นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องในวันคนพิการสากล 2565

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


องค์การสหประชาชาติได้มุ่งส่งเสริมสิทธิและความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของคนพิการ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535  และกำหนดให้วันที่ 3 ธันาคม ของทุกปีเป็นวันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาความพิการ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รายงานการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ที่สำรวจความพิการทุก 5 ปี) พบว่า คนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 3.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งหมด โดยมีคนพิการเพียงร้อยละ 44.4 เท่านั้น ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นคนพิการตามกฎหมาย และมีเพียงร้อยละ 43.8 ของคนพิการทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ 

ขณะที่รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าปี พ.ศ. 2565 มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งประเทศ แยกเป็นเพศชาย 1.098 ล้านคน (ร้อยละ 52.23) เพศหญิง 1 ล้านคน (ร้อยละ 47.77) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีคนพิการอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ที่ยังไม่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ

โดยจำนวนคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ แยกเป็นคนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,168,165 คน (คิดเป็นร้อยละ 55.56 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด)  ขณะที่คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15 – 59 ปี) มีจำนวน 855,816 คน (คิดเป็นร้อยละ 40.71 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด) ทังนี้คนพิการวันยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี และคนพิการวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากคิดเป็นร้อยละ 44.07 และร้อยละ 55.99 ตามลำดับ 

จากข้อมูลพบว่า คนพิการในประเทศไทยยังประสบปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหารายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต ปัญหาด้านโอกาสในการประกอบอาชีพ ปัญหาการขาดผู้ดูแลหรือขาดเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการช่วยเหลือคนพิการ ปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตรฐานและถูกสุขอนามัย ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษา ปัญหาการถูกกีดกันในด้านการทำงานเนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และในบางครั้งอาจถูกล้อเลียน/กลั่นแกล้ง ทำให้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ และปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ 

Think Forward Center เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนการดูแลในด้านต่างๆให้กับคนพิการ เพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเพื่อให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนพิการรวมทั้งการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การจ้างงานคนพิการ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน การเข้าถึงอุปกรณ์/ล่ามภาษามือ การเข้าถึงการศึกษา ฯลฯ โดยมีข้อเสนอและรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ 


เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ 3,000 บาท/เดือน

ปัจจุบันคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการที่ 800- 1,000  บาท/เดือน โดยคนพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับ 1,000 บาท/เดือน (จากเดิม 800 บาท/เดือน) รัฐบาลเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา และคนพิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยคนพิการ 800 บาท/เดือน

Think Forward Center เห็นว่าคนพิการทุกคนควรได้สิทธิในการเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนพิการในสัดส่วนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เราจึงเสนอให้มีการเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับคนพิการเป็น 3,000 บาท/เดือน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการเป็น 3,000 บาท/เดือน จะช่วยลดความยากจนของครัวเรือนคนพิการลงจากร้อยละ 9.4 เหลือร้อยละ 2.56 และช่วยให้คนพิการเข้าถึงอุปกรณ์การดูแล ยา รวมทั้งเข้าถึงการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายต่างๆมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อทำการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพแล้ว รัฐควรแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้คนพิการทุกคนเข้าถึงสวัสดิการรัฐมากขึ้นและป้องกันการตกหล่น เนื่องจากที่ผ่านมามีคนพิการเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการออกบัตรคนพิการเนื่องจากพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ได้ตั้งเงื่อนไขของความพิการในลักษณะเฉพาะเจาะจง จึงอาจไม่สอดคล้องกับลักษณะของความพิการที่มีอยู่หลายรูปแบบ ทำให้คนพิการ (ที่มีภาวะผิดปกติทางร่างกายรวมทั้งสภาพจิตใจ) สูญเสียโอกาสในการได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพคนพิการจากรัฐ 




เพิ่มการจ้างงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าคนพิการวัยทำงานอายุ 15-59 ปี มีจำนวน 855,816 คน (จากคนพิการที่ได้รับการออกบัตรคนพิการ 2.1 ล้านคน) โดยมีคนพิการที่ไม่ประสงค์ระบุข้อมูลการประกอบอาชีพมีถึง 384,957 คน  ขณะที่ผู้ที่พิการมากจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้มี 52,806 คน คนพิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ 102,889 คน และมีคนพิการที่ประกอบอาชีพเพียง 315,164 คน (ร้อยละ 36.83 ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีคนพิการในวัยทำงานอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีอาชีพ Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ด้วยการจ้างงานคนพิการในอัตราเดียวกับที่กำหนดให้ภาคเอกชนจ้างงาน ซึ่งจะมีผลให้คนพิการ 20,000 คนสามารถมีอาชีพและมีรายได้มากขึ้นทันที 

ในอนาคตรัฐบาลควรมีการพัฒนาตลาดแรงงานเพื่อรองรับคนพิการให้สามารถเข้าทำงานได้ เช่น งานด้านเกษตรกรรม งานด้านอาสาสมัครชุมชน งานด้านดิจิทัลหรือไอที งานด้านการทำอาหาร/เครื่องดื่ม งานศิลปะ ดนตรี กีฬา งานในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ โดยรัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆให้กับคนพิการ ให้สามารถที่นำไปใช้ในการทำงานได้




การเพิ่มผู้ดูแลคนพิการ และล่ามภาษามือ

ข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า คนพิการกว่า 700,000 คน ประสบความยากลำบากในการดูแลตนเองและยังต้องการผู้ดูแล แม้ว่ารัฐบาลจะปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับคนพิการเป็น 3,000 บาท/เดือนได้สำเร็จแล้วแต่ก็คงไม่เพียงพอในการหาผู้มาดูแลคนพิการ (หรือชดเชยการสูญเสียรายได้ของสมาชิกในครอบครัวที่มาดูแลคนพิการ) รวมถึงมีคนพิการอีกกว่า 500,000 คน ที่ยังไม่ได้รับเครื่องช่วย/อุปกรณ์ และอีกกว่า 100,000 คน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย

Think Forward Center มีความเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการระยะยาว ตามที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ในนโยบายสวัสดิการก้าวไกลเพื่อใช้ในการจ้างผู้ดูแลที่ผ่านการฝึกอบรม การสนับสนุน ผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน ซึ่งจะทำให้คนพิการได้รับการดูแลที่ทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุแลคนพิการระยะยาว เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ/คนพิการ หรือแพลตฟอร์มในการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุและคนพิการตามบ้าน โดยศูนย์และแพลตฟอร์มการดูแลผู้สูงอายุ/คนพิการนี้ควรจะดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้การรวมบริการผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการถือเป็นการช่วยลดความซ้ำซ้อนในแง่บริการและทรัพยากรสำหรับการดูแลคนพิการ/ผู้ดูแลลงได้

นอกเหนือจากผู้ดูแลคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว ยังมีคนพิการในช่วงวัยอื่นๆ ที่ต้องการผู้ดูแลอีกประมาณ 217,635 คน ดังนั้น Think Forward Center จึงเสนอให้ในระยะเริ่มต้น (ปี พ.ศ. 2565-2570) มีการพัฒนาผู้ดูแลคนพิการ และมีการสนับสนุนผู้ดูแลคนพิการอย่างน้อย 50,000 คน รวมถึงให้มีงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการเข้าถึงอุปกรณ์/เครื่องช่วยคนพิการ รวมทั้งส่งเสริมให้มีบุคลากรที่สามารถสื่อสารกับคนพิการ เช่น ล่ามภาษามือ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี ในการนำมาพัฒนาระบบการดูแลคนพิการ




การสนับสนุนปรับปรุงบ้านเรือน ชุมชน เมือง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงของคนพิการ

โดยปกติแล้วคนพิการมักประสบปัญหาในการเดินทาง รวมทั้งปัญหาการอยู่ในที่พักอาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้คนพิการจำนวนมากต้องประสบกับความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่พ่อแม่ หรือญาติต้องจ้างผู้ดูแลสำหรับคนพิการ ทั้งๆที่จริงๆแล้วมีคนพิการจำนวนมากที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เนื่องจากอุปสรรคในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง ระบบขนส่งสาธารณะ ห้องน้ำ การติดตั้งอุปกรณ์สำหรับคนพิการตามสถานที่สาธารณะ การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคนพิการ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ/เอกชน ทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้สามารถรองรับความต้องการ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้มากขึ้น เช่น การพัฒนารถเมล์ที่มีทางขึ้นสำหรับรถเข็นของคนพิการ/ผู้สูงอายุ ลิฟท์สำหรับคนพิการในการขึ้นลงรถไฟฟ้า/รถไฟฟ้าใต้ดิน ทางเดินสำหรับคนพิการตามสถานที่สาธารณะ/ห้างสรรพสินค้า เบอร์ติดต่อในยามฉุกเฉิน รวมทั้งการส่งเสริมสวัสดิการด้านการเดินทางให้กับคนพิการ/ผู้สูงอายุ เช่น ขนส่งสาธารณะฟรีสำหรับคนพิการทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ฯลฯ

การปรับปรุงบ้านเรือน ชุมชน เมือง และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนพิการ จะช่วยให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการนำไปซื้ออุปกรณ์หรือจ้างคนดูแล และอาจเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการดูแลคนพิการ/ผู้ป่วยติดเตียง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างต่างๆรองรับ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้รองรับผู้สูงอายุได้อีกด้วย




การสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ

ปัจจุบันสวัสดิการที่คนพิการในประเทศไทยได้รับยังมีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา จากข้อมูลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 พบว่า คนพิการอายุ 5-24 ปีที่ยังศึกษาอยู่มีเพียงประมาณร้อยละ 34.7 เท่านั้น (หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด) ในขณะที่คนปกติในวัยเดียวกันอยู่ในระบบการศึกษาถึงร้อยละ 71.9 

และแม้ว่าคนพิการจำนวน1.62 ล้านคน จะเข้าถึงการศึกษาแต่กลับพบว่าเด็กที่พิการส่วนใหญ่ (ประมาณ 1.2 ล้านคน) เรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษา และมีเด็กพิการเพียงสองหมื่นกว่าคนเท่านั้นที่เรียนจบระดับอุดมศึกษา สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่ามีเด็กพิการที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับประถมศึกษาร้อยละ 81.45 ระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 11.6 ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ร้อยละ 2.42 และอุดมศึกษาร้อยละ 1.61 ตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้เด็กพิการมีโอกาสน้อยในการได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา โอกาสในการมีงานทำของคนพิการ ความไม่พร้อมของคนพิการ (ในด้านสภาพร่างกาย) และที่สำคัญที่สุดคือ สภาพจิตใจของคนพิการ (การกลัวคำพูดดูถูกหรือการล้อเลียนจากผู้อื่น)  ทำให้คนพิการจำนวนมากเลือกที่จะไม่เรียนต่อ อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองอาจกังวลในเรื่องของค่านิยมของสังคม ที่ยังไม่ยอมรับคนพิการในการมีโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษา และไม่เชื่อมั่นว่าคนพิการจะสามารถเรียนได้เหมือนกับคนทั่วไป

Think Forward Center เล็งเห็นว่าการสนับสนุนการศึกษาสำหรับคนพิการ จะช่วยให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงานแรงงานในกลุ่มคนพิการ โดยรัฐควรเตรียม (ก) ครูการศึกษาพิเศษ (ข) การปรับหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละประเภทให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้เต็มที่ (ค) การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพในแต่ละอาชีพสำหรับคนพิการ และสร้างตลาดแรงงานรองรับ  (ง) การปรับโครงสร้างพื้นฐานในสถานศึกษาให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ และ (จ) การพัฒนาระบบสวัสดิการทางการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งการศึกษาในระบบ (เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น) และการศึกษานอกระบบ (เช่น หนังสือเสียง ภาพยนตร์และสารคดีที่มีคำบรรยายภาพ หรือการทัศนศึกษาสำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น



เอกสารอ้างอิง

รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ. 2565. https://www.dep.go.th/images/uploads/files/Situation_june65.pdf

เดชรัต สุขกำเนิด. 2564. แนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการ : บทความเนื่องในวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม 2564. https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/1812/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า