Various Love : รักต่างนิยามบนการขับเคลื่อนสังคมที่หลากหลาย

Think Forward Center

หากจะกล่าวถึง “ความรัก” หลายคนคงจะนึกถึง ความรักในรูปแบบทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความรักที่ลูกมีให้กับพ่อแม่ ความรักที่มีให้ระหว่างกันของคู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด รักเพศเดียวกันหรือรักต่างเพศ หรือแม้แต่จะมีอายุห่างกันแค่ไหน แต่กระนั้นสังคมไทยยังมีความรักในอีกหลายรูปแบบที่ยังเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ จนนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิต่างๆ 

เนื่องในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ Think Forward Center ขอนำเสนอรูปแบบความรักที่หลากหลาย ตลอดจนอุปสรรคที่ผ่านมาและข้อเสนอเชิงนโยบายที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคม


จากดินปั้นสู่งานศิลปะที่เต็มไปด้วยความรักและความสวยงาม 

ชลธิชา จันแปงเงิน

ถ้าจะต้องเล่าถึงความรักที่มีต่อศิลปะของ “ส้ม” ที่ทำมาโดยตลอดบทสัมภาษณ์นี้คงเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เพราะเซรามิกที่ก่อรูปขึ้นเหล่านั้นถูกทำมาด้วยความรักและความทุ่มเท

พรไพลิน กมลสุนธร หรือ ส้ม เจ้าของร้าน Workspace.ss ร้านขายสินค้าเซรามิกออนไลน์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการจัดบ้านแล้วไปเจออุปกรณ์เซรามิกที่เคยทำ จึงเริ่มซื้อดินมาปั้นจนออกมาอยู่ในรูปแบบของถ้วยใบเล็ก ๆ ในสไตล์ของส้มเองจนก่อตัวกลายเป็นร้าน “Workspace.ss”

กระบวนการผลิตทุกกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ส้มเล่าว่า “เทคนิคที่ใช้ทำเซรามิกเป็นงานที่ขึ้นรูปด้วยมือ ใช้สองมือในการทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการตัดด้วยมือ ตกแต่งด้วยมือ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่งานปั้นเซรามิกเป็นงานที่ค่อนข้างข้างใช้เวลาในการทำ ทว่าเรากลับชอบเพราะการขึ้นรูปด้วยมือจะมีวิธีในการบีบซึ่งสามารถสร้างเอกลักษณ์ของความเป็นตัวเองและแสดงถึงความรักในงานแต่ละชิ้นได้ดี”



สำหรับ ส้ม ความรักในฐานะนักปั้นเซรามิก คือความสุขจากการได้ปั้นทุกงานด้วยมือของตนเอง และความรักอีกอย่างนอกจากการปั้นเซรามิกคงเป็นความรักที่ส่งผ่านงานทุกงานที่ทำ “ทุก ๆ งานปั้นเซรามิกที่ลูกค้าได้ไปจากเรานั่นแหละคือความรักที่เราให้เขาไปหมดแล้ว” 

สำหรับส้มความรักที่มีต่อศิลปะยังเปรียบเสมือนคู่ชีวิตที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกันและกัน “บางวันไม่อยากทำ ไม่อยากออกไปที่สตูตัวเอง ไม่อยากจับเลยก็มี บางวันก็ทำทั้งวัน พังแล้วก็ทำใหม่ พังแล้วก็ทำใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็ยังอยากจะทำเซรามิกเหล่านี้ให้ออกมาดีในทุก ๆ วัน”

เพราะความรักที่มีต่อศิลปะคือการทดลองตลอดเวลา มีสีที่หลากหลายที่ต้องคอยผสมเพื่อก่อให้เกิดสีต่าง ๆ “สีอะไรผสมได้สีม่วง ซึ่งสิ่งนี้เราต้องทดลองต่อว่าเราอยากได้ม่วงเฉดไหน เราก็ต้องผสมเองเพราะสีมันจะขึ้นตอนที่มันผ่านกระบวนการครั้งสุดท้ายไปแล้ว หากเราไม่ทดลองตลอดเวลาระหว่างทางที่เราผ่านมาเราจะไม่เห็นอะไร”

แต่ความรักในอาชีพนักปั้นเซรามิกของ ส้ม อาจสะดุดต่อปัญหา เนื่องจากปัญหาสำคัญของการเป็นนักปั้นเซรามิก คือ การที่จะตั้งราคาที่สูงสามารถทำได้ยาก ทำให้ ส้ม มีความคิดที่น้อยใจและขาดกำลังใจ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากวัสดุอุปกรณ์ในการปั้นเซรามิกขึ้นมามีราคาที่สูง และลูกค้าส่วนน้อยที่จะเข้าใจกรรมวิธีในการผลิตเซรามิกหนึ่งชิ้น 

“ปัญหาอยู่ตรงที่คนจะมองว่า ราคามันไม่เหมาะสม ตอนเราเรียนเราก็ไม่ได้เข้าใจหรอก เราคิดด้วยว่าทำไมมันแพงจัง แต่เมื่อพอเราเริ่มเรียนเอง เริ่มรู้วัตถุดิบเริ่มรู้กรรมวิธี เราจึงรู้ว่าไม่แปลกเลยที่มันจะแพง ทุกวันนี้เราตั้งราคาของ เราก็เกรงใจลูกค้าและคิดกับตัวเองเสมอว่าแก้วใบแค่นี้จะสามารถขายได้ไหมในราคา 400 บาท ทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่ามันควรจะ 400-500 บาท แต่เราก็ตัดราคาเหลือ 350 บาทเท่านั้น เพราะเราเองก็อยากส่งความรักของเราผ่านสิ่งเหล่านี้เช่นกัน” ส้ม กล่าว

ถึงแม้ว่าระหว่างทางที่เดินมาอาจจะสะดุดบ้าง แต่ส้มยังรักในอาชีพนักปั้นเซรามิกและยังอยากที่จะทำเซรามิกเหล่านี้ต่อไป “ทุกครั้งที่เราได้สอน หรือจัด Workshop เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่เค้าชอบทำ เค้าบอกว่าเค้าชอบดูงานเซรามิกนะ เค้าชอบจับ ชอบสีสัน ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินก็เป็นสิ่งที่เรายิ้มตามเพราะว่าเรายังอยากเห็นวงการเซรามิกไปได้ไกลมากกว่านี้” 

นอกจากนี้คุณส้มยังมองว่าประเทศไทยก็มีพื้นที่ของศิลปะอยู่แล้วก็จริง แต่ถ้าหากว่าภาครัฐสนับสนุนพื้นที่ของงานศิลปะมากขึ้นที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ในเมืองหลวง หรือเขตเมืองใหญ่ ๆ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถรู้จักงานศิลปะและเข้าใจถึงคุณค่าของมันเหมือนที่เราเห็น 

โดย ส้ม กล่าวในตอนท้ายว่า “เราต้องทำให้ผลงานของนักศิลปะไม่ว่าแขนงไหนก็ตามได้มีโอกาสที่สามารถเผยแพร่งานของตนเอง หรือสามารถให้ข้อมูล ว่าศิลปะที่เค้าทำมันคืออะไร เพียงเท่านี้คุณค่าเล็ก ๆ ที่เราเห็นก็จะใหญ่ขึ้นได้” 


1 ล้าน จาก 10 ล้าน มิตรภาพและความรักที่มีต่อสัตว์ของ “หมออ็อป” จาก Soi Dog 

ชลธิชา จันแปงเงิน

“การช่วยเหลือสัตว์ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นอีกมุมหนึ่งที่เรารักมัน” คำพูดของหมออ็อปเมื่อกล่าวถึงความรักในการเป็นสัตวแพทย์ 

“หมออ็อป” หรือ ตันติกร รุ่งพัฒนะ คือสัตวแพทย์และผู้อำนวยการฝ่ายจัดการประชากรสุนัขและแมวประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย หรือ Soi Dog มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย คือสถานที่ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดที่ไร้คนสนใจให้ได้รับการดูแลรักษา หาบ้านให้สัตว์ ช่วยเหลือเคสทารุณกรรม และทำหมัน โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืนในการจัดการจำนวนประชากรสัตว์จรจัด รวมทั้งจัดหาการรักษาพยาบาลที่จำเป็น 

หากต้องเล่าความรักที่มีของ “หมออ็อป” ต่อสัตว์คงต้องหมุนนาฬิกาย้อนกลับที่จุดเริ่มต้น หมออ็อปเล่าว่า “หมอต้องไปเรียนรู้งานที่ภูเก็ตใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อเติมประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลสุนัขในศูนย์พักพิงสัตว์ ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานแต่ความรักที่มีต่อสัตว์นั้นได้ก่อตัวในชีวิตของหมอแล้ว หลังจากนั้นได้เริ่มเข้ามาช่วยมูลนิธิ Soi Dog ดำเนินงานในกรุงเทพตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มวางรูปแบบช่วยเหลือแบบสัญจรในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งสิ่งเหล่านี้คุ้มค่ามากเพราะเป็นสิ่งไม่เคยได้เรียนจากมหาวิทยาลัยเพราะในมหาวิทยาลัยสอนให้เรารักษา แต่การได้ทำสิ่งเหล่านี้ได้สอนให้เราช่วยเหลือสังคม” หมออ็อปจึงเป็นอีกหนึ่งในสัตวแพทย์ที่เข้ามาเพราะต้องการช่วยเหลือสุนัขและแมวจรไร้บ้านให้ได้รับการรักษาที่ดีและเต็มไปด้วยความรัก 


สำหรับหมออ็อป ความรักในฐานะสัตวแพทย์ในมูลนิธิ Soi Dog คือ การช่วยเหลือสัตว์ “การได้มาทำตรงนี้เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เรารักที่จะทำและการหันหลังกลับมาทำเพื่อสัตว์เหล่านี้ จึงทำให้ได้รู้ว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้มันส่งผลลัพธ์ต่อคนอื่นได้อีกมากมาย และได้ไปถึงสุนัขและแมวที่ไม่มีใครสนใจ ได้ไปถึงเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายเรามาก” หมออ็อปกล่าว 

สำหรับหมออ็อปความรักที่มีต่อสัตว์ยังเปรียบเสมือนความรักชั่วนิรันด์ เพราะทุก ๆ การกระทำนั้นล้วนผ่านจากความรักและการกลั่นกรองที่สมบูรณ์แบบ “ทุกการกระทำต้องรอบคอบ ทุกการกระทำต้องผ่านการกลั่นกรองและคิดมาตลอด เพราะสิ่งใดก็ตามที่มันสำเร็จมันจะสำเร็จในภาพใหญ่รวมถึงสิ่งใดที่ผิดพลาดมันจะกระทบในวงกว้างเช่นกัน ดังนั้นมันก็เป็นงานที่เรารักที่จะทำและเป็นงานที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน”

เพราะความรักที่มีต่อสัตว์คือการช่วยชีวิตสัตว์ สัตว์หลากหลายตัวที่อยู่ตามตรอกซอยต่าง ๆ ก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน จึงทำให้หมออ็อปมีมุมมองความรักที่ว่า “การที่เรารักษาสัตว์นั้นต้องสร้างประโยชน์แก่สัตว์ที่ได้รับการรักษาจากความรัก ความเมตตาของเรา และต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงให้สัตว์เหล่านั้นดีขึ้น” 

แต่ความรักในอาชีพสัตวแพทย์อาจเดินบนทางที่ต้องพบอุปสรรค ซึ่งสำหรับหมออ็อปอุปสรรคสำคัญของการเป็นสัตวแพทย์ใน Soi Dog คือ การทำความเข้าใจกับคน โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ที่มองลงไปที่ตัวสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่ ศาสนา อารมณ์ หรือความต้องการส่วนตัว เช่น คนที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ส่วนใหญ่ ก็มีความต้องการที่อยากจะปัดปัญหาให้พ้นตัวโดยการย้ายหรือจับสัตว์ออกไป แต่กลับยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้มีสุนัขกลุ่มใหม่เข้ามาในพื้นที่ และกลับมาสร้างปัญหาแบบเดิม ๆ ทำให้ปัญหาที่คุณหมอและทางมูลนิธิฯพยายามช่วยกันแก้ไขกลับไม่หมดไป

แต่ความรักในอาชีพสัตวแพทย์ของหมออ็อปก็ไม่ได้หายไป ยังยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไปซ้ำยังคอยสอนเนื้องานให้แก่เด็กรุ่นใหม่เข้าใจถึงมุมมองความรักที่มีต่อสัตว์ “ทุกครั้งที่หมอได้มีโอกาสแนะนำเด็กรุ่นใหม่ หมอจะค่อย ๆ เล่าให้เขาฟังว่ามันไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ใครอยากจะทำก็ทำ แต่สิ่งเหล่านี้มันเริ่มมาจากปัญหามันอยู่ตรงไหนเราจะแก้มันอย่างไร ทุกครั้งหมอจะพยายามแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสุนัขและแมวจรจัด หรือว่าสัตว์ด้อยโอกาสปัญหามันอยู่ตรงนี้ และน้องอยากจะให้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นอย่างไร ถ้าอยากให้มันดีขึ้นสุนัขจรจัดลดลง เราต้องมาตั้งเป้าหมายกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุจริง ๆ ไม่ใช่แค่วาดฝันแต่ต้องวาดให้เป็นเป้าหมาย” 

หมออ็อปมองว่า ต้องการให้ภาครัฐตั้งงบประมาณเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงไม่ใช่สัตว์ปศุสัตว์ เพราะเมื่อหันมามองสัตว์เลี้ยง พวกเขาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความรัก และนอกจากจะมีงบประมาณแล้วยังต้องมีบุคลากรที่เพียงพอด้วย เพราะว่าในปัจจุบันนี้บุคลากรมีไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือสัตว์ ดังนั้นเรื่องของการจ้างสัตวแพทย์ในทุกจังหวัดและงบประมาณที่จะรวมมาถึงสัตว์เล็ก เพราะสัตว์เล็กก็เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไม่ใช่แค่ปศุสัตว์อีกต่อไป

หมออ็อปยังทิ้งท้ายว่า “การช่วยเหลือสัตว์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง Soi Dog เราต้องการที่จะให้หลาย ๆ องค์กรเข้ามาช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ เพื่อที่จะช่วยเหลือสัตว์จรให้ครบทั้งประเทศ และพื้นที่ที่เราไปช่วยเหลือนั้นต้องสำเร็จได้แน่นอนเพราะพวกเราทำด้วยความรัก ความเข้าใจ และหวังว่าวันหนึ่งปัญหาที่พวกเราพยายามแก้จะดีขึ้น”


ความรักเล็ก ๆ ของ ‘ครูกานต์’ เกอทู จากศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ 

วริษา สุขกำเนิด

“ทำให้เด็กมีความสุข เราก็มีความสุข” คือคำพูดของครูกานต์เมื่อกล่าวถึงความรักในการเป็นครู

‘ครูกานต์’ หรือ เกอทู คือคุณครูอาสาจากศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอิรยวดี อ.แม่สอด จ.ตาก ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ คือสถานศึกษาที่รับรองเด็กและเยาวชนที่อพยพหรือย้ายถิ่นฐานมา บริหารจัดการโดยชุมชนหรือองค์กรการกุศล และมีการเรียนรู้ที่ส่งเสริมภาษา วัฒนธรรม หรือหลักสูตรของประเทศต้นทาง เด็กที่เข้ามาเรียนในศูนย์การเรียนรู้มีทั้งเด็กที่ต้องการกลับไปศึกษาต่อในประเทศบ้านเกิด และเด็กที่ไม่สามารถศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลไทย

เนื่องด้วยศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสถานศึกษา คุณครูในศูนย์การเรียนรู้จึงมีบทบาทในฐานะครูอาสา ที่มีทั้งคนไทย คนเมียนมาร์ และชนชาติอื่นๆ คุณกานต์ ก็เป็นหนึ่งในคุณครูหนึ่งในนั้นที่เข้ามาเพราะต้องการให้เด็กๆ ข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น

“เราเห็นเด็กในศูนย์การเรียนรู้ไม่มีครูดูแล ไม่มีครูสอนเขา เด็กก็จะอยู่นอกระบบ (การศึกษาของรัฐ) เพราะฉะนั้นผมก็เห็นว่า ถ้าเราจะปล่อยให้เด็กพวกนี้อยู่นอกระบบ ผมก็ต้องมาเป็นครูอาสาอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ (เพื่อทำให้เขาได้) เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา” ครูกานต์เล่า

สำหรับครูกานต์ ความรัก ในฐานะคุณครูในศูนย์การเรียนรู้ คือความสุขจากการทำให้เด็กๆ ได้ความรู้และพัฒนาตัวเอง “ทำให้เด็กมีความสุข เราก็มีความสุข” ครูกานต์บอก 

สำหรับครูกานต์ ความรักของการเป็นครูยังหมายถึงความรักที่ได้รับจากเด็กนักเรียน ความเอ็นดู และความผูกพันเหมือนลูกคนหนึ่งที่อยากให้เขาอยู่กับเรานานๆ “เราเป็นครู เรามาโรงเรียน เราก็เจอนักเรียนทักทาย ครูครับ ครูขา เราก็รู้สึกดีใจเหลือเกิน เราทิ้งเขาไปไม่ได้ ใจเราก็มีความรักความผูกพัน” 



เพราะศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติมีนักเรียนหลากหลายเชื้อชาติที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา จึงทำให้คุณครูกานต์มีมุมมองต่อความรักที่ไร้พรมแดน “ความรักคือการไม่แบ่งแยก ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นใคร มาจากไหน เชื้อชาติไหน เราก็ต้องไม่แบ่งแยก เราจะรักเขาเท่า ๆ กัน และสั่งสอนอบรมเขาเหมือนกัน” 

แต่ความรักในอาชีพครูอาจเผชิญอุปสรรค ซึ่งสำหรับครูกานต์ อุปสรรคสำคัญของการเป็นครูในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามคือค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย ทำให้คุณครูมีคุณภาพชีวิตที่ยากลำบาก และขาดกำลังใจ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากงบประมาณสนับสนุนที่มีจำกัด และการที่ศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานศึกษา ทำให้คุณครูที่นี่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นครู และไม่ได้รับเงินเดือนที่ครูในระบบได้รับ

“เด็กที่จบมาจากศูนย์การเรียนรู้ที่ผมสอนส่วนมากเป็นพนักงานในศูนย์การค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อ ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมกันได้เงินเดือนละ 9000-10000 กว่าบาท แต่ผมทำงานในศูนย์การเรียนรู้จะครบ 10 ปีแล้ว เงินเดือนในตอนนี้ยังได้ 7000 บาทต่อเดือน” ครูกานต์ระบาย

อย่างไรก็ตาม ครูกานต์ก็ยังรักในอาชีพครู และยังอยากทำอาชีพนี้ต่อไป “ถ้ามีคนถามว่าทำไมไม่ไปทำงานที่อื่นที่เงินเดือนดีๆ บางครั้งเราก็น้อยใจ เรามาถึงจุดนี้แล้ว ทำไมเราต้องแยกทางไปจาก (อาชีพครู) ตรงนี้ ถ้าผมไปทำงานที่อื่น คนที่จะมาทำงานแทนผม เขาจะมีใจรัก (ในความเป็นครู) เหมือนผมไหม เขาจะเข้ากับเด็กได้ไหม เขาจะเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ไหม บางทีคิดไปคิดมาก็น้ำตาไหล” ครูกานต์บอก

ครูกานต์มองว่า แม้มูลนิธิจะมีงบประมาณสำหรับศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอยู่แล้ว แต่หากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการศึกษา ทั้งการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียน รวมถึงค่าตอบแทนของครู คุณครูก็จะมีกำลังใจในการทำงาน และพัฒนาความรู้ความสามารถในการสอนเด็กยิ่งขึ้น “คุณครูแต่ละคนทำงานเหนื่อยหนักมาก เรารักในอาชีพเป็นครู เราทิ้งอาชีพนี้ไปไม่ได้” ครูกานต์ย้ำ

“เราต้องทำให้เด็กที่อยู่นอกระบบมาอยู่ในระบบการศึกษาให้หมดทุกคน ถ้าเราทำได้ หรือสนับสนุนค่าตอบแทน และการอยู่การกินของครูสักหน่อย ทุกอย่างก็จะดีขึ้น” ครูกานต์ปิดท้าย


ให้ “นับดาว” กี่ครั้ง ก็ยังมีหวังจะเห็นสิทธิสวัสดิการของ “คนหูหนวก”

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

** บทสัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดจากภาษามือสู่ภาษาเขียนโดย ชนากานต์ พิทยภูวไน ล่ามภาษามือ

“ความรักสำหรับเรา คือ การได้เห็นคนหูหนวก มีอาชีพ มีชีวิตที่ดี ได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างคนหูดี”

นี่คือความรักในนิยามของ บี – นับดาว องค์อภิชาติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองประกวด Miss & Mister Deaf Thailand และ Mister Deaf Gay Thailand และรองหัวหน้ากองประกอง Miss & Mister Deaf Universum ซึ่งเวทีประกวดเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ให้คนหูหนวกได้โชว์ศักยภาพ พร้อมบอกเล่าปัญหาที่ผ่านมาของคนหูหนวก และขับเคลื่อนประเด็นสิทธิและสวัสดิการให้กับคนหูหนวกมากขึ้น

ทำไมสิทธิสวัสดิการเพื่อคนหูหนวกถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ?

“คนมักจะคิดว่า คนหูหนวกแค่ไม่ได้ยิน แต่ยังสามารถสื่อสารภาษามือและภาษาไทยแบบอ่านออกเขียนได้เหมือนคนหูดี”

ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่นี้ บี ได้บอกเล่าว่า ภาษาไทยมือนั้นจะมีไวยากรณ์ที่ต่างจากภาษาไทยพูด ทำให้คนหูหนวกมีไวยากรณ์ในการใช้ภาษาไทยเขียนที่ต่างจากคนหูดีที่เขียนภาษาจากคำพูด และนี่จึงเป็นเหตุที่คนหูหนวกหลายคนมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนที่การศึกษาน้อย หากหน่วยงานหรือบริษัทรับคนหูหนวกเข้าทำงาน ก็จะถูกมองเป็นคนไร้ทักษะ หรือแม้แต่ถูกมองเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย เพราะการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดี 

“ล่ามภาษามือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้คนหูหนวกสามารถใช้ชีวิต ทำกิจกรรมทุกอย่างได้อย่างคนหูดี”

แต่กระนั้น ปัจจุบันล่ามภาษามือนั้นถือเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก และเป็นบริการที่รัฐจัดหาให้คนหูหนวกอย่างจำกัด กล่าวคือ ไม่ใช่ทุกกิจวัตรที่คนหูหนวกจะสามารถขอใช้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการล่ามภาษามือจากศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ได้ ก็ต่อเมื่อเกี่ยวเนื่องกับการเข้ารับบริการทางการแพทย์ การสมัครงานหรือการติดต่องาน การร้องทุกข์กล่าวโทษ การประชุมสัมมนาอบรมต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนเท่านั้น ทำให้ในส่วนงานอื่นๆ เช่น การเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การทำธุรกรรมกับธนาคาร การติดต่อราชการเพื่อจดทะเบียนการค้า นั้นเป็นไปได้ยาก และอาจต้องรอการให้ดุลยพินิจโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ



อีกอย่างที่เป็นปัญหาคือ ที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงตีกรอบความฝันของคนหูหนวก ให้เรียนในสาขาวิชาที่จำกัด เช่น ครุศาสตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ คหกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หรือศิลปกรรมศาสตร์ เท่านั้น 

สิ่งนี้จึงกลายเป็นความทุกข์ใจของ บี เสมอมา เนื่องจากความใฝ่ฝันเมื่อครั้งยังเป็นเด็กของเธอ คือการได้เป็น นักแสดง เพราะตนชอบการแสดงละครออกทั้งกิริยาท่าทาง และการแสดงสีหน้า แต่ว่าที่ผ่านมา สาขานิเทศศาสตร์ไม่เปิดรับนักศึกษาที่เป็นคนหูหนวก และไม่จัดหาล่ามภาษามือสำหรับช่วยสื่อสารระหว่างเรียนให้ เพราะคิดว่า คนหูหนวกไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้

“หากสังคมลองเปิดโอกาสให้พวกเรา (คนหูหนวก) มากกว่านี้ ทุกคนจะรู้ว่า คนหูหนวกพัฒนาได้ มีศักยภาพ แต่อาจจะต้องมีล่ามช่วยการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดี”

ความรักในการแสดงละครของเธอ ประกอบกับทักษะการสื่อสารภาษาไทยเขียนของเธออยู่ในระดับที่สื่อสารกับคนหูดีรู้เรื่อง เธอจึงพยายามตั้งแต่เขียนขอทุนเพื่อทำละครสำหรับคนหูหนวก แม้คนรอบข้างจะมองว่า “จะมีคนมาดูหรอ? ไม่มีเสียงมันน่าเบื่อนะ” แต่เธอก็ไม่ละทิ้งความฝันนั้น จนกระทั่งเธอได้เห็นเวทีการประกวด Miss Universe Thailand ที่มีผู้เข้าประกวดแต่งกายด้วยเสื้อผ้ารูปแบบต่างๆ รวมถึงชุดประจำชาติไทย ซึ่งเธอและเพื่อนๆ ชอบมาก แต่ก็พบว่า เวทีประกวดเหล่านี้มีให้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ และเกย์ แต่ทำไมถึงยังไม่มีเวทีประกวดของคนหูหนวก จึงได้ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งกองประกวดที่มีชื่อว่า “Miss & Mister Deaf Thailand และ Mister Deaf Gay Thailand”

แม้จะดูสวยงาม หากแต่ความเป็นจริง การได้รับความสนใจจากคนหูหนวกนั้นมีเพียงแค่ระยะแรกเท่านั้น เนื่องจากเป็นที่รู้จักวงแคบ นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อปี 2012 จนถึงตอนนี้ กองประกวด Miss & Mister Deaf Thailan ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และหลายครั้งต้องเป็น บี ที่เป็นคนควักทุนทรัพย์ส่วนตัวในการให้การสนับสนุน เพราะเวทีนี้คือทางเลือกเดียวที่จะทำให้เสียงของคนหูหนวกดังขึ้น หากผู้ที่สนใจต้องการรับฟังด้วย “ใจ”

ตอนท้าย บี ได้ฝากข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาสิทธิและสวัสดิการของคนหูหนวกถึง Think Forward Center ว่า

  1. รัฐควรมีนโยบายปรับอัตราส่วนในการรับคนพิการ (รวมถึงคนหูหนวก) เข้าทำงานจากเดิม หากหน่วยงานมีพนักงาน 100 คน จะต้องมีคนพิการเข้าทำงาน 1 คน ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 คน
  2. สถานีโทรทัศน์ (ภายใต้การกำกับของรัฐ) ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดรับคนหูหนวก เช่น นักแสดงคนหูหนวก ล่ามภาษามือคนหูหนวก ในกลุ่มตำแหน่งงานที่พวกเขาสามารถทำได้ 
  3. รัฐควรสนับสนุนให้มีเครื่องมือเข้าถึงระบบราชการหรือเอกสารกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับสำหรับคนหูหนวกมากขึ้น โดยอาจพัฒนาจากระบบบริการออนไลน์ TTRS ที่มีอยู่เดิมก็ได้ 
  4. รัฐต้องปรับปรุง ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2561 ข้อ 13 ที่มีอยู่เดิม เนื่องจากไม่ครอบคลุมวิถีชีวิตของคนหูหนวกในทุกมิติ โดยอาจเพิ่มบริการ เช่น เวลาต้องเข้าร่วมงานวิวาห์ งานบวชนาค งานศพ และกิจกรรมมหรสพอื่นที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ (หูหนวก) เป็นต้น
  5. มหาวิทยาลัย ควรเพิ่มหลักสูตรภายใต้คณะมนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ ให้มีสาขาวิชาภาษามือไทยและภาษามือสากล เพื่อเร่งผลิตบุคลากรล่ามภาษามือ เพื่อลดช่องว่างด้านการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดี


รอยบาปศีลธรรม: Sex Worker กับการมอบความรักและความสุขให้แก่ผู้คน

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

“ครั้งหนึ่งเราเคยสงสัยว่า ทำไมการที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งจะยินยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง บนข้อตกลงของเงินจำนวนหนึ่ง ทำไมต้องมีกฎหมายมาคอยกำกับควบคุม”

หากย้อนเวลากลับเมื่ออายุ 20 ต้นๆ ชีวิตของ ปิงปอง – ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ก็คือชีวิตธรรมดาของหญิงสาวคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางค่านิยมจารีตที่สนับสนุนให้ผู้หญิงเป็น “ช้างเท้าหลัง” ต้องรีบแต่งงาน เพื่อรีบมีลูก คอยดูแลบ้านเรือนและปรนนิบัติสามี โดยที่เธอไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งความสัมพันธ์ของเธอและสามีจะจบลง 

“ตอนนั้นเราต้องทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก เท่าที่วุฒิ ม.3 ของเราจะทำได้”

ปิงปอง เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เพราะทุกๆ วันต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเป็นค่านม ค่าผ้าอ้อม ค่าที่อยู่เพื่อให้ตนเองและลูกอยู่ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็เงินก็ไม่พอใช้ จนกระทั่งต้องทักไปยืมเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ย่าน Night Bazaar เชียงใหม่ โดยที่ครั้งนั้นเพื่อนเธอไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องเงิน แต่ให้เธอลองไปทำงานที่สถานบันเทิงแห่งเดียวกันนี้แทนพนักงานคนที่เพิ่งออกไป

“เราค้นพบว่า บนโลกนี้มีงานที่แค่ไปเป็นเพื่อนนั่งดื่มเหล้า อยู่ด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อแลกกับเงินในจำนวน 300 บาท ซึ่งมากพอๆ กับตอนที่เราทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แถมยังมีเวลาเหลือให้ดูแลลูก และให้ตัวเองได้พักผ่อนด้วย”



หลังจากทำไปได้ซักระยะหนึ่ง ปิงปองเริ่มรู้สึกผูกพันกับงานบริการผู้คน เพราะได้พบเจอผู้คนที่หลากหลายและได้มอบความสุขให้แก่วันแย่ๆ หรือวันที่เหนื่อยล้าของผู้มาใช้บริการได้ เธอจึงตัดสินใจขยับขยายตัวเอง ด้วยการลาออกจากร้านเดิม ไปสมัครงานที่สถานบันเทิงแห่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ก่อนจะค้นพบว่า กฎระเบียบของสถานบันเทิงเหล่านี้ที่กำลังเอาเปรียบพนักงานบริการอย่างเธออยู่ เช่น หากเธอมาทำงานสายไป 5 นาที ก็อาจโดนหักเงินที่เธอจะต้องได้วันนั้นนาทีละ 5 บาท หรือหากเธอมีธุระต้องลางาน 1 วัน ก็เท่ากับว่าวันนั้นรายได้ของเธอก็จะหายไปด้วย 

ความไม่พอใจนี้ ทำให้ปิงปองสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อหวังจะฟ้องเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม ก่อนจะพบว่า เงินที่หักส่วนนี้ คือเงินส่วนที่ร้านจะต้องนำไปจ่ายส่วยให้กับตำรวจในท้องที่เพื่อให้ร้านสามารถเปิดนอกเวลาที่รัฐอนุญาตให้สถานบันเทิงเปิด หรือให้มีการค้าบริการทางเพศในร้าน และแน่นอนว่า เรื่องราวเหล่านี้นำไปแจ้งความฟ้องร้องไม่ได้ เพราะอาชีพของพวกเธอไม่ถูกบัญญัติว่าเป็นแรงงานตามนิยามของกฎหมายแรงงาน

สำหรับผู้ค้าบริการทางเพศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นฝันร้ายของคนทำงานค้าบริการทางเพศเนื่องจาก 2 กฎหมายนี้ได้ให้นิยามที่มีอาณาเขตกว้างและครอบคลุมถึงคนทำงานค้าบริการทางเพศด้วยความเต็มใจและทำอาชีพนี้อย่างสุจริต ต้องถูกจับกุม คุมขัง และต้องจ่ายค่าปรับก่อนจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งไม่มีใครรับรู้เลยว่า เพียงการจับกุมชั่วข้ามคืนเท่านั้น อาจทำให้พวกเธอเหล่านี้ถูกขึ้นประวัติอาชญากรในระบบทันที และผลร้ายนี้ก็ได้สำแดงฤทธิ์เดช เมื่อครั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้สถานบันเทิงปิดบริการ และทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศต้องออกไปสมัครงานยังบริษัทในระบบต่างๆ ก่อนจะได้รับคำปฏิเสธกลับมา เนื่องจากประวัติอาชญากร

“มันคือความตลกของบ้านนี้เมืองนี้ เนื่องจากเราทำงานในร้านที่อนุญาตให้เปิดอย่างถูกกฎหมาย แต่ลูกจ้างกลับเป็นแรงงานผิดกฎหมาย”

จนกระทั่งวันหนึ่ง ปิงปองก็ได้มาพบกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของแรงงานผู้ค้าบริการทางเพศ ทำให้เธอได้พบกับกัลยาณมิตรผู้พบเจอปัญหาเช่นเดียวกัน ก่อนจะเริ่มพากันไปทำความเข้าใจถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของสิทธิแรงงาน สิทธิขั้นพื้นฐาย สิทธิในการเข้าถึงการรักษา กระบวนการยุติธรรม และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์

หลังจากที่ปิกปองได้ศึกษาหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้เธอเห็นคุณค่าของความเป็นตัวเองและอาชีพที่เธอทำอยู่ว่า สถานบันเทิงและอาชีพผู้ค้าบริการทางเพศนั้นมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และถือเป็นแหล่งให้การสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบอาชีพอื่น เช่น รถขายหมูปิ้ง รถขายผลไม้ รถขายไก่ทอด เป็นต้น เนื่องจากสถานบันเทิงนำมาซึ่งความชุกชุมของคนที่ต้องการมาท่องเที่ยวความบันเทิง 

ขณะเดียวกัน สำหรับการทำอาชีพนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นอาชีพที่สุจริต ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แถมยังมอบความสุขให้กับคนรอบข้าง ผ่านการตกลงกันถึงขอบเขตที่ชัดเจนว่า ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง และเมื่อเสร็จภารกิจก็ต้องชำระเงินให้กับผู้ค้าบริการ ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนว่า กฎหมายปราบปรามของประเทศไทยในวันนี้ กำลังอ้างอิงกับหลักศีลธรรมอันดี ซึ่งฉากหน้าอาจดูดี แต่อีกแง่หนึ่งก็กำลังมอบความชอบธรรมให้เจ้าพนักงานรัฐซุกปัญหาการคุกคามสิทธิแรงงานของผู้ค้าบริการทางเพศเอาไว้ใต้พรม

ปิงปอง กล่าวทิ้งท้ายกับ Think Forward Center ว่า หากต้องผลักดันสิทธิและสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ ต้อง:

  1. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อคืนสิทธิความเป็นมนุษย์และความเป็นอาชีพค้าบริการทางเพศ
  2. เสนอให้รัฐสภา นำเข้าร่าง พ.ร.บ. ค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ พ.ศ. … เพื่อควบคุมการค้าประเวณี ให้ผู้ให้บริการทางเพศได้รับการคุ้มครองการทำงาน และมีอำนาจต่อรองกับเจ้าของสถานบริการ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า