อภิญญา วิศัลยางกูร
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ภายหลังซีรีส์เกาหลีอย่าง Extraordinary Attorney Woo หรืออูยองอู ทนายอัจฉริยะ ไต่อันดับขึ้นเป็นอันดับ 1 ของซีรีส์ที่มีความประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดของ Netflix หลังจากที่เริ่มฉายไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กับประเด็นของตัวละครอย่าง ทนายอูยองอู ที่รับบทโดยนักแสดงสาว พักอึนบิน (Park Eun-bin) ซึ่ง ทนายอูยองอู เป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ เธอเกิดมาพร้อมกับภาวะออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) กลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างในสมอง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและสังคม
ที่มา: res.heraldm.com
แม้ตัวละครอย่าง ทนายอูยองอู จะจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล แต่กลับประสบปัญหาในการสมัครเข้างานด้วยภาวะออทิสติกที่เธอเป็นอยู่ อย่างไรก็ตามเธอก็ได้มีโอกาสทำงานเป็นทนายฝึกหัดในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง โดยระหว่างทางก็มีการนำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นความสามารถพิเศษของบุคคลผู้ที่เป็นออทิสติก ยกตัวอย่างเช่น ด้านความจำ หรือ การจดจำรายละเอียดต่างๆ
และเนื่องในวันที่ 2 เมษายน นี้ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) เพื่อเป็นการสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเกิดความเข้าใจและการยอมรับบุคคลที่เป็นออทิสติก Think Forward Center ขอเสนอสถานการณ์ปัญหาการเลี้ยงดูของเด็กออทิสติกในไทย พร้อมกับเปิดนโยบายการดูแลเด็กออทิสติกในต่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสถานการณ์ในประเทศเพื่อต้อนรับวันออทิสติกโลกที่จะมาถึง
สถานการณ์การและปัญหาการดูแลเด็กออทิสติกในไทย
หากอ้างอิงจากในซีรีส์ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อคติและการขาดความเข้าใจของบุคคลรอบข้างต่อบุคคลที่เป็นออทิสติก แม้ว่าบุคคลที่เป็นออทิสติกเหล่านั้นจะมีความสามารถในสายอาชีพต่างๆ ที่เขาถนัดก็ตาม
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในไทยแล้ว ปัจจุบันการยอมรับบุคคลที่เป็นออทิสติกเข้ามาทำงานในอาชีพต่างๆ ก็ยังมีไม่มากนัก และรวมถึงยังมีอุปสรรคหลายประการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการรับบุคคลที่มีภาวะนี้เข้าไปในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การศึกษา หรือแม้กระทั่งการทำงานในสายอาชีพต่างๆ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนตัวเลขบุคคลที่เป็นออทิสติกกว่า 300,000 คน ขณะที่มีคนเข้าถึงระบบการรักษาเพียง 3% จากทั้งหมด และเข้าถึงการมีงานทำไม่ถึง 200 คนเท่านั้น โดยปัญหาหลักอยู่ที่มุมมองของสังคมที่มองว่า บุคคลออทิสติกไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเมื่อเทียบกับบุคคลปกติ ทำให้ไม่มีบริษัทหรือหน่วยงานใดกล้าจ้างงานบุคคลที่มีภาวะนี้อย่างต่อเนื่อง หรือถ้าหากมีงานทำก็จะได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำ
สถานการณ์และปัญหาการศึกษาของเด็กออทิสติกในไทย
ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (อัปเดตถึงปี 2564) พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนคุณครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ที่ประมาณ 480,013 คน แต่จากจำนวนนี้ กลับมีคุณครูที่อยู่ในภาคการศึกษาพิเศษ สำหรับนักเรียนพิการ/นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอยู่เพียง 2,016 คน (หรือ ประมาณ 0.5% เท่านั้น)
ที่มา: matichon.co.th
แต่เมื่อไปดูที่จำนวนนักเรียนพิการ/นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ กลับพบว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีจำนวนนักเรียนพิการ/นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 12,269 คน โดยจำนวนนี้ เป็นนักเรียนในกรุงเทพมหานคร 242 คน ส่วนคุณครูการศึกษาพิเศษ 70 คน เป็นครูภาคการศึกษาพิเศษและสังกัดโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 1,946 คนอยู่ในจังหวัดอื่นๆ
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ครูการศึกษาพิเศษที่สังกัดอยู่กับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 คน จะต้องดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ 3.5 คน แต่สัดส่วนของครูการศึกษาพิเศษ 1 คน ที่ต้องดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในจังหวัดอื่นๆ กลับสูงถึง 6.2 คน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่า คุณครูการศึกษาพิเศษจำนวนหนึ่งถูกให้ไปทำหน้าที่สอนในวิชาอื่นๆ/ภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การดูแลบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ดังที่ตั้งใจศึกษามา
และด้วยภาระงานที่หนักมากอาจทำให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษบางส่วนอาจตกหล่นจากความดูแลอย่างใกล้ชิดของครู รวมถึงคุณครูอาจไม่สามารถทำแผนการเรียนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของนักเรียนได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสมได้
ความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง แนวทางใหม่ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า โรงเรียนหลายแห่งยังขาดการบริหารจัดการเรียนร่วมกับเด็กออทิสติกในหลายๆ ด้าน โดยสามารถแบ่งออกเป็นได้ทั้งหมด 5 ด้าน คือ
- หากพูดถึงในด้านของการบริหารค้นพบว่า หลายโรงเรียนขาดแผนการดำเนินงานการบริหาร การจัดการเรียนการสอนร่วมระหว่างเด็กปกติและเด็กออทิสติก
- ปัญหาด้านหลักสูตร หลายโรงเรียนมีปัญหาเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมสำหรับ
เด็กออทิสติก - ด้านของการจัดการเรียนการสอน หลายโรงเรียนมีการจัดการเรียนร่วมที่ไม่เหมาะสมกับเด็กออทิสติกในโรงเรียน โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนและการอยู่ร่วมกับนักเรียนปกติในชั้นเรียนแบบเต็มเวลา ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับเด็กออทิสติกทุกคน
- ด้านของสถานที่ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการการสนับสนุน ค้นพบว่า หลายโรงเรียนขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาที่จำเป็นสำหรับเด็กออทิสติกหลายอย่าง ตามที่ระบุไว้ในกระทรวงศึกษาธิการ ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะเรียนแบบเดียวกันกับเด็กหูหนวก เครื่องป้องกันศีรษะกระแทก
- ด้านของบุคลากร พบว่าหลายโรงเรียนมีปัญหาเนื่องจากบุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของเด็กออทิสติกและวิธีการจัดการเรียนการสอนร่วม
สถานการณ์การทำงานตามสายอาชีพ
ที่มา: มูลนิธิออทิสติกไทย
หากพูดถึงมาตรการการรับคนออทิสติกเข้าทำงานตามสายอาชีพที่ถนัดแล้ว อ้างอิงถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ปัจจุบัน มีศูนย์สำหรับการพัฒนาทักษะของผู้พิการทางสติปัญญาอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น ศูนย์ออทิสติกนนทบุรี และศูนย์ออทิสติกขอนแก่น ศูนย์ของมูลนิธิพระมหาไถ่ พัทยา ทำให้เกิดปัญหาว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีความพยายามในการสร้างความร่วมมือเพิ่มเติมกับภาคประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิพระมหาไถ่ พัทยา และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในการพัฒนาทักษะของบุคคลที่เป็นออทิสติก
แม้ว่า บริษัทภาคธุรกิจหลายๆ แห่งก็เริ่มให้โอกาสเปิดรับบุคคลที่เป็นออทิสติกเข้ามาทำงานเรียนรู้ประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในร้านกาแฟ อย่างร้าน True Coffee หรือการรับส่งพัสดุภัณฑ์เช่น Flash หรือส่วนงานของราชการ เช่น กรมสุขภาพจิต ก็เปิดรับสมัครผู้พิการทางออทิสติกเข้าทำงานอยู่ รวมถึงการทำงานอิสระ เช่น การทำงานศิลปะ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะรองรับจำนวนคนออทิสติกในวัยแรงงานทั่วประเทศได้
แนวทางการดูแลบุคคลที่เป็นออทิสติกในต่างประเทศ
1. มาตรการการเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
สหราชอาณาจักร
บริการด้านสังคมของเด็กที่เป็นออทิสติก ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเด็ก 1989 หน่วยงานในท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้หน้าที่ทั่วไป มีหน้าที่ในการคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพของเด็กภายในพื้นที่ โดยให้การบริการในระดับที่หลากหลายและเหมาะสมตามความต้องการของเด็กเหล่านั้น เมื่อมีการประเมินแล้วหน่วยงานท้องถิ่นจะตัดสินใจมอบบริการและจัดทำแผนในการช่วยเหลือเด็กและยังกำหนดว่า แต่ละองค์กรและหน่วยงานใดควรที่จะให้บริการแก่เด็กและช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาเพื่อมอบความช่วยเหลือ อาทิ
- การให้คำปรึกษา
- การมอบกิจกรรมด้านสังคม
- การมอบความช่วยเหลือที่บ้าน
- การมอบสิ่งอำนวยความสะดวก
- การมอบวันหยุดให้กับครอบครัวผู้ซึ่งต้องดูแลเด็กออทิสติก
- สถานที่รับเลี้ยงเด็กสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน
- กิจกรรมการดูแลทั้งนอกเวลาเรียนหรือระหว่างเรียนวันหยุด สำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนใดก็ได้
- ที่พัก
- ความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินสด
แคนาดา
ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา มีการมอบทุนสนับสนุนจำนวนมากให้แก่เด็กออทิสติก เช่น
- โครงการ Assistance for Children with Severe Disabilities Programme ที่มอบเงินจำนวนสูงสุดถึง 470 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้ปกครองต่อเดือนในการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเสื้อผ้ายาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเด็กและอื่นๆ โดยจำนวนเงินจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ปกครองและประเภทของความพิการของเด็ก
- Ontario Autism Program: caregiver-mediated early years programs (โครงการดูแลเด็กออทิสติกออนแทรีโอ: โปรแกรมสำหรับสนับสนุนครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุระหว่าง 12 – 36 เดือนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกเพื่อให้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ) โดยในโปรแกรมนี้ ผู้ปกครองจะได้รับการฝึกสอนและสนับสนุนเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทางสังคมของบุตรหลานของตนภายในกิจการประจำวันและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น
- การเล่นซ่อนหา
- อาหารและของว่าง (สอนการจัดโต๊ะ การทำความสะอาด)
- กิจกรรมการดูแล (การอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ล้างมือ)
- การเล่นกับของเล่น
- งานครอบครัว
- การอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการแยก รูปร่าง สี ตัวเลข
โดยจะมีผู้ดูแลในการแนะนำและสนับสนุนผู้ปกครองไปตลอดโครงการเพื่อให้ปรับปรุงการสื่อสารทางสังคมและทักษะการเล่นการช่วยเหลือตนเองของเด็ก
- โปรแกรม Joint attention, symbolic play, engagement and regulation (JASPER) โปรแกรมนี้จะมีการอบรมฝึกสอนผู้ปกครอง เพื่อสอนให้เด็กออทิสติกแสดงท่าทางเพื่อเรียกร้องความสนใจร่วมกัน เช่น การใช้มือชี้ การมองประสานกันระหว่างสิ่งของ ผู้คน และการแสดงออก นอกจากนั้นยังมีการเล่นหลากหลายรูปแบบเช่น
- การใช้วัตถุเพื่อเป็นแทนของสิ่งอื่นในการเล่น
- การมีส่วนร่วมทางสังคม เช่น การปรับปรุงการมีส่วนร่วมของเด็กกับผู้อื่น
- การฝึกควบคุมพฤติกรรม เช่น การจัดการกับพฤติกรรมที่รบกวนการเรียนรู้ของเด็ก
- การมีส่วนร่วมการฝึกสื่อสารด้วยคำพูด โดยจะมีการต่อยอดจากภาษาของเด็กในขณะเดียวกันก็มีการช่วยเด็กสอนคำศัพท์ใหม่ๆ
- ในแคนาดามีโปรแกรม Child Disability Benefit (CDB) ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ถ้วนหน้าของประชาชนชาวแคนาดา สำหรับครอบครัวที่มีเด็กที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งมีภาวะพิการและ
ออทิสติกในการปลอดภาษีสำหรับผู้ปกครอง โดยจะมีการจ่ายเงินคืนตามรายได้สูงสุดถึง 2,694 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 93,000 บาท/ปี)
ไซปรัส
กระทรวงที่เกี่ยวข้องในประเทศ จัดทำแผนปฏิบัติการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตรออทิสติกในการช่วยเหลือครอบครัวจำนวนถึง 300 คน โดยจะมีการบริการมอบให้ต่างๆ ดังนี้
- การบริการสนับสนุนให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ
- การบริการเรียนที่บ้าน
- การบริการการศึกษาอื่นๆ
- การบริการสนับสนุนทางสังคม
2. นโยบายการศึกษาในต่างประเทศเพื่อสนับสนุนเด็กออทิสติก
สหราชอาณาจักร
ระบบการสนับสนุนเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการศึกษา (SEN) แต่ละประเภทนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยการสนับสนุนจะรวมถึง แผนการศึกษา แผนการดูแลสุขภาพ และการดูแลอื่นๆ โดยประเภทของการสนับสนุนอาจรวมถึงการช่วยเหลือพิเศษจากครู ความช่วยเหลือในการสื่อสารกับเด็กคนอื่นๆ หรือการสนับสนุนการดูแลส่วนตัว
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการศึกษาแล้วมีการกำหนดไว้ว่า ทุกสถาบันการศึกษาและหน่วยงานท้องถิ่นทุกแห่งที่ดูแลโรงเรียนในอังกฤษจะต้องรับเด็กออทิสติกเข้ามาเรียน โดยทางสถาบันการศึกษาจะไม่สามารถปฏิเสธการรับนักเรียนเข้ามาเรียนเพียงเพราะแค่มีปัญหาด้านออทิสติก
โดยในปี 2016 มีจำนวนโรงเรียนพิเศษที่มอบการดูแลสำหรับเด็กออทิสติกจำนวน 630 แห่งและโรงเรียนที่ไม่ได้มอบการดูแลจำนวน 32 แห่งในอังกฤษ นอกจากนั้นภายใต้โครงการเรียนฟรี ปัจจุบันมีโรงเรียนพิเศษฟรีถึง 29 แห่งในอังกฤษ โดยมี 17 แห่งที่จัดให้ไว้สำหรับการดูแลเด็กออทิสติกโดยเฉพาะ อีกทั้งอังกฤษก็มีกำหนดการเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กออทิสติกฟรีอีก 22 แห่งในอนาคต โดย 12 แห่งในจำนวนนั้นจะมีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลเด็กออทิสติกโดยเฉพาะ และรัฐบาลอังกฤษก็ประกาศว่า จะจัดสรรเงินทุนจำนวน 215 ล้านปอนด์ ในการสนับสนุนการขยายโรงเรียนที่มีอยู่ตลอดจนมีการพัฒนาโรงเรียนใหม่สำหรับนักเรียนออทิสติก
ขณะที่ ส่วนของบุคลากรผู้ฝึกสอน/คุณครูมีกำหนดไว้ว่า คุณครูผู้ฝึกสอนจะต้องมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการของนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานของครู โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 กระทรวงการศึกษาประเทศอังกฤษมีการร่างพระราชบัญญัติสำหรับการฝึกอบรมคุณครูขั้นต้นมาใช้ ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้ให้บริการฝึกอบรมเกี่ยวกับสิ่งที่ควรจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าครูผู้ฝึกสอนปฏิบัติตามมาตรฐานของคุณครูได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะมีการเข้าใจถึงภาวะและโรคของออทิสติกเป็นอย่างดีและเฉพาะเจาะจง
นอกจากนั้นตั้งแต่ปี 2011 กระทรวงการศึกษาของอังกฤษได้มอบทุนแก่ Autism Education Trust เพื่อจัดการฝึกการอบรมการดูแลเด็กออทิสติกให้กับคุณครูที่จะเข้ามาสอน โดยในปี 2018 เองทางรัฐมนตรีโรงเรียนก็ได้มีการกล่าวว่า องค์กรนั้นได้ช่วยเหลือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ครูผู้ฝึกสอนไปแล้วจำนวน 175,000 คน และล่าสุดเมื่อปี 2023 ได้มีการพัฒนาการสนับสนุนการดูแลเด็กออทิสติกรวมถึง
- มีการแต่งตั้งแผนกคุณครูออทิสติกในโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งทั่วราชอาณาจักรเพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรในโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณสมบัติการดูแลเด็กออทิสติก
- โดยการแต่งตั้งนี้จะให้การสนับสนุนคุณครูท่านอื่นเกี่ยวกับวิธีการดูแลและสนับสนุนให้ความรู้กับนักเรียนออทิสติกโดยเฉพาะในโรงเรียน
- การแต่งตั้งคุณครูออทิสติกในโรงเรียนประถมทุกแห่งยังจะช่วยสนับสนุนนักเรียนออทิสติกให้มีประสบการณ์การเรียนแรกเริ่มที่ดี
- นอกจากนั้นแผนกยังจะมีการตรวจสอบและติดตามผลของโครงการริเริ่มสำหรับการแต่งตั้งคุณครู
ออทิสติกเพื่อการขยายบทบาทในอนาคตรวมถึงการวางแผนสำหรับการดูแลเด็กออทิสติกในโรงเรียนมัธยม
3. นโยบายเกี่ยวกับการรับสมัครคนออทิสติกเข้าทำงานตามสายอาชีพที่ถนัด
สหราชอาณาจักร
3.1. โครงการ Disability Confident ทำหน้าที่ช่วยเหลือ/ให้คำแนะนำองค์กรในการปรับปรุงวิธีการรับสมัครและการรักษาพนักงานคนพิการ/พนักงานที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งจะรวมถึงมีการสัมมนาที่มุ่งเน้นการสนับสนุนคนออทิสติกในสถานที่ทำงานโดยเฉพาะ
3.2. โครงการ The Access to Work สนับสนุนและตอบสนองความต้องการของพนักงานที่มีความต้องการพิเศษในที่ทำงาน เพื่อสนับสนุนทั้งในทางปฏิบัติและทางการเงินเพื่อให้พวกเขาสามารถหางานหรือยังคงทำงานอยู่ต่อไปได้
3.3. โครงการ Intensive Personalised Employment Support มีการมอบความสนับสนุนส่วนบุคคลให้แก่พนักงานที่มีความต้องการพิเศษ หรือมีอุปสรรคที่ซับซ้อนมากกว่า โดยบุคคลที่เข้าร่วมในโครงการนี้จะมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนโดยเฉพาะส่วนบุคคลแบบตัวต่อตัวในการช่วยฝึกอบรมพวกเขาให้เริ่มงานได้ โดยบุคคลที่อยู่ในโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นเวลา 15 เดือนและการสนับสนุนระหว่างการทำงานหรือในที่ทำงานเป็นเวลา 6 เดือน หากพวกเขาได้งานทำ
3.4. ทุนการศึกษา Local Supported Employment (LSE) มีการมอบทุนแก่หน่วยงานท้องถิ่นจำนวน 24 แห่งในอังกฤษและเวลส์ โดยคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 7.6 ล้านปอนด์ (319 ล้านบาท) เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นแต่ละแห่งสนับสนุนคนทำงานที่มีความต้องการพิเศษอย่าง คนออทิสติก จำนวนประมาณ 60 ถึง 140 คน เพื่อให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้และมอบความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการเพื่อรักษาสัญญาการจ้างงานนั้นไว้ นอกจากนั้นยังมีการมอบหมายผู้ดูแลการหางานที่จะช่วยดำเนินการจัดทำโปรไฟล์ เพื่อดึงดูดนายจ้างและให้การสนับสนุนในการทำงานเพื่อช่วยพัฒนาทักษะอาชีพมากขึ้น
แนวทางเพื่อการดูแลเด็กออทิสติก
Think Forward Center และพรรคก้าวไกล เห็นว่า ปัญหาการรับรู้และการเข้าถึงการตรวจรักษาโรคออทิสติก รวมถึงการเลี้ยงดู การศึกษา และการได้รับโอกาสเพื่อเข้าทำงานของบุคคลที่เป็นออทิสติก จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข และมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้บุคคลที่เป็นออทิสติกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป ผ่านนโยบาย 4 หมวดหมู่ดังนี้
- การดูแล: ติดตามพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี
- จัดทำระบบประเมินพัฒนาการทารกออนไลน์ หรือที่โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่เพื่อติดตามพัฒนาการ หากพบความผิดปกติให้รีบไปปรึกษากุมารแพทย์/จิตแพทย์เด็ก
- กุมารแพทย์/จิตแพทย์เด็กต้องประสานกับนักปรับพฤติกรรม (ผ่านระบบข้อมูลสุขภาพที่เชื่อมโยงกัน) เพื่อสนับสนุนเด็กและพ่อแม่ ในกรณีที่พ่อแม่สามารถสนับสนุนด้านพัฒนาเองได้ เพื่อให้เด็กเข้ารับการส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมตามช่วงวัย
- การเข้าถึงการส่งเสริมพัฒนาการของบุคคลที่เป็นออทิสติก ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยทุกคน ไม่ว่าจะในสิทธิการรักษาแบบใด
- การเรียน: พัฒนาระบบการศึกษาพิเศษ
- โรงเรียนต้องเตรียมสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เหมาะสมกับการเรียนร่วม โดยเฉพาะทัศนคติของครู เพื่อนนักเรียน และผู้ปกครอง
- ครูทำงานร่วมกับนักปรับพฤติกรรม/นักจิตวิทยา เพื่อออกแบบแผนการเรียนร่วมในห้องเรียนปกติ หรือแผนการเรียนเฉพาะบุคคลในพื้นที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ
- ติดตามพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็กออทิสติกในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด
- หากเด็กไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมโรงเรียนได้ ต้องมีทางเลือกเสนอให้เรียนเฉพาะกลุ่ม (บางช่วงเวลา หรือทั้งหมด) เพื่อฝึกพัฒนาการเสริม และ/หรือ เพื่อให้โรงเรียนปรับสภาพแวดล้อมทางสังคม (เช่นทัศนคติของครูและเพื่อนนักเรียน) ให้เหมาะสมเช่นกัน
- จัดหาอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนออทิสติก เช่น ของเล่นสตรีมมิ่ง แสงไฟ อุปกรณ์ลดมลพิษทางเสียง เป็นต้น
- การทำงาน: คนออทิสติกต้องได้ทำงานตามความถนัด ได้รับเงินอุดหนุน 3,000 บาท/เดือน
- รัฐต้องงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง ซึ่งคำนวณจากการนำเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้เอกชน มาบังคับใช้กับหน่วยงานราชการด้วย
- ต้องได้รับเงินสวัสดิการอุดหนุน 3,000 บาท/เดือน
- ปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับคนพิการ ให้บุคคลที่เป็นออทิสติกออกจากคนที่มีภาวะผิดปกติทางจิตใจ
- การเตรียมความพร้อมในการทำงานของบุคคลที่เป็นออทิสติก ต้องเริ่มวางแผน/ดำเนินการ ตั้งแต่ในช่วงที่เรียนในระดับที่เริ่มโตขึ้น (เช่น ระดับมัธยม) เพราะเด็กที่เป็นออทิสติก มักจะมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงควรออกแบบให้เหมาะสมกับภารกิจที่สามารถทำได้/ชอบทำในอนาคต
- การสร้างสังคมโอบรับ: หลักสูตรครูต้องเข้าใจนักเรียนทุกกลุ่ม พัฒนางานวิจัยเรื่องออทิสติก สร้างศูนย์รวมสื่อสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมละคร/ภาพยนตร์ที่สร้างความเข้าใจบุคคลที่เป็นออทิสติก
- หลักสูตรครูต้องมีการสร้างความเข้าใจในการดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษและนักเรียนออทิสติก
- การเปิดรับสมัครครูต้องระบุความต้องการถึงเรื่องความเข้าใจนักเรียนทุกกลุ่ม
- สร้างแพลตฟอร์มสำหรับรวมสื่อการสอนเพื่อพัฒนาการของเด็กที่เป็นออทิสติก
- ส่งเสริมให้สื่อสาธารณะ เช่น ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา มีเรื่องราวที่เกี่ยวของกับบุคคลที่เป็นออทิสติก เพื่อสร้างความเข้าใจและความคุ้นเคยให้กับสังคม