Think Forward Center คิดไปข้างหน้า เพื่อความสุขในสังคมประชาธิปไตย

(ถอดความจาก ไลฟ์ บนเพจ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต 30 เมษายน 2564)  

Labor_covid_20210430

พรรคก้าวไกล และ Think Forward Center นำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล และเดชรัต สุขกำเนิด ร่วมพูดคุยถึงงานฟื้นฟูประเทศในสถานการณ์เฉพาะหน้าของการระบาดใหญ่ โควิด-19 ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว กับบทวิเคราะห์และข้อเสนอเพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการจ้างงาน รวมทั้งการวางแผนเรื่อง รัฐสวัสดิการ เพื่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของคนทั้งประเทศ

ศิริกัญญา: สวัสดีค่ะพี่น้องประชาชนทุกท่าน วันนี้เรามาในรูปแบบของรายการที่ค่อนข้างจะไม่ปกติเท่าไรนัก เนื่องจากเมื่อวานนี้ วันที่ 29 เมษายน 2564 ทาง ศบค.ได้มีการออกประกาศเพื่อยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ขึ้นอีกระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าถ้าไม่เรียกว่า ล็อกดาวน์ ก็คงมีลักษณะที่คล้ายกับล็อกดาวน์มากขึ้นไปทุกทีๆ 

ไม่ว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ดังที่ประกาศออกมาแล้ว และจะมีความจำเป็นกับการควบคุมโรคระบาดมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกวันนี้จากที่มีการแพร่ระบาดมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ประชาชนก็ยังเฝ้ารอว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเยียวยา ช่วยเหลือประชาชนอย่างไรได้บ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการประกาศออกมาเสียที

ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า มาตรการเยียวยารอบที่ผ่านๆ มาอาจเรียกว่าเป็นมาตรการซับน้ำตาประชาชน แต่รอบนี้คงจะเป็นมาตรการที่ซับเลือดประชาชนมากกว่า 

เรื่องนี้ พรรคก้าวไกล ร่วมกับ Think Forward Center ซึ่งเป็น think tank ภายใต้ พรรคก้าวไกล เสนอข้อเสนอ 7 ข้อ ที่จะเป็นเรื่องของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 

จะเห็นได้ว่าพรรคเริ่มมีหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นมา เป็นทีมใหม่ของพรรคในชื่อ Think Forward Center และวันนี้ดิฉันได้เชิญผู้อำนวยการของศูนย์มาพูดคุยกับเรา อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จะมารับหน้าที่ผู้อำนายการของศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) 

อาจารย์เดชรัตเคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมวิจัยในงานวิจัยหลายเรื่องที่เกิดอิมแพคท์อย่างมหาศาลกับสังคมและเศรษฐกิจไทย

ก่อนอื่นอยากจะให้อาจารย์ช่วยแนะนำ Think Forward Center ให้นิยามว่ามันคืออะไรสักเล็กน้อยค่ะ

เดชรัต: ต้องย้อนกลับไปก่อนว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ต้องการจะพัฒนานโยบายที่จะตอบโจทย์ของอนาคต ไม่ใช่นโยบายแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมาในอดีต ก็เลยอยากจะให้มีหน่วยงานกลางในการที่จะรับฟังและทำให้เกิดการถกเถียง เกิดการพัฒนาตัวนโยบายสาธารณะใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคมไทย เลยมีการคุยกันและผมเองก็เห็นด้วยว่าการพัฒนานโยบายจำเป็นจะต้องมาจากการระดมความคิดเห็นของผู้คนจำนวนมาก และต้องมองให้ไกลขึ้นกว่าที่ผ่านมา มองให้รอบด้านมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา  ผมก็สนใจเลยเข้ามาช่วยทำหน้าที่นี้ เพราะงั้น  Think Forward Center ก็จะทำหน้าที่ในลักษณะของการเป็นทีมงานในการที่จะวิเคราะห์ จัดให้เกิดกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน มี Policy Forum มี Policy Festival และนำเสนอแนวนโยบายใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ของสังคมไทยในอนาคตครับ

ศิริกัญญา: เนื่องจากวันที่อาจารย์จะมาเริ่มงานนี้ตรงกับวัน May Day หรือวันแรงงานสากลด้วย ก็เลยอยากเชิญชวนอาจารย์พูดคุยในเรื่องของสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันรวมไปถึงข้อเสนอต่างๆ ที่เรากำลังหยิบยกมานำเสนอให้กับสังคม จะสามารถช่วยเหลือปัญหาของพี่น้องแรงงานได้อย่างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้สถานการณ์แรงงานค่อนข้างย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นการระบาด (ของ โควิด-19) ระลอกหนึ่ง ระลอกสอง มาจนถึงระลอกสาม เราอาจจะเห็นอัตราการว่างงานที่อาจจะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก คือตอนนี้จะมีคนตกงานอยู่ที่ประมาณ 1 – 1.69% ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาเป็นหลักอาจจะต้องเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้ประชาชนที่เป็นแรงงานและยังมีงานทำอยู่ตอนนี้สามารถที่จะมีจำนวนชั่วโมงทำงานมากขึ้น เนื่องจากถ้าเราดูในส่วนของคนที่ไม่ได้ว่างงาน ยังมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานค่อนข้างมาก จากตัวเลขสถิติเราจะเห็นว่า คนที่เป็นผู้เสมือนหนึ่งว่างงานเพราะวันหนึ่งทำงานได้แค่ประมาณ 4 หรือ 5 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะนายจ้างจ้างแค่นั้น หรือ ทำวันเว้นวัน ทำให้สรุปแล้วในสัปดาห์หนึ่งอาจจะทำงานไปแค่ 20 ชั่วโมงเท่านั้น คนตรงนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาอีกราว 2 ล้านคน เราจะมีกลไกอย่างไรบ้างเพื่อช่วยเหลือประคับประคอง เพราะการที่ลูกจ้างตกงานเองก็ดี หรือการที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานก็ดีส่งผลกับรายได้ของพี่น้องประชาชน เมื่อรายได้ลดลง เราจะสามารถมีกลไกอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือชีวิตของแรงงานให้สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตระลอกที่ 3 เราจะมีกลไกอย่างไรบ้างเพื่อช่วยเหลือประคับประคอง เพราะการที่ลูกจ้างตกงานเองก็ดี หรือการที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานก็ดีส่งผลกับรายได้ของพี่น้องประชาชน เมื่อรายได้ลดลง เราจะสามารถมีกลไกอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือชีวิตของแรงงานให้สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตระลอกที่ 3 

เราจะมีกลไกอย่างไรบ้างเพื่อช่วยเหลือประคับประคอง เพราะการที่ลูกจ้างตกงานเองก็ดี หรือการที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานก็ดีส่งผลกับรายได้ของพี่น้องประชาชน เมื่อรายได้ลดลง เราจะสามารถมีกลไกอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือชีวิตของแรงงานให้สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตระลอกที่ 3 

เดชรัต: ก่อนอื่นผมคิดว่าเราจะต้องพูดถึงปัญหาผลกระทบของพี่น้องแรงงานใน 2 ลักษณะนะครับ ลักษณะแรกก็คือว่าผลกระทบนี่มันหนักกว่า GDP จีดีพีอาจจะลดลงไป 6-7% แต่รายได้ของครัวเรือนอย่างที่คุณไหมพูด ลดลงไป 10% เพราะฉะนั้นตรงนี้มันแสดงให้เห็นว่าแต่ละครัวเรือนของพี่น้องแรงงานได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงมาก เพราะงั้นมาตรการที่จะเข้ามาต้องเป็นมาตรการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองรายละเอียดเป็นรายเดือนเราจะพบว่าก่อนการระบาดระลอกสาม อัตราการจ้างงานจริงๆ เริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว โดยเฉพาะประมาณเดือนธันวา (2563) แต่เราก็มาเจอระบาดระลอกสอง แล้วพอกำลังจะดีขึ้นก็มาเจอระบาดระลอกสาม 

สิ่งที่ Think Forward Center คิดก็คือว่าตอนนี้ทำอย่างไรไม่ให้ผลกระทบหนักไปกว่าเดิม เราจึงคิดมาตรการ 

  1. ให้เกิดการพยุงการจ้างงาน พูดง่ายๆ ว่าให้คงรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ โดยที่เราเสนอให้มีการอุดหนุนเงินประมาณ 30% ของเงินเดือนให้กับนายจ้างเพื่อให้คงการจ้างงานเอาไว้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3,500 บาท / เดือน มาตรการนี้สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเข้าโครงการไม่เกิน 100 คน / สถานประกอบการ พูดง่ายๆ ก็คือ สำหรับ SMEs เป็นหลัก ถ้าทำตามมาตรการนี้ เราน่าจะสามารถคงการจ้างงานได้สัก 17 ล้านตำแหน่งที่ยังสามารถมีงานทำ หรือมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนส่วนนี้จากรัฐบาล
  2. ทำอย่างไรที่จะเกิดการจ้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้น จริงๆ ภาครัฐเองก็มีมาตรการแบบนี้เช่นกัน จะเป็นโครงการจ้างงานใหม่ที่รัฐบาลจ่ายเงินร่วม หรือเป็นการจ้างงานใหม่ที่เป็นของหน่วยราชการ แต่พบว่ามันมีความล่าช้า และมีข้อติดขัดซึ่งเราคิดว่าจะต้องเร่งส่วนนี้ให้ดีขึ้น โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยน่าจะมีสัก 200,000 รายที่จะเกิดการจ้างงานใหม่ เพราะตัวเลขของบัณฑิตที่จบมาในปีก่อน (2563)  รวมกับปีนี้ (2564) น่าจะประมาณ 500,000 รายที่ยังไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของการจ้างงานภาครัฐควรจะต้องมากทีเดียว อย่าลืมว่าภาคเอกชนถ้าจะให้จ้างงานใหม่น่าจะเป็นเรื่องยาก สำหรับภาคเอกชนเราจึงเน้นให้คงการจ้างงานเดิมไว้ มีอีกทางที่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจนั่นก็คือ การเกณฑ์ทหาร เกณฑ์ทหารก็เหมือนการจ้างงานแต่เป็นการจ้างงานโดยกองทัพ เพียงแต่อาจจะไปทำงานที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้มีตัวทวีคูณในทางเศรษฐกิจมาก และมีแต่ผู้ชาย ถ้าเราเสนอให้มันมีลักษณะการใช้งบประมาณก้อนเดิม แต่มาจ้างงานที่ไม่ใช่การเกณฑ์ทหาร เป็นการมาทำงานเพื่อสังคม และเป็นการจ้างงานที่ไม่จำกัดเพศสภาพ

เกณฑ์ทหารก็เหมือนการจ้างงานแต่เป็นการจ้างงานโดยกองทัพ เพียงแต่อาจจะไปทำงานที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้มีตัวทวีคูณในทางเศรษฐกิจมาก และมีแต่ผู้ชาย ถ้าเราเสนอให้มันมีลักษณะการใช้งบประมาณก้อนเดิม แต่มาจ้างงานที่ไม่ใช่การเกณฑ์ทหาร เป็นการมาทำงานเพื่อสังคม และเป็นการจ้างงานที่ไม่จำกัดเพศสภาพ

  1. ผมคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ดีขึ้นเรายังมีความจำเป็นต้องดูเรื่องของสวัสดิการของแรงงานและครอบครัว ซึ่งเราอาจจะแบ่งเป็น 3 ส่วน
  • สำหรับคนทำงาน เราเสนอให้มีมาตรการเยียวยา 3,000 บาทเป็นเวลา 2 เดือน ครอบคลุมประมาณ 50 ล้านคน
  • ผู้สูงอายุ เราเสนอให้ปรับจากที่เคยได้ 600 บาท ขึ้นไปเป็น 1,000 บาท / เดือน ทุกคน
  • เงินสนับสนุนเด็กเล็ก ซึ่งตอนนี้ได้ 600 บาท / เดือนอยู่ แต่ได้เฉพาะพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาท / ปี เราอยากให้ได้ทุกคน ทุกครัวเรือน โดยไม่ต้องจำกัดที่รายได้ 

ศิริกัญญา: เท่าที่อาจารย์พูดมา เป็นแพ็กเกจที่ค่อนข้างใหญ่และค่อนข้างจะครอบคลุมประชาชนในทุกกลุ่มทั้งที่เป็นแรงงานที่ต้องการความมั่นคงในการจ้างงาน ทั้งที่เป็นประชาชนที่อาจจะประกอบอาชีพอิสระที่ต้องการเงินช่วยเหลือประคับประคองในเรื่องของค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กที่ต้องการการดูแลในช่วงแรกเกิด ผู้สูงอายุที่จะมีบำนาญที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก็จะได้รับการช่วยเหลือด้วย ทั้งหมดทั้งแพ็กเกจนี้ต้องเข้าใจว่าคงจะต้องใช้เงินมากเกินไปกว่าที่รัฐบาลได้เตรียมหน้าตักเอาไว้ ถูกไหมคะ

เดชรัต:  รัฐบาลพูดว่ามีอยู่ประมาณ 3 แสนล้าน แต่ตัวเลขที่เราเสนอ อย่างเช่นเรื่องการพยุงการจ้างงาน ก็อาจจะใช้เกือบๆ 1 แสนล้าน ส่วนที่เป็นเรื่องของการเยียวยาสำหรับ 50 ล้านคน ตรงนั้นน่าจะใช้ประมาณ 3 แสนล้าน รวมกันเบ็ดเสร็จก็ประมาณ 4 แสนล้าน แต่ถ้ารวมเรื่องการจ้างงานด้วยก็น่าจะมากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลมีอยู่ หรือรัฐบาลประกาศว่ามีอยู่ คือจริงๆ อาจจะมีมากกว่านั้น แต่นี่คือตัวเลขที่รัฐบาลประกาศ เพราะงั้นผมคิดว่าอันนี้มันกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาลดูเหมือนจะลังเลที่จะประกาศมาตรการเยียวยา ขณะเดียวกันความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนี่ไม่ต้องลังเลเลย เขาเดือดร้อนทันที ประกาศปิดร้านอาหาร ปิดโน่นนี่ต่างๆ รายได้ของคนจำนวนมากลดน้อยลงไปทันที เพราะงั้นผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะลองคิดดูว่าน่าจะใช้งบประมาณอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าเราก็น่าจะมีคำตอบว่าจริงๆ แล้วมันมีอยู่แค่ 3.8 แสนล้านจริงหรือเปล่า  

ศิริกัญญา: ใช่ค่ะ ถ้าเกิดเรามองเฉพาะเท่าที่มีอยู่ที่หน้าตัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่เหลืออยู่ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท หรือว่าตัวงบกลางที่จากเดิมมีทั้งหมด 140,000 ล้านบาท แต่ก็ใช้ไปแล้วบ้างประมาณ 20,000 ล้านบาทก็ทำให้ถ้าจะใช้ตอนนี้เลย การเยียวยาเฉพาะหน้า เร่งด่วนจะมีทั้งหมด 3 แสน 4 หมื่นกว่าล้านที่จะสามารถหยิบใช้ได้ทันที เพราะว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมันรอไม่ได้อย่างที่อาจารย์บอก ดิฉันเองเริ่มทำโปรเจ็คท์ “วัคซีนแก้หนี้” คือให้ประชาชนส่งข้อมูลเรื่องหนี้ แล้วเราก็จะให้คำปรึกษาว่าจะแก้ปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของเขาได้ยังไงบ้าง ปัญหาหลักๆ ที่เป็นต้นตอของการที่เขาชำระหนี้ไม่ได้ หรือมีปัญหาหนี้สิน ก็เป็นเพราะเรื่องของรายได้ที่ลดลง หรือว่าตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดหรือว่ามาตรการควบคุมต่างๆ นี่ทั้งนั้น ดังนั้นเราคงต้องเลือกว่าจะให้เป็นหนี้ของประชาชน หรือควรจะเป็นหนี้ของรัฐบาล

ปัญหาหลักๆ ที่เป็นต้นตอของการที่เขาชำระหนี้ไม่ได้ หรือมีปัญหาหนี้สิน ก็เป็นเพราะเรื่องของรายได้ที่ลดลง หรือว่าตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดหรือว่ามาตรการควบคุมต่างๆ นี่ทั้งนั้น ดังนั้นเราคงต้องเลือกว่าจะให้เป็นหนี้ของประชาชน หรือควรจะเป็นหนี้ของรัฐบาล

ซึ่งดิฉันคิดว่าถ้าจะต้องเป็นหนี้โดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของประชาชน ก็ควรจะต้องให้รัฐบาลเป็นหนี้แทน 

ถ้ายังกังวลว่าเราจะสามารถกู้เงินได้ไหม 60% ต่อ GDP มันเยอะมากเกินไปหรือยัง ดิฉันก็พยายามที่จะไปดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่างๆ ในแต่ละประเทศก็พบว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกประเทศหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า ของประเทศไทยก็ยังถือว่าไม่ได้สูงเกินกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ดิฉันไม่อยากให้มองแค่ตรงนั้น อยากให้ดูที่ตัวภาระที่จะตกกับงบประมาณในการผ่อนมากกว่า เพราะเหมือนเวลาเราไปกู้หนี้ยืมสินจากแบงก์ แบงก์ก็จะดูว่าเราสามารถที่จะจ่ายในแต่ละเดือนได้หรือเปล่า ไม่ได้ดูว่าก้อนหนี้ทั้งหมดเป็นเงินเท่าไหร่ และเงินเดือนเราเป็นเท่าไหร่

เดชรัต: ซึ่งถ้าเราต้องจ่ายหนี้มาก เงินที่เราจะเอามาใช้จ่ายจริงๆ ก็จะน้อยลง เพราะเราต้องผ่อนชำระหนี้มาก

ศิริกัญญา:  ใช่ค่ะ ก็เลยเป็นที่มาว่าถ้าเราต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกสัก 1 ล้านล้านบาท ตัวเลขมันอาจจะเยอะ แต่ถ้าเราคิดว่าเราต้องผ่อนจ่ายเท่าไหร่ในแต่ละปี จะเป็นภาระกับงบประมาณเท่าไหร่ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 12.5% ซึ่งยังอยู่ในกรอบของวินัยการเงินการคลังที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15% ถือว่าเรายังพอมีความสามารถที่จะกู้เพิ่มถ้ามันเป็นความจำเป็น เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่จะต้องแก้โดยเร่งด่วน แต่ว่าที่น่าเสียดายก็คือว่ารัฐบาลที่จะต้องมาทำหน้าที่กู้เงินอีกก้อนหนึ่ง อาจจะไม่สมควรที่จะให้เป็นรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ อีกต่อไป รอให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามา มาทำการกู้เงินเพื่อนำมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน รวมไปถึงทำแผนฟื้นฟูที่จะสามารถทำได้บรรลุผล บรรลุเป้าหมายมากกว่าที่ผ่านมา

เดชรัต: ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็คือการใช้เงินที่กู้มาในลักษณะที่ล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนของหมวดสาธารณสุข ซึ่งเบิกจ่ายได้ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งเลย แผนฟื้นฟูต่างๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงบางครั้งก็มีการดำเนินการในลักษณะที่มีผลในทางการเมืองตามมา อย่างเช่น แต่งตั้งรัฐมนตรีของพรรคตัวเองลงไปคุมพื้นที่ที่หวังจะสร้างคะแนนนิยม อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่เราจะมีรัฐบาลที่มีความโปร่งใส มีความชอบธรรมในทางระบบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่มาบริหารทรัพยากรก้อนนี้ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก 

ขณะเดียวกันผมคิดว่าระยะเวลานี้มันก็เป็นระยะเวลาที่เราอาจจะต้องเริ่มคิด ไม่ใช่แค่เรื่องเยียวยาอย่างเดียว แต่ต้องคิดเรื่องฟื้นฟูด้วย เพราะว่ามันจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อการแพร่ระบาดลดลง การได้รับวัคซีนแม้ว่าจะได้ช้าแต่เริ่มได้มากขึ้นแล้ว ประเทศอื่นๆ เขาได้กันไปก่อนแล้ว เขาก็เริ่มคิดเรื่องจะไปเที่ยวกันแล้ว เริ่มจะทำธุรกิจกันแล้ว เพราะงั้นผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องเริ่มคิดเรื่องของแผนฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว หรือเรื่องการส่งออกเอง ซึ่งก็เป็นตัวหลักของเศรษฐกิจเรา ซึ่งก็ดร็อปไปเยอะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอันนี้เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องคิด แม้เราจะพยายามทุ่มกับการท่องเที่ยวหรือการส่งออกให้ดีขึ้นอย่างไร แต่ก็คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี อาจจะถึง 2 ปีด้วยกว่าจะกลับสู่จุดเดิม ซึ่งนั่นก็แปลว่าเราก็ต้องไปคิดเรื่องของเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ตามมาอีกด้วย 

ศิริกัญญา:  จริงๆ แล้วรัฐบาลก็มีแผนฟื้นฟู แต่ก็ยังทำไปไม่ถึงไหน พอมีโควิดระลอกใหม่เข้ามาก็ทำให้เราต้องทบทวนแผนฟื้นฟูที่เคยมีมาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยการเปิดประเทศ ยิ่งเปิดช้าไม่ใช่แค่ว่านักท่องเที่ยวจะมาช้า ยิ่งเราเปิดช้าไปเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวที่ตอนนี้ที่เขามีความกระตือรือร้นอยากที่จะออกไปเที่ยว อยากที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศ เขาก็อาจจะมีจุดหมายปลายทางอื่นไปแล้วที่ไม่ใช่ประเทศไทย ก็จะยิ่งทำให้เราเสียโอกาส เสียส่วนแบ่งของตลาดที่รองรับนักท่องเที่ยวระลอกแรก หลังจากที่ทั่วโลกได้มีการฉีดวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้ากันไปแล้ว เราเสียโอกาสนี้ไปโดยที่เราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย ดังนั้นเราก็ต้องกลับมาเรื่องของวัคซีนกันอีกรอบหนึ่งว่า ถ้าเราจะยิ่งเปิดประเทศได้เร็ว เงื่อนไขเดียวที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ คนในประเทศไทยเองต้องได้รับวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจะเปิดประเทศเป็นจุดๆ เป็นรายจังหวัดตามพื้นที่นำร่องต่างๆ ภูเก็ต เกาะสมุย พังงา เชียงใหม่ หรือพัทยา เราจำเป็นที่จะต้องให้คนที่อยู่ในจังหวัดนำร่องเหล่านั้นได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ พอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ได้ ก็คือราว 70-85% ตรงนี้ก็จะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากว่าเราจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เร็วอย่างที่คาดไว้ และไม่ตกขบวน สูญเสียโอกาสที่นักท่องเที่ยวล็อตแรกจะเข้ามาเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ 

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ยังมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่จะพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงระยะปานกลาง หลังจากที่การแพร่ระบาดจบลงไหมคะ

เดชรัต: คือผมคิดว่านอกเหนือจากการที่เราได้รับวัคซีนเร็ว เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวกลับมา ในทางธุรกิจ ที่ผ่านมามันเกิดการหยุดชะงักไปเป็นเวลามากกว่า 1 ปี สำหรับท่องเที่ยวที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาตินี่มากกว่า 1 ปี เพราะฉะนั้นมันก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ธุรกิจเหล่านี้ค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมา พนักงานก็ต้องกลับคืนสู่การทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาและต้องการการเสริมอื่นๆ ไม่ว่าเรื่องของสินเชื่อ ทรัพย์สินบางอย่างที่เคยมีตอนนี้อาจจะขายไปแล้ว รถที่เคยใช้ตอนนี้โดนยึดไปแล้ว และจะกลับเอามาใช้ใหม่ยังไง ถ้าไม่มีรถไม่มีเรือ อาจจะไปดำน้ำไม่ได้

ผมคิดว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อที่จะทำให้กลไกการทำงานเรื่องการท่องเที่ยวครบทั้งห่วงโซ่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยที่มันขาดไป ยกตัวอย่างเช่นในกรณีสมุทรสาคร เราก็อาจต้องพูดถึงเรื่องที่พักอาศัยแรงงานที่จะไม่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นอีก และคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานต้องให้ดีขึ้นด้วย อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นไอ้ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้น ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน อันนี้เลยเป็นที่มาที่เราเสนอว่าน่าจะมีงบประมาณสำหรับแต่ละจังหวัดในการที่จะเข้าไปวางแผนฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ หรือคุณภาพชีวิตแรงงานของตนเอง โดยเราคำนวณเบื้องต้นจาก GDP ที่ลดลง โดยหลักๆ เราตั้งไว้ประมาณ 10% ของ GDP ที่ลดลงไปในช่วง 1-2 ปีนี้ ซึ่งก็จะออกมาเป็นตัวเลขประมาณ 70,000 กว่าล้านบาทที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรลงไปที่จังหวัด ถ้าให้เห็นภาพก็คือ ภูเก็ต GDP ลดลงเยอะ ก็อาจจะได้ประมาณสัก 5,700 ล้านบาท เชียงใหม่ก็ประมาณ 1,600 ล้านบาท สมุทรสาครประมาณ 2,800 ล้านบาท ที่จะต้องไปจัดการดูแล ทำให้วงจรของธุรกิจการท่องเที่ยวหรือการส่งออก หรือคุณภาพชีวิตของแรงงานกลับคืนมา ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญเพราะเราต้องอย่าลืมว่าในช่วงเวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กลไกสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดคือจังหวัด เมื่อเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราขึ้นมา เราก็ควรจะมั่นใจในจังหวัดเช่นเดิม แต่ที่ผ่านมาจังหวัดได้งบประมาณไม่เยอะเท่าไหร่ แล้วก็มักจะมีรัฐมนตรีไปกำกับ อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็อาจจะทำให้การออกแบบนโยบายในระดับพื้นที่ไม่เป็นไปตามที่จังหวัดต้องการอย่างแท้จริง ผมก็เลยคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเพิ่มเติมขึ้นมาครับ ก็คือ งบประมาณที่เป็นแผนฟื้นฟูของแต่ละจังหวัด

ศิริกัญญา:  เห็นด้วยค่ะเพราะว่าหลายๆ ครั้งพวกแผนฟื้นฟูต่างๆ จะให้แต่ละจังหวัดเป็นมาตรการแบบครอบคลุมทุกจังหวัด ได้เท่าๆ กันหมด หรือว่าใช้เกณฑ์อะไรบางอย่างอย่างเช่นจำนวนประชากร แต่ไม่ได้ใช้เกณฑ์ในเรื่องของผลกระทบที่จังหวัดนั้นได้รับ หรือว่าที่ประชาชนในจังหวัดนั้นได้รับ การที่เราพุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวของจังหวัดเหล่านี้ ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางออกที่ดี แต่ว่านอกเหนือจากแผนที่จะช่วยทั้งท่องเที่ยวและส่งออก อาจารย์ว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เราควรจะต้องฟื้นฟูยังมีอะไรอีกคะ

เดชรัต: ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องเลือกภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เพื่อที่จะทำให้เกิดการฟื้นฟูหรือเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งไอ้เหตุผลข้อนี้มันไม่ได้สำคัญเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ที่เราได้รับผลกระทบมาจากโควิด จริงๆ แล้วมันเกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว ลักษณะของการจ้างงานมันมีการเปลี่ยนไป เพราะมันมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้น ใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องหาสิ่งที่เราเรียกว่า New Growth Engine ในเชิงของการจ้างงาน ไอ้ตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจก็เติบโตได้ ในขณะเดียวกันก็มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วย 

เพราะแม้กระทั่งท่องเที่ยวและส่งออกก็อาจจะเป็นไปได้ว่าสามารถที่จะฟื้นตัวในทางธุรกิจกลับมาอยู่ที่จุดเดิม แต่ก็เป็นไปได้ว่าการจ้างงานอาจจะไม่กลับมาที่จุดเดิม เราก็จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาใน sector อื่นๆ ที่มีลักษณะสำคัญ 3 ข้อ

  1. มีการเติบโตสูง แปลว่าเราแข่งขันได้ 
  2. มีความต้องการภายในประเทศอยู่เยอะ  เพียงแต่ว่ามันอาจจะมีอุปสรรคอะไรบางอย่างที่มันทำให้ความต้องการเหล่านั้นไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอุปสงค์ (demand) การที่จะซื้อของ ซื้อบริการเหล่านั้นได้ 
  3. มีการจ้างงานเยอะ

ในเบื้องต้นเราเลือกเสนอใน 5 สาขา 

1) สาขาเกษตร อันนี้ชัดเจนเลยว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานกลับบ้านประมาณสัก 2 ล้านคน และจนถึงตอนนี้ยังไม่กลับเข้าเมือง บางคนก็ยังไม่รู้จะกลับมาได้หรือเปล่า เพราะงั้นทำยังไงที่จะทำให้ภาคเกษตรซึ่งเรามีความเข้มแข็งอยู่เดิม แล้วมาต่อยอดเรื่องอาหาร หรือต่อยอดกับเรื่องการท่องเที่ยว แล้วทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้จุดสำคัญมี 4 ประเด็น คือ

  • การแก้ไขปัญหาหนี้สินการเกษตร
  • การดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตร ซึ่งสำคัญมาก ปีนี้ (2564) ไม่อยากให้รัฐบาลพลาดเรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร เพราะถ้าพลาดอีก กำลังซื้อภายในประเทศแทนที่จะมาช่วยก็จะยิ่งฉุดลงไป 
  • การใช้เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือต่างๆ ที่เป็นตัวที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • การดูแลเรื่องเกี่ยวกับน้ำและภัยพิบัติต่างๆ 

ถ้าเราดูแลเรื่องเกษตรได้ ผมคิดว่าการจ้างงานตรงนี้น่าจะเกิดขึ้นได้มาก 

2) Care giving หรือ Care sector การดูแลเฉพาะบุคคล เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย ผู้พิการ นี่จะเป็น sector ที่แต่เดิมคนจะไม่ค่อยนึกถึงในทางเศรษฐกิจ เรากำลังจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในเซ็คเตอร์นี้ก็เพิ่มขึ้น คนทำธุรกิจกันเยอะ แต่ทั้งหมดนี้มันสำหรับคนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น แต่เราพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมาก น่าจะอย่างน้อยร้อยละสามสิบ ไม่มีกำลังซื้อที่จะไปดูแลตนเองตอนป่วยในลักษณะถึงขั้นติดบ้าน ติดเตียง เพราะงั้นถ้ารัฐบาลสามารถมีกลไกในการดูแลผู้สูงอายุในลักษณะที่มีคนมาช่วยดูแล และในขณะเดียวกันก็เกิดการจ้างงาน ส่วนผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการจ่ายบริการในลักษณะพิเศษได้ เราก็ทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพในแง่งานบริการ และคุณภาพชีวิตของผู้ที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้พิการ เด็กหรือผู้ป่วยต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าเราทำตรงนี้การจ้างงานจะเกิดขึ้นได้เยอะ และที่สำคัญของหมวดนี้ก็คือ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคนที่ถูกดูแล แต่ครอบครัวของผู้ที่ต้องการการดูแลก็สบายใจเพิ่มมากขึ้นด้วย 

3) Logistic หรือการขนส่ง เราเห็นแล้วว่ายิ่งต้องล็อกดาวน์ การขนส่งยิ่งมีความสำคัญมาก เอาอย่างอื่นมาแทนก็คงยากภายใต้เทคโนโลยีนี้ ต่างประเทศจะมาแข่งก็คงลำบาก ไม่รู้จักซอกซอยต่างๆ ไม่รู้จักวัฒนธรรมที่เราใช้ เพราะฉะนั้นเราไปได้ แต่จุดสำคัญของเรื่องนี้อาจจะอยู่ที่เรื่องของการคุ้มครองแรงงาน ตอนนี้พี่น้องที่มาทำธุรกิจด้านนี้ พี่น้องแรงงานที่มาอยู่บนพื้นฐาน แพลตฟอร์มอะไรทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังมีความกังวลว่าคุณภาพชีวิตของตนเอง อนาคตของตนเอง ความปลอดภัยของตนเองจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเซ็คเตอร์นี้      

4) Digital อันนี้ทุกคนทราบดีแล้ว แต่ว่าจุดที่อยากจะให้ความสำคัญก็คือว่ามันจะช่วยตอบโจทย์เซ็คเตอร์อื่นๆ ที่เราพูดถึงมาทั้งหมด ในขณะเดียวกันยังช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเราด้วย 

5) Technology ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น โซล่าร์เซลล์ที่ลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รถยนต์ไฟฟ้า การจัดการเมือง ภูมิทัศน์ทั้งหลาย อาจจะเป็นเรื่องที่คนไม่ได้นึกถึงในการจ้างงาน แต่ถ้าเราพัฒนาให้มีการจ้างงานในเซ็คเตอร์นี้เพิ่มขึ้น มีบริษัทที่ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ต่างๆ หนึ่ง) คือเราลดค่าใช้จ่ายได้ สอง) เกิดการจ้างงาน สาม) ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สี่) เราเป็นผู้นำในอาเซียน ถ้าเราพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราสามารถที่จะเปิดตลาดในด้านการส่งออก อาจจะเป็นการส่งออกในเชิงบริการหรือสินค้าบางตัวในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ด้วย 

นี่คือตัวหลักๆ ทั้ง 5 เซ็คเตอร์ ที่เราคิดว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เน้นตรงจุดนี้ Think Forward Center ก็ยังต้องไปทำงานต่อ ไปคิดแผนในแต่ละเซ็คเตอร์ออกมา เบ็ดเสร็จโดยรวมเราคิดว่าภายในสัก 5 ปี น่าจะทำให้เกิดการจ้างงานใน 5 เซ็คเตอร์นี้ให้ได้ประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง 

ศิริกัญญา: จริงๆ แล้วเซ็คเตอร์เหล่านี้ก็เป็นเซ็คเตอร์ที่หลายๆ ภาคส่วนมีการพูดถึงความสำคัญของมันมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาไปเจอกับปัญหา หรือไปเจอกับคอขวดแบบไหนบ้างที่ทำให้ภาคธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เรากำลังจะต้องฟื้นฟูหลังวิกฤตเศรษฐกิจโควิดนี้

เดชรัต: ผมคิดว่าคอขวดมันแตกต่างกันไปในแต่ละเซ็คเตอร์ แต่ถ้าจะให้เราพูดหลักๆ อาจจะพูดถึงคอขวด 4 ประเด็น

คอขวดแรก รัฐบาลอาจจะไม่ค่อยได้ดูแลคือเรื่องของอุปสงค์ คืออุปสงค์มีปัญหาอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ มีบางคนเท่านั้นที่มีความสามารถในการซื้อ อย่าง Care sector นี่เห็นชัด บางคนมีคนดูแลโน่นนี่นั่น นักกำหนดอาหาร เทรนเนอร์ จิตแพทย์ มีหมด แต่บางคนเข้าไม่ถึง พอเข้าไม่ถึงมันไม่ได้กระทบแค่เรื่องเศรษฐกิจ จริงๆ ตัวหลักไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ตัวหลักคือเรื่องคุณภาพชีวิตของเขา เพราะงั้นถ้ารัฐบาลไปสร้างให้คนที่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้เข้าถึง มันจะเพิ่มคุณภาพชีวิต ในขณะเดียวกันมันจะไปกระตุ้นในเรื่องเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย เพราะงั้นประเด็นแรกคือทำยังไงให้อุปสงค์มันทั่วถึง   

คอขวดที่ 2 กรณีของเทคโนโลยีด้านการขนส่ง ทำยังไงให้เกิดความเป็นธรรม เรื่องโลจิสติกทั้งหลาย การจ้างงานแบบแพลตฟอร์มทั้งหลาย จริงๆ มันไม่ใช่ความผิดของใคร เพียงแต่ว่าเราพัฒนามาเร็วแต่กติกาเราไปไม่ทัน เราก็จะยังใช้ พ.ร.บ. เกี่ยวกับแรงงานในรูปแบบเดิมที่เป็นการจ้างงานแบบตายตัว แต่การจ้างงานของเรามันเป็นแบบยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ก็เลยกลายเป็นคอขวดประการที่สอง 

คอขวดที่ 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเชิงเทคโนโลยี ซึ่งต้องการความชัดเจนในระยะยาว ว่ารัฐบาลจะมีการเปิดตลาดแบบนี้ในลักษณะไหน อย่างไร เช่น กรณีของโซล่าร์เซลล์ ถ้าเปิดแล้วจะต้องมาคอยลุ้นว่าเดี๋ยวจะเปิดตลาดอีกทีเมื่อไหร่ จะมีโควต้าไหม มันทำให้เกิดการพัฒนาที่ติดขัด ข้อสามนี่คือความชัดเจนในเชิงนโยบายเพื่อที่จะไปสู่การพัฒนาในเชิงเทคโนโลยี

คอขวดที่ 4 สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องกลไกสนับสนุนในทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราจะให้ทุกบ้านติดโซล่าร์เซลล์ แล้วกลไกทางการเงินจะมีอย่างไร ตอนนี้จะมีคนพูดว่าถ้าเรามีเงินแสนเราก็ติดโซล่าร์เซลล์ได้ ถ้าเราไม่มีเงินสดเป็นแสน เราก็ไม่รู้จะติดยังไง แต่ในทางกลับกัน เวลาเราซื้อรถ หลายแสนยิ่งกว่าโซล่าร์เซลล์ แต่เราซื้อเงินผ่อนได้ แต่โซล่าร์เซลล์ซึ่งสร้างรายได้ด้วยตัวมันเอง เราผ่อนไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น  หรือถ้าเราอยากจะทำให้มั่นใจว่าตัวเราเองในตอนที่ป่วยถึงขั้นติดเตียง เราจะไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่าย อะไรคือกลไกในทางการเงินที่รัฐบาลจะสร้างขึ้น และทำให้เราสามารถที่จะมั่นใจ ลูกเราก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าเรามีการออมหรือมีการลงทุน หรือรัฐบาลจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ 

สี่ประเด็นนี้กลายเป็นคอขวดที่สำคัญ ซึ่งต่อไปบทบาทของรัฐที่จะเข้ามาต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ ให้ทุกคนมีอุปสงค์ในกิจการที่จำเป็นให้ได้ ให้กติกามันมีความเป็นธรรมให้ได้ ให้มีความแน่ชัดให้ได้ว่าทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มันรับกันกับขนาดของตลาดจะเป็นอย่างไร และข้อสุดท้ายก็คือให้มีการสนับสนุนทางการเงินที่จะทำให้ทุกคนไปสู่ตลาดใหม่ๆ นั้นได้ 

ศิริกัญญา: เราก็จะเห็นว่าในช่วงของการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด รัฐต้องมีบทบาทนำค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นในฐานะที่เป็นผู้กำหนดทิศทาง เป็นผู้วางแผนที่ชัดเจนเพื่อให้เอกชนสามารถที่จะมีความมั่นใจ ต้องเป็นทั้งผู้ซื้อด้วย หรือว่าเป็นผู้จ้าง ถ้าจะให้อุปสงค์เหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้จริง รัฐเองอาจจะต้องเข้าไปเป็นผู้การันตีการซื้อบางส่วนหรือเปล่า หรือว่าการที่การจ้างงานลดลงอย่างรวดเร็ว ภาครัฐเองก็อาจจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จ้างงานชั่วคราวเพื่อทำให้การจ้างงานยังคงอยู่หรือเปล่า รวมไปถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลไกทางการเงิน อันนี้ก็น่าสนใจมาก นอกจากจะทำให้นโยบายชัดเจนและทำให้ดีมานด์มันมาถึงได้ มันก็จะมีเรื่องของกลไกอื่นๆ ที่รัฐสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์พูดเรื่องของหนี้สินเกษตรกร รัฐเองถึงแม้จะเป็นผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่าง ธกส. แต่รัฐเองก็สามารถจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างเกษตรกรกับ ธกส.ด้วย เพื่อการันตีว่าผลของการเจรจา แผนการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นจะเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย จริงๆ รัฐก็สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทเรื่องนี้ได้ 

เรื่องธุรกิจ Care giving ก็น่าสนใจมาก ที่ผ่านมาเรามักจะดูว่างานเหล่านี้เป็นงานที่อาจจะไม่ต้องใช้ทักษะมาก แต่ในความเป็นจริงมันเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะค่อนข้างสูง ต้องการการอบรม ต้องการการเทรนนิ่ง ต้องการประกาศนียบัตรต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ในการจ้างผู้บริบาลผู้สูงอายุตามท้องถิ่นต่างๆ แต่ก็ปรากฏว่าการจ้างงานก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีผู้มาสมัครค่อนข้างที่จะน้อยและสุดท้ายก็เบิกจ่ายค่อนข้างต่ำ ด้วยความที่รัฐประกาศว่างานนี้ทำงาน 8 ชั่วโมง และทำ 5 วัน / สัปดาห์ แต่ให้เงินเดือนเพียงแค่ 5,000 บาท ต่ำมาก ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก มันก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมองงานบริบาลผู้สูงอายุเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรเลยหรือเปล่า ถึงให้เงินเดือนเพียงเท่านี้ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว งานในลักษณะที่เป็นการให้ความดูแล ไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็ก ทั้งผู้ป่วย ทั้งผู้สูงอายุ ต้องการทักษะที่ค่อนข้างมาก จริงๆ แล้วเป็นงานที่ควรต้องให้มูลค่าค่อนข้างสูงด้วย  ค่าจ้างก็ต้องสูงขึ้นตามลำดับความถนัดและความเชี่ยวชาญในการดูแล รัฐสามารถที่จะเข้ามาเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรหรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการการอบรมต่างๆ แทนรัฐได้ด้วยซ้ำไป นี่ก็เป็นช่องว่างต่างๆ ที่บทบาทของรัฐในแต่ละเซ็คเตอร์สามารถทำได้อย่างหลากหลาย และที่สำคัญก็คือ ต้องมีบทบาทนำในหน้าที่ของการที่จะกำหนดแผนให้มีความชัดเจน เพื่อให้เอกชนเกิดความมั่นใจที่จะลงทุน และสามารถที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนอาชีพของตัวเอง ก็ต้องขึ้นอยู่กับแผนระยะยาวของรัฐบาลที่มีความชัดเจน

เดชรัต: จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลอาจจะยังไม่ค่อยได้มองเรื่องนี้ คือไม่ได้มองเห็นคำว่า “งานที่มีคุณค่า” หรือ Decent work รัฐบาลอาจจะยังมองอย่างเช่น ให้ผู้บริบาลผู้สูงอายุแค่ 5,000 บาท คือยังไม่เห็นว่าคุณค่ากับมูลค่านั้นมาด้วยกัน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญมากก็คือ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ให้เกิดมีลักษณะของการจ้างงานที่เป็นธรรมด้วย ซึ่งการจ้างงานที่เป็นธรรมนี่ตอนนี้เราอาจจะพูดถึงกันมากในลักษณะธุรกิจที่เป็น ฟู้ด เดลิเวอรี่ จริงๆ แล้วต่อไปลักษณะการจ้างงานที่เป็นแบบยืดหยุ่นมันอาจจะไม่ใช่แค่ธุรกิจเดลิเวอรี่ 

ศิริกัญญา: ยังมีแม่บ้านผ่านแพลตฟอร์ม หรือว่าช่างแอร์ ช่างไฟต่างๆ 

เดชรัต: ผู้ดูแลผู้สูงอายุก็อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ 1:1 แต่อาจจะเป็น 1 คน ดูแลสัก 3-4 คน และเมื่อผู้สูงอายุท่านนั้นไม่ต้องการการดูแลแล้ว หรือท่านจากไปแล้ว ก็ไปดูแลท่านอื่น เพราะงั้นระบบแพลตฟอร์มแบบนี้ก็จะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต แต่ทีนี้เราจะมาดูแลแรงงานหรือคนทำงานบนแพลตฟอร์มยังไง มันมีคำถามตั้งแต่ว่า  ตกลงเมื่อไหร่เรียกว่าเป็นการจ้างงาน

ศิริกัญญา:: อย่างเช่น เป็นคนขับรถส่งอาหารถือเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มนั้นไหม

เดชรัต: อันนี้เราก็ต้องมาพัฒนากันตั้งแต่นิยาม นิยามอาจจะไม่ได้สตาร์ทที่คำว่าลูกจ้างอีกต่อไป แต่นิยามอาจจะสตาร์ทที่อันไหนที่เรียกว่าการรับทำงาน เมื่อไหร่ที่เรียกว่าเรากดรับทำงานแล้ว นี่คือคุณคนที่จะเป็นคนประสานงานระหว่างคนที่เป็นผู้ซื้อบริการ คนที่เป็นแพลตฟอร์ม และคนที่เป็นคนทำงานจะเริ่มขึ้นแล้วเมื่อกดรับทำงาน ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ออเดอร์แรกก็ได้ มันอาจจะเป็นก่อนนั้นก็ได้ นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่เราจะต้องดูนะครับ 

ปนะเด็นที่สองคือการคุ้มครองในภาวะการทำงาน ตอนนี้แรงงานแพลตฟอร์มต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุ บางแพลตฟอร์มก็เริ่มเปิดบริการอื่นขึ้นมา ที่คนชอบนะครับ อย่างเช่น ไปนวดที่บ้าน แต่ว่าความเสี่ยงของผู้ไปนวดล่ะ เพราะคราวนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงแค่เรื่องเดินทางแล้วนี่ การต้องไปนวดบ้านคนอื่นไม่รู้จะมีอันตรายอย่างอื่นไหม เพราะงั้นการดูแลจะเป็นอย่างไร นอกจากผู้ประกอบการที่ช่วยดูแลอย่างเต็มที่แล้ว รัฐบาลก็จะต้องมาดูแลให้เข้มงวดด้วยเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างมันเป็นไปได้ เพราะงั้นเราก็ต้องมีลักษณะของการดูแลในเชิง อย่างเช่นการประกันอุบัติเหตุ การประกันสุขภาพ เรื่องของจำนวนชั่วโมงทำงานก็เหมือนกัน ดูจะเป็นสิ่งที่เราจะต้องดูแลว่าทำยังไงให้เมื่อทำงานบนแพลตฟอร์มนี้ค่อนข้างเต็มที่ เขาก็ได้รับโอกาสในการทำงานอย่างเหมาะสม และก็ได้รับค่าแรงอย่างเหมาะสมด้วย ตอนนี้ก็อาจจะมีคนบ่นว่า เอ๊ะ บางคนเหมือนกับไม่ค่อยได้งาน ไม่ค่อยส่งงานมา เราก็ต้องมีการไปตรวจเช็คเรื่องของสัญญาว่ามีความเป็นธรรมไหม 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจของรัฐบาลในยุคใหม่ ที่จะต้องดูแลโดยไม่ตั้งต้นที่ พ.ร.บ.เดิมอย่างเดียว คือมันต้องเริ่มตั้งต้นจาก Ecosystem ระบบของการที่เขารันธุรกิจกันอยู่นี่มันเป็นยังไง แล้วเราจะเข้าไปดูแลแบบไหนที่เรียกว่าเป็นธรรม 

สุดท้ายขาดตกไม่ได้เลย คือการรวมกลุ่มของคนที่ทำงาน หรือคนที่รับงานตามแพลตฟอร์มเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนนะครับ มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะไปปิดกั้น หรือแม้แต่ผู้ประกอบการก็ควรช่วยทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ได้รับฟังปัญหาต่างๆ แล้วก็มาปรับจูนธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำแบบนี้จริงๆ มันจะเกิดเป็นงานที่มีคุณค่า  

ศิริกัญญา: ค่ะ จริงๆ แล้วถึงแม้จะใช้คำว่าพาร์ทเนอร์หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าเกิดแรงงานเหล่านั้นได้มารับทำงาน ก็ควรต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นแรงงานที่ทำงานยืดหยุ่นมากกว่า ทำงานไม่เต็มเวลา หรือทำงานตามสะดวกก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มากพอ ตามทันโลกมากพอที่จะสามารถจัดการให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ แต่ว่าจนถึงทุกวันนี้ ทาง ส.ส.ปีกแรงงานของพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการคุ้มครองแรงงานตามปกติอยู่เลย วันนี้เริ่มมีโจทย์ใหม่ๆ ที่จะต้องให้ความคุ้มครอง ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ทำให้ช่วงนี้ก็จะมีข้อเสนอต่างๆ ของภาคแรงงาน 

พรุ่งนี้ (1 พฤษภาคม) ก็จะเป็นวันกรรมกรสากล ทาง พรรคก้าวไกลโดย ส.ส. ปีกแรงงานก็จะมีการจัดงาน ถึงจะไม่สามารถที่จะไปเดินขบวนได้เหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ก็จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการไลฟ์ เพื่อที่จะพูดถึงปัญหาของแรงงานในปัจจุบัน ก็จะพูดถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน อย่างที่ผ่านมา ที่เราได้พยายามที่จะผลักดันแต่ก็ได้มีการตีตกไปในตัวของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานแบบใหม่ที่เราเสนอ เราจะมีแนวทางในการผลักดันกันต่อไปอย่างไร รวมไปถึงการพูดถึง รัฐสวัสดิการ การคุ้มครองการให้สวัสดิการอย่างถ้วนหน้ากับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการแรงงานต่างๆ สำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงาน เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันไปพร้อมๆ กันค่ะ  

เดชรัต: ซึ่ง Think Forward Center ก็เป็นหน่วยงานภายในพรรคที่จะต้องคอยดูแลข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองแรงงานบนแพลตฟอร์ม เราต้องไปพัฒนาความคิดจนในที่สุดออกมาเป็น ร่างพระราชบัญญัติต่อไปในอนาคตเพื่อที่จะทำให้เกิดการพูดคุยกัน และนำไปสู่การผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายจริงๆ 

เช่นเดียวกันกับเรื่องระบบสวัสดิการ มันเป็นจุดที่สำคัญมากๆ สำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ ผมคิดว่าตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการถ้วนหน้า คนจำนวนหนึ่งยังมองว่ามันคือการช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ซึ่งก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่มันมีอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากเลย ถ้าเรามีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ดี

  1. ประชาชนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มกำลัง เรียนก็ได้เรียน ป่วยก็ได้รักษา แล้วกลับมาเป็นกำลังแรงงานที่พร้อมจะทำงาน
  2. พร้อมจะเผชิญความเสี่ยง ธุรกิจต่างๆ ที่เราพูดถึงเมื่อสักครู่ ไม่ใช่ไม่มีความเสี่ยงนะครับแม้จะมีการเติบโตเยอะ มันก็มีความเสี่ยงเยอะ แต่ถ้ามีระบบสวัสดิการที่ดี เขาก็พร้อมเสี่ยง หลายๆ ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการเขาก็จะพูดเลยว่า มันมีเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้ไปลุย ไปสร้างโอกาสใหม่ๆ ในทางธุรกิจแล้วมันก็จะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมา
  3. มันจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต หมายความว่าไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างเงินอย่างเดียว แต่ชีวิตจะมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ความเครียดก็จะน้อยลง อย่างกรณีที่มีการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก พบว่าเด็กๆ มีอาหารการกินดีขึ้น ได้รับวัคซีนสม่ำเสมอมากขึ้น พัฒนาการก็ดีขึ้น สุดท้ายคุณแม่ก็มีความสุขมากขึ้นและมีอำนาจที่จะต่อรองภายในครอบครัว เพราะว่าเงินนี่ให้ตรงไปที่คุณแม่

เพราะฉะนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการจึงเป็นหัวใจ สำหรับผมมันคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย – – หรืออาจจะเรียกว่าเป็นชิ้นปรกก็ได้ แต่เป็นชิ้นที่ขาดไม่ได้ ที่จะทำให้ระบบการสร้างงานในอนาคตของเราสมบูรณ์ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นเราต้องยอมรับครับว่า มันจะต้องควบคู่กับเรื่องของการปฏิรูประบบการคลัง เช่นเรื่องภาษีต่างๆ เพราะฉะนั้น Think Forward Center ก็ทำหน้าที่ในการที่จะต้องไปศึกษาเรื่องเหล่านี้ พอรัฐบาลเสนองบประมาณเข้ามาในวาระที่ 1 เราก็จะได้เห็นแผนของพรรคก้าวไกลว่า งบประมาณของการพัฒนาสวัสดิการที่ควบคู่ไปกับความมั่นคงทางการคลัง พรรคก้าวไกลเห็นอย่างไร  

ศิริกัญญา: วันนี้เราก็เห็นแล้วนะคะว่า ข้อเสนอไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นเพื่อที่จะพยุงการจ้างงาน ระยะกลางและระยะยาวที่เราพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวและการส่งออก พูดถึงการสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา และสุดท้ายเราพูดถึงการคุ้มครองแรงงาน และการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในสังคมไทยได้จริง ซึ่งอย่างที่อาจารย์บอกว่ามันเป็นจิ๊กซอว์ ไม่ว่าจะตัวแรกหรือตัวสุดท้ายก็ตาม แต่เป็นตัวสำคัญที่สุดก็เป็นได้ และยิ่งในช่วงชีวิตที่ประชาชนต้องเผชิญ ทั้งในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต มันยิ่งขับเน้นว่าสวัสดิการที่ดีมันสำคัญและมันจำเป็นกับชีวิตประชาชนมากแค่ไหน 

อีกหลายชีวิตที่จะต้องอยู่ท่ามกลางความเปราะบางทางเศรษฐกิจเพียงเพราะว่าประเทศนี้ไม่มีสวัสดิการสำหรับประชาชน 

สุดท้ายอยากให้อาจารย์เดชรัตฝากว่า เราจะได้เห็นอะไรจาก Think Forward Center บ้างคะ หลังจากนี้เป็นต้นไป 

เดชรัต: แผนการทำงานในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน (2564) ของเรา คิดว่าจะนำเสนอ 4 เรื่อง

  1. สวัสดิการแบบถ้วนหน้า ที่เมื่อกี้พูดถึงแล้วว่า ถ้ารัฐบาลเสนอวาระ 1 เข้ามาเมื่อไหร่ เราก็จะเสนอตัวทางเลือกในเชิงบริหารจัดการสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า พร้อมทั้งงบประมาณควรจะเป็นอย่างไร
  2. การสร้างงานในส่วนของการดูแลเฉพาะบุคคล หรือ Care giving sector จะเสนอตัวเลขที่เป็นรูปธรรม แนวทางที่จะทำให้ผู้ที่ยังไม่มีความสามารถในทางเข้าถึงบริการเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้
  3. ภาคเกษตร ที่เราคิดว่าจะต้องเป็นกำลังหลักของเราในช่วงต้น ช่วงระยะสั้น ในขณะที่ภาคท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้น วัคซีนได้หรือยังก็ยังไม่รู้ ภาคส่งออกก็ยังต้องรออีกนิดหนึ่ง แรงงานก็ยังไม่คืนกลับมา เพราะฉะนั้นภาคการเกษตรนี่จะมีการดูแลกันอย่างไร รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคเกษตร ควรจะทำอย่างไร
  4. การพัฒนาเมือง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมืองเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสถานการณ์โควิด ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่เกิดการแพร่ระบาด เพราะฉะนั้นเมืองในโฉมหน้าใหม่จะเป็นอย่างไร ยิ่งเราใกล้การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. นโยบายการพัฒนาเมืองก็อาจจะได้รับความสนใจ ถกเถียง พูดคุยกัน เราก็มีเทศบาลใหม่ๆ ด้วยที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งไป 

สี่เรื่องนี้คือสิ่งที่เราจะนำเสนอในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน (2564) เพราะงั้นท่านที่สนใจก็ติดตามได้ในเพจของเรา นอกจากที่จะมาปรากฏตัวในไลฟ์แบบนี้ ก็จะมีทั้งข่าวสารต่างๆ และจะมีตัวเอกสารที่จะผลิตออกมาเป็นระยะๆ แลกเปลี่ยนกันได้ เสนอแนะได้ ที่จะทำให้เราเป็น Think Forward Center จริงๆ 

คิดไปข้างหน้า เพื่อให้ได้สังคมประชาธิปไตยครับ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า