7 ข้อเสนอวันหัวใจโลก เพื่อการรักษาหัวใจของกันและกัน

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างมุ่งความสนใจกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดนก H5N1 หรือแม้แต่โรคฝีดาษลิง (Mpox) แต่ขณะเดียวกัน โรคไม่ติดต่อบางชนิดก็สามารถสร้างฝันร้ายที่พรากคนรอบตัวของเราไปได้ปีละหลายหมื่นคน และโรคที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease: CVD)

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้คนเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 17.9 ล้านคน ขณะที่สถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในปี 2564 ที่ผ่านมามากถึง 58,681คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยสถิติพบมากในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง1

เนื่องในวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โดยปีนี้ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ได้กำหนดธีมสำหรับเป็น “Use Heart, Know Heart” เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปที่ต้องชีวิตร่วมกับคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด Think Forward Center จึงขอนำเสนอ 7 แนวทางที่รัฐ เอกชน และคนรอบข้างควรจะต้องทำร่วมกันเพื่อประคับประคองคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนี้:


1. การตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นสำคัญไฉน

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นมีหลายรูปแบบ แต่การตรวจคัดกรองในไทยส่วนใหญ่จะมีเพียงในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่มักเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรอง และตกหล่นกระบวนการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

ดังนั้น Think Forward Center เสนอให้มีระบบการตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับแนวหน้าสุขภาพ (อาสาสมัครสาธารณสุข) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสาธารณสุขตำบล (รพ.สต.) โดยอาจใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น 

  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test) หรือการตรวจสมรรถภาพหัวใจ ผ่านการดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือเรียกว่า อิเล็กโทรคาร์ดิโอแกรม (Elektrokardiogram: EKG) คือ การทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้2



2. โภชนาการและการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยง

ในหลายประเทศ นักโภชนาการและนักกายภาพมีส่วนสำคัญอย่างมากในการวางแผนพฤติกรรมการบริโภคของคนในแต่ละชุมชน ขณะที่ประเทศเรามักพบนักโภชนาการแค่ในโรงพยาบาล หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหารเสริม ขณะที่นักกายภาพจะทำหน้าที่เชิงรับในสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังเกี่ยวกับกล้ามเนื้อแล้วเท่านั้น

Think Forward Center มองว่า นักโภชนาการและนักกายภาพควรเป็นวิชาชีพที่อยู่ในงานหลายภาคส่วน เช่น ส่วนงานของแนวหน้าสุขภาพ รพ.สต. โรงเรียนในทุกระดับชั้น สถานที่ทำงานขนาดใหญ่ทุกแห่ง ซึ่งการกำหนดปริมาณสารอาหารต่อวัน รวมถึงรูปแบบและระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อวัน เพื่อชะลออาการของกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว โดยในกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นควรกำลังกายอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ควรอุ่นเครื่อง (Warm Up) และเบาเครื่อง (Cool Down) ก่อนหยุดออกกำลังกายเสมอ3


3. สุขภาพจิตมีผลต่อโรคหัวใจ

ตามที่ข้อมูลระบุว่า สถิติคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 7 คน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า จุดเริ่มต้นของโรคและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจเริ่มจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด (Stress Cardiomyopathy) โดยที่มาของภาวะนี้ อาจมาจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย การสูญเสียคนรักหรือการหย่าร้าง ปัญหาการงาน การเงิน หรือความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อสถานการณ์ในชีวิต 

ดังนั้น คนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงและต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย จึงมักเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง และกลายเป็นความเครียดจนเกิดอาการ อาทิ นอนไม่หลับ ปวดหัวเรื้อรัง หรือใจสั่น โดยบางอาการก็แยกจากโรคหัวใจได้ยาก เช่น หายใจไม่อิ่ม ใจไม่ดี ตกใจง่าย หรือไม่กล้าออกจากบ้านคนเดียว

Think Forward Center เห็นว่า การส่งเสริมให้มีนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ในสถานศึกษา สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่รพ.สต. รวมถึงการนำเข้าระบบ Telemedicine เพื่อให้คนเข้าถึงระบบการรักษาที่ง่ายขึ้น ช่วยให้คนมีสุขภาพจิตดีขึ้น และชะลอความรุนแรงของอาการป่วยในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด


4. อากาศที่ดีสร้างภูมิคุ้มกันให้เราแข็งแรง

มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยในทุกๆ ปี จะมีคนเสียชีวิตกว่า 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% จากคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด

ซึ่ง WHO ระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM2.5 เกิน 10-25 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรแล้ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในระยะเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็ง4

ดังนั้น Think Forward Center เสนอว่า ปัญหา PM2.5 ควรเป็นวาระเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลควรต้องรับมือก่อนถึงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝุ่นปริมาณมากในอากาศ โดยรัฐอาจเริ่มจาก:

  • เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจเช็คสภาพรถยนต์ส่วนตัวฟรี ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปี
  • ควบคุมปริมาณรถบรรทุกและรถบัสที่จะเข้ามาในเขตเมืองให้เข้มข้นขึ้นในช่วงที่ PM 2.5 อยู่ในระดับวิกฤต เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหามลพิษในเขตเมือง
  • เพิ่มงบท้องถิ่นในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงระบบมาตรฐานและระบบสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ผ่านการจูงใจลดภาษีที่ดินเปล่าของเอกชน (Negative Land Tax) หากเปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ในช่วงที่ยังไม่มีโครงการใช้พื้นที่
  • เพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรในภาคการเกษตร เช่น สินเชื่อ 0% พร้อมการดูแลหลังการขาย สำหรับเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวและ/หรือเตรียมดิน จัดหาโรงงานรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ในอัตรา 1,000 บาท/ตัน เพื่อมาใช้ประโยชน์ และเปิดให้ผู้ประกอบการที่นำเศษวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูป โดยให้เงินตั้งตัวสำหรับเกษตรกรที่คิดทำโครงการดังกล่าว



5. ยาและอุปกรณ์คือสิ่งที่รัฐต้องจัดหา

เนื่องด้วยปัจจุบัน วงการการแพทย์ทั่วโลกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยประคับประคองอาการของคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าเช่น ตัวยาละลายลิ่มเลือด การสวนหลอดเลือดหัวใจ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนใส่ขดลวดค้ำยัน หรือแม้แต่เครื่องเอคโม่ (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) เครื่องมือที่ใช้พยุงปอดและหัวใจโดยใช้การดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วยแล้วนำมาฟอกผ่านเครื่องที่ควบคุมอุณหภูมิและออกซิเจน โดยตัวเครื่องทำหน้าที่คล้ายปั๊มน้ำส่งคืนเลือดกลับเข้าไปในร่างกาย สามารถทำงานทดแทนปอดและหัวใจได้ในกรณีที่ปอดและหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ5

ดังนั้น Think Forward Center เห็นว่า รัฐควรสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับยาและเครื่องมือที่ทันสมัยให้บรรจุตามโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงรุกในการตรวจคัดกรองโรค


6. ส่งเสริมให้มีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ

สำหรับการดูแลรักษาคนไข้โรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์อายุรกรรมด้านโรคหัวใจ เป็นกลุ่มแพทย์ที่สำคัญมากในการประคับประคองและทำให้คนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นห่างไกลจากความเสี่ยงต่างๆ ได้ 

แม้ในแต่ละปี จำนวนแพทย์จบใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศจะมี 13,141 คน แต่จากจำนวนนี้มีแพทย์ที่รับหนังสืออนุมัติ-วุฒิบัตรจากแพทย์สภาในสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจกับอยู่ที่ 50-60 คนต่อปี เท่านั้น6 ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้นทุกช่วงวัยอยู่ที่ 2,000-4,000 คนต่อปี7

Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้แพทย์จบใหม่หันมาสนใจเรียนต่อเฉพาะทางในด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการเปิดตำแหน่งแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจโรงพยาบาลจังหวัด/อำเภอต่างๆ เพื่อรองรับกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น


7. CPR ควรเป็นหลักสูตรพื้นฐานในโรงเรียน

ด้วยอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดกับคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันความรู้ในเรื่องของการรับมือและให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่าง CPR ของประชาชนนั้นมีน้อยมาก อันเนื่องมาจากไม่มีการบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาควรจะได้รับ

Think Forward Center เห็นว่า การออกแบบหลักสูตรให้เพิ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับ CPR การกู้ชีพและปฐมพยาบาลในทุกโรงเรียนนั้น จะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการช่วยชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันได้มากขึ้นระหว่างคนทั่วไปและคนที่อยู่ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด



อ้างอิง

1)  PPTV, สถิติพบคนไทยเสียชีวิตจาก”โรคหัวใจ” เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน https://www.pptvhd36.com/health/care/196 

2)  Nakormthon Hospital, ตรวจคัดกรองภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้ทัน รับมือได้ https://www.nakornthon.com/article/getpagepdf/136 

3)  Bangkok Heart Hospital, ผู้ป่วยโรคหัวใจยิ่งออกกำลังกายยิ่งดี https://www.bangkokhearthospital.com/content/regular-exercise-is-important-when-you-have-heart-disease 

4)  Bangkok Heart Hospital, หัวใจทำไมโดนทำร้ายเพราะฝุ่น PM 2.5 https://www.bangkokhearthospital.com/content/how-pm2-5-air-pollution-potentially-induces-cardiovascular-disease 

5)  Bangkok Heart Hospital, ECMO เทคโนโลยีเครื่องปอดและหัวใจเทียมช่วยชีวิต https://www.bangkokhearthospital.com/content/ecmo-extracorporeal-membrane-oxygenation

6)  แพทยสภา, ข้อมูลแพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติ-วุฒิบัตรจากแพทยสภา https://www.tmc.or.th/pdf/tmc-stat-29-12-22-05.pdf 

7)  ฐานเศรษฐกิจ, สถิติช็อค “คนวัยทำงาน” เสี่ยงหนักป่วยโรคหัวใจ อ้วน เครียด ฆ่าตัวตาย https://www.thansettakij.com/health/575589

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า