อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
เดชรัต สุขกำเนิด
“ไม่มีอะไรที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีได้ดี
เท่ากับการจัดทำสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ”
ตามที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า การออกแบบประเทศไทยใหม่ ต้องเริ่มจากการออกแบบงบประมาณใหม่ ด้วยการกระจายสวัสดิการให้ถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ให้กับประชาชน
ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า แม้ว่าการเพิ่ม GDP ประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่อีกสิ่งที่สำคัญเหมือนกันคือการลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำสวัสดิการให้ดี ความเหลื่อมล้ำจะลดลง และปัญหาสังคมก็จะลดลง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปกับการทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น คือการสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน
อะไรคือปัญหาของเราตอนนี้?
ปัญหาสำคัญที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ย้ำก็คือว่า ในขณะที่คนไทยเสียภาษีเฉลี่ยเดือนละ 2,417 บาท/คน แต่เราได้รับสวัสดิการกลับมาเพียง 563 บาท/คน/เดือน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 23.25 ของภาษีที่คนไทยเสียไป ขณะเดียวกัน ที่คนสวีเดน ซึ่งเรามักจะบอกว่า เขาต้องเสียภาษีมาก แต่จริงแล้ว คนสวีเดนได้รับสวัสดิการกลับมาจากรัฐเทียบเท่ากับ 49.24% ของเงินภาษีที่เขาเสียไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวสวีเดนจะสนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการและยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูง

ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2566 เราพบว่า สวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็น 479,470 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินของบุคลากรภาครัฐแล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรภาครัฐก็กลายเป็น 39.6% ของงบประมาณจากรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ งบประมาณสวัสดิการของประชาชน ในปีงบประมาณ 2566 กลับได้รับงบประมาณเพียง 351,372.3 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งเพียง 11.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น
ข้อเสนอระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
ส.ส. ปกรณ์วุฒิจึงเสนอให้จัดสรรงบประมาณในเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้าแก่คนทุกวัย
- เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 1,200 บาท/เดือน และเงินอุดหนุนเด็กอายุ 7-22 ปี จำนวน 800 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอแนวทางให้ https://think.moveforwardparty.org/article/1861/ )
- เงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 3,000 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/paper/silvereconomy/ )
- และระบบหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงระยะยาว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/article/2302/ )
- เพิ่มเบี้ยอุดหนุนผู้พิการเป็น 3,000 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/article/1812/ )
- ปฏิรูปประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบ

Think Forward Center ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒินำเสนอพบว่า ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะลดความยากจนในอนาคตลง จากปัจจุบันที่สัดส่วนความยากจนของครัวเรือนไทยเท่ากับร้อยละ 6.07 ให้เหลือร้อยละ 2.25 ในปี พ.ศ. 2570 และจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือน หรือความแตกต่างของรายได้ระหว่าง กลุ่มครัวเรือน 10% ที่รวยที่สุด (หรือ D10) กับกลุ่มครัวเรือน 10% ที่จนที่สุด หรือ D1) ลดลงจากที่ D10 กับ D1 เคยมีรายได้แตกต่างกัน 11.42 เท่าในปัจจุบัน ให้เหลือความแตกต่าง 7.84 เท่าในปี พ.ศ. 2570
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงระยะยาว ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งงานอีกด้วย
การแก้ปัญหาช้างป่วยด้วยการลดระบบราชการ
ขณะเดียวกัน ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ก็ย้ำว่า รัฐบาลต้องทำให้งบประมาณบุคลากรข้าราชการที่ใหญ่เทอะทะนี้ ลดลงให้ โดยผ่านการทำแผนเกษียณก่อนกำหนด (หรือ Early Retire) แบบสมัครใจ และต้องมีแผนระยะยาวในการลดจำนวนและงบประมาณข้าราชการ และรัฐบาลต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทำให้ข้าราชการไปสังกัดท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ได้ทำงานใกล้ชิดประชาชน และทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลสามารถเริ่มได้จากคณะกรรมการข้าราชพลเรือน (ก.พ.) ทำตามแผนลดงบประมาณบุคลากรภาครัฐให้ได้ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลลดงบประมาณไปได้ถึง 3 แสนล้านบาท
การเพิ่มเติมรายได้ของรัฐ
ในแง่การหารายได้ของภาครัฐ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ เสนอว่า รัฐบาลควรปรับโครงสร้างการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ จากเดิมลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท (คำนวณจาก ค่าแรงขั้นต่ำ x 360 วัน) และปรับลดเพดานลดหย่อนภาษีจากกองทุน+ประกัน จากเดิม 600,000 บาท เป็น 240,000 บาท (คำนวณจาก ค่าแรงขั้นต่ำ x 360 วัน x 2) รวมถึง ปรับอัตราการลดหย่อนภาษีทุกฐานรายได้ให้อยู่ที่ 15% เท่านั้น เพื่อลดความได้เปรียบของผู้ที่มีรายได้สูง (ซึ่งปัจจุบันสามารถหักลดหย่อนในอัตราที่สูงกว่านี้) ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ 20,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องปรับแก้กฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่การหลบเลี่ยง และเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งเป็นการนำมูลค่าของที่ดินทุกแปลงของเจ้าของแต่ละรายมารวมกัน แล้วจึงเก็บภาษีที่ดินรวมแปลงจากผู้ที่มูลค่าที่ดินรวมแปลงกันมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เช่น 100 ล้านบาท) คาดว่า จะมีผู้ที่เข้าข่ายเสียภาษีที่ดินแบบรวมแปลงไม่ถึง 1% ของประชาชนทั้งประเทศ แต่จะช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม 100,000 ล้านบาท
สรุป
ภาพสุดท้ายที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ อยากเห็นคือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกันกับระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดย ส.ส. ปกรณ์วุฒิกล่าวปิดการอภิปรายว่า พรรคก้าวไกลตั้งใจจะยกระดับสวัสดิการของประชาชนที่เทียบกับ GDP ให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2.4% ของ GDP ให้กลายเป็น 4.8% ของ GDP ภายในเวลา 4 ปี (หรือภายในปี 2570)
แม้ว่าสัดส่วน 4.8% ดังกล่าวจะยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศรัฐสวัสดิการ แต่ก็ถือเป็นบันไดก้าวแรก ที่จะทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนก้าวไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพราะคำที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีได้ดีเท่ากับการจัดทำสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ”