การสร้างระบบสุขภาพชุมชนและแนวหน้าสุขภาพเพื่อรับมือกับโรคไม่ติดต่อ (หรือ NCD)

นุชประภา โมกข์ศาสตร์
อภิญญา วิศัลยางกูร


องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากผลสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 14 ล้านคนเป็นโรคในกลุ่ม NCDs  และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมด โดยคนไทยเป็นโรคมะเร็ง 140,000 คนต่อปี และที่สำคัญคือ การเจ็บป่วยจากโรค NCDs คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงปีละ 25,200 ล้านบาท ปัจจุบันรัฐได้สูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ยต่อประชากรคนละ 6,286 บาท หรือประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.5 ของรายจ่ายทั้งประเทศ ที่น่าตกใจคืองบประมาณด้านนี้อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสุดยอดในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นถึง 1.4-1.8 ล้านล้านบาท 

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เราเห็นได้ถึงอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาระงานแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้นจนรับมือแทบไม่ไหว ในบทความนี้จะนำเสนอถึงแนวทางในการบรรเทาปัญหาภาวะงานที่ล้นเกินของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการกระจายการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพจากโรงพยาบาลศูนย์ ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน โดยเน้นไปที่การพัฒนากลไกสาธารณสุขชุมชนให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ที่เรียกว่าเป็น “แนวหน้าสุขภาพชุมชน” (Local Health Vanguard) หรือผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ จนสามารถช่วยป้องกัน ฟื้นฟู และบำบัดโรค และแบ่งเบาภาระงานแพทย์ พยาบาล โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ  (NCDs) ซึ่งจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของระบบสาธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


ปัญหาภาระงานแพทย์ที่ล้นเกิน ผลกระทบและการแก้ไข

ในปี 2562 รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ได้สำรวจภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบของผู้ป่วย มีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,100 คน พบว่า ร้อยละ 90 ของแพทย์ทำ OT มากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ร้อยละ 60 ของแพทย์ทำงานมากกว่า 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแพทย์กว่าร้อยละ 90 ที่ทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง ขณะที่ร้อยละ 15 ของแพทย์ทำงานติดต่อกันมากกว่า 7 วัน หรืออาจทำงานโดยไม่ได้พักเฉลี่ย 2-4 วัน  จากผลสำรวจนี้เราจะเห็นได้ว่าภาวะหมดไฟ ที่มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพจากการอดนอน และภาระงานล้นเกินของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นสาเหตุสำคัญของการลาออกของแพทย์และพยาบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศไทยอาจเป็นประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในหลายด้าน สวนทางกับความต้องการในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 

เมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์ พยาบาล รวมทั้งภาคประชาชนได้เสนอแนวทางในการลดภาระงานแพทย์ พยาบาล เช่น การแก้ไขกฎหมายลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของแพทย์พยาบาล การเพิ่มค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการให้กับบุคลาการทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม Think Forward Center มองว่าระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้เผชิญเพียงปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ความท้าทายรูปแบบใหม่ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด เพราะในอีก15 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน (จากจำนวนผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคนในปัจจุบัน) เมื่อลองนำจำนวนผู้สูงอายุไปรวมกับจำนวนผู้ป่วยจะพบว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขในหลายด้านด้วยกัน ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการส่งเสริมการกระจายงาน กระจายเงิน กระจายบุคลากรทางการแพทย์ และการกระจายอำนาจบริหารจัดการไปสู่ชุมชนโดยเร็วตั้งแต่ในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวจะเป็นระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แพทย์ พยาบาลมีภาระงานมากขึ้น?

ภาระงานแพทย์และพยาบาลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานภายในโรงพยาบาล การขาดข้อกำหนดในเรื่องบทบาทหน้าที่ของแพทย์/พยาบาลในการให้บริการสาธารณสุข ส่งผลให้แพทย์ต้องดูแลคนไข้ทุกระดับอาการ ทั้งคนไข้ที่มีอาการรุนแรงมาก (หรืออยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้) รุนแรงปานกลาง (หรือคนไข้ที่ยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้) และไม่รุนแรง ผลจากการไม่กำหนดบทบาทหน้าที่ในการรักษาคนไข้ในกลุ่มต่างๆของแพทย์ให้ชัดเจน ทำให้ภาระงานทั้งหมดมารวมที่โรงพยาบาล ยิ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจและสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จนทำให้กลุ่มประชากรในช่วงวัยต่างๆเผชิญกับปัญหาความเครียด การถูกกดดันจากการเรียน/การทำงาน/การดำเนินชีวิต ภาวะซึมเศร้า การนอนหลับยาก และปัญหาทางสุขภาพแบบใหม่ๆ ทั้งจากปัญหาเสียงรบกวน แสงจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และจอ LED ที่ส่งผลต่ออาการทางสายตา อาการตาแห้ง/ตาล้า/สายตาสั้น/และโรคทางตา รวมถึงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 สารเคมีตกค้างในอาหาร ที่ทำให้อุบัติการณ์เกิดโรคไม่ติดต่อมีสถิติเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์เกิดโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ การขาดกลไกการป้องกันสุขภาพ (Proactive Health Prevention) ในระดับปฐมภูมิและครัวเรือน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครชุมชน ซึ่งเป็นกลไกการจัดการสุขภาพระดับปฐมภูมิ แต่กลไกดังกล่าวยังไม่สามารถทำงานในด้านการแพทย์เชิงป้องกันและการให้บริการทางสุขภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในบางประเทศ เช่น อังกฤษรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีกลไกการแพทย์/สาธารณสุขชุมชน ที่มีหน่วยปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขที่เรียกว่า Vanguard หรือ “แนวหน้าสุขภาพ” ที่เป็นหน่วยปฏิบัติการในด้านการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพในระดับชุมชน ทั้งการมีทีมแพทย์/พยาบาลชุมชน ผู้ช่วยแพทย์/นักสาธารณสุขชุมชน อาสาสมัคร ที่มีความรู้ในการรักษาคนไข้ มีสถานพยาบาลเคลื่อนที่พร้อมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้สำหรับรักษาคนไข้ เช่น อุปกรณ์ผ่าตัด เครื่องมือทางกายภาพบำบัด กล้องส่องทางเดินอาหาร จอมอร์นิเตอร์ อุปกรณ์เจาะเลือด เตียงนอน และอื่นๆ แตกต่างจากระบบอาสาสมัครชุมชนของไทยที่ยังต้องพึ่งพาสถานพยาบาลในการรักษาคนไข้ และบุคลากรที่ยังขาดทักษะในการให้บริการทางสุขภาพแก่ผู้ป่วย


ข้อเสนอการลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล และการส่งเสริมแรงจูงใจในการทำงาน

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตแพทย์ได้ 3,000 คนต่อปี แต่กลับพบว่ามีแพทย์ที่ลาออกทันที 600 คนต่อปี ขณะที่ข้อมูลจากสภาการพยาบาลชี้ว่า ประเทศไทยผลิตพยาบาลได้ 10,000 คนต่อปี แต่มีพยาบาลที่ลาออก (หรืออาจมีอาการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย)  ซึ่งส่งผลให้จำนวนพยาบาลลดลงไปราวๆ 7,000 คนต่อปี จึงสะท้อนถึงปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ (ก) ประเทศไทยกำลังเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพราะจำนวนบุคลากรลดลง/ผลิตไม่ทันต่อความต้องการ (ข) ภาระงานในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นและอาจไม่สามารถรองรับจำนวนคนไข้กลุ่มใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยและผู้สูงอายุมากขึ้น (ในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจมีผู้ป่วยมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร) (ค) จำนวนประชากรไทยในอนาคตลดลง เพราะอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต (ง) งบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุไม่เพียงพอ (จ)คุณภาพการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดลง 

ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกช่วงวัย Think Forward Center เห็นว่าหากปล่อยให้ภาวะเช่นนั้นดำเนินต่อไปอาจไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย ดังนั้นจึงได้รวบรวมข้อเสนอทางนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้


ข้อเสนอในการลดภาระงานแพทย์และพยาบาล

เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุขและรักษาบุคลาการทางการแพทย์ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ระบบสาธารณสุข/หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐควรปรับปรุงโครงสร้างของระบบสาธารณสุข ดังนี้

  • การกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์/พยาบาล ไม่ให้เกิด 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • พัฒนาสิทธิและสวัสดิการของแพทย์/พยาบาลให้เป็นธรรม เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน เช่น กำหนดค่าเวรของแพทย์พยาบาล 1,000 -2,000 บาท ต่อครั้ง ค่า OT ของพยาบาล (เสาร์-อาทิตย์) 1,000 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ฯลฯ (ปัจจุบันพยาบาลได้รับ OT ที่ 43.75 บาทต่อชั่วโมง)
  • การปฏิรูปโครงสร้างระบบการให้บริการสุขภาพในโรงพยาบาล เช่น หน้าที่ในแผนกฉุกเฉิน (ER) ควรเน้นการรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพื่อให้ทีมแพทย์ พยาบาลมีเวลา/ความพร้อมในการรักษา รวมทั้งการ จัดสรรภาระงานหรือแยกระบบการให้บริการของแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์กับโรงพยาบาลปฐมภูมิให้ชัดเจน และการกระจายระบบงานบริการสุขภาพไปสู่หน่วยปฐมภูมิมากขึ้น (เพื่อลดภาระงานแพทย์/พยาบาล) 
  • การพัฒนาหน่วยปฏิบัติการด้านสุขภาพชุมชน หรือ แนวหน้าสุขภาพ เพื่อให้บริการด้านการแพทย์ในชุมชน เช่น การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การทำกายภาพบำบัด การฟื้นฟูสุขภาพ การคัดกรองผู้ป่วย และหากพบว่าคนไข้มีอาการน่าเป็นห่วงแนวหน้าสุขภาพจะส่งตัวคนไข้มาที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาในลำดับต่อมา
  • ควรมีการส่งเสริมให้พยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องการจะลาออก มีทางเลือกในการทำงานในระบบแนวหน้าสุขภาพชุมชนเพื่อให้มีบุคลากรเข้ามาทำงานในหน่วยปฐมภูมิมากขึ้น โดยกำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น หรือการตรวจในแต่ละครั้ง (Part-time) การตรวจโรคเฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคทางตา โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคทั่วไป รวมทั้งจิตแพทย์/ผู้ช่วยจิตแพทย์อาจมาช่วยตรวจสุขภาพจิตผ่านหน่วยที่ชื่อว่า Sensitive Clinic หรือคลินิกสบายใจ โดยได้รับค่าตอบแทนในการตรวจ
  • ในอนาคตควรแยกอาจารย์แพทย์ที่ทำหน้าที่สอน กับแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจคนไข้ เพื่อแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน จะช่วยลดภาระงานของแพทย์ได้ส่วนหนึ่ง
  • การส่งเสริมและพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลบางแห่งที่ยังไม่มีแพทย์มาประจำ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไข้ในการเดินทางไปพบแพทย์
  • การแก้ปัญหาโครงสร้างแพทยสภา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อแพทย์/พยาบาลอย่างเป็นธรรม ลดการทำงานล่วงเวลา การกลั่นแกล้งในโรงพยาบาล การจัดสรรภาระงานที่เหมาะสม เป็นต้น
  • การถ่ายโอน รพสต. มาอยู่ภายใต้ อปท./อบจ. แทนสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปัจจุบันรพ.สต.บางส่วนได้โอนย้ายมาแล้ว)


ปัจจุบันประเทศไทยมี รพ.สต. ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9,836 แห่ง มีประชากรที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งหมด 32,992,754 คน

ในจำนวนนี้ เป็น รพ.สต. ที่ “ยังไม่ถ่ายโอน” จำนวน 6,572 แห่ง คิดเป็น 66.82% เฉพาะกลุ่มนี้มีประชากรที่ใช้สิทธิบัตรทอง จำนวน 21,983,933 คน หรือคิดเป็น 66.63%


การถ่ายโอน รพสต.ไปอยู่ภายใต้อบจ. หรือท้องถิ่น มีข้อดีคือทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆได้อย่างคล่องตัว ท้องถิ่นสามารถกำหนดแนวทางการป้องกันและดูแลสุขภาพ จัดวางกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล แนวหน้าสุขภาพ นักส่งเสริมสาธารณสุขชุมชน อาสาสมัครชุมชน รวมทั้งผู้ช่วยงานทางการแพทย์ เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการให้บริการ และทำให้เกิดการร่วมมือกันในการพัฒนาสุขภาพในระดับชุมชน/ครัวเรือนมากขึ้น


แนวทางการพัฒนาระบบ/กลไกสาธารณสุขชุมชน  หรือการส่งเสริมการจัดการด้านสาธารณสุขขนาดเล็กไปถึงระดับชุมชน/ครัวเรือน (Proactive Health Prevention: PHP) 

ในอดีตจำนวนผู้ป่วยและอุบัติการณ์เกิดโรคไม่ติดต่อ ไม่ได้สูงมากเท่ากับในปัจจุบัน ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังสามารถรองรับกับอัตราการเจ็บป่วย การดูแล รักษา ฟื้นสูสุขภาพ และการเข้าถึงยาของประชากรไทยได้ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ทางสุขภาพของคนไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากการที่คนไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อมากขึ้นทั้งในเขตเมืองและชนบท จากการมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อถึง 14 ล้านคน โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาแพทย์/พยาบาลไม่เพียงพอ หรือขาดแคลนแพทย์ในบางด้าน รวมทั้งขาดแคลนอุปกรณ์ในการรักษา การรักษาพยาบาลจึงทำได้ไม่ครอบคลุม อีกทั้งสถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้รัฐก็มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ดังนั้นสถานการณ์คนไข้ล้นโรงพยาบาลที่ส่งผลให้ภาระงานของแพทย์ พยาบาลเพิ่มขึ้นจนทำให้มีการลาออกเป็นจำนวนมากนั้นจึงกลายเป็นปัญหางูกินหางที่แก้ไม่ตก เพราะทรัพยากรในโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับความต้องการของจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นได้

ด้วยสถานการณ์ทางสุขภาพที่เปลี่ยนไป แนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการรักษาพยาบาล (Treatment) ในโรงพยาบาลต่างๆ อาจไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ดังนั้นการกระจายงาน องค์ความรู้ งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพไปที่ชุมชนจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภาระงานแพทย์พยาบาลได้ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาระบบ/กลไกสาธารณสุขชุมชน  หรือการส่งเสริมการจัดการด้านสาธารสุขขนาดเล็กไปถึงระดับชุมชน/ครัวเรือน (Proactive Health Prevention: PHP) และการพัฒนาแนวหน้าสุขภาพชุมชน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมระบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตของประเทศไทยอีกด้วย

ลักษณะของระบบการจัดการด้านสาธารณสุขขนาดเล็กไปถึงระดับชุมชน/ครัวเรือน 


สำหรับการกระจายการให้บริการทางสุขภาพไปที่หน่วยปฐมภูมิ เบื้องต้นควรทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ การเข้ารับการผ่าตัดด่วน การเกิดภาวะฉุกเฉินต่างๆ ภาวะหัวใจหยุดเต้น และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์ พยาบาล (ซึ่งมีอยู่จำกัด)มีความพร้อมในการรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่ ลดภาระงานที่แพทย์ พยาบาลต้องรักษาคนไข้ทุกกลุ่มอาการ และในส่วนที่ควรมีการกระจายงานไปให้ชุมชนจัดการคือ การรับผู้ป่วยมาดูแลที่โรงพยาบาลชุมชน หรือศูนย์สุขภาพประจำชุมชน (อาจรวมถึงครัวเรือน) ซึ่งเป็นหน่วยปฐมภูมิที่คอยรองรับคนไข้ที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีแนวหน้าสุขภาพชุมชน เช่น ผู้ช่วยแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักจิตบำบัด อาสาสมัคร คอยทำหน้าที่ดูแล ขณะที่ส่วนที่เป็นระบบดูแลสุขภาพระยะยาว (Long Term Care) ควรเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเน้นการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของแนวหน้าสุขภาพและแพทย์ พยาบาล มากเกินไป


การพัฒนาแนวหน้าสุขภาพชุมชน (Local Health Vanguard)

รัฐบาลสามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ด้วยการยกระดับอาสาสมัครชุมชนให้เป็น “แนวหน้าสุขภาพในชุมชน” โดยต้องเริ่มจากการกระจายภาระงาน งบประมาณ เครื่องมือทางการแพทย์ และอำนาจการบริหารจัดการไปที่ท้องถิ่น เพื่อสร้าง/พัฒนาบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมเป็นแนวหน้าสุขภาพ ซึ่งจะทำการแบ่งหน้าที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การตรวจ คัดกรอง การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การให้ยา การบันทึกข้อมูล/ซักประวัติ การทำกายภาพบำบัด การฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งการออกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยในชุมชน ระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยลดปัญหาการให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลในจังหวัดได้มากขึ้น

Think Forward Center เห็นว่า ผลของการพัฒนากลไกสาธารณสุขระดับปฐมภูมิเพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันโรค คัดกรองโรค ฟื้นฟูสุขภาพให้กับคนไข้ จะช่วยลดปัญหาภาระงานแพทย์ที่ไม่จำเป็นได้มากขึ้น เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยแนวหน้าสุขภาพ การทำกายภาพบำบัด การปรับอาหารและโภชนาการ ไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในชุมชน โดยมีทีมพยาบาลจิตเวช หรือผู้ช่วยด้านจิตเวช ให้บริการแทนแพทย์ การให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวหรือพักฟื้นที่ศูนย์ดูแลสุขภาพชุมชนหรือที่บ้านแทนการพักฟื้นในโรงพยาบาล การตรวจติดตามอาการของแพทย์ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Telemedicine หรือการพัฒนากลไกในการดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุภายใต้หลัก end of life care หรือการประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) ทั้งหมดคือ ภาพรวมของการพัฒนาหน่วยปฏิบัติด้านสุขภาพในชุมชน มีเป้าหมายหลักคือ การแบ่งเบาภาระงานแพทย์ พยาบาล การลดอุบัติการณ์เกิดโรคไม่ติดต่อ/จำนวนผู้ป่วย (ซึ่งเป็นฝั่งอุปสงค์) อีกทั้งข้อดีของการมีทีมแนวหน้าสุขภาพชุมชนกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศยังสามารถช่วยป้องกันและลดระดับความรุนแรงในกรณีที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข เช่น โรคระบาดใหญ่ เหมือนกรณีที่เกิดวิกฤตโควิด 19 ในอนาคตได้

แนวทางการพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ หรือนักส่งเสริมสาธารณสุขชุมชน/ผู้ช่วยทางสาธารณสุข สามารถทำได้ดังนี้

  • การพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (ก) การพัฒนาอาสาสมัครชุมชนเดิม (ที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 ล้านคน) โดยทยอยพัฒนา 20,000 คนต่อปี เช่น การพัฒนา Young Health Volunteer ซึ่งจะต้องได้รับการทดสอบความสามารถ และมีการให้ใบรับรองที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐ (ข) ระบบการสอบเพื่อรับแนวหน้าสุขภาพรุ่นใหม่จากสหวิชาชีพต่างๆ เช่น นักศึกษาที่จบด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักสังคมสงเคราะห์ นักเทคนิคการแพทย์ เภสัช พยาบาล และ (ค) การรับแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่ต้องการเปลี่ยนงาน ให้มาช่วยทำหน้างานร่วมกับแนวหน้าสุขภาพ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายครั้ง (Part-time)

ปัจจุบันอาสาสมัครชุมชนขึ้นกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ การพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ/นักส่งเสริมสาธารณสุขชุมชน ในหน่วยปฐมภูมิ จะคล้ายกับระบบ vanguard หรือแนวหน้าสุขภาพของประเทศอังกฤษ  ทั้งนี้การพัฒนาอาสาสมัครชุมชนที่อยู่ภายใต้ระบบเดิมอาจต้องทำการคัดกรอง การทดสอบความสามารถ และกำหนดจำนวนคนที่จะรับในแต่ละปีให้ชัดเจน เช่น โครงการพัฒนาแนวหน้าสุขภาพชุมชนรุ่นที่ 1 จำนวน 20,000 คนต่อปี (มาจากอาสาสมัครชุมชน 1 ล้านคน) เพื่อให้คนเหล่านี้มีทักษะในการดูแลผู้ป่วยตามข้อกำหนดใหม่ และโครงการเปิดรับแนวหน้าสุขภาพชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่อีก 20,000 คนต่อปี (เปิดรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบอาสาสมัครชุมชนแบบเดิม)

ในอนาคตอาจจำเป็นต้องขยายการพัฒนาทักษะให้กับอาสาสมัครชุมชนเดิมที่มีอยู่ 1 ล้านคนให้มีความสามารถในการทำงานร่วมกับแนวหน้าสุขภาพชุมชน โดยมีการตรวจสอบข้อมูลของอาสาสมัครที่ทำงานในระบบเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ และการทดสอบ เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานในระดับชุมชน

  • มีการกำหนดเงื่อนไขการทำงานให้ชัดเจน (Job Description) เพื่อกำหนดหน้าที่ของแนวหน้าสุขภาพแต่ละคน เช่น นักโภชนาการ พยาบาลชุมชน พยาบาลจักษุ นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด ผู้ดูแลผู้ป่วย พยาบาลจิตเวช  ผู้จ่ายยา แพทย์ผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญสำหรับผู้ที่ป่วยหนัก  นักคัดกรองโรค ผู้ให้คำปรึกษา ผู้ออกเยี่ยมเยียนตามบ้าน อาสาสมัคร และอื่นๆ
  • มีการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการ สำหรับแนวหน้าสุขภาพเป็นรายครั้ง 
  • กระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับแนวหน้าสุขภาพ และกำหนดชั่วโมงเรียน การสอบวัดความรู้ความเข้าใจ และการออกใบอนุญาต เพื่อให้สถานบริการในท้องถิ่นสามารถรับบุคลากรที่ผ่านการทดสอบมาทำงาน โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลของรัฐ อาจารย์แพทย์ หรือชมรมแพทย์ชนบทมาช่วยในการให้องค์ความรู้ทางสุขภาพและการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น โดยสามารถจัดการเรียนรู้ทั้งแบบออนไลน์และอบรมสัมมนาตามท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรผู้ดูแล (Care-giver)
  • มีการจัดทำระบบบริหารจัดการ ระบบเก็บข้อมูลการเข้าออกงานของแนวหน้าสุขภาพชุมชน
  • ควรมีการประเมินความพอใจจากประชาชนที่มารับบริการ 


การพัฒนาศูนย์/คลินิกสุขภาพชุมชน

นอกจากการมี โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลแล้ว การส่งเสริมการป้องกันโรคให้กับประชาชน ควรมีการจัดตั้ง “คลินิกสุขภาพชุมชน” หรือ “ศูนย์ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อในชุมชน” ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง โดยอยู่ในพื้นที่เดียวกับ รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชนเป็นการนำแนวคิด Wellness ของเอกชนมาประยุกต์ในชุมชน เพื่อชุมชนให้มีศูนย์ป้องกันทางสุขภาพ โดยจะมีแนวหน้าสุขภาพทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ เป้าหมายของการตั้งศูนย์/คลินิกสุขภาพชุมชนคือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ และฟื้นฟูผู้ป่วยเดิมให้กลับมาเป็นคนแข็งแรงมากขึ้น 

สำหรับกิจกรรมในคลินิกสุขภาพชุมชน อาจมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย หรือมีตลาดนัดสุขภาพที่มีการจำหน่ายอาหารปลอดภัยในราคาถูกแก่คนในชุมชน เพื่อให้มีการป้องกันสุขภาพในครัวเรือน โดยแหล่งอาหารต้องได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานด้านอาหารและโภชนาการ มีการทำ QC สำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาจำหน่ายอาหารในตลาดสุขภาพ แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของมาตรการป้องกันและลดอุบัติการณ์เกิดโรคไม่ติดต่อ ซึ่งการป้องกันเชิงรุกมีข้อดีเพราะมีต้นทุนที่น้อยกว่าและประหยัดกว่าการไปรักษากับแพทย์มาก

การพัฒนาตลาดสุขภาพในชุมชน


นอกจากนี้อาจมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชุมชน เช่น การพัฒนาเส้นทางจักรยาน/วิ่ง การส่งเสริมการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ  เพื่อบำบัดสภาพร่างกายและจิตใจเป็นประจำทุกสัปดาห์

โดยสรุป หากระบบสาธารณสุขไทยยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการกระจายงาน กระจายบุคลากร กระจายงบประมาณ การพัฒนากลไกสาธารณสุขชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ ซึ่งจะเป็นบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุในชุมชน ระบบสาธารณสุขอาจได้รับผลกระทบหลายด้าน เช่น (ก) ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศเพิ่มขึ้น (ข) โรงพยาบาลต้องหารายได้จากคนไข้เนื่องจากงบประมาณไม่พอ (ค) ระบบสาธารณสุขรองรับจำนวนคนไข้ไม่ไหว และทำให้ผู้ป่วยหลายคนเสี่ยงเสียชีวิต (ง) ส่งผลต่อศักยภาพการวินิจฉัยโรคของแพทย์ที่ลดลง กล่าวคือแพทย์เสี่ยงรักษาผิดพลาดมากขึ้น (จ) แพทย์ พยาบาลมีแนวโน้มลาออกมากขึ้น (ฉ) ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของลูกหลานที่ลาออกจากงานมาดูแลคนไข้/ผู้สูงอายุ (ซ) ส่งผลในเชิงเศรษฐกิจ สังคม เนื่องจากการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนในสังคม ทำให้หารายได้ได้น้อยลง ขาดความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งขาดโอกาสในการสร้างครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมาได้ 


ภาคผนวก

ภาคผนวก-เปรียบเทียบ-อสม-กับ-vanguard




รายการอ้างอิง

เอกสารดาวน์โหลด

 ภาคผนวก

ดาวน์โหลดเอกสาร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า