังไม่กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษา


สวัสดิการในการดูแลครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร

ในระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดา สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกๆ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพดีและแข็งแรงเช่นกัน ดังนั้น นอกจากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อดูแลครรภ์แล้ว รัฐบาลจะต้องสนับสนุนสิทธิเพิ่มเติมในการดูแลครรภ์ เช่น วัคซีนบาดทะยัก ธาตุเหล็ก+โฟลิก และการคลอดบุตรเข้ากับระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหลักประกันสังคม รวมถึงขยายสิทธิการฝากครรภ์นอกพื้นที่ตามทะเบียนบ้านให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคน และงบสนับสนุนการตั้งครรภ์และการลาคลอดบุตรสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม 10,000 บาท/คน และเพิ่มสิทธิในการลาคลอดของพ่อและแม่ รวมกันเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน 

โดยการลาคลอด 6 เดือนนี้ อาจส่งผลให้แรงงานผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างมากขึ้น เพราะนายจ้างมักรู้สึกว่า หากจ้างแรงงานผู้หญิงแล้วแรงงานเกิดตั้งครรภ์ เมื่อมีการลาคลอดก็จะต้องใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะกลับมาทำงานตามปกติได้ ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ จึงขอใช้ระบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้แรงงานในระบบได้รับความเป็นธรรมและเลือกใช้สิทธิได้มากขึ้น โดยให้สิทธิของพ่อและแม่คนละ 3 เดือน และสามารถโอนสิทธิวันลาหยุดระหว่างกันได้

ยกตัวอย่าง ในกรณีที่คุณแม่ต้องการลาคลอดมากกว่า 3 เดือน ก็สามารถใช้สิทธิลาคลอด 3 เดือน บวกกับวันลาหยุดตามสิทธิที่คุณพ่อคงเหลือ เพื่อให้คุณแม่สามารถมีวันหยุดเพิ่มมากขึ้นได้ หรือถ้าคุณแม่อยากให้คุณพ่อเป็นผู้ใช้สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรมากกว่า 3 เดือน ก็สามารถใช้สิทธิวันลาของคุณแม่ได้เช่นกัน โดยอาจจะให้คุณแม่ลาคลอด 2 เดือน แต่ให้คุณพ่อลา 4 เดือน เป็นต้น การปรับเปลี่ยนวันลาให้ยืดหยุ่นและรองรับการมีบุตรได้เช่นนี้ จะทำให้การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานผู้หญิงลดลง และทำให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างก็มีเวลาอยู่ร่วมกับลูกน้อยและครอบครัวได้มากขึ้น


การเลี้ยงดูเด็กเล็กในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก

เมื่อคุณพ่อและคุณแม่ใช้สิทธิลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรครบ 6 เดือนแล้ว เพื่อให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติในการทำงาน การมีศูนย์ดูแลเด็กเล็ก หรือ Daycare ที่ตอบโจทย์ทั้งการเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กเล็กจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบัน ระบบของศูนย์เด็กเล็กภายในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 บริการเลี้ยงเด็กกลางวันในครอบครัว : บริการรับเลี้ยงเด็กในบ้านและรับเลี้ยงเด็กเป็นกลุ่ม มีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเลี้ยงเด็กในครอบครัว คือ ฝากกับคนบ้าน โดยรับเลี้ยงเด็กเป็นกลุ่ม ๆ ที่มักจะไม่จำกัดอายุของเด็กที่รับเลี้ยง

รูปแบบที่ 2 สถานรับเลี้ยงเด็ก : สถานบริการรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ดำเนินการโดยภาครัฐ เอกชน ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกระทรวงพัฒนาสังคม โดยศูนย์ที่อยู่ในความดูแลของกรมอนามัย มักจะอนุญาติให้รับเลี้ยงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีได้

รูปแบบที่ 3 การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา : บริการพัฒนาเด็กในระบบโรงเรียน โดยจัดเป็นชั้นอนุบาล 1-3 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กตั้งแต่อายุ 3-5 ปี เช่น โรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรับตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป (บางแห่งอาจจะรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป จนถึง 6 ปี)

นโยบายปี 2562 กำหนดให้โรงเรียน สพฐ. งดรับอนุบาล 1 (3 ปี) ให้รับได้เฉพาะเด็กชั้นอนุบาล 2 (4 ปี) และอนุบาล 3 (5 ปี) ยกเว้นในพื้นที่ที่ไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของ อปท. และ สช. เว้นแต่ในพื้นที่ไม่มี ร.ร.ท้องถิ่น-เอกชน และการรับเด็กเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 (3 ปี) เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

ศูนย์เด็กเล็ก สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับเด็กเล็กที่อายุ 3-5 ปี (ดูจากคุณลักษณะตามวัยและพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา) และในบางแห่งรับที่อายุ 2-5 ปี 

Think Forward Center ขอเสนอให้ขยายการให้บริการดูแลเด็กเล็กให้ครอบคลุมตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี เพราะปัจจุบันครอบคลุม 2-5 ปี เพิ่มงบประมาณสำหรับการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ ทปอ. เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการที่เพิ่มขึ้นงบประมาณพัฒนาโภชนาการเพิ่มขึ้น 9 บาท/คน/วัน ผ่านคูปองศูนย์เด็กเลือก 6 เดือน ถึง 4 ปี จำนวน 1,500 บาท/เดือน และสามารถนำคูปองไปใช้กับศูนย์เด็กเล็กของเอกชนได้ด้วย


การร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ

ปัจจุบันรัฐบาลให้แรงจูงใจกับบริษัทหรือนายจ้างโดยการลดภาษี แต่การลดภาษีนี้เหมือนเป็นการลดภาษีส่วนกำไรของบริษัทลง แต่เงินลงทุนในการจัดตั้งระบบดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการคือ เงินทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งภาษีที่ลดไปช่วยผ่อนแรงให้เหล่าผู้ลงทุนได้เพียงนิดเดียว เนื่องจากต้องทำงานให้ได้กำไรก่อนจึงจะได้ลดภาษี แต่ส่วนที่ลงทุนไปไม่ได้เกิดการเติมเต็ม 

วิธีการที่จะช่วยผู้ประกอบการได้คือ รัฐบาลจะร่วมลงทุนในอัตราส่วน 30% ของเงินลงทุน และให้สถานประกอบการหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยกำหนดให้มาตรฐานของศูนย์เด็กเล็กที่สถานประกอบการลงทุนเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรืออาจทำร่วมกับ อปท. โดยให้หน่วยงานเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยง และมีการพัฒนาระบบศูนย์ดูแลเด็กเล็กรายย่อยที่ดูแลเด็ก 2-4 ราย โดยพ่อ แม่ หรือพี่เลี้ยงเด็กเล็กจะต้องได้รับการอบรมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้


ระบบการออมเพื่อการศึกษาในระดับสูงและการประกอบอาชีพ

ระบบการออมและระบบการร่วมลงทุนของรัฐบาล เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์เรื่องค่าเล่าเรียนและเงินทุนสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา โดยแบ่งการออมเป็น 3 ช่วงอายุ ดังนี้

  • เด็ก อายุ 0-9 ปี ออม 300 บาท/เดือน (จากเงินอุดหนุน 800-1,200 บาท/เดือน)
  • เด็ก อายุ 10-14 ปี ออม 500 บาท/เดือน (จากเงินอุดหนุน 800 บาท/เดือน)
  • เด็ก อายุ 15-18 ปี ออม 500-800 บาท/เดือน (จากเงินอุดหนุน 800 บาท/เดือน)


ในขั้นต้น เมื่อรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กไปจนกระทั่งอายุ 22 ปีเงินอุดหนุนในช่วงอายุ 18 ปี จนถึงการศึกษาระดับปริญญาปี คือเงินจำนวนประมาณ 800 บาท/เดือน 

เมื่อคำนวณดูแล้วเงินที่ได้ต่อเดือนนี้ไม่เพียงพอสำหรับเรียนปริญญาตรี แต่ในวงเงินที่ให้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหลังก่อนปริญญาตรีจะรวมแล้วได้ราว 2 แสนกว่าบาท ถ้าหากมีการวางแผนที่จะออม และทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นโดยกองทุน จากอัตราดอกเบี้ย 4% เงินจำนวนนี้ก็จะเพียงพอให้สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนปริญญาตรีได้ โดยออมเงินประมาณครึ่งหนึ่งของเงินอุดหนุนที่ได้รับ 

การศึกษาในระดับสูงขึ้นไป หากผู้เรียนเลือกเรียนอาชีวศึกษา รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนให้เรียนฟรี และสหกิจศึกษา รัฐจะร่วมสมทบ 7,500 บาท/เดือน ถ้าไม่เลือกเรียนปริญญาตรี รวมถึงเรียนอาชีวศึกษา ผู้เรียนก็สามารถถอนเงินออมได้ เช่น 10,000 บาท สำหรับเด็กที่เกิดในปี 2566 และมีการออม 300 บาท/เดือน

สำหรับกรณีที่ไม่ได้เลือกที่จะออม หรือออมไม่ทัน เช่น เริ่มออมเมื่อเด็กเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมปลาย ในกรณีแบบนี้จะเปลี่ยนระบบกยศ.เป็นระบบร่วมลงทุน

แรกเริ่มเดิมที ประเทศไทยมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถือเป็นเงินกู้ที่ไม่ว่ากู้เงินมาแล้วจะเรียนสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจะมีรายได้ตามที่หวังหรือไม่ก็ตาม ผู้กู้ก็ต้องคืนเงินเพราะเป็นเงินกู้ แต่ในปัจจุบันประชาชนที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ของ กยศ. ประมาณ 3.6 ล้านราย พบว่ามีจำนวนประชาชนที่ผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2.3 ล้านราย 

เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา Think Forward Center ขอเสนอให้รัฐบาลหันมาเปลี่ยนเป็นระบบร่วมลงทุน เรียกว่า Income share agreement ข้อตกลงส่วนแบ่งรายได้เป็นการตกลงว่าเมื่อหลังเรียนจบ มีงานทำอย่างมั่นคงจนมีรายได้แล้ว ผู้เรียนจะชำระคือภาครัฐเมื่อมีรายได้เท่านั้น โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดมาให้รัฐบาล

ระบบนี้มีความหมายถึงการที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในกรณีที่เรียนไปแล้วไม่เกิดรายได้อย่างที่เคยคิดและตั้งใจไว้ โดยเป็นผู้สนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวและเติบโตโดยไม่มีหนี้ติดตัว ส่วนแบ่งที่ผู้เรียนชำระคืนแก่รัฐบาลมีเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องคืนเหมือนเป็นเจ้าหนี้ แต่คืนตามอัตราที่กำหนดโดยยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม

กล่าวโดยสรุป การสร้างจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างสวัสดิการสำหรับประชากรกลุ่มแม่และเด็กให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จะเป็นการโอบรับทั้งประชากรสัดส่วนวัยแรงงานและประชากรรุ่นใหม่ที่กำลังจะเกิดและเติบโตขึ้น ด้วยสวัสดิการ “แม่และเด็ก” นี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสม ตามวัย รวมทั้งเป็นหลักประกันให้เด็กได้รับสิทธิด้านการอยู่รอดและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นที่จะแต่งงานให้กับคนที่ต้องการสร้างครอบครัวและสร้างครอบครัวที่พร้อมสำหรับการมีลูกหรือดูแลเด็กได้มายิ่งขึ้น โดยจะส่งผลให้อัตราเด็กเกิดใหม่ในประเทศสูงมากขึ้นตามไปด้วย 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า