เมื่อเรื่องจิตไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเรา: สหภาพวิชาชีพจิตวิทยาจึงสำคัญ

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ย้อนกลับเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่ม ‘ก้าวใจ Academy’ ได้จัดทำเสวนาที่มีชื่อว่า “ก้าวแรกสหภาพวิชาชีพจิตวิทยา” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้บุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพจิตมาพูดคุยถึงการเติบโตในสหวิชาชีพนักจิตวิทยา คุณภาพชีวิต และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อให้นำไปสู่การตกผลึกร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนสหภาพวิชาชีพจิตวิทยา นำพาบุคลากรสายอาชีพนี้มารวมกลุ่มเพื่อต่อรองให้การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงคืนสิทธิสวัสดิการ รวมถึงความก้าวหน้าในการงานอาชีพให้กับพวกเขาเหล่านี้

แต่ก่อนจะไปสู่ข้อเสนอ Think Forward Center ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกลุ่ม ก้าวใจ Academy และแนวคิดในการจัดทำสหวิชาชีพจิตวิทยาว่า ทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องขับเคลื่อน


ที่มาของกลุ่ม ก้าวใจ Academy

ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งกว่า 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ส่งผลให้ 300 นโยบาย เปลี่ยนประเทศ กลายเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลนั้น จะเร่งดำเนินการนโยบายใดเป็นนโยบายแรกๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด 

โดยหนึ่งในกลุ่มนโยบายที่ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนถึงความต้องการที่อยากให้พรรคก้าวไกลยกระดับการขับเคลื่อนอย่างมากคือ นโยบายสุขภาพจิตดี ซึ่งจะประกอบไปด้วย

1) นโยบาย ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร เพิ่มบุคลากร-เพิ่มบัญชียา-ใช้เทคโนโลยี 

2) นโยบายสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี

และ 3) นโยบายสร้างแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยดูแล-บำบัด-ฟื้นฟู-สุขภาพจิตของคนใกล้ตัว


ภาพ: กลุ่มนโยบายสุขภาพจิต จาก 300+ นโยบาย เปลี่ยนประเทศ

ที่มา: https://election66.moveforwardparty.org/policy 



แม้ว่าสุดท้าย พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสภาชิกวุฒิสภาด้วยเสียงมากพอจะตั้งรัฐบาลได้ แต่ความต้องการของประชาชนก็เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และอาสาสมัครที่สนใจในประเด็นสาธารณสุข จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะทำงานภายใต้ชื่อ “สาธารณสุขก้าวไกล” เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นวาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข รวมถึงประเด็นการจัดการเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน โดยแบ่งส่วนงานออกเป็น 2 ส่วนคือ

1) งานขับเคลื่อนในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการตั้งกระทู้ปรึกษาหารือ กระทู้สอบถามด้วยวาจา และตั้งญัตติอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย และการนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบและบุคลากรสาธารณสุขให้ครอบคลุมประเด็นสุขภาพจิต โดยส่วนนี้จะถูกรับผิดชอบโดย สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล



ตัวอย่าง การอภิปรายถึงประเด็นปัญหาสุขภาพ ผ่านการจัดงบประมาณปี 2567 ที่ไม่ตอบโจทย์
โดย สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล 
ที่มา: https://youtu.be/Mu5hZj_EffY?si=WmfE_DUHf0pV837O 

2) งานขับเคลื่อนนอกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการสร้างวาระการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสาธารณสุขต่างๆ รวมถึงประเด็นสุขภาพจิต ให้กับประชาชน และจัดตั้งทีมอาสาเพื่อขับเคลื่อนงานสาธารณสุขของพรรคก้าวไกล โดยส่วนนี้จะถูกรับผิดชอบโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงานสาธารณสุข พรรคก้าวไกล 


SOL Bar Talk #21 : Psycho / Politics การเมืองใหม่ใส่ใจสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

โดย คณะทำงานสาธารณสุขก้าวไกล
ที่มา: https://www.facebook.com/100093507450115/videos/1016494386277716 


ภายหลังการพูดคุย และตกผลึกร่วมกันภายในหลายครั้ง ทำให้คณะทำงานสาธารณสุขก้าวไกลตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มอาสาสำหรับประเด็นการทำงานด้านสุขภาพจิตเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ก้าวใจ Academy” เนื่องจากที่ผ่านมา ต่อให้ภาครัฐจะมีความพยายามสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อให้การเยียวยาสุขภาพจิตแก่ประชาชน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดย Think Forward Center ขอรวบรวมปัญหาที่ผ่านมาของเครือข่ายอาสาสมัครสุขภาพจิตเอาไว้ ดังนี้


“มิตรภาพบำบัด” อาสาสมัครด้วยใจที่ถูกลืม

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เคยกล่าวถึงคำว่า “มิตรภาพบำบัด” เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2546 ผ่านการประชุมร่วมกันของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ด้วยแนวโน้มของประชากรที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ อัมพาตและอัมพฤกษ์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งโรคเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายแล้ว ผลจากสุขภาพกายที่แย่ลงก็ยังทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปด้วย ข้อสรุปในครั้งนั้น นำมาสู่การลงนามร่วมกันของ สปสช. ร่วมกับหน่วยบริการ 16 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2549 เพื่อก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด และค่อยๆ ขยายต่อไปยังหน่วยบริการอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญ โดยมีจุดประสงค์คือ  

  1. เสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกันในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและญาติของผู้ป่วย เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้กับการเจ็บป่วยร่วมกัน 
  2. ทำให้สังคมรับรู้และตระหนักถึงการทำงานที่เชื่อมโยงกันของกาย จิต และวิญญาณ ซึ่งการทำให้สุขภาพจิตดี ก็จะส่งผลให้สุขภาพกายที่กำลังป่วยอยู่มีทิศทางที่ดีขึ้น1

โดย ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด ตามนิยามของ นพ.สงวน นี้ จะมีหัวใจหลักในการทำงานอยู่ 2 ส่วนคือ หน่วยบริการ และอาสาสมัครผู้มีจิตอาสา เพื่อทำให้ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด กลายเป็นพื้นที่ของเพื่อนผู้ให้ที่เป็นทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล อาสาสมัคร แพทย์ และพยาบาลผู้ให้บริการ มาร่วมกันเยียวยารักษาผู้ป่วยที่ต้องการการพึ่งพาด้านสุขภาพจิต รวมถึง: 
– ศูนย์กลางข้อมูล การให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยเรื้อรัง มีฐาน ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค อาสาสมัคร ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและญาติ
– แหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของชมรม และผลงานของชมรม
– จุดนัดพบ ของผู้ป่วย ญาติ อาสาสมัครและผู้สนใจ
– แหล่งให้ความรู้ อบรมและพัฒนาทักษะให้แก่อาสาสมัคร และสมาชิก
– ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพศูนย์อย่างมีส่วนร่วม เช่น ดนตรีบำบัด อรรถบำบัด หัวเราะบำบัด 
– บริการข้อมูลผ่าน เว็บไซต์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ2

อย่างไรก็ดี ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด กลับยังไม่ถูกขยายต่อออกไปในวงกว้างนัก รวมถึง 5 ปีให้หลังนี้ งบประมาณในส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลับยังเท่าเดิม เช่น

งบส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ปี 2020 อยู่ที่ 1,135.03 ล้านบาท

งบส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ปี 2021 อยู่ที่ 1,163.21 ล้านบาท

งบส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ปี 2022 อยู่ที่ 1,154.78 ล้านบาท3

งบส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ปี 2023 อยู่ที่ 1,071.47 ล้านบาท

งบส่วนงานบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ปี 2024 อยู่ที่ 1,197.61 ล้านบาท4

ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ ยังประกอบไปด้วยงบเบิกจ่ายรวมผูกพันสำหรับพัฒนาเครื่องมือและระบบการรักษาผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ ทำให้งบส่วนที่เหลือน้อยเกินกว่าจะส่งต่อไปยังเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดที่อยู่ทั่วประเทศได้  และเป็นผลให้โครงการที่เกิดขึ้นภายในศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดนั้นเกิดขึ้นได้น้อย

แต่ส่วนที่สำคัญคือ การยืนระยะในการเป็นอาสามัคร เนื่องจากที่ผ่านมา งานอาสาสมัครในสายตาของสังคมไทยนั้นถือเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทน เป็นการทำด้วยใจและไม่มีเส้นทางการเติบโตในวิชาชีพ ทำให้หลายครั้งงานอาสาเป็นงานผลัดเปลี่ยนคนเข้า-ออกเท่านั้น ไม่สามารถสร้างอาชีพและความมั่นคงให้กับใครได้

ประกอบกับ เมื่อเวลาผ่านไป บริบททางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้คนนั้นมีมากขึ้น ขณะที่จำนวนบุคลาการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดนั้นทำหน้าที่รองรับจิตใจได้แค่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังเท่านั้น ทำให้การดูแลรักษาสุขภาพจิตไม่ถูกขยายผลไปยังระดับชุมชน สถานศึกษา สถานที่ราชการและสถานที่ทำงานอื่นๆ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักรู้และให้วาระสำคัญกับประเด็นสุขภาพจิตจนกลายเป็นนโยบายสาธารณะที่ทุกระดับ ทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมืองเล็งเห็นความสำคัญร่วมกันได้ 


กำลังคนที่ “ขาดแคลน” กับสภาพจิตใจของคนที่ “แย่ลง”

สถิติจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันเรามีจิตแพทย์ทุกแขนงทั่วประเทศรวมกันอยู่เพียง 845 คน หรือคิดเป็น 1.28 คนต่อประชากร 1 แสนคน (ในจำนวนนี้เป็นจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นเพียง 295 คน) ขณะที่พยาบาลจิตเวชทุกแขนงมีจำนวนอยู่ที่ 4,064 คน หรือคิดเป็น 6.14 คนต่อประชากร 1 แสนคน และนักจิตวิทยามีจำนวนอยู่ที่ 1,037 คน หรือคิดเห็น 1.57 คนต่อประชากร 1 แสนคน 


ที่มา: https://kidforkids.org/improve-access-to-mental-health-care/


สถิติข้างต้น นอกจากจะมีนัยยะว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตอย่างมากแล้ว สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าถึงบุคลากรด้านสุขภาพจิตยาก ขณะที่สุขภาพจิตโดยรวมของคนในประเทศไทยนั้นกลับเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพสังคม และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในปี 2565  ซึ่งประเมินผลจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 150,069 คน ผลการประเมินพบว่า 35.1%  มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิต 16.4% มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และ 9.5% มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า5

สถานการณ์ที่น่ากังวลต่อมาคือ  สถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนและพื้นที่ออนไลน์ โดยผลการสำรวจของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จากเด็กจำนวน 37,271 คน ร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ผลการสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแก 44.2% จากจำนวนนี้เป็นการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 86.9% โดยเรื่องที่มักถูกกลั่นแกล้งรังแก ได้แก่ ล้อเลียนหน้าตา หรือบุคลิก 76.6% ตอกย้ำปมด้อย และด่าทอ 63.3% ทำร้ายร่างกาย 55.1%6

ขณะที่ผลกระทบของผู้ถูกกระทำ จะพบได้ตั้งแต่การมีภาวะความเครียดสะสม การไม่มีสมาธิกับการเรียน รู้สึกไม่มีใครรัก รู้สึกทำอะไรก็ไม่ดีเท่าคนอื่น รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกอยากเก็บตัว และอาจส่งผลกระทบไปจนถึงภาวะทางสุขภาพจิตจากการถูกกระทำซ้ำ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียดภายหลังเจอเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ภาวะตายตัวหลังจากได้รับบาดเจ็บทางจิตและภาวะปรับตัว เป็นต้น

ขณะที่ การเข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตสำหรับเด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยจำนวนจิตแพทย์สาขาเด็กและวัยรุ่นที่มีอยู่เพียง 295 คน โดยจำนวนนี้ 1 ใน 3 กระจุกในกรุงเทพมหานคร ขณะที่กว่า 17 จังหวัดทั่วประเทศ ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย 

ประกอบกับปัจจุบัน พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรค 3 ได้กำหนดว่า กรณีผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความยินยอมจึงจะสามารถเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตได้ ขณะที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญปัญหาจำนวนมาก ทั้งปัญหาความรุนแรงจากครอบครัวและโรงเรียน การท้องไม่พร้อม ยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเด็กในฐานะเจ้าของเนื้อตัวร่างกายและความรู้สึกของตนควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง


ภาพกราฟิกแสดงจำนวนสถานพยาบาลทั่วประเทศที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้บริการ

ที่มา: https://kidforkids.org/child-and-adolescent-mental-health-care-inaccessibility/


แนวทางงบประมาณ 2568 ต่อสถานการณ์สุขภาพจิต

หากรัฐต้องการผลักดันให้วาระสุขภาพจิตของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนสำคัญที่รัฐจำเป็นจะต้องทำเป็นอย่างแรกๆ คือ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยนำวาระที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตขึ้นมาเป็นวาระลำดับต้นๆ ในการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงบูรณาการงบประมาณไปยังกระทรวง กรม กองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วาระที่ผลักดันนั้นเชื่อมต่อระหว่างกระทรวงอย่างไร้รอยต่อ

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ จะไม่สามารถจัดสรรให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านสุขภาพจิตได้แล้ว แต่ด้วยความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในปีถัดไปยังคงสามารถเตรียมการณ์ และปรับแก้ให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันได้ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงเสนอให้จัดตั้ง คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อศึกษาปัญหาจากการจัดทำงบประมาณปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาออกแบบเป็นข้อเสนอแนะการจัดทำงบประมาณในปี 2568 

สำหรับรายละเอียดการจัดทำงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2568 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้คำขอในการจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 488,402.10 ล้านบาท โดยส่วนนี้แบ่งเป็นงบโครงการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชอยู่ที่ 1,218.37 ล้านบาท (คิดเป็น 0.24% จากงบประมาณทั้งหมด) โดยโครงการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ประกอบไปด้วย 

1.โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด งบประมาณ 100 ล้านบาท

2.โครงการขยายผลทีมวิกฤตสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน งบประมาณ 23.25 ล้านบาท

3.โครงการขยายผลระบบบริการสุขภาพจิตในผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน งบประมาณ 22.94 ล้านบาท

4.โครงการลดช่องว่างระบบบริการสุขภาพเสริมสร้างความรอบรู้พึ่งพาตนเองป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย งบประมาณ 20.55 ล้านบาท

5.โครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน งบประมาณ 20.17 ล้านบาท

6.โครงการเพิ่มศักยภาพการติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชคดีเพื่อความปลอดภัยของสังคมด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ งบประมาณ 18 ล้านบาท

7.โครงการสร้างสุขภาวะทางใจเพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่าและความสุข งบประมาณ 15.11 ล้านบาท

8.โครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น งบประมาณ 14.01 ล้านบาท

9.โครงการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเขตเมือง งบประมาณ 13.99 ล้านบาท

10.โครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน 

ไทยด้วยระบบสุขภาพจิตดิจิทัล งบประมาณ 13.41 ล้านบาท

จากโครงการและงบประมาณข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชยังคงน้อยมาก และหลายโครงการเป็นลักษณะของโครงการที่ต้องพึ่งพาการทำงานร่วมกับกระทรวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการสัมฤทธิ์ผล แต่เมื่องบประมาณลักษณะเดียวกันถูกกำกับด้วยกระทรวงที่ต่างกัน วัตถุประสงค์และตัวชี้วัดความสำเร็จต่างกันก็ทำให้โอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสุขภาพจิตของประชาชนก็ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น


“สหวิชาชีพจิตวิทยา” คือทางออก?

โดยสรุปแล้ว วิกฤตสุขภาพจิตของคนไทยนั้นมาจาก ที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อประเด็นสุขภาพจิตนั้นมีน้อย ประกอบกับการไม่ส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะในสาขาเด็กและเยาวชน และการไม่จัดทำแผนกระจายทรัพยากรบุคลากรด้านสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็เป็นผลทำให้สุขภาพจิตของคนไทยย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ

Think Forward Center และ กลุ่ม “ก้าวใจ Academy” ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะทำงานสาธารณสุขก้าวไกล มองว่า ปัญหาดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้เป็นวาระสำคัญทั้งในส่วนงานนิติบัญญัติและงานเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การออกแบบร่วมกันด้วยการ:

  • การส่งเสริมการรวมตัว หรือสนับสนุนการตั้งสหภาพผู้ดูแลสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ดูแลสุขภาพจิตในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักบำบัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน เรียกร้องค่าตอบแทน สวัสดิการ และเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสมทั้งต่อคนทำงานและผู้รับบริการ สร้างอำนาจต่อรองให้ระบบสุขภาพหันมาใส่ใจนโยบายและสวัสดิภาพคนทำงาน 
  • กำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิต โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน
  • ขยายและพัฒนาศักยภาพบุคคล ผ่านการส่งเสริมหลักสูตรอบรมวิชาชีพด้านสุขภาพจิตกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่บุคลากรภาครัฐมีอยู่ เช่น นักสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ สำหรับงานสร้างเสริม ฟื้นฟู ดูแลสุขภาพจิต  ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยไม่ขยายอัตรากำลังส่วนราชการ แต่มีบุคลากรมาปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต
  • บรรจุการให้บริการด้านสุขภาพจิตไปสู่ระดับชุมชน โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาผู้ที่มีความเครียดและความวิตกกังวล และการให้ความเข้าถึงด้านการดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ผ่านการมีแนวหน้าสุขภาพ ที่ประกอบไปด้วยสหวิชาชีพและบุคลากรด้านสุขภาพจิต
  • การจัดทำแผนการกระจายทรัพยากรกำลังคนจิตแพทย์และสหวิชาชีพ อัตราตำแหน่งที่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและภาระงาน โดยเฉพาะในระดับอำเภอ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานสุขภาพจิตในชุมชน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ โดยเน้นไปที่การกระจายทรัพยากรงบประมาณและบุคคลในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนก่อน
  • ทำงานบูรณาการร่วมกับร้านยาชุมชนถือว่าเป็นต้นทุนของชุมชน ที่มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถยกระดับให้มีบทบาทในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรให้มีความรู้เรื่องยาจิตเวชและงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น 
  • การประเมินผลคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดจากศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยปรับปรุงข้อมูลที่จะบันทึกในระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ในประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปประเมินคุณภาพชีวิตผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาได้ ซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนปรับปรุงเว็บไซต์และพัฒนาระบบข้อมูล บสต. ให้ใช้งานได้บน Mobile Application เพื่อความสะดวก
  • การบูรณาการข้อมูลสุขภาพจิต เข้ากับข้อมูลสุขภาพผ่านระบบสุขภาพดิจิทัล และฐานข้อมูลชุมชน เพื่อให้บุคลากรสุขภาพชุมชนมีข้อมูลสำหรับการวางแผนป้องกัน ฟื้นฟู ดูแลผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต
  • การประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย หาแนวทางลดระยะเวลาอนุมัติสิทธิทะเบียนราษฎร์ให้กับผู้ปฏิบัติงานในศูนย์คัดกรองต่างๆ ในการเข้าใช้ระบบระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ บสต. เนื่องจากปัจจุบันต้องใช้เวลาขออนุมัติสิทธินาน 30-45 วัน ทำให้การลงข้อมูลผู้ป่วยล่าช้า




อ้างอิง

1.https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/dept/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%B3/

2.https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6991

3.https://www.nhso.go.th/storage/downloads/operatingresult/54/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5_2565_F_WEB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD.pdf

4.https://bbstore.bb.go.th/cms/1703581885_2883.pdf

5.https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=167

6.https://www.thecoverage.info/news/content/5460

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า